วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ

                                                                    
ชื่อเรื่อง             :  ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำน้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพ
เจ้าของความรู้ :  นางเรืองกัลยา เสนากุล
ตำแหน่ง            :   ประธานกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกร
ที่อยู่                   :   ๑๑๙ หมู่ที่ ๕ ตำบลสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
เบอร์โทรศัพท์   :   โทร. ๐๘๖-๐๘๘๑๙๗๙
ผู้บันทึกความรู้:    นางดวงธิดา อำนาจผูก ตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

                       เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๘    ได้ไปเข้ารับการอบรมการทำน้ำยาเอนกประสงค์ที่จังหวัดสิงห์บุรี   ตามโครงการฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพและทำปุ๋ยชีวภาพ ตามสูตรของ ธกส.
ทำได้อยู่ ๑ ปี ในส่วนของปุ๋ยได้ผลผลิตแต่ทางใบ คือต้นไม้แตกใบสวย แต่ไม่มีผลผลิต จึงเลิกทำปุ๋ย..        ส่วนน้ำยาเอนกประสงค์ แชมพูตามสูตรของ ธกส. ใช้แล้วผมร่วง เลยลองคิดสูตรใหม่ขึ้นเอง จากการนำส่วนผสมของผลประคำดีควาย ส้มป่อย มะเฟือง มะกรูด มะนาว มารวมกัน ในปริมาณ สมุนไพร ๓ ส่วน ต่อ กากน้ำตาล ๑ ส่วน นำมาหมักไว้ด้วยกัน เพื่อทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพ ทดลองทำหลาย ๆ ครั้ง ลองผิดลองถูกมาก่อน
                        ต่อมา กากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้น และได้เรียนรู้จากการศึกษาด้วยตนเอง และจากการดูรายการทางโทรทัศน์ ก็ได้สูตรใหม่ คือใช้น้ำมะพร้าวแทนกากน้ำตาล เพราะในน้ำมะพร้าวมีธาตุอาหารที่จุลินทรีย์ต้องการและเจริญเติบโตได้ดี เหมาะสำหรับการทำน้ำหมักชีวภาพมาก อีกทั้งราคาก็ถูกกว่ากากน้ำตาลหลายเท่าตัว ทดลองทำแล้วได้ผลดี สามารถผลิตเป็นน้ำยาเอนกประสงค์สูตรน้ำหมักชีวภาพใช้ประโยชน์ครอบคลุมได้หลายด้าน เช่น เป็นน้ำยาล้างจาน ซักผ้า สบู่เหลวอาบน้ำ แชมพู ล้างห้องน้ำ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

                       เคล็ดลับหรือเทคนิคในการทำน้ำหมักชีวภาพ  คือ   นำส่วนผสมของสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ผลประคำดีควาย ส้มป่อย มะเฟือง มะกรูด มะนาว มารวมกัน หมักกับน้ำมะพร้าว เป็นเวลา ๑ เดือนก็จะได้หัวเชื้อ จากนั้นก็นำมาต่อยอดคือ นำหัวเชื้อ ๑ ส่วน ผสมน้ำมะพร้าว ๑๐ ส่วน กับน้ำเปล่า ๓ ส่วนผสมเข้าด้วยกันและหมักไว้ต่อเพื่อให้จุลินทรีย์ขยายอีก ๗ วัน

                     วิธีการศึกษา/แก้ปัญหา
                     ศึกษาจากหนังสือ ตำรา และสื่อต่าง ๆ เช่นรายการโทรทัศน์ ทดลองทำด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก จนได้ผลและวิธีการที่เหมาะสม

                     ผลที่ได้รับ ได้เรียนรู้ สามารถลดรายจ่าย มีรายได้เสริม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ใช้ของที่ผลิตเองซึ่งปลอดภัยจากสารเคมี

                    สิ่งที่ได้เรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยึดแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และได้เผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป



วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

เด็กและเยาวชนกับการพัฒนาชุมชน

ชื่อเรื่อง : เด็กและเยาวชนกับการพัฒนาชุมชน
เจ้าของความรู้  :  นายคมสันต์ นันทนัด
ตำแหน่ง           :  ประธานสภาเด็ก
ที่อยู่                 :  293 ม.3 ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
เบอร์โทรศัพท์  : โทร. 083-207-1201
ผู้บันทึกความรู้ : นายธาดา ธีระวาทิน
                             นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ


                        เรื่องเล่า / สาเหตุของปัญหา

                  จากอดีตถึงปัจจุบันการทำงานในชุมชนส่วนใหญ่ ดำเนินการโดยแกนนำ หรือผู้นำชุมชน ทำให้การวางแผนการพัฒนาชุมชนถูกกำหนดโดยคนบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมกลุ่มคนในชุมชน ปัญหาต่างๆ ที่สะท้อนออกมาทางวิธีการแก้ปัญหาจึงเป็นวิธีการแก้แบบเดิมๆ ที่ไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จมากนัก มีการมองชุมชนแบบแยกส่วน การแก้ปัญหาทีละจุด ไม่มีการมองเป็นภาพรวมของชุมชน แก้จุดหนึ่งแต่ส่งผลกระทบกับอีกจุดหนึ่ง วนกันไปไม่จบสิ้น

                                                                วิธีการแก้ปัญหา

                            กลุ่มเด็กๆ และเยาวชนในชุมชนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สมควรเข้ามามีบทบาทการพัฒนา เพื่อคอยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนชุมชนร่วมกับผู้นำชุมชน   โดยเริ่มจากการส่งเสริมแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนตั้งแต่เล็กๆ และหนุนเสริมกิจกรรมการพัฒนาที่มาจากความคิดของเด็กๆ ให้เด็กได้ลองคิดวิเคราะห์และวางแผนจากตัวเด็กเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำและสนุบสนุน รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดและส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก มีภาวะผู้นำในการดำเนินชีวิต


                                                            เทคนิคในการทำงานชุมชน

                         เริ่มแรกควรมีมุมมองที่ดีต่อชุมชนของเรา มีสำนึกรักบ้านเกิด มีความเสียสละในทุกด้าน ทั้งด้านแรงกาย เวลา ซึ่งเด็กและเยาวชนพอจะมีอยู่ ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ โดยขอรับคำปรึกษาคำแนะนำจากผู้เฒ่าผู้แก่ และนำมาประยุกต์ใช้กับแนวคิดใหม่ๆ สุดท้ายควรหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมตลอดเวลา

                  

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการโดยชุมชน: กรณีกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง

เจ้าของความรู้ : นายธนสิทธิ์ เนื้อนวลจันทร์
ตำแหน่ง           : ประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านหลวง
ที่อยู่ติดต่อ       : บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 8 บ้านหลวง ต.แม่เงา อ.ขุนยวม
                            จ.แม่ฮ่องสอน 58140
โทรศัพท์          : โทร. 089-9514589
ผู้บันทึกความรู้   : นางอัญชลี ป่งแก้ว
                               นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ

                      ปี พ.ศ.2547 บ้านหลวง หมู่ที่ 8 เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ แยกออกมาจากบ้านต่อแพ หมู่ที่ 1 กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหลวงจึงเกิดขึ้น โดยแบ่งเงินออมทรัพย์ฯ จากกลุ่มเดิม    มาประมาณ 2 ล้านบาท และสมาชิกได้เลือกผู้เล่าเป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ
บ้านหลวงตั้งแต่นั้น
                      กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง ยังคงยึดกฎระเบียบของกลุ่มออมทรัพย์ฯ เดิม คือ ให้สมาชิกฝากเงินออมได้ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ของทุกเดือน หลังจากนั้นคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะรวบรวมเงินออมของสมาชิกไปฝากที่ธนาคารขุนยวม..

                      การบริหารจัดการของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง..

