วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน




     




รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน.....กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย.....
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นายแดง พูลน้อย  
ตำแหน่ง   ผู้ใหญ่บ้าน/ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย/ ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ที่อยู่    บ้านป่ากล้วย หมู่ 8 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

                ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ บ้านป่ากล้วยเป็นหย่อมบ้านบริวารของหมู่ที่ ๑ บ้านสะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีนายหลวง จงศรี เป็นคนแรกที่นำครอบครัวเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ และได้ตั้งชื่อว่า
“บ้านป่ากล้วย” ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ ๘ ตำบลแม่สะเรียง มีหย่อมบ้านต่าง ๆ
รวมอยู่ด้วยกัน 9 หย่อมบ้าน 2 กลุ่มชาติพันธุ์ (คนพื้นเมืองและชนเผ่ากะเหรี่ยง) 2 ศาสนา ( พุทธและคริสต์ )
                ในปี พ.ศ.2548 บ้านป่ากล้วยได้รับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ฯ แห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานทุนแม่ แต่ได้รับหนังสือกองทุนแม่ของแผ่นดินมาเล่มหนึ่ง จึงเริ่มจากการอ่านและศึกษาจนแตกฉาน แล้วเอาหลักการของกองทุนแม่ฯ มาปรับใช้ คือ เงินขวัญถุงพระราชทานนั้น เป็นของศักดิ์สิทธิ์..ต้องมีศรัทธา จึงจะเกิดปัญญา..วิธีการจึงเริ่มต้นจาก นำเงินขวัญถุงมาแลกเป็นแบงค์ยี่สิบ ผ่านพิธีปลุกเสกจากครูบาเจ้าที่ชาวบ้านนับถือ แล้วบูชาเป็นแบงค์ร้อยไป การบริหารจัดการเงินกองทุนแม่ฯ ให้คณะกรรมการฯ ดูแล ตัวผู้นำชุมชนหรือประธานกองทุนฯ ต้องไม่ถือเงินไว้  และจัดให้มีการประชาคมทุกครั้งในการทำงานเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ/การมีส่วนร่วม ร่วมกัน  กองทุนแม่ฯ ที่บ้านป่ากล้วยจึงเป็นตัวนำทุกเรื่องทุกกิจกรรมของชาวบ้าน/ชุมชน ทั้งเรื่องของการสร้างฝายกักเก็บน้ำ การบวชป่า การอนุรักษ์พันธ์ปลา การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน การพัฒนาเยาวชน ฯลฯ ถึงแม้โดยหลักของการขับเคลื่อนกองทุนแม่ฯ จะเป็นเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด..เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่ปัจจุบันบ้านป่ากล้วยไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดแล้ว จึงขยายผลการดำเนินงานไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยใช้เครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกัน และได้ขยายเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภาค  

                      วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
-          -ศึกษาจากเอกสารจนแตกฉาน
-          -เอาหลักการมาปรับใช้ ( ต้องมีศรัทธา.. จึงจะเกิดปัญญา )
-          -ใช้เครือข่ายทำงาน ( 2 วัด 2 โรงเรียน 2 โบสถ์คริสต์ )
-         - มีการประชาคมทุกครั้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม
-         - เป็นผู้นำ ไม่ถึอเงิน....ให้คณะกรรมการจัดการ
-          -ได้คนมีบารมีมาช่วย..( ครูบาศรีวิชัย.ครูบาผาผ่า ครูบาดวงดี ฯลฯ )
-          -สร้างเยาวชนสานต่อการทำงาน ( ฝึกเด็กกระเหรี่ยง รำโต รำนก )
-          -ขยายเครือข่ายกองทุนแม่ฯ ทุกระดับ
-          -ความสำเร็จของกองทุนแม่ฯ อยู่ที่ ใจ ครอบครัว ทีมงาน ปัจจัย และผู้สนับสนุน
      -ใช้กองทุนแม่ฯ นำทุกกิจกรรมในชุมชน 


ดร.ปรีดี โชติช่วง..ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมดในการขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย เป็นรูปธรรมของ “เครือข่าย”ทั้งนั้น ถึงแม้จะไม่ได้พูดคำว่าเครือข่ายก็ตาม และถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน” เพื่อให้การดำเนินงานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินขยายผลครอบคลุมและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น


                                               ผู้บันทึก... นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                 นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล

( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )

หมู่บ้านปิดทองหลังพระ...หมู่บ้านพึ่งตนเอง..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน



รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่าย
ขององค์กรชุมชน...
หมู่บ้านปิดทองหลังพระ...หมู่บ้านพึ่งตนเอง...
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง..นายเสน่ห์ ซองดี
ตำแหน่ง..  ผู้ใหญ่บ้านปงถ้ำ
ที่อยู่   บ้านปงถ้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลวังทอง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
                บ้านปงถ้ำ มีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรังปะปนกัน จึงมี
เป้าหมายทำบ้านปงถ้ำให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว  แต่เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ที่บางส่วนยังต้องมีการฟื้นฟู จึงเริ่มจากการรณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมใจกันปลูกป่าทดแทน และสร้างฝายกั้นน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค เริ่มจากเงินกองกลางของหมู่บ้านเพียง ๗๐๐ บาท ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อมุ่งหวังให้เป็นหมู่บ้านที่มีความอยู่ดีกินดี (๒๑๗ ครัวเรือน) มีความสุข และไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แต่ปัญหาของหมู่บ้านที่สำคัญคือ การพัฒนาคน และการแพร่ระบาดของยาเสพติด ที่มีอัตราร้อยละ ๙๐ ของคนในพื้นที่  แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงเริ่มต้นจาก การจัดทำโครงการควาญช้างขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้โอกาสผู้หญิงมีอำนาจเต็มที่ในหมู่บ้าน เป็นการกระจายอำนาจการทำงานและการตัดสินใจ  สามารถตรวจค้นบ้านได้โดยไม่ผิดใจกัน สนับสนุนให้มีความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน และรายงานความคืบหน้าของการทำงานเป็นโซน A B C D  ใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน สร้างการยอมรับของคนในชุมชนกว่า ๑ ปี ๖ เดือน หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน แปลงศัตรูคู่แข่งจากการเลือกตั้งให้เป็นมิตร  โดยให้สามารถตรวจสอบการทำงานของกรรมการหมู่บ้านได้ตลอด  เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างคู่ขนานและสันติ

                            วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล...
          -ปรึกษาผู้มีประสบการณ์..การทำงานกับชุมชน
          -ยึดต้นแบบการทำงาน...ดูการทำงานของในหลวงเป็นแบบอย่าง
          -เรียนรู้จากการศึกษาดูงาน (ห้วยฮ่องไคร้)  และกัลยาณมิตร...
                  ( อ.สกล ศรีนุตร สำนักงานพัฒนาชุมชนลำปาง)  
          -วางเป้าหมายการทำงาน..
          เพื่อสร้างความเป็นกลุ่มก้อนในชุมชน เนื่องจากเป็นคนหนุ่มและเพิ่งจะรับตำแหน่งเผู้ใหญ่บ้าน จึงตั้งโจทย์การทำงานไว้ว่า จะทำอย่างไรให้กรรมการหมู่บ้าน ซึ่งมีประสบการณ์และอาวุโสกว่ายอมรับ
..และจะฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์อย่างไร ด้วยแนวคิดที่ว่า แม้ทรัพยากรธรรมชาติ/ป่าไม้จะถูกทำลายไป ก็ยังสามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้ แต่เนื่องจากผู้ทำลายคือคนในชุมชน จึงต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่คนก่อน..
ทำบ้านปงถ้ำ..เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว..
          -วางกลยุทธ์ในการทำงาน
                    -ใช้ผู้หญิงขับเคลื่อนการทำงาน ให้อำนาจผู้หญิงเต็มที่..ในโครงการควาญช้าง
                              (เอาผู้หญิงเป็นควาญช้าง)
                   -ประสานภาคีเครือข่ายการทำงาน..แบบเข้าถึง..แบบเข้าหา..
                    ประสานตำรวจ/โรงพยาบาล โดยการเข้าไปให้ข้อมูลพูดคุยถึงปัญหาความต้องการและเขียนด้วยลายมือสำหรับหนังสือประสานงาน/ขอรับการสนับสนุน
                   -บริหารจัดการป่าโดยชุมชน..
                    ทำฝาย 113 ฝาย โดยไม่ใช้งบราชการ (ส่วนใหญ่มาจากเงินที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นศิลปินนักร้องนักดนตรี..ได้รับจากการร้องเพลง)
                   ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการป่าไม้...สำรวจพื้นที่ป่าด้วยระบบ GPS
                    ขอคืนพื้นที่ป่า 1,850 ไร่จากชาวบ้านที่บุกรุก โดยข้อตกลงและทำความเข้าใจร่วมกันของชุมชนและเจ้าหน้าที่ฯ..“พื้นที่เป็นของหลวง...ป่าเป็นของชาวบ้าน”
                   -สร้างพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า 29 พระองค์ อ้างอิงจากพระไตรปิฏก ฉบับที่ 33 ที่ได้มาจากจังหวัดลำพูน
                   -ขับเคลื่อนชุมชน(บ้านปงถ้ำ) ให้เป็นศูนย์รวมข้อมูลครอบคลุมทุกเรื่อง..เป็นหมู่บ้านสารสนเทศชุมชน
                   -รวมกองทุนในชุมชนเป็นหนึ่งเดียว (7 ล้านกว่าบาท)




