วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เวทีจัดการความรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน..ที่ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

                       ทีมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มีโอกาสไปสนับสนุนพื้นที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ด้วยการเป็นวิทยากรกระบวนการ  กิจกรรมการจัดการความรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังซ้าย ในวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2556

                       หลังจากที่คุณวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ นายอำเภอวังเหนือ ได้มอบแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยหมู่บ้าน/ชุมชน ให้กับหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้ง 15 หมู่บ้าน จำนวน 40 คนแล้ว 
พัฒนาการอำเภอวังเหนือ คุณพิเชฏฐ์ อาจสามารถ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในวันนี้ เพื่อกำหนดเป็นแผนการดำเนินงานหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินของอำเภอวังเหนือต่อไป




เวทีแลกเปลี่ยนเพื่อจัดการความรู้..หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน
โดย.....ทีมวิทยากรศูนย์ฯลำปาง
          ทีมงานศูนย์ฯลำปางวันนี้ ไปด้วยกันสี่คน แบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีคนเดินเวทีหลัก 1 คนและผู้ช่วย 1 คน อีก 2 คนจับประเด็นจากเวทีเขียนเป็น mind map โดยกำหนดประเด็นคำถามหลักๆและคำถามรองไว้กันล่วงหน้าแล้ว ทีมงานตกลงร่วมกันว่า เวทีวันนี้จะไม่ใช้คำว่า “เวทีจัดการความรู้” และก็จะไม่พูดคำว่า “เวทีถอดบทเรียน” เพราะทั้งสองคำ ไม่ว่าจะเป็น จัดการความรู้ หรือ ถอดบทเรียน ล้วนเป็นคำยากและไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น..ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจความหมาย แต่เราจะพูดกันง่ายๆถึงสถานการณ์การดำเนินงานของหมู่บ้านกองทุนแม่ฯ ของอำเภอวังเหนือ ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปี 2555/2556 ว่ามีแนวคิดแนวทางในการทำงานกันอย่างไร ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัจจัยความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน เป็นเครือข่ายหมู่บ้านกองทุนแม่ของอำเภอวังเหนือต่อไป

เริ่มต้นง่ายๆ..คิด เขียน..อ่าน..และติด..
              เราเริ่มต้นจากบัตรคำ ให้กรรมการกองทุนแม่ฯเขียนชื่อกองทุนแม่ของแต่ละบ้าน พร้อมกับให้บอก”เป้าหมายหลักๆ”ของกองทุนแม่ฯหมู่บ้านของท่าน..คิดแล้วเขียน-อ่านที่เขียน.และนำมาติดบนกระดาษฟลิปชาร์ท ทีมศูนย์ฯชี้ให้ตระหนักถึงเป้าหมายของการทำงานทุกครั้งและทุกๆเรื่อง..ทำอะไรต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัด เพราะ..เมื่อวางเป้าหมายร่วมกันชัดแล้ว..กรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินก็จะมีโจทย์ร่วมกันต่อไปว่า จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ
-เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
-เพื่อเฝ้าระวังคนในชุมชนให้ห่างไกลยาเสพติด
-เพื่อส่งเสริมอาชีพคนในชุมชน
-เพื่อช่วยเหลือคนยากจนในชุมชน
-เพื่อสร้างสวัสดิการในชุมชน
-เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน
-ฯลฯ


...ซึ่งแต่ละหมู่บ้านกองทุนแม่ต่างมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละชุมชน แต่เป้าหมายหลักๆที่เหมือนกันคือ ระดมกองทุนในการจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน



เริ่มชวนกันพูดคุยแลกเปลี่ยนตามประเด็นที่เตรียมไว้..



สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนด้วยแผนที่ความคิด
           แน่นอนว่า..การแลกเปลี่ยนในเวทีไม่ใช่การถามตอบหรือเป็นแค่การให้คนในเวทีซึ่งเป็นประธานและกรรมการกองทุนแม่ฯ เปลี่ยนกัน “เล่าเรื่อง”การดำเนินงานที่ผ่านมา..

แต่ ความรู้ที่เกิดขึ้น(ใหม่) ระหว่างปฏิบัติงาน/ขับเคลื่อนกองทุนแม่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ไม่ว่ากิจกรรมนั้นๆจะสำเร็จ/ทำได้ดี หรือ ล้มเหลว..หรือทำได้ไม่ดีนัก หรือมีปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ แต่ประสบการณ์หรือบทเรียนที่กรรมการ/คนทำงานได้รับคือ “ความรู้” ที่ทั้ง 15 กองทุนแม่ฯได้มีเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุง ประยุกต์ใช้ หรือ ต่อยอดการดำเนินงานของกองทุนแม่ฯให้บรรลุเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนต่อๆไป



สุดท้ายในเวทีฯ เป็นประเด็นวิเคราะห์ร่วมกัน ต่อเนื่องจากผลสรุปที่เป็นข้อจำกัด    ปัญหาอุปสรรคจาก mind map ในประเด็นข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น และแนวทางการทำงานร่วมกันของเครือข่ายทั้ง 15 หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน..ที่อำเภอวังเหนือ..
-จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานกองทุนแม่ฯ
-ศึกษาดูงานหมู่บ้านกองทุนแม่ฯที่ประสบความสำเร็จ
-ขับเคลื่อนกองทุนแม่ร่วมกันเป็นเครือข่ายฯ
-สร้างทีมงานกองทุนแม่ให้มีความหลากหลายในการทำงาน
-ประธานกองทุนแม่ควรเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ เสียสละและมีความรู้
-ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษากองทุนฯ
-กรรมการกองทุนแม่ฯ เมื่อได้รับการอบรมแล้ว ควรสามารถถ่ายทอดต่อให้ชุมชนเข้าใจได้
-ภาครัฐ/องค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนการขับเคลื่อน/ให้ความรู้/งบประมาณฯ
-เสนอขอรับเงินพระราชทาน(เงินขวัญถุง)ที่จังหวัด
-จัดกิจกรรมเข้าค่ายให้กับเยาวชน
-ออกกฎหมายให้มีบทลงโทษที่เด็ดขาด
-เพิ่มความถี่ในการตรวจตราเรื่องยาเสพติด
-ตัดต้นตอ/แก้ไขปัญหาจากต้นตอ เพื่อลดการแพร่ระบาดยาเสพติด
          ฯลฯ


                        ถ้ากองทุนแม่ฯ เป็นทุนเริ่มต้นของความดีงามในหมู่บ้านชุมชนแล้ว..  เวทีจัดการความรู้ในครั้งนี้ คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินของคนอำเภอวังเหนือ.ด้วยเช่นกัน...
                                                   

 ขอร่วมชื่นชมความดีงามและเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกท่าน
                        ทีมงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

                                                         *นางอัญชลี ป่งแก้ว     นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                         *นายธาดา ธีระวาทิน   นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                         *นายไกรฤกษ์ มูลเมือง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
                                                         * นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล                                                                                                 
                                                                                         5 มิถุนายน 2556