วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสำเร็จ..การขับเคลื่อนหมู่บ้านตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี” ที่บ้านร่องเคาะ

เจ้าของความรู้ : นายเทพ วงศ์สุภา
ตำแหน่ง :  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๙-๔๖๐๕๘๗๕

สถานที่เกิดเหตุการณ์ : บ้านร่องเคาะหมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ผู้เขียนได้มีโอกาส รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี”
ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่บ้านร่องเคราะห์ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
            ผู้เขียนมีแนวคิดในการทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกัน ที่คนทางเหนือ เรียกว่า เป็นเรื่องของ “หน้าหมู่” มีการจัดประกายให้คนในชุมชนให้เกิดความตระหนัก นำไปสู่การมีส่วนร่วมในชุมชนในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาหมู่บ้าน
             การเข้าไปดำเนินการของบุคคลภายนอกจะต้องเข้าไปเรียนรู้ การดำเนินงานของชุมชนที่อยู่ก่อนแล้ว นั้นคือ ต้องเข้าไปศึกษาว่าทุนทางสังคมของชุมชน มีอยู่อย่างไร เพราะชุมชนทุกชุมชนมีภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย ในชุมชนมีทุนต่างๆอยู่แล้ว เช่น ทุนบุคคล ทุนด้านวัฒนธรรม ทุนการจัดการ ทุนเครือข่าย ซึ่งทุนทางสังคมเหล่านี้ จะส่งผลต่อกระบวนการทางสังคมในชุมชน ถ้าการพัฒนาเริ่มจากตรงจุดนี้ก็เชื่อแน่จะโอกาสที่จะทำให้งานสำเร็จก็มีมาก กิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ กิจกรรมต่างๆที่กำหนดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อสนองตอบความต้องการหรือไม่ก็เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน แต่สิ่งที่ได้จะต้องมองหรือให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือ การพัฒนาคน ทำอย่างไรให้คนได้เรียนรู้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนด
             กระบวนการทำงาน เริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด หลังจากนั้นได้เข้าประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแกนนำชุมชน และคนในชุมชน เนื่องจากบ้านร่องเคาะ เป็นหมู่บ้านที่รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างระดับจังหวัดในปี ๒๕๕๓
              การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของการยกระดับสิ่งที่ทำมาแล้วและสอดคล้องแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน คือการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน ๓๐ ครัวเรือน หลังจากนั้นจัดทำเวทีครัวเรือนทั้ง ๓๐ ครัวเรือนวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร โดยให้แต่ละครัวเรือนนำเสนอเพื่อให้ได้ข้อมูลและฟังความรู้สึก ความมุ่งหวังของแต่ละครัวเรือน จากนั้นได้พาไปศึกษาดูงานที่บ้านทาป่าเปา จังหวัดลำพูน ก่อนไปศึกษาดูงานได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวบ้านทาป่าเปา และแบ่งบทบาทความรับผิดชอบให้แต่ละคนรับผิดชอบเก็บข้อมูลรายละเอียดเพื่อมานำเสนอ
                หลังจากกลับมา การไปศึกษาดูงานได้นอนพัก ๑ คืน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนบ้านทาป่าเปา สอบถามข้อมูลเชิงลึก กลับจากศึกษาดูงานได้มีการสรุปบทเรียนผลการไปศึกษาดูงานว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจะนำไปปรับใช้กับครัวเรือนอย่างไร หลังจากนั้นได้ให้แต่ละครัวเรือนกำหนดแผนชีวิตของครอบครัว ว่าจะปรับปรุงการดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมอย่างไร โดยได้กำหนดว่าผู้นำชุมชนและพัฒนากรจะไปติดตาม และแวะเยี่ยมนครัวเรือนเป้าหมาย และมีจัดเวทีติดตามความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนกิจกรรมที่แต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการ ในช่วงของการดำเนินงาน

ผู้เขียนได้ประสานกับ อบต.และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาเขตที่ ๔๑ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะต่อมาศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๕๑ ได้สนับสนุนพันธ์ ปลาดุก และกบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ครบทุกครัวเรือน การจัดทำเวทีครั้งล่าสุดได้วิเคราะห์ผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้กำหนดจุดเรียนรู้สำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่ได้ดำเนินการจนเป็นตัวอย่างเพื่อเผยแพร่และขยายผล

โดยให้ข้อคิดข้อเสนอแนะสำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่จะเป็นจุดตัวอย่างในการเผยแพร่ ว่าจะปรับปรุงอะไร จะต้องมีวิธีการถ่ายทอดอย่างไร หลังจากนั้นได้ร่วมกับ อบต.ในการจัดมหกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เป็นจุดเรียนรู้ได้นำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมของตนเองเผยแพร่ให้คนมาร่วมงาน ซึ่งได้เชิญแกนนำ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจมาร่วมงานมหกรรม
                
                          แนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปที่กลุ่มได้วางแผนไว้ คือ การประชุมสัญจรไปตามบ้านของครัวเรือนเป้าหมาย ไปบ้านใครให้ครัวเรือนนำเสนอกิจกรรมของตนเอง จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนั้นจะกลุ่มยังมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำเสนอข้อมูลในภาพรวมของกลุ่ม เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

