วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ผู้แทนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้านการจัดทำแผนพัฒนาสตรีและฝึกทักษะการเขียนโครงการ



ทีมงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง  ได้รับการประสานงานจากพัฒนาการอำเภอทุ่งหัวช้าง ให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรสนับสนุนการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดทำแผนพัฒนาสตรีและฝึกทักษะเทคนิคการเขียนโครงการ ให้แก่กรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก 35 หมู่บ้านๆละ 2 คน รวม 70 คน  ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ในวันที่ 25 ตุลาคม 2555  ทำให้ได้ข้อคิดดีๆ จากการจัดกระบวนการเตรียมความพร้อมให้แก่กรรมการกองทุนฯ ในครั้งนี้

ท่านนายอำเภอสุภาพรรณ บุญถนอม ให้ข้อคิดในการทำงานแก่กรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ว่า “อย่าคิดว่าเราเป็นผู้หญิง..แต่ให้คิดว่าเราทำหน้าที่อะไร? เราจะต้องทำอะไรบ้าง..อย่าคิดว่าเพราะเป็นผู้หญิงจะทำงานแบบผู้ชายไม่ได้ ..ให้เชื่อมั่นว่าเราทำได้ ทำได้ดีด้วย เพราะผู้หญิงมีจิดใจที่ละเอียดอ่อนกว่า..ในการมองเรื่องราวต่างๆ..ไม่อย่างงั้นจะเป็นผู้นำในครอบครัวได้อย่างไรฯ ”


กระบวนการที่ใช้...

1.แนะนำตัว ละลายพฤติกรรม สร้างความสัมพันธ์  บอกวัตถุประสงค์ กระบวนการ และข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้กระบวนการบรรลุวัตถุประสงค์การฝึกอบรม
2.ชวนคุยเรื่องของผู้หญิงในหมู่บ้าน ในภาพรวมๆจากอดีตมาถึงปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ชี้ให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงในบทบาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกมิติ..ครอบครัว การศึกษา ศาสนา การเมืองการปกครอง สุขภาพสุขภาวะของชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม สังคม..
3.ตั้งประเด็นคำถามเริ่มต้นง่ายๆ..พวกเราผู้หญิง..แม่บ้าน ทำอะไรกันบ้างในหมู่บ้านชุมชนของเรา ทีมวิทยากรเก็บทุกคำตอบขึ้นฟลิปชาร์ท จัดกลุ่มกิจกรรม/งานที่ทำเป็นกลุ่ม/ด้าน
4.วิทยากรชวนคุยในแต่ละกิจกรรมที่ทำนั้น(เลือกเฉพาะประเด็นหรือกิจกรรมที่สำคัญๆ) ว่าทำอย่างไรกันบ้าง จุดเน้นให้เห็นถึงวิธีการทำงาน เห็นความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จอย่างไร ปัญหาอุปสรรคคืออะไร มีใครมาช่วยสนับสนุนมาเกี่ยวข้องบ้างฯลฯ
5.แจกกระดาษฟลิปชาร์ท ให้กรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกหมู่บ้าน ได้วิเคราะห์ตัวเองตามประเด็นคือ พับครึ่งฟลิปชาร์ท ซีกซ้ายให้เขียนกิจกรรมหรืองานที่ทำได้ดี ภาคภูมิใจ ทำสำเร็จ ส่วนซีกขวาให้เขียนเรื่อง/งานหรือกิจกรรมที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือทำได้ไม่ดี..


6.ทีมวิทยากรสอบถามภาพรวมของงาน/กิจกรรมที่ทำได้สำเร็จและไม่สำเร็จ เขียนบนฟลิปชาร์ทและให้กรรมการฯ เพิ่มเติม
7.วิทยากรเลือกกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จมา 1 กิจกรรม ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรถึงทำกิจกรรมนี้ได้ดี เพราะอะไร มีปัจจัย/เงื่อนไขอะไรมาเกี่ยวข้อง หรือมาช่วยสนับสนุนให้ทำสำเร็จบ้าง เขียนลงบนฟลิปชาร์ท
8.วิทยากรตั้งคำถามต่อว่า แต่ละคำตอบหรือเหตุผล/ปัจจัยที่มาสนับสนุนให้ทำได้ดีหรือสำเร็จนั้น ให้ช่วยกันวิเคราะห์ดูว่าปัจจัย/เงื่อนไขอะไรบ้าง..เกิดขึ้นจากตัวเราเอง(กลุ่มสตรี) ใส่สัญลักษณ์ไว้ ( ) อะไรเกิดจากคนอื่น เหตุอื่นช่วยสนับสนุน ทำสัญลักษณ์ไว้หน้าคำตอบ ()  เช่น...