ดร.ปรีดีสรุปเพิ่มเติมว่า..ท่านเป็น Leadership...ประสาน 10 ทิศ และมีกลยุทธ์ในการทำงานมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะประสานเครือข่ายทันที และมีแนวคิดการทำงานคือ..จัดบ้านของตนเองก่อน...
ต้นทุนที่สำคัญของบ้านปงถ้ำ  คือ ประสบการณ์ของผู้นำที่เห็นโลกกว้างมีวิสัยทัศน์ และมีแรงบันดาลใจ
ที่อยากจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง 


                                                   ผู้บันทึก... นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                     นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล

( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )





หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอกบัว..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน




รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน
...หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอกบัว..
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นายบาล บุญก้ำ
ตำแหน่ง  ผู้ใหญ่บ้าน
ที่อยู่   บ้านดอกบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

          
บ้านดอกบัว... เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า เริ่มแรกมีบ้านอยู่ 2 หลังเท่านั้น จากครอบครัวของปู่ติ๊บ กับย่าสมนา ซึ่งเดิมเป็นคนบ้านตุ่นกลาง เป็นคนทำไร่ใส่สวน เลี้ยงสัตว์ เห็นพื้นที่ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพ จึงย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก หลังจากนั้นปู่บัวก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย จนเช้าวันหนึ่ง  ปู่บัวแกเป็นคนเคี้ยวหมาก จึงลงไปเก็บใบพลู อยู่ๆก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดมาก่อน คือ เสือได้ตระครุบและกัดปู่บัวจนตาย ณ ที่นั้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านบัว (บ้านดอกบัว)  และบ้านบัว (ดอกบัว) ยังเป็นหมู่บ้านหลักนักพัฒนา หมู่บ้านพึ่งตนเอง อยู่ในการปกครองของกำนันดีเด่นปี 2551 และเป็นหมู่บ้านที่ผ่าน ระบบ มชช. ปี 2551
          ในปีพ.ศ.2539 เกิดปัญหาการตกค้างของสารพิษจากการทำเกษตรกรรม  ผู้นำชุมชนมีแนวคิดที่จะลด ละ เลิก สารเคมี และนำพาหมู่บ้านเข้าสู่โครงการครัวเรือนรณรงค์ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้  เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์   โดยจัดตั้งกลุ่มข้าวอินทรีย์และขยายผลในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์ ผลักดันให้เกิดโรงเรียนชาวนา รณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพ (กินเค็ม/ดื่มสุรา ฯลฯ) มีการบริหารจัดการน้ำ (อ่างห้วยตุ่น) กั้นน้ำเป็นขั้นบันได ก่อให้เกิดการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รณรงค์ครัวเรือนคัดแยกขยะ โดยทุกวันที่ ๗ ของเดือนจะมีรถมารับซื้อขยะที่ผ่านการคัดแยก  กิจกรรมเหล่านี้ผู้นำชุมชนได้ร่วมกับชาวบ้าน วิเคราะห์ปัญหาผ่านการทำประชาคมในทุกเดือน
          ในส่วนของการบริหารจัดการชุมชน มีการเปิดเวทีประชาคมถามความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๐ คุ้ม  มีการส่งประกวดหมู่บ้านมั่งมีศรีสุข รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ยึดหลักความปรองดองไม่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน  ยึดหลักการปกครองใน  รูปแบบโมเดลรถยนต์ที่ว่า...ชาวบ้านถือพวงมาลัย พ่อหลวงเป็นล้อหน้า ส.อบต เป็นล้อหลัง และขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน  

                                                             วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล...
          -ร่วมกันแก้ไขปัญหาจาก “ปัญหาร่วม” จะประสบความสำเร็จ และได้การมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน เพราะมีการวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน  *ยกตัวอย่างกรณีมีคนป่วยต้องการเลือด ส่งคนไปบริจาคเลือดสิบคน ปรากฏว่าตรวจเจอแต่สารพิษในเลือด เป็นที่มาของการทำโครงการ “ลด ละ เลิก สารพิษในครัวเรือน”
          -น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จริง
          -ให้โอกาสชาวบ้านทุกคน ผ่านเวทีประชาคม   เช่น ตกลงกันว่าจะห่อข้าวมากินกันเอง (ไม่ใช้งบประมาณ)  ถ้ามีงานศพ จะไม่มีเหล้าในวันล้างผาม  ในงานหรือกิจกรรมของหมู่บ้าน จะใช้น้ำเปล่าเท่านั้น อาหารก็จะเป็นอาหารพื้นบ้าน
          -บทสรุปของทุกเรื่องต้องมาจากการพูดคุยกัน( อู้จ๋าร่วมกัน)
                    -ตัวอย่างเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ประเด็นเรื่องโรคความดันสูง จะมีการพูดคุยวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง อสม.กับชาวบ้าน
          -ใช้วัสดุท้องถิ่นในการส่งเสริมอาชีพเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปและต่อยอด
          -วางระบบการบริหารจัดการน้ำ (จากอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น)
          การปิดเปิดน้ำอย่างเป็นระบบ เปิดให้พื้นที่ต้นน้ำ 10 วัน พื้นที่กลางน้ำ 10 วัน และพื้นที่ปลายน้ำ 10 วัน หมุนเวียนกันไป
          -จัดการขยะให้เป็นเงิน   แยกถุงพลาสติก  แยกขวดแก้ว กองรวมกันไว้  ส่วนที่เป็นน้ำแกง เศษอาหารจะเอาไปรวมกันไว้ที่กองทำปุ๋ยหมัก ทุกวันที่ 7 ของเดือน จะมีรถขยะมารับซื้อ
          -เรียนรู้และปรับใช้ จากการศึกษาดูงาน โดยเก็บข้อมูลทั้งหมดมาสู่หมู่บ้านและ นำข้อมูลมาปรับใช้ในหมู่บ้าน
          -ให้สิทธิความเท่าเทียมกันในชุมชน
          -ใช้เวทีประชาคมหาความต้องการของชุมชน โดยจัดแบ่งหมู่บ้านเป็น 10 คุ้ม แต่ละคุ้มมีการเลือกคณะกรรมการคุ้มกันเอง ทำประชาคมหาความต้องการในคุ้มของตนเอง (215 ครัวเรือน)
          - ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ..ในการทำทุกกิจกรรม/โครงการในชุมชน จะมาจากใจชาวบ้าน มาจากทุนของชุมชนเอง


ดร.ปรีดี โชติช่วง..สรุปภาพรวม รูปแบบเครือข่าย..ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..ที่บ้านบัว การทำงานมีทั้งเครือข่ายผู้นำ เครือข่ายองค์กร เครือข่ายพื้นที่ เครือข่ายการสื่อสาร เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายเงินทุน เครือข่ายอาชีพ และเครือข่ายนวัตกรรม...
       

                                                          ผู้บันทึก...
                                                                    นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                    นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล
( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )

















วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว..บ้านหลุกใต้ รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน


หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวบ้านหลุกใต้..
รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน
                  ..................................
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง..นายณรงค์ วงศ์กันทะ
ตำแหน่ง   กำนันตำบลนาครัว
ที่อยู่  บ้านหลุกใต้ หมู่ที่ 12 ตำบลนาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

