วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกษตรผสมผสานแบบทฤษฏีใหม่


ชื่อความรู้/ความเชี่ยวชาญในอาชีพ        เกษตรผสมผสานแบบทฤษฏีใหม่
เจ้าขององค์ความรู้     นาย ณัฐกร ก๋องมูล
ที่อยู่     286/1 หมู่ที่5 ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์    08 9852 8581

ความเป็นมา แรงบันดาลใจ/เหตุผลที่ดำเนินการ
          ที่ต้องการมาอบรมหลักสูตร “วิทยากรผู้นำสัมมาชีพ” ประจำปี 2560 ในครั้งนี้เพราะมีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่ 6 ไร่ ได้เริ่มลงพันธุ์ลำไยอีดอไป 2 ไร่ 2 งาน แล้วยังเหลือพื้นที่บางส่วน จึงอยากนำความรู้เพิ่มเติมในการทำเกษตรผสมผสาน ที่สำคัญต้องการเดินตามรอยเท้าของพ่อหลวง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพราะเห็นความสำเร็จ ในการศึกษาดูงานครั้งนี้แล้ว ว่าตัวเองก็สามารถทำได้
วัตถุประสงค์
          1. ต้องการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงครอบครัว
          2. จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมแลกเปลี่ยนอาชีพ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
          3. ต้องการทำเป็นสวนตัวอย่าง และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
วัตถุดิบ
          1. ที่ดินจำนวน 6 ไร่ (มีอยู่แล้ว)
          2. โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ 1 หลัง
          3. พันธุ์พืชที่ต้องการปลูก เช่น ลำไย,มะม่วง, มะนาว, เมล็ดกล้าพืชผักสวนครัว
          4. พันธุ์ไก่เนื้อ (พันธุ์พื้นเมือง) ตลาดในชุมชนต้องการ
          5. ระบบน้ำ
          6. อาหารไก่รุ่น เช่น หัวอาหารผสมกับรำข้าว ผักและผลไม้

อุปกรณ์
          1. จอบ เสียม
          2. เครื่องพ่นยากำจัด ศัตรูพืชและสัตว์
          3. เครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย
          4. อุปกรณ์การติดตั้งระบบน้ำ เช่น ท่อน้ำ หัวสปริงเกอร์ เป็นต้น
กระบวนการ/ขั้นตอนการทำ (ทำอย่างไร)
          ขั้นที่1. แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 แปลง เพื่อลงกล้าพืชและพันธุ์ไก่รุ่น
                   1.1 แบ่งพื้นที่ปลูกลำไยซึ่งเป็นพืชหลักของชุมชน จำนวน 2 ไร่ 2 งาน (70 ต้น)
                   1.2 พื้นที่ปลูกต้นมะม่วงพันธุ์ R2 จำนวน 1 ไร่ (100 ต้น)
                   1.3 พื้นที่ปลูกต้นมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร 1 ไร่ ปลูกในบ่อซีเมนต์ 0.80x1.00 ม.
                   1.4 พื้นที่โรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ (พันธุ์พื้นเมือง) จำนวน 2 งาน
                   1.5 พื้นที่ปลูกพืชสวนครัวหมุนเวียน จำนวน 1 ไร่
          ขั้นที่2. เตรียมดินโดยการพลิกหน้าดิน โดยใช้รถไถ ปรับหน้าดินให้เสมอกัน
          ขั้นที่3. ที่แบ่งพื้นที่ทำโรงเรือนแล้ว สามารถจัดหาไก่เนื้อ (พันธุ์พื้นเมือง) ตัวผู้ 10 ตัว ตัวเมีย 30 ตัว สำหรับพันธุ์ลูกไก่ต้องมีขนาดไก่รุ่นๆ เพื่อต้องการไม่ให้ลูกไก่ตาย
          ขั้นที่4. ที่เหลือ 4 แปลง ค่อยลงพันธุ์พืชที่กล่าวมาข้างต้นทีละชนิดให้เต็มพื้นที่ตามโซนที่แบ่งไว้ จะให้ดีควรลงพืชผักสวนครัวก่อนเพราะมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น จะได้มีรายได้ส่วนนี้ มาเป็นทุนปลูกพืชอย่างอื่นต่อไป
          ขั้นที่5. ช่วงลงกล้าใหม่ๆ ควรดูแลให้น้ำและปุ๋ยบำรุงต้น เป็นประจำ
          ขั้นที่6. การบริหารจัดการระบบน้ำ ควรใช้ระบบน้ำหยด หรือ หัวพ่นแบบสปริงเกอร์ จะสะดวก รวดเร็ว และประหยัด
          ขั้นที่7. ต้องขยันหาเทคนิคการดูแลพืชและสัตว์ ที่ปลูกหรือดูแลเลี้ยงไว้ให้มีความชำนาญ ที่สำคัญต้องหาตลาดรองรับผลผลิตของสวน จะได้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว และเป็นทุนปลูกพืชอย่างอื่นต่อไป
          ขั้นที่8. เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ควรหากลุ่มจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในด้านเกษตรผสมผสาน เพราะส่วนมากชุมชนจะปลูกพืชอย่างเดียว เมื่อชุมชนเห็นความสำเร็จของเราแล้วเกษตรกรในชุมชนก็มาเรียนรู้แบบอัตโนมัติ มันเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง
ข้อพึงระวัง
          1. ช่วงแรกในการลงพันธุ์พืชควรดูแลเอาใจใส่ให้ดี เช่น น้ำ อาหารบำรุงกล้าพืช
          2. ระวังโรคของพืชและสัตว์ ถ้าเป็นแล้วรีบแก้ไข เพื่อป้องกันการลุกลาม
          3. ช่วงแรกจะมีรายได้เข้ามาน้อย อย่าท้อแท้ทำไปสักพักจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ข้อเสนอแนะ
          1. ต้องมีความรักในอาชีพเกษตรกร มีความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร เป็นที่ตั้ง
          2. ทำเล็กๆไปก่อนแล้วค่อยขยาย อย่าใจร้อน ค่อยเป็นค่อยไป
          3. ต้องมีบัญชีครัวเรืองลงรายละเอียดรายรับ-รายจ่าย เพื่อสร้างวินัยของตนเอง
          4. หาความรู้เพิ่มเติมจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ แลกเปลี่ยนความรู้กัน

ชื่อผู้สัมภาษณ์   นายไกรฤกษ์ มูลเมือง
ตำแหน่ง          นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

วันที่สัมภาษณ์   15 ธันวาคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..