วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

พลังแห่งผู้เฒ่า...กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา..

กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา
กิจกรรมเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนา
หมู่ที่ ๑๑ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“...เป็นคนแก่..ไม่มีงานอะไรทำ ไม่มีใครจ้างทำงาน..”
“.. ถ้าอยู่บ้านก็เครียด ตาก็ไปทำนา..ลูกเต้าโตหมดแล้ว..”
“..อยู่บ้านก็เหงา...ไม่มีใครพูดด้วย..”
พ่อน้อยปัน ปัจจารี ประธานกลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา ผู้เฒ่าวัย ๗๑ ปี กับดวงตาที่พร่ามัวด้วยโรคเบาหวาน ไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไปจักตอกสานก๋วยได้อีก พ่อปันเล่าว่า “แต่ก่อนมาคนเฒ่าคนแก่ที่นี่ ก็ไม่มีอะไรทำ มีแต่แกและเพื่อนบ้านอีก ๒-๓ คนเท่านั้นที่มีรายได้จากการรับจ้างสานก๋วย(ตระกร้าใส่ผัก) ได้ใบละ ๔ บาท โดยต้องซื้อตอกสานก๋วย ในราคา ๔๐ บาทต่อเส้นตอก ๑,๐๐๐ เส้น และขายก๋วยให้กับพ่อค้าบ้านแม่ใจ
อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ..




ต่อลมหายใจ “ผู้เฒ่า” แห่งบ้านปัญจะพัฒนา
       ปี ๒๕๕๐ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น(นายพิชัย ทรงรักษา) และประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ(ณฐพร ชัยชนะ)ได้ชักชวนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีงานทำ รวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา” ขึ้น โดยกระทรวงพัฒนาสังคมได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท สำหรับจัดซื้อเครื่องจักตอก วัสดุอุปกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ฯได้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท และผู้ใหญ่บ้าน..สมาชิกอบต.แม่สาว ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวบ้าน คนหนุ่มสาวช่วยกันสร้างที่ทำงานของกลุ่มขึ้นในสวนของแม่บุญช่วย อินชัย ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิก ๗-๘ คน ให้พ่อน้อยปัน ปัจจารีเป็นประธานกลุ่มมาจนถึงปัจจุบัน...

ร่วมด้วย...ช่วยผู้เฒ่า
          กลุ่มจักสานผู้สูงอายุฯ ถือเป็นกิจกรรมเครือข่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนา เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน การส่งเสริมให้กรรมการกลุ่มได้ไปศึกษาดูงาน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

            ทุกๆปี กลุ่มจักสานฯ ของผู้เฒ่าจะจัดกิจกรรมทอดผ้าป่า ตั้งองค์กฐิน ทำพิธีสืบชะตา ฯลฯ เพื่อรวบรวมเงินทุนในการซื้อที่ดิน และจัดสร้างอาคารที่ทำการของกลุ่ม โดยมีกลุ่มออมทรัพย์ฯสนับสนุน และในปี ๒๕๕๒ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาวได้สนับสนุนงบประมาณ ๑๙๗,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน และใช้เป็นที่ทำงานของกลุ่มจักสานฯมาจนทุกวันนี้



 กว่าจะมาเป็น...ก๋วย...
          พ่อปั๋น พ่อเสาร์ และสมาชิกกลุ่มอีก ๔-๕ คน จะไปหาซื้อไม้บง(บงกาย ต้นไผ่ชนิดหนึ่ง)เล่มละ ๒.๕๐-๕ บาท แล้วแต่ขนาด บางครั้งก็ซื้อเหมาเป็นกอ ช่วยกันตัด..ช่วยกันลาก...แล้วก็เอารถของประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ(น้องต่าย)ไปบรรทุกกลับมา





     ผ่าไผ่บงเป็นซีกๆทิ้งตากแดดให้แห้ง  ประมาณครึ่งวัน








เอามาแช่ในอ่างน้ำเพื่อให้เนื้อไม้นิ่ม ตรง ไม่งอ





นำมาใส่ใน “เครื่องร่อน”(เครื่องจักตอก)จากไผ่บง ๑ ซีก ผ่านเครื่องจักตอกได้ ๒-๘ เส้น(ตอก)


เริ่มนำเส้นตอกมาสานเป็นฐานตระกร้า(ก่อก้นก๋วย)


สาน...เป็น..ตระกร้า(ก๋วย..ใส่ผัก)