        บ้านหลุกใต้ เป็นหนึ่งหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง คำว่า “หลุก” ที่เป็นชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน เรียกเพี้ยนมาจาก คำว่า “หลุบ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกังหันน้ำในปัจจุบัน เนื่องจากแต่เดิมลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำอยู่ต่ำกว่า หมู่บ้าน การจะนำน้ำมาใช้จึงเป็นการยากลำบาก จึงคิดนำหลุบมาใช้วิดน้ำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในอดีตชาวบ้านหลุกใต้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันบ้านหลุกใต้กลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้านการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง คนในหมู่บ้านสวนใหญ่จึงมีอาชีพแกะสลัก ในส่วนของการบริหารจัดการชุมชน ได้พยายามที่จะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และประสานงานกับหน่วยงานการศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ในการนำแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการขยายตลาดส่งออกไม้แกะสลักบ้านหลุกใต้อย่างต่อเนื่อง  ไปยังแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ฯลฯ และมีการต่อยอดเพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ  ขยายผลอาชีพแกะสลักของคนในชุมชนสู่ การยกระดับหมู่บ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านศึกษาดูงาน จัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อพบปะกันในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ก่อกำเนิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่เน้นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในการแกะสลักไม้  เมื่อมีคนมากลายศึกษาดูงานมากขึ้น  จึงพัฒนาบ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งจากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชน และเป็นการป้องกันการรั่วไหลของแรงงานในหมู่บ้าน  เน้นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้านโดยเข้าร่วมกิจกรรม Road Show ในงานแสดงสินค้าที่หน่วยงานราชการได้จัดขึ้น และส่งเสริมให้คนในชุมชนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต  

               วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
           -ใช้ภาคีเครือข่ายในการทำงาน..
          -ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา(ม.ธรรมศาสตร์) 
            ในการออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ
          -ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
          - ขยายตลาดส่งออก(ไม้แกะสลัก) อย่างต่อเนื่อง
          -ต่อยอดสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ส่งออกต่างประเทศ
          - ยกระดับหมู่บ้าน เป็นแหล่งศึกษาดูงานและเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว 
             ( ลานหลุก ล่องน้ำจาง เสาร้อยต้น นกเป็ดน้ำ ดอกบัว วัดบ้านหลุก สะพานไม้เก่า ฯลฯ )
          -รวมกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ในการแกะสลักไม้
          -ป้องกันการรั่วไหลของแรงงานออกจากหมู่บ้าน ภายใต้แนวคิด..สร้างรายได้ในชุมชน
          - เน้นการประชาสัมพันธ์..ร่วมกิจกกรรม Road show แสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง
          - ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินชีวิต
          -ภายใต้แนวคิด..มาเที่ยวบ้านหลุก ไม่ใช่แค่มาดูไม้แกะสลัก แต่คือความหลากหลายของวิถีชุมชน  

ดร.ปรีดี โชติช่วง...ให้ข้อคิดข้อเสนอแนะเพิ่มเติม...
          บ้านหลุกใต้ได้ถูกยกระดับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP จึงควรมีศูนย์ประสานงานแนะนำหมู่บ้าน (ฐานการเรียนรู้) โดยพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้านให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยภาคภาษาอังกฤษ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เป็นมัคคุเทศก์  โดยจัดทำหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์แนะนำหมู่บ้าน มีใบประกาศนียบัตรรับรอง ในส่วนของที่พักโฮมสเตย์ควรได้รับมาตรฐานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรเพิ่มการจัดกิจกรรมการแสดงภาคค่ำให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ขันโตก วงดนตรีพื้นเมือง (สะล้อ ซอ ซึง) การละเล่นพื้นเมืองอื่นๆ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ คิดอัตราค่าบริการกับนักท่องเที่ยวรายบุคคล การส่งเสริมวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงให้จัดทำนาข้าวสาธิต (โรงเรียนนาข้าว) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาดูงานและทดลองทำนาในพื้นที่จริง มีการแจกใบประกาศนียบัตรให้กับนักท่องเที่ยวและถ่ายรูปกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่มาเยือนติดไว้ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อสานสัมพันธ์เครือข่าย ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง เน้นการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น การทอดแห ตกปลา ปลูกผลไม้พื้นบ้าน ฯลฯ

                                                               ผู้บันทึก... นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                                 นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล
                            ( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/
          โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558

                               วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )







สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านสะลวงใน..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน



      รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน
                  ....สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านสะลวงใน....



ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นางสาวโชติกา ยะแสน
ตำแหน่ง    ประธานบริหารสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน
                    บ้านสะลวงใน
ที่อยู่           บ้านสะลวงใน หมู่ที่  ตำบลสะลวง อ.แม่ริม 
                    จ.เชียงใหม่
              บ้านสะลวงในเป็นหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 3  แบ่งการปกครองออกเป็น 7 หมวด มีประธานหมวดเป็นผู้ปกครอง พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ไม้ผล และร้อยละ 35 ของพื้นที่ เป็นดินภูเขามีความลาดชันไม่เหมาะกับการเกษตร แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยึดการประกอบอาชีพทำการเกษตร ปัญหาของชาวบ้านส่วนใหญ่คือ ความยากจน และขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร ต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนหรือธนาคาร โดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์  แต่คนยากจนจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ผู้นำ/แกนนำชุมชนได้วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533  ดำเนินกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ฯ และกิจกรรมเครือข่าย จนยกฐานะเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านสะลวงใน และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน 2553 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยน ศึกษาดูงานการบริหารจัดการสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนในกิจกรรม 3 ประเภท คือ การทำธุรกิจ/แสวงหารายได้ การจัดสวัสดิการ และกิจกรรมด้านการพัฒนา

                วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
1.      สร้างกิจกรรม ทำธุรกิจ  แสวงหารายได้...เพิ่มทุนชุมชน
     - สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย รองรับปัญหาความต้องการของสมาชิก/ชุมชน (รับฝากเงิน  ให้สินเชื่อ  ร้านค้าชุมชน โรงสีข้าวชุมชน ถือหุ้นโรงน้ำดื่มชุมชนตำบลสะลวง  ยุ้งฉางข้าว ซื้อสลากออมสิน ติดตั้งเครื่องเติมเงินโทรศัพท์)
     - สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกใช้บริการ ( มีเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และจัดสรรเข้ากองทุนต่างๆในชุมชน ตามกิจกรรมที่ดำเนินการ )
     -แสวงหารายได้ สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นคงขององค์กร ( ถือหุ้นโรงน้ำดื่มชุมชนตำบลสะลวง รับซื้อข้าวเปลือกสมาชิกผ่านยุ้งฉางข้าว นำมาแปรรูปขาย )
     -จำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือการเกษตร ครอบคลุม ครบวงจร ( ปุ๋ย ยา ท่อน้ำฯลฯ )
     -ขยายกิจกรรมเครือข่าย (โรงสีข้าวสาธิตชุมชน ขนาดกลาง 20 แรงม้า กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีชีวภาพลดต้นทุนและลดการใช้ปุ๋ยเคมี เตาเผาขยะแบบลดมลภาวะ หมอกควัน จากภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับสถาบันการศึกษา )
     -สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม
              - การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของสมาชิก ( คณะกรรมการสำรวจหนี้นอกระบบของสมาชิก เพื่อนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรอง กำหนดเงื่อนไขและพิจารณาเป็นรายๆไป ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันฯ กำหนดชำระคืนตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี วงเงินตั้งแต่ 1,000 – 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 บาท/ปี  
              - ให้สินเชื่อสร้างบ้าน
              - ให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนทำการเกษตร  
 2. จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชน
               - ทุนการศึกษาเยาวชน
              - ฌาปนกิจสงเคราะห์
              - ค่ารักษาพยาบาล
              - ให้สมาชิกยืมเงินจัดงานฌาปนกิจ โดยไม่คิดดอกเบี้ย
              - จัดสวัสดิการเพื่อสาธารณะ..สนับสนุนกิจกรรมด้านสังคมและคุณภาพชีวิต
3. สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมด้านการพัฒนาของชุมชน
          **พัฒนาทักษะ เพิ่มศักยภาพคณะกรรมการสถาบันฯ อย่างต่อเนื่อง
                   - จัดทัศนศึกษาดูงาน เป็นประจำปีละ 50 คน(ทั้งกรรมการและสมาชิก)
                   - จัดฝึกอบรมการบริหารจัดการเงินทุนชุมชน
                   - เพิ่มทักษะการทำงาน
                   - เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้..รับคณะศึกษาดูงาน ผู้สนใจฯลฯ

          ดร.ปรีดี โชติช่วง...สรุปเป็นภาพรวม..การทำงานเป็นเครือข่ายแนวราบของสถาบันจัดการเงินทุนชุมชนบ้านสะลวงใน ทั้งในรูปแบบเครือข่ายกองทุน/เงินทุนต่างๆในชุมชน เครือข่ายผู้นำ/แกนนำกลุ่มต่างๆ เครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายกิจกรรม เครือข่ายการจัดสวัสดิการ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายหมวดบ้านฯลฯ  


