วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการโดยชุมชน: กรณีกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง

เจ้าของความรู้ : นายธนสิทธิ์ เนื้อนวลจันทร์
ตำแหน่ง           : ประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านหลวง
ที่อยู่ติดต่อ       : บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 8 บ้านหลวง ต.แม่เงา อ.ขุนยวม
                            จ.แม่ฮ่องสอน 58140
โทรศัพท์          : โทร. 089-9514589
ผู้บันทึกความรู้   : นางอัญชลี ป่งแก้ว
                               นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ

                      ปี พ.ศ.2547 บ้านหลวง หมู่ที่ 8 เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ แยกออกมาจากบ้านต่อแพ หมู่ที่ 1 กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหลวงจึงเกิดขึ้น โดยแบ่งเงินออมทรัพย์ฯ จากกลุ่มเดิม    มาประมาณ 2 ล้านบาท และสมาชิกได้เลือกผู้เล่าเป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ
บ้านหลวงตั้งแต่นั้น
                      กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง ยังคงยึดกฎระเบียบของกลุ่มออมทรัพย์ฯ เดิม คือ ให้สมาชิกฝากเงินออมได้ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ของทุกเดือน หลังจากนั้นคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะรวบรวมเงินออมของสมาชิกไปฝากที่ธนาคารขุนยวม..

                      การบริหารจัดการของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง..

                      กติกาของกลุ่มฯมีอยู่ว่า..หากสมาชิกต้องการกู้เงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ ถึงแม้จะมีเงินสะสมจำนวนมาก แต่ก็ต้องหาคนมาค้ำประกัน โดยกู้เงินได้ภายในวงเงินที่ตัวเองมีอยู่เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันเงินสูญหาย มติของกลุ่มฯ ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ( เท่ากับร้อยละ 12 บาทต่อปี ) ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย.. บริหารจัดการจนปัจจุบันมีเงินสัจจะสะสมอยู่ 5,712,300 บาท มีสมาชิกรวม 279 คน

                     ไม่มีการจำกัดการออม แต่ละครอบครัวจะออมกี่คนก็ได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการออม และเป็นการสะสมทรัพย์ จะออมมากน้อยเท่าไหร่ก็ได้.. ไม่จำกัด

                     เส้นทาง..สร้างดอกออกผล..
                     ขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิแต่ละปี..การบริหารจัดการคือ เมื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์( ธกส.) ออกสลากทวีโชค กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯได้พูดคุยปรึกษากันว่า กลุ่มออมทรัพย์ฯของเรามีเงินออมของสมาชิกจำนวนมาก หากไม่มีการบริหารจัดการ ก็จะมีปัญหาเรื่องการปันผลให้กับสมาชิก กรรมการจะต้องทำให้สมาชิกเห็นผลงาน จึงจะเกิดการยอมรับของคนในชุมชนที่เป็นสมาชิก วิธีการคือเอาเงินออมฯ ไปซื้อสลาก ธกส. จำนวน 1.5 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะถูกรางวัลอย่างน้อย 600 -700 บาททุกเดือน ตลอดเวลา 3 ปีของอายุสลากทวีโชค รวมแล้วได้เงินปันผลและเงินจากถูกรางวัลเป็นเงิน 9 หมื่นกว่าบาท ทำให้ในปีก่อนกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง มีผลกำไรสุทธิ 2 แสนกว่าบาท และได้ปันผลกำไรให้สมาชิกในอัตราร้อยละ 3 บาท/หุ้น/ปี ได้ผลดีกว่านำเงินไปฝากธนาคาร  ที่ปันผลให้เพียงร้อยละ 0.70 บาท ชาวบ้านจึงเห็นว่ากลุ่มออมทรัพย์ฯ มีความมั่นคง และมีการบริหารจัดการได้ดี

              รายได้จากดอกเบี้ยของสมาชิก รายได้ที่สำคัญของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง คือ รายได้จากสมาชิกกู้ยืมเงินออมทรัพย์ฯ ในอัตราร้อยละ 1 บาท/เดือน นำมาสร้างกิจกรรมและสวัสดิการ ดังนี้..

