วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รำลึกถึง..ศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่


           วันนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มีโอกาสต้อนรับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลขัวมุง พ่อมนัส เศรษฐเสถียร ( อดีตกำนันตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแห่งแรกของประเทศไทย..) ท่านมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้นำ/แกนนำชุมชนตำบลขัวมุง ที่มาอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา ที่ศูนย์ฯลำปาง ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2555 ..

              มีเรื่องเล่ามากมาย..จากประสบการณ์ของพ่อมนัส ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า..ที่พ่อมนัสได้ร่วมทำงาน ร่วมอุดมการณ์..กับกรมการพัฒนาชุมชนตลอดมา..
และหนึ่งในที่สุดของความภาคภูมิใจ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้บันทึกเรียบเรียงไว้คือ พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ศูนย์สารภี ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระหว่างปีพุทธศักราช 2518 - 2521

ความเป็นมา..ของศูนย์สารภี..
                        กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย  ได้จัดรูปแบบโครงการสารภี มาทดลองดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในชนบท ในท้องที่ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เทคนิค และเงินทุนประกอบอาชีพ ปัญหาสุขภาพและอนามัย มุ่งพัฒนาโดยเน้นหนักด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ เพิ่มผลผลิต และปรับปรุงวิธีการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยเริ่มทดลองดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 และประสบผลสำเร็จพอสมควร

                   ต่อมาในปี พ.ศ.2515 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิการศึกษาและประชาสงเคราะห์ ได้นำรูปแบบโครงการสารภีมาขยายผล โดยคัดเลือกท้องที่จัดตั้งศูนย์สารภีขึ้น ที่บ้านหัวดง หมู่ที่ 6 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา สร้างอาคารถาวรในศูนย์ฯ จำนวน 4 หลัง บ้านพัก 1 หลัง ระยะแรกดำเนินการในลักษณะศูนย์ช่วยเหลือ แนะนำ และสาธิตด้านวิชาการและการปฏิบัติ เน้นการเกษตรและสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาเพิ่มบทบาทในลักษณะศูนย์กลางบริการทางวิชาการ และศูนย์กลางในการปกครองและพัฒนาของตำบล

                จากบทบาทภารกิจของศูนย์สารภีในสมัยนั้น สร้างผลงานและชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด  ทั้งในด้านการฝึกอบรมให้ความรู้ แหล่งสาธิต แหล่งศึกษาดูงาน เช่น การทำเต้าเจี้ยว ทำน้ำปลา การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงหมู การตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ  ทำให้เป็นที่สนใจของราชสำนัก โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เลขาราชสำนัก ได้มาประสานข้อมูลกิจกรรมของศูนย์สารภี      จากนายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น  และนำข้อมูลของศูนย์สารภี  ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ซึ่งได้รับความสนพระทัยจากพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์  ณ  ศูนย์สารภี


กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมราษฏรในตำบลเข้าเฝ้ารับเสด็จและกล่าวถวายรายงานต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี


ในปี พ.ศ.2518 สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ทรงประทับในอาคารศูนย์สารภี และมีกำนันมนัส เศรษฐเสถียร เป็นผู้ถวายรายงานกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์ฯ


                                                       

                                                                  สมุดเซ็นเยี่ยมที่ทรงลงพระปรมาภิไธย
ในการมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำบลขัวมุง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่





นายมนัส เศรษฐเสถียร  กำนันตำบลขัวมุง และข้าราชการในพื้นที่กล่าวถวายรายงานต่อ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ณ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 



พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2519

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2519  กำนันมนัส เศรษฐเสถียร ถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์สารภีและนำเสด็จพระราชดำเนินรอบๆบริเวณศูนย์ฯ

                                

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้ากล่าวถวายรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

                    

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้าถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ


นายสวงค์ วงศ์สิทธิ์    พัฒนากรประจำตำบลขัวมุงและกำนันมนัส  เศรษฐเสถียร 
ถวายรายงาน การดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์สารภีต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 


                     ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชดำรัสให้ราษฎรซึ่งเป็นเกษตรกรที่มารับเสด็จ ได้ทดลองปลูกสตอเบอรี่ในพื้นที่ตำบลขัวมุงเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและฟางข้าวที่ใช้ปกคลุมแปลงสตอเบอรี่มีพวกปลวกมาอาศัยกัดกินเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูกสเตอเบอรี่ที่ตำบลขัวมุง ในปี พ.ศ.2520  ได้มีการเปลี่ยนพื้นที่ทดลองปลูกสตอเบอรี่ไปที่ตำบลช่างเคี่ยน อำเภอเมืองเชียงใหม่แทน ...

พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จศูนย์สารภี และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ตำบลขัวมุง 
- ทรงเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่บริเวณวัดขัวมุง และทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อกำนันตอบในหลวงว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองได้มีโอกาสทำมาหากิน..พระองค์ตรัสว่า เท่านี้ไม่พอหรอก..ต้องลึกกว่านั้น เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ถ้าเอาสีดำมาจุด ก็จะเป็นสีดำ..ฝากไว้ด้วย
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสแนะนำเรื่องการดูแลรักษาดินให้ราษฎรตำบลขัวมุง ซึ่งปลูกกระเทียมกันเต็มพื้นที่ว่า..การปลูกกระเทียมทุกปีและใส่ปุ๋ยเคมีด้วยนั้น ทำให้ดินแข็ง...จะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชถั่วสลับบ้าง เพื่อปรับสภาพดินให้ดีขึ้น..



นายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่และคณะข้าราชการ
นำเสด็จพระราชดำเนินบริเวณรอบศูนย์สารภี  เพื่อทรงทอดพระเนตรงานและกิจกรรม
ของศูนย์ที่ได้ทรงพระราชดำรัสไว้เมื่อปีที่ผ่านมา


ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520


              

           เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2521
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ศูนย์สารภีอีกครั้งหนึ่ง ..ทรงพระดำเนินไปวัดขัวมุง และเมื่อทอด      พระเนตรเห็นต้นยางต้นใหญ่ที่วัดมีฝูงผึ้ง  มาทำรังกว่าเจ็ดสิบรัง ทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า  เอาผึ้งไปไหน เมื่อทรงทราบว่าทางกรรมการวัดให้คนมาเอาผึ้งขายทุกปี  ในหลวงตรัสว่า  
เขาหนีจากข้างนอกมาอยู่วัด ยังฆ่า
เขาอีกหรือ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีการทำร้ายผึ้งในวัดขัวมุงอีกต่อไป จนถึงทุกวันนี้..ต้นยางต้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นต้นยางที่สูงเป็นอันดับที่สามของประเทศและมีฝูงผึ้งมาทำรัง      อาศัยอยู่เป็นประจำทุกปี....

                        


        หม่อมหลวงภีศเดช  รัชนี, กำนันมนัส เศรษฐเสถียร และคณะข้าราชการในพื้นที่นำเสด็จพระราชดำเนินชมกิจกรรมและรับฟังผลการดำเนินของศูนย์สารภี




                                                   
      
นายสม วุฒิ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10                            นายนา ยานวงศา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9
และเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม                                 และเกษตรกรในพื้นที่ ถวายกระเทียม
ในพื้นที่ตำบลขัวมุงถวายกระเทียม                       ให้ในหลวงฯ
ให้ในหลวงฯ

มองศูนย์สารภี..ในวันนี้..
( 28 มกราคม 2552 )

 ปัจจุบัน..ศูนย์สารภีถูกแบ่งเนื้อที่ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลขัวมุงเพื่อสร้างเป็นอาคารที่ทำงานของอบต.ขัวมุง แต่การบริหารจัดการของศูนย์สารภียังคงอยู่ในการกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีนายพิเชษฐ์ ภักดีเป็นนักการภารโรงอยู่ 1 ตำแหน่ง.. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคงอยู่ของกิจกรรมในศูนย์สารภี เนื่องจากเป็นอดีตผู้นำเยาวชนของตำบลขัวมุง ที่ได้เข้ารับการพัฒนาและทำกิจกรรมในศูนย์สารภี จนมีความรักความผูกพันในงานพัฒนาชุมชน อีกทั้งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสามารถเป็นวิทยากรให้คำแนะนำส่งเสริมอาชีพการเกษตรให้กับผู้สนใจทั่วไป ทั้งเรื่องการเพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่สามสายพันธุ์ การทำก๊าซชีวภาพ ฯลฯ..



                ศูนย์สารภี..ที่ขัวมุง..เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ได้เสด็จมาถึง 4 ครั้งในระยะเวลา  4 ปี จึงควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม  เพื่อบูรณะ  ปรับปรุง  และรวบรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ไว้   เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ และสืบทอดองค์ความรู้ต่อไป...

                                                         
                                    
                                  ผู้ให้ข้อมูลและเอื้อเฟื้อภาพประกอบ...1.นายมนัส เศรษฐเสถียร
                                                                                          2.นายพิเชษฐ ภักดี
                                                                                          3.สำนักงานพัฒนาชุมชน
                                                                                             อำเภอสารภี 

                                              ผู้รวบรวมเรียบเรียง..บันทึกคำบอกเล่า..
                                                                                        1.นางอัญชลี ป่งแก้ว
                                                                                        2.นายสมศักดิ์ สันชมภู 
                                                                                        3.นายธาดา ธีระวาทิน                                            
                                                                                                                          
                                                                            วันที่บันทึก....28 มกราคม 2552..



























วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กระบวนทัศน์การพัฒนา..ชุมชนเทศบาลนครลำปาง


            ที่สวนบัวรีสอร์ท.. เชียงใหม่ ศุกร์ที่ 18 พ.ค.2555 มีโอกาสได้ร่วมการสัมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและองค์กรภาคประชาชนในชุมชนเขตเทศบาลนครลำปาง มีกลุ่มเป้าหมายกว่า 150 คน เป็นแกนนำชุมชนในเขตเทศบาลนครลำปางกว่า 43 ชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาลนครลำปาง และเครือข่ายการพัฒนาในชุมชน(เครือข่ายสตรีลำปาง เครือข่ายบ้านมั่นคง ฯลฯ) หลังจากได้ทำความรู้จักผ่านกิจกรรมปรับฐานเรียนรู้ร่วมกันแล้ว ผู้เขียนรับผิดชอบจัดกระบวนการในช่วง 11.00 - 12.00 น.ในหัวข้อ "กระบวนทัศน์การพัฒนาชุมชน" เพื่อชวนกันมองภาพการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลร่วมกัน...
           จากข้อมูลผลการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน..ดูเหมือนมีช่องว่างระหว่างการทำงานร่วมกันในชุมชนเขตเทศบาล  ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชุมชน สมาชิกในชุมชน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย..นิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง..ยังใช้ได้ดีสำหรับทำความเข้าใจเรื่องกระบวนทัศน์ ซึ่งเป็นวิธีคิด วิธีปฏิบัติ..การมองภาพการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่มีเป้าหมายเรื่องเดียวกันคือ ชุมชนในเขตเทศบาล ( ช้าง )   ..แทนการเชื่ออย่างมืดบอด..ชุมชนในเขตเทศบาล มีสิ่งดีงามและโอกาสดีๆ หลากหลายมากมาย..หากนำความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่าง มาเชื่อมเข้าด้วยกัน..ชุมชนเทศบาลนครลำปาง..คงจะไปถึงเป้าหมายร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์และงดงาม...
                                                              
          ดูภาพคนงานก่อสร้าง 2 คน ทำงานเหมือนกันแต่..คนหนึ่งทำงานอย่างมีความสุข อีกคนทำงานด้วยความทุกข์ ความแตกต่างของความคิด..กรอบคิด.. นั้นส่งผลต่อพฤติกรรมหรือปรากฎการณ์ที่พบเห็น เช่นเดียวกับการทำงานในชุมชนเของเรา ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง..เพื่อให้แกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่/เครือข่ายการทำงานได้เข้าใจกันและกันยิ่งขึ้น ได้ แบ่ง 4 กลุ่มคละ ให้ลองช่วยกันหาเหตุผลเหตุผลที่แกนนำ/เจ้าหน้าที่ ไม่อยากลงชุมชนเหตุผลที่..งานในชุมชนล้มเหลว  เหตุผลที่ แกนนำ/เจ้าหน้าที่ .. ต้องลงไปทำงานกับชุมชน และปัจจัยส่งเสริมงานในชุมชนให้ได้ผล.. เหตุผลต่างๆ มีทั้งเหตุผลที่เป็นเหตุผลเชิงระบบ เชิงโครงสร้างที่ยากต่อการแก้ไขจัดการ หลายๆเหตุผลเป็นเรื่องทัศนคติ ทักษะความสามารถของตัวเราเอง ..จึงต้องจัดการที่ตัวเราเองก่อน การทำงานกับชุมชนจึงควรเริ่มด้วยใจ...ใจที่รัก ศรัทธา เชื่อมั่น และเห็นความสำคัญของการทำงานกับชุมชน..

             จัดการชีวิต..จัดการชุมชน..ชุมชนจัดการตนเอง...
.เริ่มจากตัวเอง..( เริ่มที่ใจ..วิธีคิด..กระบวนทัศน์..)..เริ่มจากทุน...ไม่ใช่ปัญหา....ทำจากเรื่อง ง่าย ๆ..ก่อนไปถึงเรื่องยากๆ..ให้ความสำคัญของข้อมูล..มากกว่าความรู้สึก..ให้ความสำคัญ..การแลกเปลี่ยนเรียนรู้..ไม่ใช่การทำงานในความว่างเปล่า  แต่เป็นการยกระดับความรู้....ให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำงานไปสู่เป้าหมาย..การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน..ที่ชัดเจน....ให้ความสำคัญกับการจัดการ..เวลา ..คน..เงิน..ทรัพยากร..ให้มีความสมดุลระหว่าง..คนกับงาน..ใช้กระบวนการทางปัญญา( โดย..ศนพ.ประเวศ วะสี ) ในการทำงาน..

 1.ฝึกสังเกต 2.ฝึกบันทึก 3.ฝึกการนำเสนอ 4.ฝึกการฟัง 5.ฝึกปุจฉา-วิสัชนา 6.ฝึกตั้งสมมุติฐานและตั้งคำถาม 7.ฝึกการค้นหาคำตอบ 8.การวิจัย 9.เชื่อมโยงบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด และเห็นตัวเอง 10.ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ....และ..กระบวนการทำงานกับชุมชน...ลงล่าง-สร้างฐาน-สานข่าย-ใช้กระบวนการเรียนรู้..มุ่งสู่...ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้...ชุมชนจัดการตนเอง ..

                                                                        อัญชลี  ป่งแก้ว / บันทึก  22 พ.ค.2555