วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสำเร็จ..การขับเคลื่อนหมู่บ้านตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี” ที่บ้านร่องเคาะ

เจ้าของความรู้ : นายเทพ วงศ์สุภา
ตำแหน่ง :  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๙-๔๖๐๕๘๗๕

สถานที่เกิดเหตุการณ์ : บ้านร่องเคาะหมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ผู้เขียนได้มีโอกาส รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี”
ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่บ้านร่องเคราะห์ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
            ผู้เขียนมีแนวคิดในการทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกัน ที่คนทางเหนือ เรียกว่า เป็นเรื่องของ “หน้าหมู่” มีการจัดประกายให้คนในชุมชนให้เกิดความตระหนัก นำไปสู่การมีส่วนร่วมในชุมชนในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาหมู่บ้าน
             การเข้าไปดำเนินการของบุคคลภายนอกจะต้องเข้าไปเรียนรู้ การดำเนินงานของชุมชนที่อยู่ก่อนแล้ว นั้นคือ ต้องเข้าไปศึกษาว่าทุนทางสังคมของชุมชน มีอยู่อย่างไร เพราะชุมชนทุกชุมชนมีภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย ในชุมชนมีทุนต่างๆอยู่แล้ว เช่น ทุนบุคคล ทุนด้านวัฒนธรรม ทุนการจัดการ ทุนเครือข่าย ซึ่งทุนทางสังคมเหล่านี้ จะส่งผลต่อกระบวนการทางสังคมในชุมชน ถ้าการพัฒนาเริ่มจากตรงจุดนี้ก็เชื่อแน่จะโอกาสที่จะทำให้งานสำเร็จก็มีมาก กิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ กิจกรรมต่างๆที่กำหนดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อสนองตอบความต้องการหรือไม่ก็เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน แต่สิ่งที่ได้จะต้องมองหรือให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือ การพัฒนาคน ทำอย่างไรให้คนได้เรียนรู้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนด
             กระบวนการทำงาน เริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด หลังจากนั้นได้เข้าประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแกนนำชุมชน และคนในชุมชน เนื่องจากบ้านร่องเคาะ เป็นหมู่บ้านที่รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างระดับจังหวัดในปี ๒๕๕๓
              การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของการยกระดับสิ่งที่ทำมาแล้วและสอดคล้องแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน คือการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน ๓๐ ครัวเรือน หลังจากนั้นจัดทำเวทีครัวเรือนทั้ง ๓๐ ครัวเรือนวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร โดยให้แต่ละครัวเรือนนำเสนอเพื่อให้ได้ข้อมูลและฟังความรู้สึก ความมุ่งหวังของแต่ละครัวเรือน จากนั้นได้พาไปศึกษาดูงานที่บ้านทาป่าเปา จังหวัดลำพูน ก่อนไปศึกษาดูงานได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวบ้านทาป่าเปา และแบ่งบทบาทความรับผิดชอบให้แต่ละคนรับผิดชอบเก็บข้อมูลรายละเอียดเพื่อมานำเสนอ
                หลังจากกลับมา การไปศึกษาดูงานได้นอนพัก ๑ คืน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนบ้านทาป่าเปา สอบถามข้อมูลเชิงลึก กลับจากศึกษาดูงานได้มีการสรุปบทเรียนผลการไปศึกษาดูงานว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจะนำไปปรับใช้กับครัวเรือนอย่างไร หลังจากนั้นได้ให้แต่ละครัวเรือนกำหนดแผนชีวิตของครอบครัว ว่าจะปรับปรุงการดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมอย่างไร โดยได้กำหนดว่าผู้นำชุมชนและพัฒนากรจะไปติดตาม และแวะเยี่ยมนครัวเรือนเป้าหมาย และมีจัดเวทีติดตามความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนกิจกรรมที่แต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการ ในช่วงของการดำเนินงาน

ผู้เขียนได้ประสานกับ อบต.และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาเขตที่ ๔๑ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะต่อมาศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๕๑ ได้สนับสนุนพันธ์ ปลาดุก และกบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ครบทุกครัวเรือน การจัดทำเวทีครั้งล่าสุดได้วิเคราะห์ผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้กำหนดจุดเรียนรู้สำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่ได้ดำเนินการจนเป็นตัวอย่างเพื่อเผยแพร่และขยายผล

โดยให้ข้อคิดข้อเสนอแนะสำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่จะเป็นจุดตัวอย่างในการเผยแพร่ ว่าจะปรับปรุงอะไร จะต้องมีวิธีการถ่ายทอดอย่างไร หลังจากนั้นได้ร่วมกับ อบต.ในการจัดมหกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เป็นจุดเรียนรู้ได้นำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมของตนเองเผยแพร่ให้คนมาร่วมงาน ซึ่งได้เชิญแกนนำ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจมาร่วมงานมหกรรม
                
                          แนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปที่กลุ่มได้วางแผนไว้ คือ การประชุมสัญจรไปตามบ้านของครัวเรือนเป้าหมาย ไปบ้านใครให้ครัวเรือนนำเสนอกิจกรรมของตนเอง จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนั้นจะกลุ่มยังมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำเสนอข้อมูลในภาพรวมของกลุ่ม เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