                         ข้อคิดบทเรียนในการทำงานสำหรับบุคคลภายนอกที่เข้าไปทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมนี้คือ ต้องยึดหลัก การมีส่วนร่วมทุกกิจกรรมที่ดำเนินการต้องนำเข้าที่ประชุมกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจ เป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประสานภาคีเครือข่ายสนับสนุน ที่สำคัญ เน้นการพัฒนาคน เช่น การพัฒนาศักยภาพการถ่ายทอด การสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง มีการถอดบทเรียนการทำงานเป็นระยะ ทำให้เกิดการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย นำไปสูซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
   
                   บันทึกขุมความรู้
๑. แนวคิดในการทำงาน หลักการมีส่วนร่วม ทุนทางสังคม
๒. กระบวนการดำเนินงาน
๓. การประสานภาคีการทำงาน
๔. การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานระยะต่อไป
๕. ข้อคิด/บทเรียนการทำงาน
                             แก่นความรู้
๑.ยึดหลักการมีส่วนร่วม
๒.มีกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
๓.เดินเรื่องประสานเครือข่าย
๔.ขยายผลด้วยแผนงาน
๕.ติดตามทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ

                               กลยุทธในการทำงาน
๑. การขับเคลื่อนกิจกรรมโดยเวทีแลกเปลี่ยน โดยจัดเวทีนำเสนอผลความก้าวหน้า ปัญหา
อุปสรรค ให้แต่ละได้มีโอกาสนำเสนอ จะทำเกิดการพัฒนาศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจ เกิดการเสนอแนวทางการทำงานขับเคลื่อนกลุ่ม
๒. การประสานภาคี ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาคีที่ทำงานในชุมชน หลังจากนั้น
นำเสนอข้อมูลให้ภาคีได้ทราบถึงงานที่เรากำลังดำเนินการ บูรณาการงานของภาคีใช้กับกลุ่มเป้าหมายของเรา
๓. การสรุปบทเรียนการทำงาน โดยการทบทวนแผน/เป้าหมาย ผลการทำงาน ปัจจัยที่ทำให้งาน
สำเร็จ ปัญหาและการแก้ไขปัญหา แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
๔. เน้นให้ความสำคัญการพัฒนาคน โดยเวทีแต่ละครั้งให้ทุกคนในเวทีได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนนำเสนอ

               แนวคิด
๑. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
๒. การเรียนรู้ของผู้ใหญ่
๓. ปรัชญาการพัฒนาชุมชน ที่เน้นศักดิ์ศรีของคน การให้โอกาสคน
๔. การมีส่วนร่วม
๕. การสรุปบทเรียนการทำงาน
๖. การเป็นวิทยากรกระบวนการ
“ การทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน ”                                                                                                  
                                                                                                         เทพ  วงศ์สุภา

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เก็บข้อคิด/กระบวนการแผนชุมชน จากแกนนำสามขา


ข้อคิด..กระบวนการแผนชุมชน
เจ้าของความรู้ : นาย ชาญ อุทธิยะ
                           : แกนนำชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
                           : สถาบันแสนผะญ๋าลำปาง

โทรศัพท์            :  087-1769365                       


ก่อนอื่น..ต้องทำให้ชาวบ้าน เข้าใจและศรัทธาเรื่องแผนชุมชนให้ได้ก่อน จึงจะเกิดความตระหนักและสำนึกร่วมกัน ต้องตีให้แตก..ความหมายของแผนชุมชน..เป็นเข็มทิศ..เป็นทิศทางให้กับชุมชน วันนี้จะเอาแผนชุมชนไปใช้ทำอะไร คนนอกอาจจะชัดเจนกว่า ด้วยประสบการณ์..แต่ถ้าคนในชุมชนยังไม่ชัดล่ะ..ต้องตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ 1.ทำแล้วได้อะไร? 2.ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไร? 3.ผลสัมฤทธิ์ที่เกิด..สุดท้ายแล้ว..ใครได้ประโยชน์?..ดังนั้น ต้องเก็บข้อมูลมาให้ชัดๆ สำคัญที่สุดคือ การวิเคราะห์ข้อมูล..การหยิบข้อมูลมาวิเคราะห์นั้นต้องแตกองค์ประกอบออกมาให้หมด ให้เห็นถึงเหตุถึงปัจจัยสำคัญๆของข้อมูลนั้นๆ อย่าด่วนสรุปในข้อมูลที่เห็น..”

สำคัญที่สุดคือ  ต้องรู้ตัวเองก่อน..รู้ว่าบ้านเรามีปัญหาอะไร..จึงจะไปสู่ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้..

1.ชุมชนไหนถ้าขาดการ “เอามื้อ” เป็นชุมชนเข้มแข็งไม่ได้..(การตาย งานบวช การลงแรง ลงแขก ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องการเอามื้อทั้งนั้น

2. “ปั๋นต่า”..คือเรื่องของความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เสมอกันหมด (ระบบของเหมืองฝาย การปันน้ำ..ฯลฯ.)