                      กติกาของกลุ่มฯมีอยู่ว่า..หากสมาชิกต้องการกู้เงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ ถึงแม้จะมีเงินสะสมจำนวนมาก แต่ก็ต้องหาคนมาค้ำประกัน โดยกู้เงินได้ภายในวงเงินที่ตัวเองมีอยู่เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันเงินสูญหาย มติของกลุ่มฯ ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ( เท่ากับร้อยละ 12 บาทต่อปี ) ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย.. บริหารจัดการจนปัจจุบันมีเงินสัจจะสะสมอยู่ 5,712,300 บาท มีสมาชิกรวม 279 คน

                     ไม่มีการจำกัดการออม แต่ละครอบครัวจะออมกี่คนก็ได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการออม และเป็นการสะสมทรัพย์ จะออมมากน้อยเท่าไหร่ก็ได้.. ไม่จำกัด

                     เส้นทาง..สร้างดอกออกผล..
                     ขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิแต่ละปี..การบริหารจัดการคือ เมื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์( ธกส.) ออกสลากทวีโชค กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯได้พูดคุยปรึกษากันว่า กลุ่มออมทรัพย์ฯของเรามีเงินออมของสมาชิกจำนวนมาก หากไม่มีการบริหารจัดการ ก็จะมีปัญหาเรื่องการปันผลให้กับสมาชิก กรรมการจะต้องทำให้สมาชิกเห็นผลงาน จึงจะเกิดการยอมรับของคนในชุมชนที่เป็นสมาชิก วิธีการคือเอาเงินออมฯ ไปซื้อสลาก ธกส. จำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะถูกรางวัลอย่างน้อย 600 -700 บาททุกเดือน ตลอดเวลา 3 ปีของอายุสลากทวีโชค รวมแล้วได้เงินปันผลและเงินจากถูกรางวัลเป็นเงิน 9 หมื่นกว่าบาท ทำให้ในปีก่อนกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง มีผลกำไรสุทธิ 2 แสนกว่าบาท และได้ปันผลกำไรให้สมาชิกในอัตราร้อยละ 3 บาท/หุ้น/ปี ได้ผลดีกว่านำเงินไปฝากธนาคาร  ที่ปันผลให้เพียงร้อยละ 0.70 บาท ชาวบ้านจึงเห็นว่ากลุ่มออมทรัพย์ฯ มีความมั่นคง และมีการบริหารจัดการได้ดี

              รายได้จากดอกเบี้ยของสมาชิก รายได้ที่สำคัญของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง คือ รายได้จากสมาชิกกู้ยืมเงินออมทรัพย์ฯ ในอัตราร้อยละ 1 บาท/เดือน นำมาสร้างกิจกรรมและสวัสดิการ ดังนี้..

1.ซื้อปุ๋ย ให้สมาชิกยืมไปทำทำการเกษตร พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ก็ให้เอาค่าปุ๋ยมาคืนพร้อมดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย

2.หลังจากซื้อสลากทวีโชคครบ 3 ปีแล้ว ได้นำเงินออมทรัพย์ฯ ไปซื้อที่นา จำนวน 21 ไร่ วงเงิน 1.3 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ หรือคนในหมู่บ้านผู้ที่ประสงค์จะเช่าที่นา หรือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน..แล้วเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ใส่ยุ้งฉางเก็บไว้ได้ประมาณ 2 พันกว่ากิโลกรัม
                   ถ้าชาวบ้านไม่มีข้าวกิน หรือไม่มีที่ซื้อข้าวเปลือก ทางกลุ่มจะขายให้คนในหมู่บ้านก่อน แต่ถ้าไม่มีใครประสงค์ก็จะขายข้าวเปลือกให้พ้อค้า เพื่อทำกำไร โดยจะเก็บข้าวเปลือกตั้งแต่ต้นฤดูทำนา พอปลายฤดูก็จะขายได้กำไร

3. จากกำไรสุทธิแต่ละปี จะนำมาแบ่งส่วนเพื่อดูแลเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก ได้แก่ หากสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ เสียชีวิต จะบริจาคให้ 500 บาทต่อราย

4. ในทุกๆปี..กลุ่มออมทรัพย์ฯ จะจัดงานปีใหม่และสนับสนุนเงิน 5,000 บาท เป็นของขวัญให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯได้จับฉลากได้เป็นของขวัญของรางวัลกัน เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันทุกปี


ความภาคภูมิใจ..กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง..
บริหารจัดการ..เพื่อชุมชนบ้านหลวง..

