วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เวทีค้นหาความสุข..ที่บ้านทุ่งข้าวหาง อ.ทุ่งหัวช้าง ลำพูน

               วันพฤหัสบดี 28 เมษายน พ.ศ.2554 ทีมงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ได้ไปช่วยเดินเวทีค้นหาความสุขของชุมชนบ้านทุ่งข้าวหาง ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

กระบวนการที่ใช้
         หลังจากที่พัฒนาการอำเภอทุ่งหัวช้าง คุณพิเชษฐ์ อาจสามารถ ได้พูดคุย บอกที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์ของการพูดคุยกันในวันนี้แล้ว คุณอภิวัฒน์ ธีระวาสน์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน ได้ชวนพูดคุยทบทวนทำความเข้าใจร่วมกัน..
หมู่บ้านทุ่งข้าวหางในบทบาทของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาของในหลวงและการเตรียมการประกวดหมู่บ้านต้นแบบฯของที่นี่ด้วย
             ทีมวิทยากรจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เริ่มต้นกระบวนการด้วยการชวนคุย ทำความคุ้นเคยชาวบ้านในศาลากว่า 160 คน (กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวแทนครัวเรือนทุกหลังคาเรือน จึงมีทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ แม่บ้าน เยาวชน ไปจนถึง ตัวเล็กตัวน้อย) พร้อมการแนะนำตัวของทีมงาน
                                           แต่ละคน

วิเคราะห์ความสุข ของชาวบ้านทุ่งข้าวหาง
          เราทักทายพูดคุยแบบเป็นกันเอง ให้มองเห็นกันเป็นลูกหลาน และชวนกันคุยถึงเรื่องจะทำอย่างไรให้รักษาความเป็น “สุขเย็น” ที่บ้านบ้านทุ่งข้าวหางให้มีไว้ต่อ ๆ ไป
          เราชื่นชมตั้งแต่รถวิ่งเข้ามาในหมู่บ้าน ที่ร่มรื่นสะอาดตา  บรรยากาศเย็นสบาย (เมื่อคืนฝนตก) เขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปทั้งหมู่บ้าน แต่ละบ้านอยู่กันแบบวิถีเดิม ๆ ..ไม่มีรั้วกั้นแบ่งเขตบ้าน..บริเวณบ้าน บ่งบอกถึงความสุขสงบ... ความเป็นพี่น้องและเครือญาติกัน ทุกคนยืนยันว่าที่นี่มีอยู่ “พริกมีบ้านเหนือ เกลื๋อมีบ้านใต้ ขะมิ้นจั๊กไค มีบ้านปี้บ้านน้อง”

               เราเห็นเด็กเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งนั่งด้านหน้าเวทีอย่างกระตือรือร้นการพูดคุยในศาลาวัด..ที่มีภาพเขียนฝาผนังเป็นเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน “คนยอง” จึงขอเริ่มต้นด้วยการเล่านิทานที่เป็นคติธรรมที่ได้ฟังมาจากพระเช่นกัน...เด็ก ๆ เริ่มขยับตัว ผู้เฒ่า...เริ่มเงียบ..เงี่ยหูฟังกันว่า...จะยังไง?
               มีปลา 3 ตัวในแม่น้ำ พูดคุยกันว่า เย็นนี้รู้ว่าจะมีคนหาปลามาทอดแหจับปลาที่นี่...
               ปลาตัวแรก เชื่อเรื่องเวรกรรม...บอกว่ามันถึงเวลาตายของเราแล้ว ...ก็ให้มันแล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะ..
               ปลาตัวที่สอง เชื่อเรื่องความเพียร...เขาเริ่มต้นว่ายทวนน้ำหนี้จากไป...ด้วยเชื่อว่า ถ้าพยายามว่ายทวนน้ำไปเสียแต่ตอนนี้...ก็มีมีโอกาสรอดตายจากคนจับปลา..
               ปลาตัวที่สาม เชื่อเรื่อง “ปัญญา” เขาเริ่มตั้งสติคิดวางแผน  ถ้าหากเราถูกจับได้..จะแกล้งทำเป็นตายแล้วหาทางหาจังหวะหนี้รอด...