                                                          ผู้บันทึก....
                                                                        นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                        นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล
( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน ประจำปี 2558 
วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )


โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรชุมชน



           รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่าย
                   ขององค์กรชุมชน....
   โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา

ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นางสาวรวินท์นิภา ฤาชัย
ตำแหน่ง  ประธานกรรมการฝ่ายตรวจสอบ 
               กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
               บ้านปัญจะพัฒนา / สมาชิกองค์การ
               บริหารส่วนตำบลแม่สาว
ที่อยู่   บ้านปัญจะพัฒนา หมู่ที่ 11 ตำบลแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


 
บ้านปัญจะพัฒนา ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 180 กิโลเมตร ในอดีตการเก็บรักษาเงิน การออมเงิน จะเก็บไว้ตามขื่อแปบ้าน เนื่องจากไม่มีธนาคารรับฝากเงิน ในปี พ.ศ.2540 พัฒนาการอำเภอแม่อายในสมัยนั้น นายชัชวาล จันทร์แก้ว ได้มาให้แนวคิดเรื่องการออมทรัพย์ และเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนาขึ้น เดิมใช้บ้านประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นที่ทำการ ต่อมาจึงซื้อที่ดินในชุมชน สร้างที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนาขึ้น  ปัจจุบัน...มี กิจกรรมเครือข่ายที่กลุ่มออมทรัพย์ฯสนับสนุนการดำเนินงาน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผล ในรูปของกิจกรรมร้านค้าชุมชน กลุ่มจักสานผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพสตรีทำแหนม และกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นต้น
          ในปี พ.ศ.2553 กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา ได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มออมทรัพย์ฯดีเด่น ของจังหวัดเชียงใหม่  ปี พ.ศ.2554 ได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา ยกระดับเป็น “ศูนย์ศึกษาและพัฒนากลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา” ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมวิทยากรศูนย์ศึกษาและพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เข้ารับการอบรมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนจากกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่อาย ประสานวิทยากรจากธนาคารออมสินอบรมด้านการจัดทำบัญชี ในปี พ.ศ.2553 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา และได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน เป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์ดีเด่นในระดับภาคเหนือ ที่มีการบริหารจัดการดี และทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์ ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ด้านการจัดทำบัญชี การตรวจสอบบัญชี และการขยายเครือข่ายกิจกรรม ให้กับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯที่สนใจและเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน
            วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
-          คณะกรรมการจะพูดคุยกันก่อนทำงานทุกครั้ง
-          คณะกรรมการเป็นผู้หญิงล้วน ทั้ง 14 คน เป็นปัจจัยสำคัญในการพูดคุยทำความเข้าใจ
           ร่วมกันได้ง่าย
-          มีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน
-          กรรมการทุกคน ไม่รับค่าตอบแทน ...ทำงานด้วยใจ
-          ฟังเสียงสะท้อนกลับจากชาวบ้าน
-          เรียนรู้จากการศึกษาดูงานทุกปี ( จากงบฯ 15% ที่หักเข้ากองกลางไว้ )
-          มองคนมาเรียนรู้..เป็นครู
-          สร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
-          พัฒนาระบบบัญชี ( บัญชีปิดงบ ในหน้าเดียว/ใช้ระบบอิเลคทรอนิก )
-          มีฝ่ายที่ปรึกษาสนับสนุนการดำเนินงานฯและวิชาการอยู่ในพื้นที่/ชุมชน
           (อดีตพัฒนาการอำเภอ นายชัชวาล จันทร์แก้ว/ผู้ใหญ่บ้าน นายพิชัย ทรงรักษา )




ดร.ปรีดี โชติช่วง ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการพัฒนาโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา ทั้งในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนฯ การจัดทำเป็นชุดความรู้ในแต่ละวิชา การพัฒนาทีมวิทยากรของโรงเรียนฯ สามารถใช้ปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นวิทยากรร่วมในหลักสูตร  ทำการประเมินผลการดำเนินงานทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินงาน การออกใบรับรองการผ่านหลักสูตรจากทางโรงเรียนฯลฯ 


                                                                                                 ผู้บันทึก.... 
                                                                        - นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                        - นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล

( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” 
ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )