วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โครงการKM DELIVERY

โครงการ KM DELIVERY การจัดการความรู้ส่งตรงถึงที่ปี 2 มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อพัฒนาช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรกรมฯ 2.เพื่อต่อยอดความรู้และการดำเนินงานเผยแพร่องค์ความรู้ของบุคลากรในการปฏิบัติงานของกรมฯ ให้ต่อเนื่อง และ 3.เพื่อกระตุ้นและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ สถาบันการพัฒนาชุมชนให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนดำเนินการจัดเก็บและรวบรวมความรู้จากการปฏิบัติงานของบุคลากรกรมฯในพื้นที่รับผิดชอบ ผ่านการกลั่นกรองและจัดหมวดหมู่ความรู้เพื่อเผยแพร่ด้วยระบบOA ในรูปแบบ E-Magazine 1 หน้า 1 ความรู้ กระบวนงาน..1.จัดเก็บความรู้ 2.กลั่นกรองโดยศูนย์ฯ 3.จัดทำเป็นความรู้ในการปฏิบัติงาน 1 หน้าเอ4 4.ส่งแผนรายการและความรู้ให้สถาบันพิจารณาเบื้องต้น (มิ.ย.53)5.สถาบันฯกลั่นกรองพิจารณาและแจ้งผลต่อศูนย์ศึกษาฯ 6.ศูนย์ศึกษาฯ ส่งความรู้ให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กร ด้วยระบบ OA 7.ศูนย์ฯ รวบรวมเป็นรูปเล่ม ทำเป็นคลังความรู้ในรูปแบบเอกสาร/เว็บไซด์

เทคนิคการส่งเสริมอาชีพกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติชาวเขา(วิชัย ศรีสวัสดิ์)

ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง การส่งเสริมอาชีพกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติชาวเขา บ้านห้วยต้ม หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
เจ้าของความรู้ นายวิชัย ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
วันที่บันทึกความรู้ 19 พฤษภาคม 2553
             เรื่องเล่า... จากประสบการณ์การทำงานเมื่อ เดือน พฤศจิกายน ปี 2535 ข้าพเจ้าในตำแหน่ง นักพัฒนาชุมชน (พัฒนากร) ได้รับคำสั่งย้ายจากจังหวัดเชียงราย ไปปฏิบัติงาน ณ สพอ.ลี้จังหวัดลำพูน ได้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลแม่ลานและตำบลนาทราย สำหรับตำบลนาทราย มีจำนวนหมู่บ้านรวม 13 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าปากายอ จำนวน 4 หมู่บ้าน ก่อนทำงานในพื้นที่ตำบลทั้ง 2 ตำบล ได้สำรวจข้อมูลพื้นที่ พบปะผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะตำบลนาทรายได้พบปะชาวบ้านที่เป็นชาวเขาเผ่าปากายอ ซึ่งอยู่รวมติดต่อกัน 4 หมู่บ้าน เป็นชุมชนใหญ่ ได้พบว่าสตรีของหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่ มีอาชีพการทอผ้าชาวเขา เป็นรายได้เสริมเนื่องจากเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่ประสบปัญหาไม่มีทุนในการซื้อปัจจัยการผลิต ต้องรอการขายผลผลิตเดิมก่อนจึงจะทำการทอผ้าใหม่อีกครั้งได้ ขาดการรวมกลุ่มผู้ทำอาชีพทอผ้าด้วยกัน จึงได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มสตรีที่ทำการทอผ้า เพื่อขายความคิดในประเด็นปัญหาของกลุ่มที่ทอผ้าประสบอยู่ ในประเด็นหลักเรื่องการไม่มีแหล่งทุนเพื่อใช้ในการผลิต การขายสินค้าที่ต่างคนต่างขายเอง ทำให้ต้องเสียเวลาในการผลิต โดยเมื่อกลุ่มสตรีทอผ้ามีความพร้อม ก็จะนัดประชุมแก้ปัญหาร่วมกัน จากการประชุมได้ชี้แจงและวิเคราะห์ปัญหาของการดำเนินอาชีพทอผ้าของทั้ง 4 หมู่บ้าน และร่วมหาทางออกของปัญหาร่วมกับกลุ่มสตรี พร้อมกับจัดตั้งกลุ่มทอผ้าสตรีบ้านห้วยต้ม และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของกลุ่มขึ้น เมื่อจัดตั้งกลุ่มทอผ้าสตรีขึ้นมาแล้ว ก็เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของกลุ่มในการทำแผนปฏิบัติการของกลุ่มฯ ทั้งนี้ได้นำผลการปฏิบัติงานข้างต้นไปนำเสนอต่อพัฒนาการอำเภอและเพื่อนร่วมงานทราบ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนกลุ่มฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาชุมชนสนับสนุนเป็นทุนของกลุ่ม เป็นเงิน 36,000 บาท จัดซื้อฝ้ายสำหรับทอผ้า โดยสมาชิกกลุ่มหมุนเวียนยืมไป โดยให้ดอกผลในการส่งคืนพร้อมเงินต้นค่าฝ้าย หลังจากนั้นก็จะประสานงานหาตลาดนอกหมู่บ้านให้กับกลุ่ม โดยรับผ้าทอของกลุ่มไปจำหน่ายกับห้างร้านในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ก็จะหาสถานที่จำหน่ายในงานต่างๆที่หน่วยราชการจัด เช่นงานประจำปีสรงน้ำพระธาตุหริภุณไชย งานรื่นเริงฤดูหนาว และงานลำไยลำพูน โดยในแรกเริ่มก็จะดูแลรับส่งตัวแทนนำสินค้าของกลุ่มไปจำหน่าย แนะนำให้รู้จักสถานที่และหน่วยงานที่จัดขั้นตอนต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจและต่อมาคณะกรรมการกลุ่มก็สามารถประสานงานและช่วยเหลือตัวเองได้ ในระหว่างการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าสตรี ซึ่งผ้าทอของกลุ่มวัสดุเป็นฝ้ายที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ สีธรรมชาติได้จากป่าบริเวณที่ใกล้กับหมู่บ้านจำพวกเปลือกไม้ สมุนไพรต่างๆ ก็เกิดปัญหาผ้าทอที่นำไปส่งจำหน่าย สีตกและสีไม่เป็นธรรมชาติเนื่องจากสมาชิกกลุ่มบางคนใช้สีย้อมวิทยาศาสตร์ราคาถูก ย้อมฝ้าย ไม่ใช้วัสดุธรรมชาติย้อม ทำให้ห้างร้านส่งคืนสินค้า จึงมีการประชุมสมาชิกกลุ่มเพื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น และให้การโน้มน้าวการดำเนินกิจกรรมธุรกิจต่างๆ ต้องใช้สุภาษิตจีนที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” และสมาชิกกลุ่มทุกคนร่วมให้คำมั่นสัญญาด้วยกันจะซื่อตรงและนำพากลุ่มให้เจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งได้จัดอันดับสุดยอดผู้รู้เรื่องการย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ ( สมุนไพร /เปลือกไม้จากป่า) ไว้ 5 อันดับเพื่อสืบทอดแก่อนุชนรุ่นหลังและสมาชิกที่ยังไม่เติมเต็มเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ได้เรียนรู่ร่วมกัน หลังจากนั้นได้ร่วมกับหน่วยงานเกษตรชาวเขาซึ่งมีวิทยากรด้านออกแบบผ้าสำเร็จรูป มาให้ความรู้ในการนำผ้าทอของกลุ่มมาแปรรูปเป็นผ้าพื้นเมืองประยุกต์ทำให้เพิ่มราคาผลผลิตและขยายตลาดได้อีกมาก ต่อมาหลังจากได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งพัฒนากรอำเภอเมืองลำพูน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2538 ข้าพเจ้าได้ให้กลุ่มสรุปยอดทุนของกลุ่มและจัดเก็บเงินค่าฝ้ายที่สมาชิกกลุ่มยืมไปนำมาส่งคืนและนำเข้าฝากเป็นบัญชีของกลุ่มทอผ้าสตรีบ้านห้วยต้ม รวมเป็นยอดเงินทั้งสิ้นประมาณ 55,000 บาท และเป็นฝ้ายวัสดุของกลุ่มอีก 200 ลูกอยู่ในบัญชีที่สมาชิกยืมไป โดยได้นัดประชุมกลุ่มทั้งหมดชี้แจงการดำเนินงานและมอบบัญชีให้กับผู้ใหญ่บ้านเก็บรักษาและดำเนินการต่อไป ความภาคภูมิใจ ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกทีเข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีเมื่อปี 2535 และความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิตและการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวของกลุ่มสตรีชาวเขาทั้ง 4 หมู่บ้านดังกล่าวข้างต้น การให้ความยอมรับและความร่วมมืออย่างดีในการทำงานพัฒนาหมู่บ้านในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพทอผ้าชาวเขา
ข้อควรคำนึงในการปฏิบัติงาน ได้ยึดหลักในการทำงานกับประชาชน โดยยึดแนวคิดที่ว่า “ รักชนบท อดทน ประสานงาน ” ทำตนให้เป็นคนที่เรียบง่าย มีความจริงใจ มีมนุษย์สัมพันธ์ เคารพและนับถือประชาชนเหมือนดั่งญาติพีน้อง ทำงานให้ทุ่มเทการทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์และให้สมกับเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขุมความรู้ 1.การสำรวจข้อมูลพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน 2.การพบปะพูดคุย ขายความคิด และจัดประชุมวิเคราะห์ปัญหา/หาทางออกร่วมกัน 4.ส่งเสริมการรวมกลุ่มสตรีผู้ทอผ้าโดยการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าสตรีและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นเป็นแหล่งทุนของกลุ่ม 3.การร่วมกันวางแผนปฏิบัติการฯ 4.การทำงานเป็นทีมของ สพอ.และหาแนวทางสนับสนุนกลุ่มฯ 5.การแสวงหางบประมาณสนับสนุนเป็นทุนหมุนเวียนของกลุ่ม 6.การส่งเสริมการตลาด และสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้า 7.ดูแลสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเฉพาะในช่วงแรก.. 8.ประสานกับหน่วยงานภาคีการพัฒนาในพื้นที่ 7.การเรียนรู้ของกลุ่มฯ ในการแก้ไขปัญหาแบบลองผิดลองถูก 8.การสืบทอดภูมิปัญญาและการเรียนรู้ร่วมกัน 9.การทำงานของนักพัฒนาชุมชนที่ยึดมั่นหลักการและท่มเทในการทำงานกับประชาชน 
แก่นความรู้.. -ใช้กระบวนการพัฒนาชุมชนในการทำงาน ตั้งแต่การศึกษาชุมชน ให้การศึกษาชุมชน กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ดำเนินกิจกรรม.. ติดตามประเมินผล..โดยยึดการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกัน 
วันที่บันทึกความรู้ 19 พฤษภาคม 2553