วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวิจัย PARกับการทำงานพัฒนาชุมชน(ดร.ปาริชาต บุญญาวิวัฒน์)

ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) กับการทำงานพัฒนาชุมชน
เจ้าขององค์ความรู้ ดร.ปาริชาติ บุญญาวิวัฒน์ พัฒนาการอำเภอวังชิ้น 
ตำแหน่ง/สังกัด พัฒนาการอำเภอวังชิ้น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-6020178
เรื่องเล่า...
                   การทำงานพัฒนาชุมชนที่อำเภอวังชิ้น จะใช้หลักการของวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR - Participatory Action Research) ในการปฏิบัติงาน เพราะคิดว่าเป็นวิธีการทำงานที่มีชีวิตชีวาและเป็นกลไกการทำงานที่มีความสำคัญ ทำให้งานพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน... ในการทำงานจะเริ่มตั้งแต่การเข้าชุมชนของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน การศึกษาบริบทชุมชน การตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันระหว่างนักพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับประชาชนในพื้นที่ การกำหนดแนวทางการทำงานให้เกิดผลตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ และถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดขึ้น ซึ่งในช่วงของการถือปฏิบัตินี้ประชาชนที่ร่วมกันวิจัย จะได้เรียนรู้จากการทำงานไปด้วย มีการทดลองการทำงานตามแนวทางที่วางไว้ หากมีข้อบกพร่อง ต้องแก้ไขกระบวนการหรือขั้นตอนใด ก็จะมีการปรับรูปแบบการทำงาน ทดลองใช้ใหม่ และหากพบปัญหาอีก ก็แก้ไขกำหนดแนวทางการทำงานใหม่ เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งงานสำเร็จและได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนที่ร่วมใช้การวิจัยหรือทำงานตามแนวทาง PAR ก็จะเกิดความภูมิใจ ..หวงแหน...และหาทางทำนุบำรุงให้งานคงอยู่ มีการปรับปรุงและใช้งานอย่างต่อเนื่อง...                           การทำงานที่ประสบผลสำเร็จด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กรณีการทำแผนชุมชนตำบลนาตุ้ม เริ่มต้นจากการกระตุ้นให้ชุมชนใช้ข้อมูลที่เป็นชีวิตจริงของชุมชน มาเป็นข้อมูลการแก้ไขปัญหาของชุมชน ด้วยการจัดทำรายรับรายจ่ายในครัวเรือน ใช้วิธีการกระตุ้นโดยยกตัวอย่างตุ่มน้ำที่มีรอยรั่ว เมื่อนำน้ำใส่ตุ่ม น้ำก็จะไหลรั่วออกมาหมด เป็นการชี้แนะให้ชุมชนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์รายรับรายจ่ายของครัวเรือน ทำครั้งแรกมีคำถามต่อมามากมาย เช่น ทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายรับ... จึงได้กระตุ้นให้คิด..หาทางออก...ให้กำลังใจผ่านเวทีแลกเปลี่ยน... ตอบโจทย์ที่ว่าที่มีรายจ่ายมากนั้นมาจากเรื่องอะไรบ้าง ทำอย่างไรที่จะลดรายจ่ายได้ แล้วมาสรุปร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน ตั้งตัวแทนของชุมชนในการจดบันทึกการแลกเปลี่ยนในชุมชน ก็จะรู้รายจ่าย รายรับของตนเอง นำไปสู่การกำหนดแผนชุมชนในการพัฒนาตนเองให้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน ภายใต้หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การแยกขยะ และกิจกรรมเหล่านี้ ยังทำกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน..
ขุมความรู้
1.ใช้กระบวนการวิจัยPARในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน (การศึกษาบริบทชุมชน การตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันการกำหนดแนวทางการทำงานให้เกิดผลตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ถือปฏิบัติตามแนวทาง.. เรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการทดลองทำ มีการปรับรูปแบบการทำงาน ทดลองใช้ใหม่ และกำหนดแนวทางการทำงานใหม่จนกว่าจะได้คำตอบ) 
2.กระตุ้นให้ชุมชนมองเห็นปัญหา ตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม อยากหาคำตอบ..ผ่านการพูดคุย/เวทีแลกเปลี่ยน.. 
3.ใช้ข้อมูลที่เป็นวิถีชีวิตในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครัวเรือน 
4.การคิด วิเคราะห์ รายรับรายจ่ายของรายครัวเรือน และสรุปผล/สรุปบทเรียนร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน 
5.แต่งตั้งตัวแทนชุมชนในการจดบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกครั้ง 
6.กำหนดแผนพัฒนาตนเองให้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 7.ดำเนินกิจกรรมร่วมกันตามแผนพัฒนาตนเอง/แผนชุมชน 
8.คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง 

แก่นความรู้ 
1.ชุมชนมองเห็นปัญหา(โจทย์วิจัย) ค้นหาคำตอบ(แนวทาง/วิธีปฏิบัติ/ทางออก) ด้วยการคิด วิเคราะห์จากข้อมูลการจัดทำบัญชีรับจ่ายของครัวเรือน 
2.การกำหนดเป็นแผนงานและกิจกรรมร่วมกันของชุมชน 
3.การสรุปผล/สรุปบทเรียน หลังจากทดลองทำกิจกรรมตามแผนฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและทำให้ดียิ่งขึ้น 

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
-การใช้แนวทางการวิจัย PAR ในการทำงานกับชุมชน จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง จึงควรสนับสนุนและปรับใช้แนวทาง PAR กับการทำงานทุกเรื่องและผลักดันให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนมีความคุ้นเคยกับ PAR และนำไปใช้ในการทำงานด้วยเช่นกัน -การนำ PAR ไปใช้ในการทำงานพัฒนาชุมชน..ต้องเกิดจากการมีจิตศรัทธา เชื่อมั่นในแนวทาง PARก่อน นั่นคือ ต้องระเบิดจากในใจเราก่อน แล้วเริ่มทำงานในส่วนเล็กๆ ก่อน..จะก่อให้เกิดทักษะ ความชำนาญ และเกิดความรู้จากกระบวนการทำงานดังกล่าวในที่สุด
  - สำหรับปัญหาหรืออุปสรรค ในการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในการทำงานพัฒนาชุมชน จะประกอบด้วยปัจจัยสองส่วน คือ1. การมุ่งทำงานให้สำเร็จภายใต้คำรับรองปฏิบัติราชการ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องให้ความสำคัญกับผลสำเร็จในเชิงปริมาณ ที่ต้องวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ในขณะที่ PAR มีผลสำเร็จที่ความตระหนัก หรือการมีจิตสำนึกในการทำงาน เพื่อพัฒนาตนเองด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาผู้อื่น ซึ่งเป็นผลงานเชิงคุณภาพ ยากแก่การตรวจสอบชี้วัด จึงไม่ตอบสนองแนวทางการทำงานภายใต้คำรับรอง ปฏิบัติราชการที่ กพร. กำหนดให้ทุกส่วนราชการใช้อยู่ในปัจจุบัน 2. ทัศนคติของประชาชน ที่คุ้นเคยกับการเป็นผู้รับจากรัฐมาตลอด การพัฒนาหมู่บ้านจึงเป็นการ " รอ " รัฐมาหยิบยื่นหรือทำให้โดยไม่คิดพึ่งตนเอง รวมทั้งมองไม่เห็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง เห็นว่า " ทำแล้วไม่ได้อะไร" สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติและค่านิยมที่สวนทางกับแนวทางการพัฒนา ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก
 ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดแพร่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..