1.เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักอดออมไว้ เมื่อคราวจำเป็นหรือลำบาก
2.หมู่บ้านชุมชนบริหารจัดการในหมู่บ้านชุมชนเอง..ผลกำไรที่ได้ก็จะมาจุนเจือกันเอง
3.มีความเสี่ยงน้อยมาก กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะไม่ถือเงินสด ค่าตอบแทนคณะกรรมการก็ได้เท่า
   เทียมกันหมด มีการบริหารจัดการที่แม่นยำโปร่งใส สามารถทำผลกำไรให้สมาชิกเป็นที่ยอมรับ และ
   เกิดแรงศรัทธาของสมาชิกต่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในที่สุด
4.ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับสมาชิก
                 สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน(กทบ.) มักจะไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาทขึ้นไป มาชดใช้หนี้ กทบ. ทำให้หนี้สินเพิ่มพูนต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินของสมาชิก คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง จึงหาวิธีช่วยสมาชิกปลดหนี้ กทบ. โดยพิจารณาถึงความสามารถหรือเครดิตของสมาชิกแต่ละคนด้วย ตัวอย่างเช่น นาย ก.เป็นหนี้ กทบ. จำนวนเงิน 20,000 บาท พอครบ 1 ปี ต้องคืนเงิน 20,000 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 6 คือ 1,200 บาท เป็นเงิน 21,200 บาท ก็ให้นาย ก.เตรียมเงิน 5,000 บาท+ดอกเบี้ย 1,200 บาท ส่วนอีก 15,000 บาท กลุ่มออมทรัพย์ฯ จะเป็นผู้ชดใช้แทน แล้วให้นาย ก. กู้เงิน กทบ.เพียง 15,000 บาท ปีต่อไป ให้นาย ก.เตรียมคืนเงิน กทบ. 5,000 บาท + ดอกเบี้ย 900 บาท เงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ 10,000 บาท คืนหนี้ให้ กทบ.ในปีที่ 2 ..นาย ก.ก็จะปลดหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ได้หมดภายในเวลา 4 ปี เป็นต้น

                     ในการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง  จะไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่จะเน้นที่การบริหารจัดการกลุ่มมากกว่า ตัวผมเองค่อนข้างได้เปรียบเพราะเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย เป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ ด้วย เมื่อไปประชุมที่อำเภอกลับมา ก็จะมาผสมผสาน.. พูดคุยปรึกษาหารือกันเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในการประชุมของหมู่บ้านไปด้วยทุกครั้ง
                 " การทำงานในชุมชน ถ้าให้ชุมชนบริหารจัดการด้วยชุมชนเอง จะไปได้ดีกว่า
      ถ้าส่วนราชการเข้าไปจับด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ..จะยุ่งยาก...ถึงอาจล้มได้ และชุมชนก็รู้สึก
      อึดอัด.." เป็นทัศนะ..ผ่านประสบการณ์ของผู้เล่า..


ผู้บันทึก/เรียบเรียง  อัญชลี ป่งแก้ว

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำฟาร์มเห็ดหอม...