3.ชุมชนใดสังคมใดไม่มี “ของหน้าหมู่”..อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าชุมชน กองทุนในชุมชน เต้นท์ เครื่องครัวฯลฯ

4.“หัววัด”ก็คือเครือข่าย..มาจากการเอามื้อเอาแรงกัน ถ้านิยามว่าหัววัดหรือเครือข่าย เป็นการทำงานในชุมชนได้แล้ว ...ชุมชนนั้นๆเจริญแน่นอน

                                                             บันทึกจาก..เวทีเสวนากับภาคีเครือข่าย
                                                                                        โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่าย
                                                                                        ผู้เชี่ยวชาญแผนชุมชน 23 กันยายน 2554
                                                                                        ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรียนรู้การร้อยลูกปัดหินสี /คริสตัล(6):เยาวชนสืบสานฯ

 เจ้าของความรู้ : นางรัตชิญา ปิงแก้ว     โทรศัพท์ : 081-4734584

 
                                                          
      
เรื่องเล่า...          เริ่มแรกคุณรัตชิญาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อนแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้รายได้จากการเย็บเสื้อผ้าลดน้อยลง จึงเปลี่ยนมาทำเสื้อยืดแทน แต่แล้วด้วยปัญหาทางรัฐบาลมีการต่อต้านกัน จึงหันมาทำอาชีพเสริม คือการทำเครื่องประดับที่ทำจากคริสตัล ซึ่งมีรายได้ดีจึงยึดเป็นอาชีพหลัก

แนวคิดในการผลิต

                 เป็นงานที่ใช้ต้นทุนต่ำ รายได้ดี และสามารถต่อยอดได้เรื่อยๆ อีกทั้งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งชอบการแต่งตัว รักสวย รักงาม .มีใจรัก   มีความปราณีต มีความสวยงาม มีความคิดสร้างสรรค์ มีลวดลายหลายแบบ  มีความคงทนอยู่นาน  ร้อยเส้นเดียวไร้รอยต่อ..
                 ที่มาของผลิตภัณฑ์ มาจากประเทศออสเตเรีย ผลิตจากทราย แร่สารต่างๆ มีคุณสมบัติคล้ายแก้วและมีความแวววาว สวยงาม

                                                       วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
1.มุก
2.หินสีคริสตัล
3.เส้นเอ็น ขนาด 25 / 30 มม.
4.สต๊อปเปอร์
5.คีมหนีบ
6.กรรไกร
7.ปิดปม
8.กระดุม
9.ลูกปัดแก้วสีต่างๆ

การตลาด - ขายในชุมชน และ ต่างจังหวัด

                          วิธีการทำ สร้อยข้อมือ
1. ตัดเอ็นยาวประมาณ 60 ซม.
2. ตัดเอ็นร้อยใส่ตะเข็บปิดปม ใช้คีมปีบตะขอให้
เรียบร้อย
3. นำสายเอ็นมาร้อยมุกและลูกปัดตามผังลาย
-ใส่ลูกปัดแก้ว 8 เม็ด
-ใส่มุก 2 เม็ดแล้วสวนลูกปัดแก้ว 1 เม็ด
*ทำแบบนี้ตามความยาวที่ต้องการ
4. รวบรวมปลายเอ็นใส่ปากขอปิดปม ใส่สต๊อปเปอร์บิบให้แน่น ให้ตะขบให้เรียบร้อย

                                 วิธีทำแหวน
1. ตัดเอ็นยาวประมาณ 30 ซม.
2. นำปลายเอ็นใส่คริสตัล แล้วตามด้วยลูกปัดแก้ว 28 เม็ด
3. นำปลายเอ็นมาสวนกลับให้ได้ 2 รอบ
4. มัดผูกปม 2 ครั้งแล้วเก็บปลายเอ็นให้เรียบร้อย



                             คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ได้รับรางวัล OTOP ปี 2552 ระดับ 3 ดาว

การตลาด    -รายได้จากการจำหน่าย ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน

วิธีการทางตลาด  ใช้ตัวเองเป็นตัวประชาสัมพันธ์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์
ในการหาลูกค้าและทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์
การส่งเสริมการตลาด และการประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก

จุดเด่น เอกลักษณ์ จุดขายของผลิตภัณฑ์
1.มีความปราณีต 2.ลวดลายหลากหลาย



                                                                                      ผู้บันทึกข้อมูล... เยาวชนกลุ่มสีฟ้า

เทียนหอม(5):เยาวชนสืบสาน

 เจ้าของความรู้ : นางธนิดา วงศ์ศิริ  
                              ร้านจิรภาเทียนหอม ลำปาง

                              โทรศัพท์ : 085-7072525

เรื่องเล่า..  สมัยก่อนมนุษย์ยังไม่มีไฟฟ้า การดำรงชีพจึงลำบาก เพราะมนุษย์ต้องการความอบอุ่น การดำรงชีวิตมานับแต่โบราณ มนุษย์ดึกดำบรรพ์เริ่มด้วยการนำก้อนหินมากระทบกันจนเกิดประกายไฟ และนำมาหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมทั้งทำให้เกิดแสงสว่าง มนุษย์ดำเนินชีวิตมานับหมื่นปีโดยการสืบทอดเป็นอารยะธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

                                แนวความคิดในการผลิตเทียน


             คุณธนิดา วงศ์ศิริ เห็นคุณค่าของความงามแห่งเทียน ได้ผสมผสานศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ ในการทำเทียนหอม งานแต่ละชิ้นผ่านกระบวนการถ่ายทอดด้วยความคิดและงานฝีมืออันประณีต งานทุกชิ้นทำด้วยความรัก มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ตามความต้องการของตลาด จนทำให้เกิดร้านจิรภาเทียนหอมขึ้น ในปี พ.ศ. 2547 และได้ผ่านการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ระดับ 5 ดาว ในครั้งแรกเลย    ซึ่งภาคภูมิใจกับรางวัลนี้มาก