                           มีการประชุมปรึกษากันก่อนจะทำ...
                          กลุ่มมีความรักความสามัคคีกัน
                        ผู้ใหญ่บ้านให้ความสำคัญ
                        มีหน่วยงาน...มาให้คำแนะนำ
วิทยากรชี้ให้เห็นถึงข้อดีหรือจุดแข็ง และโอกาสดีๆ ที่มาเสริม/สนับสนุนกลุ่มสตรีในหมู่บ้านชุมชน
9.วิทยากรเลือกกิจกรรมที่ไม่ประสบความสำเร็จมา 1 กิจกรรม ตั้งคำถามว่าทำไมถึงทำกิจกรรมนี้ได้ไม่ดี เพราะอะไร มีปัจจัย/เงื่อนไขอะไรมาเป็นปัญหาอุปสรรค หรือทำให้ทำได้ไม่ดี ไม่สำเร็จ เขียนลงบนฟลิปชาร์ท
10.แต่ละคำตอบ หรือปัญหาอุปสรรคนั้น เกิดจากตัวเราเอง(กลุ่มสตรี) หรือเกิดจากเหตุอื่น/คนอื่น ให้ใส่สัญลักษณ์   เช่น
                            ต่างคนต่างทำ ไม่พูดคุยกัน (จุดอ่อน)
                          หมู่บ้านอยู่ห่างไกล (อุปสรรค)
วิทยากรชี้ให้เห็นถึงข้อเสียหรือจุดอ่อนของกลุ่มสตรี และอุปสรรค ข้อจำกัด ที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมนั้นๆ


12.แจกกระดาษฟลิปชาร์ทแผ่นที่สองให้ทุกหมู่บ้าน เลือกกิจกรรมที่ทำได้ดีมาวิเคราะห์หาเหตุ/ปัจจัยว่าเพราะอะไรถึงทำได้ดีหรือทำสำเร็จ พร้อมใส่สัญลักษณ์ว่าเป็นเพราะตัวเราเอง หรือเกิดจากเหตุอื่น/คนอื่น
13.แจกกระดาษฟลิปชาร์ทแผ่นที่สามให้ทุกหมู่บ้าน เลือกกิจกรรมที่ทำได้ดีมาวิเคราะห์หาเหตุ/ปัจจัยว่าเพราะอะไรถึงทำได้ดีหรือทำสำเร็จ พร้อมใส่สัญลักษณ์ว่าเป็นเพราะตัวเราเอง หรือเกิดจากเหตุอื่น/คนอื่น

14.ทีมวิทยากรสอบถามจากแต่ละหมู่บ้าน เขียนสรุปเป็นภาพรวมบนฟลิปชาร์ททั้งจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค     
 