               แน่นอน...เมื่อคนหาปลามาถึงแม่น้ำ....ปลาตัวแรกถูกจับไป ตามเวรกรรมที่เขาเชื่อ...ไม่มีปลาตัวที่สอง อยู่ให้จับ...เพราะใช้ความเพียรพยายามว่ายน้ำทวนกระแสน้ำเชี่ยว...หนี้หายไปแล้ว...เมื่อคนหาปลาจับปลาตายขึ้นมาได้...เขาไม่สนใจมันเลยและโยนทิ้งไปเสีย...รอดด้วยปัญญา..
               เราทุกคนก็เช่นกัน...ไม่มีใครงอมืองอเท้านั่งรอให้เวรกรรมหรือใคร..เป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา...ถ้าต้องเกิดมาเป็นคนจน(ด้วยเวรกรรมแต่ปางก่อน) ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม และสติปัญญาในการดำเนินชีวิต..ขยันหมั่นเพียร...เก็บออม...ใช้ชีวิตด้วยปัญญา..ด้วยวิถีแห่งความพอดี พองาม เหมาะสม สมดุล...พอเพียง..


แล้วความสุขของคนบ้านทุ่งข้าวหางคืออะไร? (บ้าง...)
              ตั้งคำถามรวม ๆ กันก่อน...ถ้าอยากมีความสุขสัก 1 ชั่วโมงทำอะไรดีเอ่ย?...
สุภาษิตจีนบอกว่า......
ถ้าอยากมีความสุขสัก 1 ชั่วโมง...จงงีบ....
ถ้าอยากมีความสุขสัก 1 วัน.. จงตกปลา
ถ้าอยากมีความสุขสัก 1 เดือน.. จงแต่งงาน
ถ้าอยากมีความสุขสัก 1 ปี.. จงรับทรัพย์
แต่ถ้าอยากมีความสุขตลอดชีวิต...จงช่วยเหลือผู้อื่น...ทำให้คนที่อยู่ข้างหน้าเรามีความสุข...(การทำให้คนอื่นมีความสุข ทำได้หลายวิธี ไม่เฉพาะแต่ช่วยเหลือกันเป็นสิ่งของเงินทอง...แต่เป็นคำพูด...เป็นกำลังใจ เป็นคำแนะนำสั่งสอน เป็นความรู้ เป็นน้ำใจ ฯลฯ)

                 ถึงตอนนี้ ให้แต่ละคนคิด...ถามตัวเองว่า..อะไร หรือสิ่งไหนบ้าง
หรือทำอะไร...แล้วตัวเรามีความสุข...ได้ถามไปทีละคน ทั้งคนหนุ่มสาว พ่อหลวง อบต. ...เยาวชน...เด็กเล็ก จนถึงความสุขของคนเฒ่าคนแก่...
                ได้อยู่กับพ่อกับแม่...มีความสุข...คำตอบของเด็กน้อย...
                ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้า…มีความสุข...เยาวชนตอบ
                ได้ทำกับข้าวให้ลูกผัวกิน.....แม่บ้านแม่เรือน
                ได้ดูแลคนเฒ่า...คำตอบคนเป็นลูกสาว
                ได้ทำงานทุกวัน....พ่อบ้านบอก..
                ดูแลกัน อยู่กันดี...เห็นหน้าลูกหน้าหลาน ..มีความสุข..คำตอบของผู้เฒ่า..
                เห็นลูกบ้านรักใคร่สามัคคีกันดี....พ่อหลวงบ้าน
                เห็นชาวบ้านร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะกัน...ส.อบต....ฯลฯ


                ทีมงานศูนย์ฯลำปางขึ้นฟลิปชาร์ท พยายามแยกให้เป็นสองฝั่งของความสุข..ที่เป็นความสุขทางโลก (กามสุข) กับความสุขทางจิตใจ แต่ผลปรากฏว่าคนที่นี่มีคำตอบ...เป็นความสุขทางจิตใจเกือบทั้งหมด (มีเด็กเยาวชนผู้ชายวัยรุ่นเพียงคนเดียว ที่บอกว่า ความสุขของผมเกิดขึ้นเมื่อมีเงินใช้...ซึ่งเราก็บอกในเวทีว่า..เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะรู้สึกแบบนี้ )