เอกลักษณ์ /จุดเด่น




1) มีกลินหอม สีสรรสวยงาม
                           2) ระยะเวลาใช้งานได้นาน
                           3) ปลอดภัยในการใช้งาน
                           4) หลากหลายรูปแบบ (ปั้นได้หลากหลาย
                           5) ไม่มีควัน
                           6) จุดเพื่อให้มีกลิ่นหอมไล่กลิ่นอับ ไล่แมลง /
                               กลิ่นหอมทำให้ผ่อนคลาย
                           7) เป็นของใช้ประดับตกแต่ง
                           8) เป็นของฝาก /ที่ระลึก /ของชำร่วย

วิถีชีวิต

เนื่องจากปัจจุบัน วิถีชีวิตของมนุษย์ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบแข่งขันทั้งกับผู้อื่น และแข่งกับเวลาจึงทำให้เกิดความเครียด และได้เริ่มหันมาใช้กลิ่นหอมเพื่อบำบัดกันมากขึ้น การจุดเทียนให้มีกลิ่นหอม เพื่อช่วยผ่อนคลายจึงได้รับความนิยมกันมากขึ้น

                                                วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเทียน
1. พาราฟิน เป็นวัตถุดิบ ได้มาจากขบวนการกลั่นน้ำมัน พาราฟินส่วนใหญ่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น
และจีน โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 Normal Paraffin พาราฟินชนิดนี้มีสีขาวขุ่น บางครั้งจะมีสีเหลือง มีกลิ่นคล้ายน้ำมันก๊าด พาราฟินชนิดนี้มีควันมาก
1.2 Fully Paraffin พาราฟินชนิดนี้ มีสีขาวใสไม่มีกลิ่น โดยนิยมนำมาทำเทียนแฟนซีประเภทสวยงาม
2. Stearic Acid มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น ใช้ผสมในการทำเทียน ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ
สำหรับเทียน ครึ่งกิโลกรัม ช่วยทำให้เทียนเหนียวแน่น ไม่แตกหักง่าย และแกะออกจากพิมพ์ง่าย ทำใหผิวเทียนมีความมันเงา
3. Polyester Esterrin ( P.E. ) มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น เกล็ดจะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ
เล็กกรอบ ใช้ผสมในการทำเทียนประมาณ 3-10 % ของน้ำหนักพาราฟิน ช่วยทำให้เทียนแข็งและจุดได้นานมากขึ้น
4. Micro Wax มีลักษณะเป็นแผ่นสีขาวนวลหรือสีเหลือง แล้วแต่คุณภาพ ใช้ผสมในเทียน     ประมาณ 30 % มีคุณสมบัติช่วยทำให้เนื้อเทียนไม่มีฟองอากาศ และเนื้อเทียนจะเนียนสวยงามและใช้กับเทียนที่ดึงจะทำให้เทียนดึงได้ง่ายขึ้น
5. ไส้เทียน ต้องทำจากเส้นด้าย 100% ไม่มีใยสังเคราะห์ใด ๆ เจือปน เวลนำเส้นฝ้ายขนาดตาม
ความเหมาะสมของขนาดตามเส้นผ่าศูนย์กลางเทียน ชุบน้ำเทียนร้อนแล้วดึงให้ตึงผึ่งลมประมาณ 3-5 นาที  ไส้เทียนจะแข็งใช้ปักลงในเทียน การคำนวณขนาดไส้เทียน ให้ใช้สูตร 1/15 x เส้นผ่าศูนย์กลางของแบบเทียน
6. Oil color สีเฉพาะสำหรับการผสมเทียนเท่านั้น แบ่งออกเป็น ชนิดผง ชนิดแท่ง ชนิดครีม
7. Essential oils หรือ Fragrance oil หรือ เรียกว่า น้ำมันหอม สกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือบางชนิดได้จากการสังเคราะห์ การทำเทียนที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม จะไม่ใช้น้ำหอมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และน้ำเพราะจะเป็นไขมัน

             
                

                                      กระบวนการผลิต


อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเทียน
1. หม้อต้มเทียนมีด้ามจับ เวลาเทเทียนจะได้ไม่ร้อน
2. กะละมัง หรือ กระป๋องนมเก่าใบเล็ก ๆ หรือแก้วที่ทนความร้อน ใช้สำหรับแบ่งน้ำเทียน
3. ทัพพี สำหรับตักน้ำเทียน
4. คีมเหล็กสำหรับจับวัสดุอื่นในการทำเทียน
5. ถุงมือสำหรับจับของร้อน
6. กาต้มน้ำเล็กสำหรับเทน้ำเทียน
7. เกรียงเหล็ก
8. แผ่นกระจก
9. มีดเล็กสำหรับขูดน้ำเทียนออกเวลาเทียนเลอะ
10. กรรไกร
11. ถ้วยพลาสติกใช้แล้ว สำหรับใส่น้ำเปล่า
12. ไส้เทียนทำจากฝ้ายดิบ 100%                                                                                                 
 สูตรน้ำเทียน

- พาราฟิน 500 กรัม
- พี.อี. 25 กรัม
- ไมโครแว๊กซ์ 25 กรัม
- สเตียริค 10 กรัม
- สีน้ำมัน
- น้ำมันหอม
- ไส้เทียน                               