ชื่อเรื่อง                ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำฟาร์มเห็ดหอม
เจ้าของความรู้     นายทวิท สว่างวงค์ อายุ ๔๓ ปี
ตำแหน่ง               ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหลวง
ที่อยู่                     ๑๒๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์      ๐๘๑-๑๙๘๖๓๖๕
ผู้บันทึกความรู้     นางดวงธิดา อำนาจผูก ตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

เรื่องเล่า...              
                 จากอดีต..รับราชการเป็นทหารพรานที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มาถึง ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ลาออกจากราชการทหาร ย้ายมาอยู่กับครอบครัวที่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่..ด้วยการประกอบอาชีพขับรถรับจ้างส่งคนงาน อาชีพนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  จน พ่อ แม่ เลิกที่จะมีความหวังในตัวของลูกชาย  จากนั้นก็เริ่มหันมาให้ความสนใจการเพาะเห็ดหอม จากการที่ภรรยา ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพาะเห็ดหอมในหมู่บ้าน แต่การทำในรูปกลุ่มไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากการทำงานเป็นกลุ่มมักจะเกี่ยงงานกัน โดยเฉพาะการเพาะเห็ดหอมต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพราะมีขั้นตอนการทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่การนึ่งก้อนเห็ด การเขี่ยเชื้อ การตบก้อนเห็ด ทำในรูปกลุ่ม...เห็ดมักจะเสียมากกว่าดี เมื่อดูแลไม่ทั่วถึง ปริมาณที่เสียมีมากกว่า ๓๐ % จึงชวนภรรยาให้แยกตัวออกมาทำเอง และคิดหาวิธีไม่ให้เห็ดเสีย  โดยมุ่งที่จะยึดเป็นอาชีพลัก...


ศึกษา..เรียนรู้..ลองผิดลองถูก
                เริ่มแรกได้ไปขอความรู้จากผู้ที่เพาะเห็ดในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีใครที่จะให้ความรู้ จึงได้เข้าไปศึกษาหาความรู้จากฟาร็มเห็ดนงนุช ในจังหวัดลำพูน แล้วก็นำมาศึกษาเพิ่มเติมและทดลองทำด้วยตัวเองที่บ้าน ลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนรู้วิธีนึ่งก้อนเห็ด ว่าต้องใช้ความร้อนคงที่ เชื้อเพลิงที่ดีที่สุดคือซังข้าวโพดที่ให้ความร้อนคงที่ได้ดี ส่วนการกระตุ้นก้อนเชื้อเห็ด ด้วยการใช้รองเท้าตบ น้ำหนักแรงไป ราเขียวจะขึ้น ทำให้ก้อนเห็ดเสีย จึงเปลี่ยนวิธีใช้มือตบใช้น้ำหนักที่พอดี ไม่เบาเกินไป ไม่หนักเกินไป หลังจากนั้นก็เริ่มคิดค้นหาสูตรเพิ่มธาตุอาหารให้กับเชื้อเห็ด เพื่อให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม ปกติเห็ดรุ่นหนึ่ง จะเก็บได้ ๔ รอบ ๆ ละ ประมาณ ๑๐ วัน ได้สูตรเพิ่มส่วนผสมโดยการเพิ่มส่วนผสมตามสัดส่วน คือ แกลบ ยิบซั่ม แคลเซียม น้ำตาลทรายแดง กากน้ำตาล ปริมาณผลผลิตที่ได้ ๑ ลำรถสิบล้อ จะผลิตก้อนเห็ดได้ ๒๓,๐๐๐ ก้อน ราคาขายก้อนละ ๗.๕๐ บาท คิดเป็นเงินประมาณ ๑๗๒,๕๐๐ บาท มีต้นทุนครั้งละ ๕๐,๐๐๐ บาท


                ต่อมาก็ผลิตก้อนเห็ดขาย นอกจากการเก็บเห็ดสดขายอย่างเดียว ลูกค้าตอบรับดีมาก มีการดูแลลูกค้าหลังการขาย คือนำเอาประสบการณ์ การทำเห็ดครั้งแรกมาเป็นครู (ที่ไม่มีใครยอมสอนในการทำเห็ดของตนเองครั้งแรก) ถ้าคนที่สนใจทำเห็ดมาติดต่อซื้อก้อนเห็ดและขอความรู้เรื่องเห็ดก็จะสอนโดยไปสอนถึงสถานที่ของลูกค้า และตามไปดูแลอย่างใกล้ชิด จนต่อมาที่บ้านก็เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของผู้สนใจทั่วไป รวมถึงโครงการหลวง ก็มาศึกษาวิธีการทำอย่างไรเห็ดถึงไม่เสีย