สรุปให้เห็นว่า..ความสุขของคนบ้านทุ่งข้าวหาง..นี้ล้วนแล้วแต่เป็นความสุขที่ไม่ต้องซื้อหา หรือลงทุนอะไรมากมาย...แต่อยู่นานกว่าความสุขทางกาย..ที่ต้องลงทุนสูง แล้วก็อยู่ไม่นาน...
(ตัวอย่าง ใด้กินอาหารราคาแพง ๆ..ใส่เสื้อผ้าสวย ๆ มียี่ห้อ ราคาสูง... ไปท่องเที่ยวไกล ๆ ถูกหวย รวยแชร์..... ล้วนเป็นสุขสั้น ๆ แต่ต้องลงทุนสูงทั้งนั้น..)

แล้วเราจะรักษาความสุข..หรือสร้างความสุขร่วมกันในชุมชน
                                เราได้อย่างไร? เราจะวางแผน “คุ้มบ้านสร้างสุข” ร่วมกันอย่างไร...

             บ้านทุ่งข้าวหาง แบ่งกันเป็น 12 คุ้ม(ป๊อก)...เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ในการแบ่งกันดูแลช่วยเหลือกันภายในคุ้ม เป็นการลดภาระ ไม่ผลักภาระให้การพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเป็นเรื่องของพ่อหลวงบ้าน กม. ส.อบต. หรือแกนนำชุมชนแต่ฝ่ายเดียว .. แต่การแบ่งเป็นป๊อก ๆ ดูแลกันและกัน จะทำให้ดูแลกันทั่วถึงกว่า..มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชนได้มากกว่าด้วย..

              ทีมงานศูนย์ฯ ขึ้นผังหมู่บ้าน..ให้เวทีช่วยกันเติม ช่วยกันวาดภาพรวมของชุมชน..บ้านทุ่งข้าวหาง.. - มีอะไรอยู่ตรงไหน?
         - ทุนทางธรรมชาติ เทือกสวนไร่นา ที่ทำกิน กลุ่ม องค์กรในชุมชน ฯลฯ

         - ประเพณีในแต่ละเดือน
         - ปฏิทินฤดูกาล ฯลฯ
         - ช่วยกันลากเส้นบอกขอบเขตแต่ละคุ้ม ว่าครอบคลุม/มีทุนในคุ้มอะไรบ้าง
                                                                                 
แบ่งกันออกไปตามใต้ต้นไม้ มุมต่าง ๆ บริเวณวัดทุ่งข้าวหาง
เป็น 6 กลุ่มพร้อมพี่เลี้ยงกลุ่มแต่ละกลุ่มๆละ 2 ป๊อก...(1+2) (3+4) (5+6) (7+8).... ประเด็นแลกเปลี่ยนคือ

1. ให้วิเคราะห์ว่าแต่ละป๊อกมีของดีอะไร
     - สิ่งที่ภาคภูมิใจ...เป็นข้อเด่น...เป็นอัตตลักษณ์ เป็นทุน (เป็นตืน) ที่มีอยู่ในป๊อกของตัวเอง
     - ค้นหาสิ่งดี ๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านทรัพยากร ส่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม สังคม... กลุ่ม/กิจกรรมในป๊อก ฯลฯ
   * ไม่มีการพนัน * สามัคคี เอื้ออาทร มีส่วนร่วม* กลุ่มต่าง ๆ เยอะ* ปลูกผักกินเองทุกหลังคา * ฯลฯ..