                         ขั้นตอนการทำเทียนโดยละเอียด


1. ต้มเทียนโดยใส่ส่วนผสมในหม้อ ตั้งบนเตา ซึ่งประกอบด้วย พาราฟิน 1 กก. สเตียริค 4 ช้อนโต๊ะ พี.อี 4 ช้อนโต๊ะ ให้ใส่ส่วนผสมทั้ง 3 ชนิดก่อน ต้มจนละลายเป็นเนื้อเดียวกันจนใส ปิดเตาทิ้งไว้ให้อุณหภูมิลดลงประมาณ 10 องศาเซลเซียส เติมสเตียริค คนจนละลาย รอจนน้ำเทียนขึ้นสีขุ่นขาว จึงนำมาใช้เทต่อไป
2. ระหว่างการเติมน้ำเทียนและรอให้น้ำเทียนได้ที่ นำเซรามิกมาทำความสะอาดและเตรียมไส้
เทียนโดยนำฝ้าย 100 % มาตัดให้มีความยาวประมาณ 50-80 ซม. นำไปจุ่มในน้ำเทียนที่ต้มเสร็จแล้ว ดึงไส้เทียนให้ตรงแล้ววางบนหนังสือพิมพ์ทิ้งไว้จนไส้เทียนแข็งตัว แล้วนำไปตัดตามความยาวที่ต้องการ
3. นำไส้เทียนที่ตัดแล้วนำมาใส่เหรียญเทียน ใช้คีมหนีบใส้ให้ติดกับเหรียญก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง
4. การเตรียมสี ให้ตักน้ำเทียนแยกออกมา 2 ทัพพี ใส่กระป๋องนมเก่า ทิ้งไว้ให้เย็นจนเกือบแข็งตัว
จึงใส่สีผสมเทียนลงไปและใช้ซ่อมคนจนสีแตกตัวแล้วนำไปตั้งไฟอีกครั้งจนน้ำเทียนละลาย ต่อจากนั้น แบ่งไปผสมในน้ำเทียนให้มีสีอ่อนหรือเข้มตามต้องการ แล้วให้เติมน้ำมันหอมระเหย 7 ซีซี ต่อ 1 กก. ก่อนนำไปเทในแม่พิมพ์ หรือนำไปทำชิ้นงานต่างๆ
5. การเตรียมถ้วยเซรามิกก่อนเทเทียน ให้นำถ้วยเซรามิกมาวางบนโต๊ะและนำไส้เทียนที่ใส่
เหรียญเทียนมาแล้ว มาวางตรงกลางของถ้วยเซรามิก แล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นที่ผ่าลงครึ่งหนึ่งนำมาหนีบกับไส้เทียน วางพาดปากถ้วยเซรามิก ดูให้ไส้เทียนตั้งตรง รักษาระดับให้ไส้เทียนอยู่ตรงกลางถ้วยเซรามิกพอดี
6. การเทเทียน ให้ตักน้ำเทียนที่ผสมทุกอย่างแล้วใส่ในกาต้มน้ำเล็ก ๆ จะใช้กระป๋องนมเก่าก็ได้
แล้วเริ่มเทลงในถ้วยเซรามิค โดยจะต้องแบ่งการเทออกเป็น 4 ครั้ง แต่ละครั้งต้องทิ้งไว้ให้เทียนเย็นก่อนเสมอจึงเทรอบต่อไป สำหรับการปิดหน้าครั้งสุดท้ายจะต้องรอให้เทียนเย็นสนิท อย่างน้อยต้องรอประมาณ 3 ชม. ก่อนที่จะเทปิดเสมอ
7. หลังจากที่เทียนแข็งตัวแล้ว ให้ดึงไม้เสียบลูกชิ้นออก แล้วตัดให้ไส้เทียนเหลือประมาณ 1.5-2
ซม. และทำความสะอาดด้านนอกของเซรามิกให้สวยงาม เทียนพร้อมใช้งานหรือนำไปจำหน่ายต่อไป
8.ตกแต่งและบรรจุภัณฑ์
         


ตลาดในประเทศ ส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศ 30 %
ตลาดต่างประเทศ ประเทศหลักๆ ในการส่งออก มี 5 ประเทศ คือ  จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตเรีย และฝรั่งเศส คิดเป็น 70 %

การส่งเสริมการขาย   มีบริการหลังการขาย เปลี่ยนคืนสินค้าที่ชำรุดในระหว่างการขนส่งให้ลูกค้า

                                                                         บันทึกข้อมูลภูมิปัญญาโดย... กลุ่มเยาวชนสืบสานฯ


(4)กาแฟโบราณ : เยาวชนสืบสาน

เจ้าของความรู้ : นางศรีวิไล ศรีจำปา                
                             ร้าน ศรีวิไลกาแฟโบราณ     
                             ตลาดเก๊าจาว ลำปาง 

                             โทร.083-2051307

เรื่องเล่าของป้า : ก่อนที่จำทำร้านกาแฟโบราณ คุณป้าวิไล เคยทำอาชีพ ส่งน้ำแข็ง แต่รายได้ไม่ค่อยดี จึงคิดที่จะขายกาแฟโบราณ.. ก่อนที่จะทำการขาย ได้ไปศึกษากับพี่ชายซึ่งเคยทำกาแฟโบราณมาก่อน แล้วมาเปิดร้านของตนเอง ใช้ชื่อว่า ศรีวิไล กาแฟโบราณ ซึ่งขายมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 รวมระยะเวลา 33 ปี