เคล็ดลับหรือเทคนิคในการทำเห็ด คือเตานึ่งเห็ดจะใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง เพราะจะได้ความร้อนคงที่ มีเกลวัดความร้อนเวลานึ่งก้อนเห็ด การเติมเชื้อเห็ดหรือเขี่ยเชื้อจะทำเวลากลางคืน ช่วงราว ๆ ตี ๓ เพาะอุณหภูมิจะคงที่ ถ้าทำในเวลากลางวันอากาศร้อน เห็ดจะเสีย เคยคิดกับตัวเองว่าทำเห็ดแล้วมีเสียบ้างยังได้กำไร ถ้าจะทำไม่ให้เห็ดเสียเลย จะมีกำไรมากแค่ไหน

ปัญหาในการทำฟาร์มเห็ดหอม
๑. ไม่มีความรู้เรื่องเตานึ่ง ทำให้ตอนเริ่มทำใหม่ ๆ นึ่งไม่สุก เห็ดเสีย
๒. เขี่ยเชื้อไม่เป็น

วิธีแก้ปัญหา/การหาวิธีลดต้นทุนการผลิต
๑. ศึกษาหาความรู้จากฟาร์มเห็ดนงนุช จังหวัดลำพูน
๒. ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง /หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง
๓. ลดต้นทุนในการสร้างโรงเรือน คือใช้หญ้าคา และใบตองตึง ซึ่งเป็นวัสดุหาได้ในท้องถิ่น นำมาเป็นวัสดุในการทำหลังคาโรงเรือน ซึ่งทำให้ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนลดลง ที่สำคัญ อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่สูง อากาศถ่ายเทสะดวก

ผลที่ได้รับ ต้นทุนในการผลิตลดลง ก้อนเห็ดไม่เน่า อยู่ทน ออกผลผลิตได้หลายรอบ จากเดิมกระตุ้นเห็ด ๔ ครั้งเห็ดจะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง หลังจากหาวิธีกระตุ้นได้สำเร็จ สามารถกระตุ้นได้นานถึง ๗ ครั้ง เก็บเห็ดได้นานถึง ๔ เดือน ผลผลิตได้มาก รายได้ก็เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ได้เพาะเห็ดชนิดอื่น ๆ ด้วย อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู

บอกความรู้สึก...สิ่งที่ได้เรียนรู้
                จากเคยที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว ชีวิตล้มเหลวมาเกือบครึ่งชีวิต สามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งในเม็ดเลือดที่เป็นอยู่ ผ่านมา ๗ ปีแล้ว ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถควบคุมอาการของโรคมะเร็งได้ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต อนาคตจะขยายพื้นที่ทำกินที่มีอยู่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชนต่อไป...

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

พลังแห่งผู้เฒ่า...กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา..

กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา
กิจกรรมเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนา
หมู่ที่ ๑๑ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“...เป็นคนแก่..ไม่มีงานอะไรทำ ไม่มีใครจ้างทำงาน..”
“.. ถ้าอยู่บ้านก็เครียด ตาก็ไปทำนา..ลูกเต้าโตหมดแล้ว..”
“..อยู่บ้านก็เหงา...ไม่มีใครพูดด้วย..”
พ่อน้อยปัน ปัจจารี ประธานกลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา ผู้เฒ่าวัย ๗๑ ปี กับดวงตาที่พร่ามัวด้วยโรคเบาหวาน ไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไปจักตอกสานก๋วยได้อีก พ่อปันเล่าว่า “แต่ก่อนมาคนเฒ่าคนแก่ที่นี่ ก็ไม่มีอะไรทำ มีแต่แกและเพื่อนบ้านอีก ๒-๓ คนเท่านั้นที่มีรายได้จากการรับจ้างสานก๋วย(ตระกร้าใส่ผัก) ได้ใบละ ๔ บาท โดยต้องซื้อตอกสานก๋วย ในราคา ๔๐ บาทต่อเส้นตอก ๑,๐๐๐ เส้น และขายก๋วยให้กับพ่อค้าบ้านแม่ใจ
อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ..