                         ข้อคิดบทเรียนในการทำงานสำหรับบุคคลภายนอกที่เข้าไปทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมนี้คือ ต้องยึดหลัก การมีส่วนร่วมทุกกิจกรรมที่ดำเนินการต้องนำเข้าที่ประชุมกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจ เป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประสานภาคีเครือข่ายสนับสนุน ที่สำคัญ เน้นการพัฒนาคน เช่น การพัฒนาศักยภาพการถ่ายทอด การสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง มีการถอดบทเรียนการทำงานเป็นระยะ ทำให้เกิดการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย นำไปสูซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
   
                   บันทึกขุมความรู้
๑. แนวคิดในการทำงาน หลักการมีส่วนร่วม ทุนทางสังคม
๒. กระบวนการดำเนินงาน
๓. การประสานภาคีการทำงาน
๔. การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานระยะต่อไป
๕. ข้อคิด/บทเรียนการทำงาน
                             แก่นความรู้
๑.ยึดหลักการมีส่วนร่วม
๒.มีกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
๓.เดินเรื่องประสานเครือข่าย
๔.ขยายผลด้วยแผนงาน
๕.ติดตามทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ

                               กลยุทธในการทำงาน
๑. การขับเคลื่อนกิจกรรมโดยเวทีแลกเปลี่ยน โดยจัดเวทีนำเสนอผลความก้าวหน้า ปัญหา
อุปสรรค ให้แต่ละได้มีโอกาสนำเสนอ จะทำเกิดการพัฒนาศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจ เกิดการเสนอแนวทางการทำงานขับเคลื่อนกลุ่ม
๒. การประสานภาคี ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาคีที่ทำงานในชุมชน หลังจากนั้น
นำเสนอข้อมูลให้ภาคีได้ทราบถึงงานที่เรากำลังดำเนินการ บูรณาการงานของภาคีใช้กับกลุ่มเป้าหมายของเรา
๓. การสรุปบทเรียนการทำงาน โดยการทบทวนแผน/เป้าหมาย ผลการทำงาน ปัจจัยที่ทำให้งาน
สำเร็จ ปัญหาและการแก้ไขปัญหา แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
๔. เน้นให้ความสำคัญการพัฒนาคน โดยเวทีแต่ละครั้งให้ทุกคนในเวทีได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนนำเสนอ

               แนวคิด
๑. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
๒. การเรียนรู้ของผู้ใหญ่
๓. ปรัชญาการพัฒนาชุมชน ที่เน้นศักดิ์ศรีของคน การให้โอกาสคน
๔. การมีส่วนร่วม
๕. การสรุปบทเรียนการทำงาน
๖. การเป็นวิทยากรกระบวนการ
“ การทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน ”                                                                                                  
                                                                                                         เทพ  วงศ์สุภา

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เก็บข้อคิด/กระบวนการแผนชุมชน จากแกนนำสามขา


ข้อคิด..กระบวนการแผนชุมชน
เจ้าของความรู้ : นาย ชาญ อุทธิยะ
                           : แกนนำชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
                           : สถาบันแสนผะญ๋าลำปาง

โทรศัพท์            :  087-1769365                       


ก่อนอื่น..ต้องทำให้ชาวบ้าน เข้าใจและศรัทธาเรื่องแผนชุมชนให้ได้ก่อน จึงจะเกิดความตระหนักและสำนึกร่วมกัน ต้องตีให้แตก..ความหมายของแผนชุมชน..เป็นเข็มทิศ..เป็นทิศทางให้กับชุมชน วันนี้จะเอาแผนชุมชนไปใช้ทำอะไร คนนอกอาจจะชัดเจนกว่า ด้วยประสบการณ์..แต่ถ้าคนในชุมชนยังไม่ชัดล่ะ..ต้องตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ 1.ทำแล้วได้อะไร? 2.ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไร? 3.ผลสัมฤทธิ์ที่เกิด..สุดท้ายแล้ว..ใครได้ประโยชน์?..ดังนั้น ต้องเก็บข้อมูลมาให้ชัดๆ สำคัญที่สุดคือ การวิเคราะห์ข้อมูล..การหยิบข้อมูลมาวิเคราะห์นั้นต้องแตกองค์ประกอบออกมาให้หมด ให้เห็นถึงเหตุถึงปัจจัยสำคัญๆของข้อมูลนั้นๆ อย่าด่วนสรุปในข้อมูลที่เห็น..”

สำคัญที่สุดคือ  ต้องรู้ตัวเองก่อน..รู้ว่าบ้านเรามีปัญหาอะไร..จึงจะไปสู่ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้..

1.ชุมชนไหนถ้าขาดการ “เอามื้อ” เป็นชุมชนเข้มแข็งไม่ได้..(การตาย งานบวช การลงแรง ลงแขก ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องการเอามื้อทั้งนั้น

2. “ปั๋นต่า”..คือเรื่องของความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เสมอกันหมด (ระบบของเหมืองฝาย การปันน้ำ..ฯลฯ.)

3.ชุมชนใดสังคมใดไม่มี “ของหน้าหมู่”..อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าชุมชน กองทุนในชุมชน เต้นท์ เครื่องครัวฯลฯ

4.“หัววัด”ก็คือเครือข่าย..มาจากการเอามื้อเอาแรงกัน ถ้านิยามว่าหัววัดหรือเครือข่าย เป็นการทำงานในชุมชนได้แล้ว ...ชุมชนนั้นๆเจริญแน่นอน

                                                             บันทึกจาก..เวทีเสวนากับภาคีเครือข่าย
                                                                                        โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่าย
                                                                                        ผู้เชี่ยวชาญแผนชุมชน 23 กันยายน 2554
                                                                                        ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง