วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

(1)การทำตุง/โคม.(โครงการพัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาอาชีพ)

การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น  ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการถ่ายทอดประสบการณ์จากชุมชน ราชญ์ชาวบ้านสู่เยาวชนที่เป็นทายาท OTOP หรือเยาวชนที่มีความสนใจและเป็นการพัฒนาอาชีพสร้างรายได้
       ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง  ได้ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาอาชีพ จำนวน 2 รุ่น ซึ่งเป็นเยาวชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือในความรับผิดชอบ   ดำเนินการระหว่างวันที่ 15 - 19 และ  22 – 26  สิงหาคม  2554..
 การบันทึกภูมิปัญญา..ผ่านการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำผลิตภัณฑ์เสริมอาชีพจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์และภูมิปัญญาในชุมชน ถูกรวบรวมบันทึกโดยกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จาก 6 ฐานการเรียนรู้ 1).การร้อยเครื่องประดับคริสตัล 2).การทำเทียนหอม 3).กาแฟโบราณ 4).การทำตุง/โคม 5).เครื่องประดับกะลามะพร้าว 6).การทำข้าวแต๋น
การทำตุง/โคม
เจ้าของความรู้ : นางทิวาพร ปินตาสี (ป้าบัว) ประธานกลุ่มประดิษฐ์ตุงและโคมศรีล้านนา
สถานที่ติดต่อ  :  256 หอศิลป์ลำปาง ถ.ตลาดเก่า ต.สวนดอก อ.เมืองฯ  จ.ลำปาง
                           http://www.kornsrilanna.com/ 
                                      โทรศัพท์   086-6572728
เรื่องเล่า :
               ปี 2539  ป้าบัวได้เริ่มทำธุรกิจรถเช่ากับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งได้ลงทุนซื้อรถใหม่ทั้งหมดในกิจการนี้ โดยหวังว่าจะประสบผลสำเร็จในกิจการ ช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2540 บริษัทปูนซีเมนต์ไทยได้ยกเลิกสัญญาเช่า จึงเกิดผลกระทบต่อกิจการของครอบครัว และทำให้เกิดภาระหนี้สิน จึงต้องขายสินทรัพย์ทั้งหมดของกิจการเพื่อมาชำระหนี้
               จนมาได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาในคอลัมม์ได้กล่าวถึงศิลปะตุงและโคมลอย ซึ่งเป็นประเพณีล้านนาที่จะสูญหายไป โดยไม่มีผู้สืบทอด จึงทำให้ได้ย้อนนึกถึง ตาสุข  ผู้เป็นบิดา
ซึ่งมีอาชีพทำตุงและโคมลอยมาตั้งแต่ป้าบัวจำความได้.. ทำให้ป้าบัวกลับมาสนใจประเพณี วัฒนธรรมการทำตุงและโคม แล้วศึกษาเรียนรู้วิธีการผลิตจากตาสุขบิดา ได้มีการพัฒนาตุงและโคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับต่อสากล..

จุดเด่นของตุงและโคม

1.เป็นงานฝีมือ สาธิตวิธีการทำ เพื่อสร้างจุดสนใจของลูกค้า
2.ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร
3.เป็นการทำโคมที่ปราศจากเส้นลวด
4.ไม่มีแบบพิมพ์ที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ สามารถทำออกมาจากจินตนาการของตนเอง
5.ระยะเวลาการใช้งานผลิตภัณฑ์ค่อนข้างยาวนาน  เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ
6.ได้ทำการจดสิทธิบัตรการออกแบบโคมศรีล้านนา


ความสัมพันธ์กับชุมชน
*ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้เป็นงานฝีมือของชุมชน
*ปลูกฝังค่านิยมให้กับชุมชน ได้สืบทอดประเพณีการทำตุง
และโคม
*สอดแทรกความหมายของโคมและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
*ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่มีความสนใจอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านล้านนา ให้อยู่คู่กับคนลำปางตลอดไป
*สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน

วัตถุดิบและอุปกรณ์
1.กระดาษสา 2.กระดาษสีทอง 3.กระดาษว่าวสี 4.กระดาษแข็ง 5.ไม้ไผ่ 6.เชือก 7.กาว 8.เข็ม 9.กรรไกร 10.แม็กเย็บกระดาษ 11.เทปกาวใส 12.สิ่ว



ขั้นตอนการผลิตตุง 12 ราศี
1.สร้างแม่แบบ 12 ราศี
2.ทาบแม่แบบกับกระดาษ สีทอง แล้วตัดตามรูป
3.นำกระดาษสามาตัดขึ้นรูปตุง
4.ตัดกระดาษสีทอง ติดกาวทำขอบรอบตัวตุง
5.นำตัว 12 ราศีติดกาวบนตัวตุง

วิธีการตัดตุงพญายอ
1.นำกระดาษว่าวสี ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดตามความต้องการ 2-3 แผ่น มาวางซ้อนกัน 3 ชั้น
2.พับเป็นรูปสามเหลี่ยม ตัดขอบกระดาษให้เท่าๆกัน
3.นำกระดาษที่พับเป็นรูปสามเหลี่ยม มาตัดตรงส่วนหางของตุง เป็นฟันปลาสลับกัน
4.ตัดกระดาษส่วนหัวสลับกันไปมา โดยห้ามตัดจนขาด ให้เหลือแต่ละข้างไว้อย่างละครึ่งเซนติเมตร
5.นำกระดาษที่ตัดเรียบร้อยแล้ว กางออกเพื่อจะทำที่รอง เย็บใส่เป็นบานของตุง
6.นำที่รองฐานตุง มาเย็บติดกับกระดาษ
7.นำกระดาษรูปกรวย เย็บเข้ากับกระดาษตุง ร้อยด้าย และใส่กรวย..
ก็จะได้ตุงพญายอที่ต้องการ


เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
1.ใช้ความตั้งใจและสมาธิในการทำชิ้นงาน
2.ใช้การตัดกระดาษในรูปแบบต่างๆ
3.นำกระดาษมาซ้อนกันหลายๆ ชิ้นเพื่อทำได้ชิ้นงานหลายๆ ชิ้น

มาตรฐาน/รางวัล
*ปีพ.ศ. 2546 โคมไฟล้านนาได้รับ OTOP 3 ดาว
*ปี 2546 ได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช.
*ได้รับถ้วยพระราชทานจากมรดกโคม 8 เหลี่ยม
*ปี 2548 ได้รับรางวัลศิลปินล้านนา
*ได้รับรางวัลศิลปินร่วมสมัยจังหวัดลำปาง
* ปี 2550 ได้รับเกียรติลงในคอลัมม์หนังสือ “ Marry Care ”

แผนธุรกิจและการตลาด
             การขายผลิตภัณฑ์เริ่มจากราคาต่ำก่อน แล้วค่อยๆปรับราคา ตามความยากง่ายของผลิตภัณฑ์ มีการสอนขั้นตอนและวิธีการทำให้ลูกค้า/ผู้ต้องการจะทำ หรืออยากได้ข้อมูลไปเผยแพร่
            ตลาดจำหน่ายครั้งแรกอยู่ที่สวนลุมพินีกรุงเทพฯ จากนั้นก็แพร่หลายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ ทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา ราคาตั้งแต่ 20 - 4,500 บาท ไม่มีการจำกัดตลาด มีการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก และสื่อประชาสัมพันธ์จากการไปโชว์ผลงานตามงานต่างๆ เช่น งานโคมไฟนานาชาติที่สิงคโปร์ เป็นต้น
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
1.หอศิลป์ลำปาง
2.Web site www.kornsrilanna.com และสามารถส่งสินค้าไปให้ลูกค้าโดยทางอากาศและทางบก

                                                                            บันทึกภูมิปัญญาโดย...สมาชิกกลุ่มเยาวชน...
                                                                                                  รุ่น 1 สีเขียว + รุ่น 2 สีขาว