วิทยากรเชื่อมโยงให้เห็นว่า กระบวนการที่เราทำเป็นการ”มองตัวเอง” เป็นการวิเคราะห์ให้เห็นศักยภาพของตัวเรา เพื่อจะนำไปสู่การหาแนวทางการพัฒนากลุ่มสตรีของบ้านเราต่อไปว่า..
             -จุดอ่อนของเราเป็นเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร จะต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาอย่างไรบ้าง..
            -ที่เป็นปัญหาอุปสรรคจากคนอื่นมากระทบ จะต้องทำอย่างไร..
            -แล้วสิ่งดีๆที่มีอยู่เป็นอยู่..จะรักษาไว้หรือจะต้องทำให้ดีขึ้น ต่อยอดอย่างไร..
            -โอกาสดีๆ จะเอามาเสริมมาพัฒนาอย่างไรได้บ้าง..
15.แจกบัตรคำให้ทุกคน..วิทยากรให้ประเด็นว่า จากที่ได้วิเคราะห์ตัวเอง..เห็นศักยภาพของกลุ่มสตรีในหมู่บ้านชุมชนของตนเองแล้ว “ท่านอยากจะทำอะไรหรืออยากจะทำอย่างไรบ้าง?” (คำตอบอาจเขียนออกมาเป็นแนวทาง เป็นแผนงาน หรือออกมาเป็นกิจกรรม/โครงการ ก็ได้ )
16.วิทยากรให้แต่ละคนพูดตามบัตรคำที่เขียน ทีมงานจับประเด็นขึ้นฟลิปชาร์ท  จัดกลุ่มเป็นแผนงาน 3 ด้าน คือ   1.ด้านการส่งเสริมอาชีพ  2.การส่งเสริมสวัสดิการสมาชิก 3.การพัฒนาศักยภาพองค์กรสตรี
วิทยากรสอบถามเพิ่มเติมว่า แต่ละแนวทางหรือกิจกรรมที่อยากทำนั้น ถ้าจะทำเป็นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะทำโครงการอะไรได้บ้าง..สรุปเชื่อมโยงให้มองเห็นกิจกรรม/โครงการครอบคลุมทุกด้าน และเป็นโครงการที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล/ศักยภาพองค์กรสตรีร่วมกันด้วย
17. แนะนำการเขียนโครงการด้วยวีซีดี และบรรยายเพิ่มเติมในแต่ละขั้นตอน แจกกระดาษเอ4 ให้แต่ละหมู่บ้านฝึกทักษะการเขียนโครงการ โดยทำแต่ละขั้นตอนไปพร้อมๆกันทุกหมู่บ้าน มีทีมวิทยากรเป็นพี่เลี้ยงโดยเริ่มตั้งแต่..ให้ตอบคำถามเหล่านี้มาเรียบเรียงเขียนเป็นโครงการ..
            1. ชื่อโครงการ (จะทำอะไร ที่ไหน..)
            2. ผู้รับผิดชอบโครงการ (ใครเป็นคนสำคัญที่ต้องดูแลเรื่องนี้...เช่น กรรมการพัฒนาบทบาทสตรี)
            3. หลักการและเหตุผล (ทำไมถึงต้องทำโครงการนี้...โดยให้วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นมาเป็นไป..เหตุผลความจำเป็นที่จะต้องทำ หรือปัญหาที่ที่เกิดขึ้น และถ้าไม่ทำโครงการนี้ขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น   4.วัตถุประสงค์ (ทำเพื่อให้ได้อะไร..)
            5.เป้าหมาย (ผลที่หวัง..เป็นใครกี่คน/กลุ่ม/แห่ง)
6.วิธีการ/ขั้นตอนดำเนินงาน..(ทำอย่างไร..ตั้งแต่เริ่มต้น จนเสร็จสิ้นโครงการ..และต้องตอบวัตถุประสงค์ได้ทุกข้อ)
7.สถานที่ดำเนินการ
8.งบประมาณ..(บอกค่าใช้จ่ายและแหล่งงบประมาณ)
9.ระยะเวลาดำเนินการ..(ทำเมื่อไร..ตั้งแต่เริ่มถึงเสร็จสิ้นโครงการ)
10.ผลที่คาดว่าจะได้รับ..(อะไรจะเกิดขึ้นบ้างเมื่อได้ทำโครงการนี้)

 18.ให้ตัวแทนกรรมการพัฒนาบทบาทสตรี 2-3 หมู่บ้าน นำเสนอรายละเอียดโครงการ..ให้ที่ประชุมแลกเปลี่ยนซักถาม วิทยากรแนะนำเพิ่มเติม..
19.สรุปทบทวนกระบวนการทั้งหมด เน้นให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลเพราะโครงการที่ทำ..ต้องมาจากการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ตัวเองของกลุ่มสตรี .เพราะผลจากการวิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์ศักยภาพนั้น จะเป็นหลักการและเหตุผลในการเขียนโครงการนั่นเอง
          -ข้อคิดในการทำโครงการ..ควรเริ่มต้นคิด/ทำกิจกรรม/โครงการจากสิ่งที่เรามีหรือทำได้ดีทำได้สำเร็จ(คือมีทุนเดิมอยู่)..เพราะจะทำได้ง่ายสำเร็จ..ภาคภูมิใจ..แต่ถ้าคิดทำแต่กิจกรรม/โครงการใหม่ๆ จะยาก ทำให้เราท้อถอยหรือถอดใจได้..
20.วิทยากรชวนแลกเปลี่ยนในประเด็น อบรมเสร็จแล้วจะกลับไปทำในพื้นที่ได้หรือไม่...คิดว่าจะทำได้มากน้อยขนาดไหน ..หนักใจตรงไหนอย่างไร..จะเริ่มต้นอย่างไร..หรืออยากให้ใครช่วยในประเด็นไหน ฯลฯ..เพื่อให้เห็นว่า การอบรมในวันนี้เป็นเพียงการฝึกทักษะเตรียมความพร้อมให้กับกรรมการฯ ที่จะได้นำทักษะ/กระบวนการฯไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบทบาทสตรีของหมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองต่อไป.