2. แล้วยังมีอะไรในป๊อกเราที่ยังไม่ดี...เป็นปัญหา..อยากปรับปรุง หรือยังไม่ได้ดั่งใจ
    (หมะเปิงใจ๋)
ตัวอย่างจาก ป๊อก 3+4 ..
* กลิ่นเหม็นจากขยะ มาจากป๊อก 7 มีหลุมขยะ +เผาขยะ* การเผาขยะ * กลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู
* ซุ้มป๊อกยังไม่ได้พัฒนา/ปรับปรุง* คนกินเหล้าในงานศพ* อบายมุข...เรื่องเหล้า* ฯลฯ

3. อยากเห็นป๊อกตัวเองเป็นอย่างไร? (ภาพความสุขของแต่ละป๊อก)
- รักใคร่สามัคคีกัน มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม
- รักษาประเพณีวัฒนธรรม
- มีการเก็บออมทุกหลังคา
- มีสิ่งแวดล้อมดี สะอาดเรียบร้อย
- มีซุ้มสมุนไพรของคุ้ม+ปลูกพืชสมุนไพรทุกหลังคา
- ในงานศพไม่มีการกินเหล้า..ฯลฯ
                                                                                            

4. ให้แต่ละคุ้มลำดับความสำคัญว่าอยากจะทำเรื่องอะไรก่อนให้เป็นเป้าหมายหลัก ๆ


5. ๆ ในการพัฒนาป๊อก /คุ้ม ของตัวเอง(4-5 ข้อแล้วแต่กลุ่มคิด)ตั้งเป็นเป้าหมายหลัก


6. (แต่ละเป้าหมาย) หาวิธีการสำคัญ ๆ ที่จะทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ
   ตั้งคำถามในกลุ่มว่า ถ้าทำตามวิธีการเหล่านี้แล้ว ทำให้เป้าหมายที่ตั่งไว้เกิดขึ้นจริงไหม?
   ทุกคนยืนยัน..
7. ถามต่อว่า...ถ้าเรา/คนข้างนอกชุมชนมาดุ..จะดูจากอะไรที่บอกว่าทำได้ตามเป้าหมาย..ทำได้สำเร็จแล้ว.. = ดูความสำเร็จดูได้อย่างไร? (ดูความสำเร็จจากรูปธรรมอะไร? = ตัวชี้วัด)


ตัวอย่าง เป้าหมาย : คนในป๊อก มีพืชผักสมุนไพรปลูกไว้กินเองทุกหลังคาเรือน (16 หลัง/ป๊อก)


                   วิธีการ : ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย
                                : ประชุมลูกป๊อก ให้เห็นความสำคัญ/ทำความเข้าใจร่วมกัน
                                : แต่ละหลังคาปลูกพืชผักสมุนไพรบริเวณบ้านตนเอง (ทำอยู่แล้ว)
                               : แลกเปลี่ยน พืชสมุนไพร ระหว่างครัวเรือน + แบ่งปัน


        ดูความสำเร็จ : มีพืชสมุนไพรทุก ๆ หลังคาเรือน (ในป๊อก)
                                : คนในป๊อกไม่ไปซื้อผักในตลาด แต่มีการแลกเปลี่ยนหรือขอกัน/แบ่งปันพืชผักสมุนไพรกันภายในป๊อก

กลับมารวมกันในศาลา ให้อาสาสมัคร ตัวแทนป๊อกมานำเสนอผลงาน

สรุปเชื่อมโยง
            จะทำอะไร ต้องมีแผนงานร่วมกัน แผนคุ้มบ้านสร้างสุข วางเป้าหมายหลัก ๆ ให้ชัดเจน แล้วหาวิธีการสำคัญ ๆ หลัก ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมาย...ทำทุกเริ่องแล้วต้องมองเห็นผลงานสำเร็จที่เป็นรูปธรรม...วัดได้...มองเห็น   ถ้าเราทำสำเร็จ ..เราทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้..ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นวิถีชีวิตของคนทุ่งข้าวหางแล้ว..นั่นคือ “ความสุขของชุมชนทุ่งข้าวหาง”



                                                                                  ชื่นชม..ยินดี..และมีความสุขกับทุกท่าน
                                                                                              ทีมวิทยากรศูนย์ลำปางฯ
                                                                                                         อัญชลี ป่งแก้ว  บันทึก/เขียน
                                                                                                ดวงธิดา อำนาจผูก   พิมพ์/เรียบเรียง   
นกสานไม้ไผ่..ของฝากจากผู้เฒ่าบ้านทุ่งข้าวหาง
ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน
28 เมษายน 2554