                           ต้นทุนและรายได้
            ป้าศรีวิไลเล่าว่า เริ่มต้นทุนประมาณ 2,000 บาท หรือแล้วแต่ขนาดของกิจการ รายได้เฉลี่ยวันละ 300 – 1,400 บาท แล้วแต่ช่วง   ถ้าเป็นช่วงเทศกาลจะขายดีมาก รวมรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

                       ประเภทเครื่องดื่มที่ขาย


*กาแฟร้อน – เย็น
*ชาร้อน – เย็น , ชาดำเย็น
*โอยั๊วะ – โอเลี้ยง
*นมเย็น /โอวัลตินร้อน –เย็น
*ไข่ลวก

                       วัสดุ/อุปกรณ์ 
หม้อต้มกาแฟ
เตาอั้งโล่ เบอร์ 2 /เตาแก็ส
ชุดกาแฟ หม้อ/โถกาแฟ
แก้วสำหรับชงกาแฟ/ลวกไข่


ถุงชงกาแฟ  กระบวยตักน้ำ แก้วพลาสติก
ลังใส่น้ำแข็ง ช้อนชงกาแฟ


                    วัตถุดิบ
ผงกาแฟสำเร็จรูป / ผงสำเร็จรูปเครื่องดื่มต่าง ๆ
นมสด , นมข้นหวาน,นำหวานเฮลซ์บลูบอย
น้ำตาล,มะนาวและน้ำแข็ง

                  วิธีทำ กาแฟเย็น
1. จัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ
2. น้ำใส่ในหม้อต้มรอจนเดือด
3. ผงกาแฟใส่ถุงชง ก่อนที่จะนำไปใส่ในหม้อชง วางไว้บนหม้อต้ม
4. เทนมข้นหวานลงในแก้วชงก่อนจะตามด้วย น้ำตาลทรายและนำน้ำกาแฟที่ชงเรียบร้อยแล้ว
5. เทนมสดลงไปพอประมาณ
6. คนให้เข้ากันก่อนจะเทใส่แก้ว ที่มีน้ำแข็ง

                                                      กระบวนการผลิต
- ต้องก่อไฟด้วยเตาถ่าน หรือใช้แก๊สหุงต้ม ตั้งน้ำไว้รอให้เดือด
- ต้องทำความสะอาด บริเวณร้านที่ขาย
- จัดเตรียมอุปกรณ์
- เมนูกาแฟ - โอยัวะ สูตร กาแฟ ครึ่งแก้ว / น้ำตาล 1 ช้อน
- โอเลี้ยง สูตร กาแฟ ครึ่งแก้ว / น้ำตาล 2 ช้อน
- ชานมเย็น สูตร ชา ครึ่งแก้ว / นมข้น 3 ช้อน / น้ำตาล 2 ช้อน
- กาแฟ สูตร กาแฟ ครึ่งแก้ว / นมข้น 2 ช้อน / น้ำตาล 2ช้อน

         กลุ่มลูกค้า ..
           โดยทั่วไปแล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำ ประเภทวัยรุ่น พ่อบ้าน แม่บ้าน ลูกค้าขาจรเป็นบางส่วน แต่จะมากช่วงเทศกาล

การตลาด

ถ้าใครกินหมดก็เติมได้ เพราะมันอยู่ที่ใจและต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็มีขนมแจกให้



 

                                        จุดเด่น เอกลักษณ์ เทนิค การขาย

                   เน้นการบริการลูกค้า ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาสุภาพอ่อนโยน ต้องใจดี มีอัธยาศัยดี ราคาคงที่ แม้เศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป

เกล็ดความรู้ / เคล็ดลับ
- ในกรณีที่เราตื่นสาย ในการต้มน้ำควรใส่น้ำแค่ครึ่งถัง เพราะลูกค้าจะรอนาน
- ในการเลือกชนิดกาแฟ ต้องใช้กาแฟยี่ห้อโคเฟโฮสีน้ำตาลเพราะมีกลิ่นหอมกว่าชนิดอื่น
- ถ้าเราใช้น้ำประปา ในการต้มกาแฟ ก็ให้เอาน้ำประปาใส่โอ่งทิ้งไว้ 4- 5 วัน เพื่อรอให้กลิ่นคลอรีนหาย  และไม่เปลืองเงินเรามาก

คติประจำใจ

ทำอะไรต้องใช้ใจทำ ต้องเป็นคนที่จิตใจดี อัธยาศัยดี ลูกค้าจึงเข้าร้านเราเยอะ

                                                                            บันทึกข้อมูลภูมิปัญญา โดย...เยาวชนกลุ่มสีเขียว



เยาวชนเรียนรู้(3)ข้าวแต๋นน้ำแตงโม

เจ้าของความรู้ : นาง เกศกนก  แสงจันทร์ 
                    ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
                    ผู้ผลิตข้าวแต๋นบ้านทุ่งม่านเหนือ

    อ.เมือง จ.ลำปาง 52100
    เบอร์โทรศัพท์ : (054)-360088 081-7067226
 
     