                                                   ขั้นเม้มปาก(ก๋วย)เป็นขั้นตอนสุดท้าย


**นำก๋วยมาซ้อนกันทีละ ๕๐ ใบ เข้าเครื่องอัด ซ้อนกันให้แน่น เก็บเข้าโรงเก็บ เพื่อรอขายให้พ่อค้าต่อไป



รวมพลัง...ผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา
         มาทำกันตามหน้าที่ จักตอก...สานตระกร้า...สานก้นตระกร้า...ขึ้นก๋วย ฯลฯ “ใครมาทำกี่วันก็ได้เงินตามนั้น ขายได้เมื่อไหร่ก็จะแบ่งเงินกัน ปกติราคาขายอยู่ที่ ๓.๕๐-๕ บาท/เข่ง ช่วงกลางพรรษาฝนตกเยอะ พืชผักไม่ค่อยมี ราคาเข่งก็จะลดลง..กลุ่มออมทรัพย์ฯจะเป็นคนประสานพ่อค้าส่งขายตามสั่งเยอะที่สุดถึง ๔-๕ พันเข่ง” พ่อปั๋น จิโนวรรณ อายุ ๖๕ ปีเล่าให้ฟัง...
         อยู่บ้านพ่อปั๋นสานสุ่มไก่ได้ แต่สานก๋วยนั้น ต้องมาหัดสานกับแม่ติ๊บ ธนูสิทธิ์ ใช้เวลาเพียงครึ่งวันพ่อปั๋นก็สามารถสานเข่งส่งได้เลย..
         แต่ละคน ทำได้ทุกหน้าที่ แต่ ผู้ชายจะเป็นคนจักไม้ไผ่ ไม้หมดก็ไปสาน ไปเม้ม

"ไม่มีคนไปตัดไม้(ไผ่บง..) คนหนุ่มๆเขาไม่ทำ..เพราะทำงานอย่างอื่นได้เงินมากกว่า” พ่อปั๋นกับพรรคพวก(ผู้เฒ่า)ต้องไปตัดกันเอง กลุ่มฯใช้เงินทุนของกลุ่มจ้างเป็นค่าแรง ๑๒๐ บาท/วัน/คน
         กลุ่มจักสานของผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา จะช่วยกันสานก๋วยทุกวัน แต่ละครั้ง รวบรวมให้ได้หลายพันเข่ง(๓-๔ พันใบ) จึงจะขาย เมื่อขายได้จะหักเงินไว้ ๕ เปอร์เซ็นต์เข้าเป็นทุนของกลุ่มทุกครั้ง ที่เหลือก็เอามาแบ่งกัน ตามแต่ว่าใครมาสานกี่วัน


เสียงเพรียก...จากหัวใจผู้เฒ่าปัญจะพัฒนา
          กลุ่มจักสานฯของผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา เกิดขึ้นได้จากการดูแลช่วยเหลือของลูกหลาน...ชาวบ้านทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา วันนี้ ผู้สูงอายุมีรายได้ ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน..ลูกเต้าต้องเสาะหา..ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัวของเขา...อยู่บ้านก็เหงา..ไม่มีใครพูดด้วย อยู่ที่นี่ จ๊อกๆ แจ๊กๆ...ไข้หัวกั๋น(หัวเราะกัน)..เพลินไป..ถ้ามีภาระก็มาเอาตอกไปนั่งสานที่บ้านได้...

วันนี้เงินทุน(กองกลาง)ของกลุ่มถูกใช้ไปเป็นค่าจ้างตัดไม้ไผ่มาทำก๋วย หรือซื้อไผ่เป็นเล่มๆ ใช้เป็นค่าซ่อมเครื่องจักร ค่าไฟฟ้า ฯลฯ

“ปัจจัย(เงินทุน)ร่อยหรอไปทุกวัน..เครื่องจักรตอก ๒ เครื่องไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะถ้าไม่รีบเอาไม้เข้าร่อน ไม้ก็จะแห้งแข็งไป” เป็นคำเปรยๆของกลุ่มผู้เฒ่า ที่อยากเห็น อยากให้กลุ่มจักสานผู้สูงอายุบ้านปัญจะพัฒนา อยู่เคียงคู่กับพวกเขาตลอดไป...


 บันทึก/เรียบเรียง...อัญชลี ป่งแก้ว
จัดพิมพ์/จัดเรียง..ชูชาติ บุญธรรม
ถ่ายภาพประกอบ ธนาศักดิ์ เตชะวงศ์
....30 มีนาคม 2554

5 ความคิดเห็น:

  1. มันเป็นช่วงชีวิตที่แสนเหงาจริงๆ แต่มันก็หนีไม่พ้นทุกชีวิตต้องพบเจอะ แต่ชีวิตใครจะสาหัสกว่ากันเท่านั้นเอง ผ่านไม่ผ่านก็ไม่พ้น เราน่าจะมาช่วยกันให้คนในวัยนี้พบกับความสุขให้มากที่สุด ในฐานะลูกหลาน หรือคนที่มีโอกาสได้สัมผัสกับท่านเหล่านี้ในบางโอกาสก็ยังดีนะ

    ตอบลบ
  2. น่ารัก คิดถึงพ่อกับแม่

    ตอบลบ
  3. ต้องการติดต่อซื้อเข่งใส่ผัก
    และต้องการทราบรายละเอียดค่ะ

    รบกวนตอบกลับด่วนๆนะค่ะ
    ada_panudda@hotmail.com

    ตอบลบ
  4. ยังทำก๋วยขายอยู่มัยค่ะ ต้องการชื้อมาขายค่ะ ติดต่อกลับเบอร์0800659305

    ตอบลบ
  5. ต้องการซื้อรบกวนติดต่อกลับเบอร์นี่นะคะ0654192891

    ตอบลบ

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..