ต่อลมหายใจ “ผู้เฒ่า” แห่งบ้านปัญจะพัฒนา
       ปี ๒๕๕๐ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น(นายพิชัย ทรงรักษา) และประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ(ณฐพร ชัยชนะ)ได้ชักชวนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีงานทำ รวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา” ขึ้น โดยกระทรวงพัฒนาสังคมได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท สำหรับจัดซื้อเครื่องจักตอก วัสดุอุปกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ฯได้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และผู้ใหญ่บ้าน..สมาชิกอบต.แม่สาว ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวบ้าน คนหนุ่มสาวช่วยกันสร้างที่ทำงานของกลุ่มขึ้นในสวนของแม่บุญช่วย อินชัย ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิก ๗-๘ คน ให้พ่อน้อยปัน ปัจจารีเป็นประธานกลุ่มมาจนถึงปัจจุบัน...

ร่วมด้วย...ช่วยผู้เฒ่า
          กลุ่มจักสานผู้สูงอายุฯ ถือเป็นกิจกรรมเครือข่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนา เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน การส่งเสริมให้กรรมการกลุ่มได้ไปศึกษาดูงาน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

            ทุกๆปี กลุ่มจักสานฯ ของผู้เฒ่าจะจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า ตั้งองค์กฐิน ทำพิธีสืบชะตา ฯลฯ เพื่อรวบรวมเงินทุนในการซื้อที่ดิน และจัดสร้างอาคารที่ทำการของกลุ่ม โดยมีกลุ่มออมทรัพย์ฯสนับสนุน และในปี ๒๕๕๒ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาวได้สนับสนุนงบประมาณ ๑๙๗,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน และใช้เป็นที่ทำงานของกลุ่มจักสานฯมาจนทุกวันนี้



 กว่าจะมาเป็น...ก๋วย...
          พ่อปั๋น พ่อเสาร์ และสมาชิกกลุ่มอีก ๔-๕ คน จะไปหาซื้อไม้บง(บงกาย ต้นไผ่ชนิดหนึ่ง)เล่มละ ๒.๕๐-๕ บาท แล้วแต่ขนาด บางครั้งก็ซื้อเหมาเป็นกอ ช่วยกันตัด..ช่วยกันลาก...แล้วก็เอารถของประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ(น้องต่าย)ไปบรรทุกกลับมา





     ผ่าไผ่บงเป็นซีกๆทิ้งตากแดดให้แห้ง  ประมาณครึ่งวัน








เอามาแช่ในอ่างน้ำเพื่อให้เนื้อไม้นิ่ม ตรง ไม่งอ





นำมาใส่ใน “เครื่องร่อน”(เครื่องจักตอก)จากไผ่บง ๑ ซีก ผ่านเครื่องจักตอกได้ ๒-๘ เส้น(ตอก)


เริ่มนำเส้นตอกมาสานเป็นฐานตระกร้า(ก่อก้นก๋วย)


สาน...เป็น..ตระกร้า(ก๋วย..ใส่ผัก)