                                                                                               ทีมวิทยากรศูนย์ฯลำปาง
                                                                               1.อัญชลี ป่งแก้ว     2.ดวงธิดา อำนาจผูก 
                                                                               3.ธาดา ธีระวาทิน   4.วิชัย ศรีสวัสดิ์
                                                                                                  25 ตุลาคม 2555
                                 
 

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทอำลาข้าราชการธรรมดาสามัญผู้เกษียณอายุราชการ


ลาที่ มิใช่ลาก่อน ; บทอำลาข้าราชการธรรมดาสามัญผู้เกษียณอายุราชการ


            ตลอดเวลาในการทำงานสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน ผมรู้สึกว่าวันคืนที่นี่ผ่านไปเร็วมาก  วันหนึ่งผมก็รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องกล่าวคำอำลาเวทีแห่งนี้กับคนรอบข้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันเกษียณอายุราชการของผมมาถึง  ชีวิตในสำนักงานและงานภาคสนามที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ผมได้เลือกมาอยู่ทำงานระหว่างที่นี่กับจังหวัดน่านอีกจังหวัดหนึ่ง ขณะที่ทำงานในส่วนกลางกรุงเทพนั้น ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวังเลย แม้แต่น้อย

            ที่เชียงราย ผมสัมผัสได้กับความสุขความอบอุ่นที่พอจะรู้สึกได้ ด้านหนึ่งเพราะผมยังมีเพื่อนร่วมงาน มิตรสหายที่ดีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีระบบของเจ้านายคอยร่วมทำงาน ซึ่งบางครั้ง หรือในอดีต  คนเหล่านี้ก็ร่วมฝันกับผมบ้าง ปฏิเสธความฝันผมบ้าง มีปฎิกริยาที่รุนแรงต่อผมบ้าง ผมก็ไม่ว่าอะไร  ประการต่อมา อากาศ บรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เชียงรายช่างเป็นใจ ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย สนุก ได้พบหาผู้คน มีเวลาอ่านหนังสือดีๆ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว  ตื่นตัวพร้อมทำงานท้าทายตามสไตล์ของผมบ้างหรืออย่างบูรณาการร่วมกันบ้าง  ที่สำคัญทำให้ผมมีโอกาสทำงานช่วยเหลือ แบ่งปันแรงกาย ความรู้ความสามารถที่พอจะมีแก่ผู้อื่นในสังคมนี้ได้
            ผมยังมีความหวังอยู่เช่นเดิมว่า คนอื่นๆที่ยังคิดเหมือนผมบ้าง และต่างบ้าง หากยังไม่ท้อแท้และหยุดคิดเรื่องการทำงานร่วมมือกันแบบจริงจัง แบบมองเห็นอนาคตของสังคมส่วนใหญ่  คงทำให้สังคมนี้มีความสงบสุข น่าอยู่ยิ่งขึ้น
            ประมาณ ๓๐ ปีของการทำงานเยี่ยงข้าราชการธรรมดาสามัญชั้นผู้น้อย เมื่อถึงวันนี้ผมก็พอใจแล้ว  เพราะผมลองคิดเชิงทุนทางสังคมถึงสิ่งที่ผมได้รับจากหน่วยงานและจากสังคมนี้ซึ่งได้ส่งมอบให้ผม  ทั้งแบบตั้งใจและมิได้ตั้งใจก็ตาม ก็นับว่ามีมากกว่าที่จะตีราคาเป็นเงินได้  ดังนั้นผมจึงไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนอีกหลายคน  ที่ผ่านมาการทำงานของผมไม่มีอำนาจพิเศษคอยช่วยเหลือ แต่สิ่งที่ผมได้รับจนสรุปได้เป็นความพอใจได้นั้น บางทีอาจเป็นเพราะ ผมยังมีความเชื่อเรื่องความดีงาม ความซื่อสัตย์ยุติธรรมอยู่บ้าง  หรืออีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะผมมีความกล้าหาญพอที่จะแสดงตัวตน และจุดยืนเชิงสังคม แม้บ่อยครั้งต้องผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดผมก็อดทนได้ อย่าตำหนิผมเลยนะแม้ว่าที่ผ่านมาท่านจะเห็นพฤติกรรมแปลกๆของผมบ้าง  เพราะผมถูกฝึกให้รู้จักการช่วยเหลือตัวเอง เรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าคิดถึงการพึงพาผู้อื่น หยิ่งในศักดิ์ศรี  ด้วยบรรพบุรุษของผมก็พร่ำ สั่งสอนผมไว้
            ความรู้สึกสุข หรือทุกข์ใดๆของผมในวันนี้ หากจะมีแบบใดในวันพรุ่งนี้   ไม่มีใครคอยจัดให้เป็นพิเศษ นอกจากคิดว่าได้พยายามทำงานหนักเพื่อการพัฒนาตัวเองก็เท่านั้น ผมเห็นสิ่งท้าทายข้างหน้าอยู่ตลอดเวลาในการทำงานช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องพึงพาคนอื่นมากนัก  และหากมีพลังเหลือเฟือก็ไม่เคยลืมแบ่งปันให้คนอื่น หรือด้อยโอกาสกว่าผมในสังคมนี้ การใช้ชีวิตในองค์กรนี้ บางทีผมรักจะค้นหาว่า หน่วยงานมีอะไร หรือช่องทางไหนที่ผมจะช่วยหน่วยงานได้บ้าง มากกว่าที่จะคอยคาดหวังอะไรมากมายจนเกินความเข้าใจตัวเอง
            อีกครั้ง ขอขอบคุณน้องๆ หรือพี่ตามลำดับความดีที่ผมนิยามเรียก ถึงเวลาลาโรงสำหรับผมแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ผมจะขออโหสิจากท่านอีก เพราะปรกติผมไม่คิดร้ายใครจึงคิดว่าไม่จำเป็น อีกทั้งผมไม่ต้องการขอบคุณอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องการขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นักการเมืองหรือผู้ใดเป็นพิเศษ
            แต่ขอขอบคุณเพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมอุดมการณ์ ผู้ร่วมสุขและร่วมทุกข์ในการทำงานที่จังหวัดเชียงราย  หรือที่อื่นๆก็ตาม  ที่ทำให้เราได้พบกัน เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องและได้เรียนรู้กันด้วยภาระหน้าที่การงานครั้งหนึ่ง   ขอสัญญาว่าที่ชีวิตที่เหลือ จะยาวหรือสั้นก็ตาม  นับจากวันพรุ่งนี้ เราจะช่วยกันดูแลสังคมให้เหมือน หรือเท่าๆกับที่เราพยายามทำกับตัวเราต่อไป  คิดถึงผมบ้างบางเวลา ดูแลสุขภาพของท่านและคนข้างเคียงและสู้ต่อไปกับงานหนักที่รออยู่ข้างหน้า

                                                                                                 ขอคารวะด้วยรักและนับถือ
บุญส่ง เวศยาสิรินทร์  ณ วันศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย
บ้าน: ๑๐๗ หมู่ ๖ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โทร. ๐๕๓-๕๖๐๒๔๓, ๐๘๖-๗๒๘๓๗๖๑

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รำลึกถึง..ศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่


           วันนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มีโอกาสต้อนรับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลขัวมุง พ่อมนัส เศรษฐเสถียร ( อดีตกำนันตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแห่งแรกของประเทศไทย..) ท่านมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้นำ/แกนนำชุมชนตำบลขัวมุง ที่มาอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา ที่ศูนย์ฯลำปาง ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2555 ..