เรื่องเล่า...ข้าวแต๋นเป็น..ขนมพื้นบ้านหรือเป็นอาหารว่างของชาวภาคเหนือในประทศไทย ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาพื้นบ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และนำมาทำเป็นขนมพื้นบ้านเพื่อถนอมอาหาร บอกเล่ากันว่าในอดีตชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน มีรายได้น้อย ในแต่ละวันเวลากินข้าวเหนียวเหลือ ก็จะนำไปตากแห้งเก็บเอาไว้ทอดกิน คือ เป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังนำมาราดน้ำอ้อยทำเป็นขนมให้เด็กๆ กิน จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดกันมา จนพัฒนาเป็นข้าวแต๋น และได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จากที่เคยทำเพื่อเป็นการถนอมอาหารสามารถเก็บมากินได้นานๆ ไม่ค่อยมีรสชาติ ก็สามารถนำมาผสมกับน้ำแตงโม น้ำตาล น้ำอ้อย เกลือ และแต่งหน้า อีกทั้งยังสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ข้าวแต๋นหน้าน้ำตาล ข้าวแต๋นหน้าพริกเผาหมูหยอง ข้าวแต๋นหน้าธัญพืช ข้าวแต๋นแบบคำเดียว เป็นต้น จึงทำให้กลายเป็น “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ” มาจนถึงทุกวันนี้



วิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม..  เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณี
          ดั้งเดิม : ข้าว เพราะคนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว เพราะข้าวเป็น
วัสดุหลักในการผลิต  การเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน :
1. ทำให้ชุมชนมีรายได้
2. คนในชุมชนไม่ว่างงาน
3. หลังฤดูเก็บเกี่ยว สามารถทำเป็นอาชีพเสริม
4. วัตถุดิบที่ใช้สามารถหาได้ในท้องถิ่น

                                                            กระบวนการผลิต

               วัตถุดิบในการผลิต
1. ข้าวเหนียว 5 กิโลกรัม  2. แตงโม 5 ถัวยตวง  3. เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ   4. น้ำอ้อย 300 กรัม
5. น้ำ 5 ถ้วยตวง  6. น้ำตาลปิ๊บ  7. น้ำมัน  8. งาขาว,งาดำ  9. เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
10. เมล็ดฟักทอง 11. ถั่วเหลืองผ่าซีก 12. น้ำพริกเผา 13. หมูหยอง 14. ลูกเกด

              วัสดุอุปกรณ์ในการผลิต
1. กระทะทอด 2. ตะแกรงมุ้งลวง 3. กระชอน 4. กะละมัง  5. แบบพิมพ์ 6. ถาดใส
7. เครื่องซิล  8. กระทะไฟฟ้า 9. หม้อนึ่งข้าว 10. ถาด 11. ทัพพี 12. เครื่องปั้น
13. ถุงแก้ว 14. เตาแก๊ส 15. ตาชั่ง





ขั้นตอนการผลิต
1.1 ขั้นตอนการทำแผ่นแห้ง
1. แช่ข้าวเหนียวทิ้งไว้ 1 คืน นึ่งให้สุกผึ่งให้เย็น
2. นำแตงโมที่เตรียมไว้ มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ คั้นเอาแต่น้ำ
3. นำน้ำแตงโม น้ำอ้อยผง เกลือป่น น้ำเปล่า ที่เตรียมไว้ นำมาผสมให้เข้ากัน
4. นำส่วนผสมที่เตรียมไว้และงาขาวพอประมาณมาคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวให้เข้ากัน
5.นำข้าวเหนียวที่ได้ กดลงในพิมพ์ที่เตรียมไว้ แล้วตากในแผงมุ้งลวด ประมาณ 2-3 แดด

1.2. ขั้นตอนการทอด

1. เตรียมน้ำมัน ตั้งไฟให้ร้อนจัด ต้องทอดขณะน้ำมันร้อนจัดเท่านั้น
2. นำแผ่นแห้งที่เตรียมไว้มาทอด ต้องสังเกตให้สุกได้ที่ จึงตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้
3. ทิ้งไว้ให้เย็น เตรียมรอนำมาแต่งหน้า

1.3 ขั้นตอนการแต่งหน้า

1. นำน้ำตาลปิ๊บมาเคี่ยว โดยใช้ไฟปานกลาง เคี่ยวให้เหนียวพอประมาณ
2. ใส่น้ำอ้อยลงไปพอประมาณ แล้วเคียวต่อสักพัก
3. นำช้อนมาตักน้ำตาลราดหน้าข้าวแต๋น ที่ทอดเตรียมไว้ ทีละแผ่น โดยราดให้เป็นเส้นเล็กๆ เป็นวงกลมตามแผ่น
4. นำแผ่นที่ทำไว้เตรียมมาแพ๊กใส่ถุง
5. นำถุงที่แพ็กแล้ว มาปิดปากถุงด้วยเครื่องซีล เสร็จแล้วจีบให้สวยงาม

รูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์


การจดทะเบียนรัฐวิสาหกิจชุมชน รหัสทะเบียน 6-52-01-14/1-0002
- สุดยอดศูนย์การเรียนรู้ อย. ชุมชนต้นแบบ ด้านความเข้มแข็งกลุ่มสุดยอด
- รางวัลชนะเลิศการประกวดคัดสรรสุดยอดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบ ปี 2549
- ได้รับคัดเลือกการคัดสรรผลงานด้านอาหารพื้นบ้าน ประเภทของคาวหวาน
- ได้รับรางวัลจากกระทรวงสาธารณสุขด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

รายได้จากการจำหน่าย
              รายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมชุมชน โดยการซื้อผลิตภัณฑ์เป็นของฝาก ของกินเล่น รายได้จากการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาท

ตลาดหรือแหล่งรับซื้อ
1. ชุมชน 2 .กรุงเทพมหานคร 3.ตลาดทุ่งเกวียน 4.ตลาดอัศวิน  5.ร้านขายของชำทั่วไป

วิธีการทางการตลาด
1. ขายแผ่นแห้งสำหรับทอด                                        
2. ขายทั้งปลีก และส่ง
3. จากการมาเที่ยวชม ศึกษาดูงาน
4. การเป็นวิทยากร

                การส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์
1. งานแสดงสินค้า
2. วิทยากร
3. การศึกษาดูงาน
จุดเด่น เอกลักษณ์ หรือจุดขายของผลิตภัณฑ์

                                         จุดเด่น เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
                             หอม กรอบ อร่อย สามารถรับประทานเป็นอาหารว่าง หรือ รับประทานกับนม กาแฟ ในตอนเช้า และยังสามารถนำเป็นของฝากได้

จุดขายของผลิตภัณฑ์   สด ใหม่ มีให้เลือกหลากหลาย ทั้ง ข้าวแต๋นหน้าน้ำตาล ข้าวแต๋นหน้าธัญพืช ข้าวแต๋น  หน้าพริกเผาหมูหยอง ข้าวแต๋นแบบคำเดียว ข้าวแต๋นรูปทรงโดนัท เป็นต้น


ปัญหาในการผลิต + วิธีการแก้ปัญหา
1. ตอนเริ่มทำ ยังไม่ได้มาตรฐาน  +  ลองผิดลองถูก
2. แผ่นเสีย  +ขายในราคาถูก และนำไปเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยง
3. ขาดแรงงานในช่วงฤดูกาล + รับสมัครแรงงานจากหมู่บ้านอื่น
4.ธรรมชาติ   + ใช้ตู้อบ
5.วัตถุดิบขาดตลาด  + สอบถามจากเครือข่าย




                                                                               บันทึกภูมิปัญญาโดย....สมาชิกกลุ่มสีม่วง

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

(2) เยาวชนกับเครื่องประดับกะลามะพร้าว

เจ้าของความรู้ : นางอนงค์ เครือจันต๊ะ.....
กลุ่มกะลาทรายทอง บ้านทุ่งบ่อแป้น
หมู่ที่ 2 ตำบลปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
โทรศัพท์ 084-8056635

                        

เรื่องเล่า...  ในสมัยโบราณชาวบ้านมักจะใช้แค่เนื้อมะพร้าวเท่านั้นนำมาประกอบอาหารหรือทำขนม ส่วนกะลามะพร้าวก็จะนำไปทำกระบวยตักน้ำหรือทำทัพพี ในปัจจุบันกะลามะพร้าวมีอยู่มากมายเกินความจำเป็น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไร มาจนกระทั่งสหกรณ์อำเภอ ได้ส่งตัวแทนของชาวบ้านไปเข้าอบรมการทำผลิตภัณฑ์จากกะลาที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีความรู้และแนวคิดในการผลิตผลิตภัณฑ์จากกะลาในรูปแบบใหม่ๆ จากภูมิปัญญท้องถิ่น ประเภทเครื่องประดับกายเช่น ต่างหู สร้อยคอ เข็มขัด กำไลข้อมือ เครื่องประดับตกแต่ง เช่น โคมไฟจากกะลา และในพ.ศ. 2547 มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้น เพื่อรวมกันทำผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากอาชีพหลักคือ รับจ้างทั่วไป เมื่อหักต้นทุนแล้วมีรายได้เฉลี่ย 2,000 - 3,000 บาทต่อเดือน

อัตลักษณ์ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หาได้ง่ายทั่วไป ลวดลายไม่ซ้ำกัน ได้รับการรับรองมาตรฐาน
มผช. ปี พ.ศ. 2549..





ความสัมพันธ์กับชุมชน

วิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก หลังจากการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้นมา อีกทั้งยังนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในหมู่บ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่สูญเปล่า สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน
กระบวนการผลิต


1.วัตถุดิบและส่วนประกอบ ในการทำแหวน ต่างหู และกำไลข้อมือ             
                                        -ด้าย เบอร์ 15 -เม็ดกะลา
                                        -เม็ดลูกปัดไม้ -กรรไกร
                                        -กาวร้อน -คีมปากจิ้งจก
                                        -ไฟแช็ค -แผ่นกะลา
                                        -ลวดต่างหู ขอต่างหู
                    2.ขั้นตอนการผลิต
                                        1)นำด้ายชุบกาวร้อน ตรงปลายทั้งสองข้าง
                                        2)นำด้ายแบ่งครึ่งแล้วผูกปม
                                        3)นำลูกปัดร้อยตามลวดลาย
                                       4)เมื่อเรียบร้อยแล้ว ผูกปมให้แน่น เพื่อให้ลายออกมาสวยงาม

3.เทคนิค /เคล็ดลับ

ระหว่างการทำต้องดึงเส้นด้ายให้แน่น และที่สำคัญต้องออกแบบที่แปลกใหม่ ทันสมัย เพื่อสร้างจุดเด่นและน่าสนใจ  

กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP : นางอุมารินทร์ ไชยมูล ประธานกลุ่มกะลาทรายทอง
                                                             จังหวัดลำปาง
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์   : ในประเทศ
                                                           -ถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่
                                                           -สวนจตุจักร กรุงเทพฯ
                                               : ต่างประเทศ   ประเทศอียิปต์ สหรัฐอเมริกา จีน..
                                        
                                                                        บันทึกข้อมูลโดย...สมาชิกกลุ่มเยาวชนสีส้ม