1.ซื้อปุ๋ย ให้สมาชิกยืมไปทำทำการเกษตร พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ก็ให้เอาค่าปุ๋ยมาคืนพร้อมดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย

2.หลังจากซื้อสลากทวีโชคครบ 3 ปีแล้ว ได้นำเงินออมทรัพย์ฯ ไปซื้อที่นา จำนวน 21 ไร่ วงเงิน 1.3 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ หรือคนในหมู่บ้านผู้ที่ประสงค์จะเช่าที่นา หรือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน..แล้วเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ใส่ยุ้งฉางเก็บไว้ได้ประมาณ 2 พันกว่ากิโลกรัม
                   ถ้าชาวบ้านไม่มีข้าวกิน หรือไม่มีที่ซื้อข้าวเปลือก ทางกลุ่มจะขายให้คนในหมู่บ้านก่อน แต่ถ้าไม่มีใครประสงค์ก็จะขายข้าวเปลือกให้พ้อค้า เพื่อทำกำไร โดยจะเก็บข้าวเปลือกตั้งแต่ต้นฤดูทำนา พอปลายฤดูก็จะขายได้กำไร

3. จากกำไรสุทธิแต่ละปี จะนำมาแบ่งส่วนเพื่อดูแลเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก ได้แก่ หากสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ เสียชีวิต จะบริจาคให้ 500 บาทต่อราย

4. ในทุกๆปี..กลุ่มออมทรัพย์ฯ จะจัดงานปีใหม่และสนับสนุนเงิน 5,000 บาท เป็นของขวัญให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯได้จับฉลากได้เป็นของขวัญของรางวัลกัน เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันทุกปี


ความภาคภูมิใจ..กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง..
บริหารจัดการ..เพื่อชุมชนบ้านหลวง..

1.เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักอดออมไว้ เมื่อคราวจำเป็นหรือลำบาก
2.หมู่บ้านชุมชนบริหารจัดการในหมู่บ้านชุมชนเอง..ผลกำไรที่ได้ก็จะมาจุนเจือกันเอง
3.มีความเสี่ยงน้อยมาก กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จะไม่ถือเงินสด ค่าตอบแทนคณะกรรมการก็ได้เท่า
   เทียมกันหมด มีการบริหารจัดการที่แม่นยำโปร่งใส สามารถทำผลกำไรให้สมาชิกเป็นที่ยอมรับ และ
   เกิดแรงศรัทธาของสมาชิกต่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในที่สุด
4.ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับสมาชิก
                 สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน(กทบ.) มักจะไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาทขึ้นไป มาชดใช้หนี้ กทบ. ทำให้หนี้สินเพิ่มพูนต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินของสมาชิก คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง จึงหาวิธีช่วยสมาชิกปลดหนี้ กทบ. โดยพิจารณาถึงความสามารถหรือเครดิตของสมาชิกแต่ละคนด้วย ตัวอย่างเช่น นาย ก.เป็นหนี้ กทบ. จำนวนเงิน 20,000 บาท พอครบ 1 ปี ต้องคืนเงิน 20,000 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 6 คือ 1,200 บาท เป็นเงิน 21,200 บาท ก็ให้นาย ก.เตรียมเงิน 5,000 บาท+ดอกเบี้ย 1,200 บาท ส่วนอีก 15,000 บาท กลุ่มออมทรัพย์ฯ จะเป็นผู้ชดใช้แทน แล้วให้นาย ก. กู้เงิน กทบ.เพียง 15,000 บาท ปีต่อไป ให้นาย ก.เตรียมคืนเงิน กทบ. 5,000 บาท + ดอกเบี้ย 900 บาท เงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ 10,000 บาท คืนหนี้ให้ กทบ.ในปีที่ 2 ..นาย ก.ก็จะปลดหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ได้หมดภายในเวลา 4 ปี เป็นต้น

                     ในการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านหลวง  จะไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่จะเน้นที่การบริหารจัดการกลุ่มมากกว่า ตัวผมเองค่อนข้างได้เปรียบเพราะเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย เป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ ด้วย เมื่อไปประชุมที่อำเภอกลับมา ก็จะมาผสมผสาน.. พูดคุยปรึกษาหารือกันเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในการประชุมของหมู่บ้านไปด้วยทุกครั้ง
                 " การทำงานในชุมชน ถ้าให้ชุมชนบริหารจัดการด้วยชุมชนเอง จะไปได้ดีกว่า
      ถ้าส่วนราชการเข้าไปจับด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ..จะยุ่งยาก...ถึงอาจล้มได้ และชุมชนก็รู้สึก
      อึดอัด.." เป็นทัศนะ..ผ่านประสบการณ์ของผู้เล่า..


ผู้บันทึก/เรียบเรียง  อัญชลี ป่งแก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..