                                                   ขั้นเม้มปาก(ก๋วย)เป็นขั้นตอนสุดท้าย


**นำก๋วยมาซ้อนกันทีละ ๕๐ ใบ เข้าเครื่องอัด ซ้อนกันให้แน่น เก็บเข้าโรงเก็บ เพื่อรอขายให้พ่อค้าต่อไป



รวมพลัง...ผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา
         มาทำกันตามหน้าที่ จักตอก...สานตระกร้า...สานก้นตระกร้า...ขึ้นก๋วย ฯลฯ “ใครมาทำกี่วันก็ได้เงินตามนั้น ขายได้เมื่อไหร่ก็จะแบ่งเงินกัน ปกติราคาขายอยู่ที่ ๓.๕๐-๕ บาท/เข่ง ช่วงกลางพรรษาฝนตกเยอะ พืชผักไม่ค่อยมี ราคาเข่งก็จะลดลง..กลุ่มออมทรัพย์ฯจะเป็นคนประสานพ่อค้าส่งขายตามสั่งเยอะที่สุดถึง ๔-๕ พันเข่ง” พ่อปั๋น จิโนวรรณ อายุ ๖๕ ปีเล่าให้ฟัง...
         อยู่บ้านพ่อปั๋นสานสุ่มไก่ได้ แต่สานก๋วยนั้น ต้องมาหัดสานกับแม่ติ๊บ ธนูสิทธิ์ ใช้เวลาเพียงครึ่งวันพ่อปั๋นก็สามารถสานเข่งส่งได้เลย..
         แต่ละคน ทำได้ทุกหน้าที่ แต่ ผู้ชายจะเป็นคนจักไม้ไผ่ ไม้หมดก็ไปสาน ไปเม้ม

"ไม่มีคนไปตัดไม้(ไผ่บง..) คนหนุ่มๆเขาไม่ทำ..เพราะทำงานอย่างอื่นได้เงินมากกว่า” พ่อปั๋นกับพรรคพวก(ผู้เฒ่า)ต้องไปตัดกันเอง กลุ่มฯใช้เงินทุนของกลุ่มจ้างเป็นค่าแรง ๑๒๐ บาท/วัน/คน
         กลุ่มจักสานของผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา จะช่วยกันสานก๋วยทุกวัน แต่ละครั้ง รวบรวมให้ได้หลายพันเข่ง(๓-๔ พันใบ) จึงจะขาย เมื่อขายได้จะหักเงินไว้ ๕ เปอร์เซ็นต์เข้าเป็นทุนของกลุ่มทุกครั้ง ที่เหลือก็เอามาแบ่งกัน ตามแต่ว่าใครมาสานกี่วัน


เสียงเพรียก...จากหัวใจผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา
          กลุ่มจักสานฯของผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา เกิดขึ้นได้จากการดูแลช่วยเหลือของลูกหลาน...ชาวบ้านทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา วันนี้ ผู้สูงอายุมีรายได้ ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน..ลูกเต้าต้องเสาะหา..ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัวของเขา...อยู่บ้านก็เหงา..ไม่มีใครพูดด้วย อยู่ที่นี่ จ๊อกๆ แจ๊กๆ...ไข้หัวกั๋น(หัวเราะกัน)..เพลินไป..ถ้ามีภาระก็มาเอาตอกไปนั่งสานที่บ้านได้...

วันนี้เงินทุน(กองกลาง)ของกลุ่มถูกใช้ไปเป็นค่าจ้างตัดไม้ไผ่มาทำก๋วย หรือซื้อไผ่เป็นเล่มๆ ใช้เป็นค่าซ่อมเครื่องจักร ค่าไฟฟ้า ฯลฯ

“ปัจจัย(เงินทุน)ร่อยหรอไปทุกวัน..เครื่องจักรตอก ๒ เครื่องไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะถ้าไม่รีบเอาไม้เข้าร่อน ไม้ก็จะแห้งแข็งไป” เป็นคำเปรยๆของกลุ่มผู้เฒ่า ที่อยากเห็น อยากให้กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา อยู่เคียงคู่กับพวกเขาตลอดไป...


 บันทึก/เรียบเรียง...อัญชลี ป่งแก้ว
จัดพิมพ์/จัดเรียง..ชูชาติ บุญธรรม
ถ่ายภาพประกอบ ธนาศักดิ์ เตชะวงศ์
....30 มีนาคม 2554