              มีเรื่องเล่ามากมาย..จากประสบการณ์ของพ่อมนัส ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า..ที่พ่อมนัสได้ร่วมทำงาน ร่วมอุดมการณ์..กับกรมการพัฒนาชุมชนตลอดมา..
และหนึ่งในที่สุดของความภาคภูมิใจ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้บันทึกเรียบเรียงไว้คือ พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ศูนย์สารภี ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระหว่างปีพุทธศักราช 2518 - 2521

ความเป็นมา..ของศูนย์สารภี..
                        กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย  ได้จัดรูปแบบโครงการสารภี มาทดลองดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในชนบท ในท้องที่ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เทคนิค และเงินทุนประกอบอาชีพ ปัญหาสุขภาพและอนามัย มุ่งพัฒนาโดยเน้นหนักด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ เพิ่มผลผลิต และปรับปรุงวิธีการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยเริ่มทดลองดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 และประสบผลสำเร็จพอสมควร

                   ต่อมาในปี พ.ศ.2515 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิการศึกษาและประชาสงเคราะห์ ได้นำรูปแบบโครงการสารภีมาขยายผล โดยคัดเลือกท้องที่จัดตั้งศูนย์สารภีขึ้น ที่บ้านหัวดง หมู่ที่ 6 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา สร้างอาคารถาวรในศูนย์ฯ จำนวน 4 หลัง บ้านพัก 1 หลัง ระยะแรกดำเนินการในลักษณะศูนย์ช่วยเหลือ แนะนำ และสาธิตด้านวิชาการและการปฏิบัติ เน้นการเกษตรและสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาเพิ่มบทบาทในลักษณะศูนย์กลางบริการทางวิชาการ และศูนย์กลางในการปกครองและพัฒนาของตำบล

                จากบทบาทภารกิจของศูนย์สารภีในสมัยนั้น สร้างผลงานและชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด  ทั้งในด้านการฝึกอบรมให้ความรู้ แหล่งสาธิต แหล่งศึกษาดูงาน เช่น การทำเต้าเจี้ยว ทำน้ำปลา การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงหมู การตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ  ทำให้เป็นที่สนใจของราชสำนัก โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เลขาราชสำนัก ได้มาประสานข้อมูลกิจกรรมของศูนย์สารภี      จากนายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น  และนำข้อมูลของศูนย์สารภี  ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ซึ่งได้รับความสนพระทัยจากพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์  ณ  ศูนย์สารภี


กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมราษฏรในตำบลเข้าเฝ้ารับเสด็จและกล่าวถวายรายงานต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี


ในปี พ.ศ.2518 สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ทรงประทับในอาคารศูนย์สารภี และมีกำนันมนัส เศรษฐเสถียร เป็นผู้ถวายรายงานกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์ฯ


                                                       

                                                                  สมุดเซ็นเยี่ยมที่ทรงลงพระปรมาภิไธย
ในการมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำบลขัวมุง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่





นายมนัส เศรษฐเสถียร  กำนันตำบลขัวมุง และข้าราชการในพื้นที่กล่าวถวายรายงานต่อ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ณ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 



พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2519

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2519  กำนันมนัส เศรษฐเสถียร ถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์สารภีและนำเสด็จพระราชดำเนินรอบๆบริเวณศูนย์ฯ

                                

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้ากล่าวถวายรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

                    

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้าถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ


นายสวงค์ วงศ์สิทธิ์    พัฒนากรประจำตำบลขัวมุงและกำนันมนัส  เศรษฐเสถียร 
ถวายรายงาน การดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์สารภีต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 


                     ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชดำรัสให้ราษฎรซึ่งเป็นเกษตรกรที่มารับเสด็จ ได้ทดลองปลูกสตอเบอรี่ในพื้นที่ตำบลขัวมุงเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและฟางข้าวที่ใช้ปกคลุมแปลงสตอเบอรี่มีพวกปลวกมาอาศัยกัดกินเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูกสเตอเบอรี่ที่ตำบลขัวมุง ในปี พ.ศ.2520  ได้มีการเปลี่ยนพื้นที่ทดลองปลูกสตอเบอรี่ไปที่ตำบลช่างเคี่ยน อำเภอเมืองเชียงใหม่แทน ...

พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จศูนย์สารภี และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ตำบลขัวมุง 
- ทรงเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่บริเวณวัดขัวมุง และทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อกำนันตอบในหลวงว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองได้มีโอกาสทำมาหากิน..พระองค์ตรัสว่า เท่านี้ไม่พอหรอก..ต้องลึกกว่านั้น เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ถ้าเอาสีดำมาจุด ก็จะเป็นสีดำ..ฝากไว้ด้วย
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสแนะนำเรื่องการดูแลรักษาดินให้ราษฎรตำบลขัวมุง ซึ่งปลูกกระเทียมกันเต็มพื้นที่ว่า..การปลูกกระเทียมทุกปีและใส่ปุ๋ยเคมีด้วยนั้น ทำให้ดินแข็ง...จะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชถั่วสลับบ้าง เพื่อปรับสภาพดินให้ดีขึ้น..



นายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่และคณะข้าราชการ
นำเสด็จพระราชดำเนินบริเวณรอบศูนย์สารภี  เพื่อทรงทอดพระเนตรงานและกิจกรรม
ของศูนย์ที่ได้ทรงพระราชดำรัสไว้เมื่อปีที่ผ่านมา


ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520


              

           เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2521
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ศูนย์สารภีอีกครั้งหนึ่ง ..ทรงพระดำเนินไปวัดขัวมุง และเมื่อทอด      พระเนตรเห็นต้นยางต้นใหญ่ที่วัดมีฝูงผึ้ง  มาทำรังกว่าเจ็ดสิบรัง ทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า  เอาผึ้งไปไหน เมื่อทรงทราบว่าทางกรรมการวัดให้คนมาเอาผึ้งขายทุกปี  ในหลวงตรัสว่า  
เขาหนีจากข้างนอกมาอยู่วัด ยังฆ่า
เขาอีกหรือ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีการทำร้ายผึ้งในวัดขัวมุงอีกต่อไป จนถึงทุกวันนี้..ต้นยางต้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นต้นยางที่สูงเป็นอันดับที่สามของประเทศและมีฝูงผึ้งมาทำรัง      อาศัยอยู่เป็นประจำทุกปี....

                        


        หม่อมหลวงภีศเดช  รัชนี, กำนันมนัส เศรษฐเสถียร และคณะข้าราชการในพื้นที่นำเสด็จพระราชดำเนินชมกิจกรรมและรับฟังผลการดำเนินของศูนย์สารภี




                                                   
      
นายสม วุฒิ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10                            นายนา ยานวงศา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9
และเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม                                 และเกษตรกรในพื้นที่ ถวายกระเทียม
ในพื้นที่ตำบลขัวมุงถวายกระเทียม                       ให้ในหลวงฯ
ให้ในหลวงฯ

มองศูนย์สารภี..ในวันนี้..
( 28 มกราคม 2552 )

 ปัจจุบัน..ศูนย์สารภีถูกแบ่งเนื้อที่ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลขัวมุงเพื่อสร้างเป็นอาคารที่ทำงานของอบต.ขัวมุง แต่การบริหารจัดการของศูนย์สารภียังคงอยู่ในการกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีนายพิเชษฐ์ ภักดีเป็นนักการภารโรงอยู่ 1 ตำแหน่ง.. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคงอยู่ของกิจกรรมในศูนย์สารภี เนื่องจากเป็นอดีตผู้นำเยาวชนของตำบลขัวมุง ที่ได้เข้ารับการพัฒนาและทำกิจกรรมในศูนย์สารภี จนมีความรักความผูกพันในงานพัฒนาชุมชน อีกทั้งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสามารถเป็นวิทยากรให้คำแนะนำส่งเสริมอาชีพการเกษตรให้กับผู้สนใจทั่วไป ทั้งเรื่องการเพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่สามสายพันธุ์ การทำก๊าซชีวภาพ ฯลฯ..



                ศูนย์สารภี..ที่ขัวมุง..เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ได้เสด็จมาถึง 4 ครั้งในระยะเวลา  4 ปี จึงควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม  เพื่อบูรณะ  ปรับปรุง  และรวบรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ไว้   เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ และสืบทอดองค์ความรู้ต่อไป...

                                                         
                                    
                                  ผู้ให้ข้อมูลและเอื้อเฟื้อภาพประกอบ...1.นายมนัส เศรษฐเสถียร
                                                                                          2.นายพิเชษฐ ภักดี
                                                                                          3.สำนักงานพัฒนาชุมชน
                                                                                             อำเภอสารภี 

                                              ผู้รวบรวมเรียบเรียง..บันทึกคำบอกเล่า..
                                                                                        1.นางอัญชลี ป่งแก้ว
                                                                                        2.นายสมศักดิ์ สันชมภู 
                                                                                        3.นายธาดา ธีระวาทิน                                            
                                                                                                                          
                                                                            วันที่บันทึก....28 มกราคม 2552..