วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นอนหลับฝันถึง...ศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง(นายเดือน เมืองมูล)

ชื่อเรื่อง นอนหลับฝันถึง....ศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง
เจ้าของความรู้ นายเดือน เมืองมูลตำแหน่ง
ตำแหน่ง/สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.087-8136737
เรื่องเล่า...
จากการที่จังหวัดแม่อ่องสอนได้รับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้รับสนองพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ในการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอำเภอแม่สะเรียงได้ดำเนินการสร้างอาคารแฝดจากงบประมาณโครงการพัฒนาตำบล(คพต.)ในปี พ.ศ.2541 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงผลิตได้เอง ในห้วงระหว่างปี พ.ศ. 2541-2549 การดำเนินงานของศูนย์มีแต่ทรุดลงไปเรื่อย เนื่องจากมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบศูนย์ฯหลายครั้ง คนขายก็ทำงานไปวันๆ ไม่มีจิตบริการ ไม่คิดที่จะพัฒนา จึงเกิดปัญหาหนี้สินเพราะสินค้าหายทำให้ไม่สามารถคืนเงินให้ผู้ที่นำสินค้ามาฝากขายได้ เป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ในปี พ.ศ.2549 ผู้เล่าเรื่องได้กลับมาประจำสำนักงานพัฒนาชุมชนอีกครั้ง จากแรงบันดาลใจในครั้งแรกที่จะหาตลาดจำหน่ายสินค้าแก่ราษฎรในพื้นที่ให้สำเร็จ จึงได้เข้ามารับผิดชอบดูแลศูนย์ฯอีกครั้ง และครั้งนี้ได้ขอให้ป้าแอ๊ว ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่ได้ลาออกแล้ว แต่ยังมีใจ มีไฟของนักพัฒนาเต็มตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของศูนย์ฯในช่วงแรกได้ปรับปรุงการบริหารศูนย์โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงผู้ขายสินค้าให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมที่จะขายของในศูนย์ฯ คือมีจิตบริการ ยิ้มแย้ม ซื่อสัตย์ เสียสละ ตรงต่อเวลา และต้องมีความรู้สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการซื้อ ขายสินค้าในศูนย์ การรับสินค้ามาจำหน่ายในศูนย์มีสองวิธีคือ ฝากขายโดยผู้ฝากตั้งราคาขายส่งให้ศูนย์และผู้ฝากมาเช็คสินค้าที่ขายได้กับผู้จัดการ เดือนละครั้ง การรับเงินก็มีใบสั่งให้ไปรับเงินกับกรรมการศูนย์ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่สะเรียง ซื้อขาด ศูนย์จะซื้อขาดในสินค้าที่ผู้จัดการได้พิจารณาแล้วว่าขายได้แน่นอน สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด และจะซื้อขาดกับกรณีที่สินค้านั้นฝากขายมานานแต่ขายไม่ได้ ศูนย์ฯก็จะรับซื้อไว้เช่นผ้าทอ ก็จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น กระเป๋า เมื่อการดำเนินงานเริ่มดีขึ้นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบก็ได้นำผลการดำเนินงานของศูนย์มาประชาสัมพันธ์ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุ และร่วมงานแสดงสินค้าในระดับอำเภอ จังหวัดในนามของศูนย์ฯ จึงทำให้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และอำเภอข้างเคียงอีกสองอำเภอเริ่มมาใช้บริการ ปี พ.ศ.2550 ได้รับงบประมาณจาก อบจ.แม่ฮ่องสอน สร้างอาคารจำหน่ายสินค้าอีกหลัง จึงได้ย้ายร้านแสดงและจำหน่ายสินค้ามาอยู่อาคารหลังใหม่และนำกิจกรรมเครือข่ายใหม่คือกิจกรรมนวดแผนโบราณเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมีคนนวด 11 คน มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 200 บาทต่อคน กิจกรรมแกะสลักไม้ ปี พ.ศ.2551 ได้รับงบอยู่ดีมีสุขปรับปรุงภายในอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์จึงได้จัดทำเป็นห้องประชุมขนาดเล็กและห้องจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชนเผ่าในอำเภอแม่สะเรียงเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้ ปี พ.ศ.2552 ท่านนายอำเภอแม่สะเรียงได้จัดสรรงบประมาณมาสร้างซุ้มกาแฟสด ห้องน้ำ ร้านขายอาหารและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าของศูนย์ให้สวยงามนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาสามารถเข้ามารับบริการแบบครบวงจร สิ่งจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ศูนย์ฯของอำเภอแม่สะเรียงมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นคือ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตสินค้าเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูภูมิปัญญาในการผลิตสินค้านั้นในแหล่งผลิตได้จริง และการเชื่อมโยงเครือข่ายกับศูนย์ศิลปาชีพทั้งภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดข้างเคียงเพื่อจะได้มีการแลก เปลี่ยนสินค้าทำให้มีสินค้ามาแสดง จำหน่ายในศูนย์ฯมากขึ้น ความสำเร็จความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นมาจากการ ..ทำอย่างต่อเนื่อง..คิดปรับปรุง..พัฒนาศูนย์ฯตลอดเวลา..จนถึงระดับที่ “ นอนหลับฝันถึง ”
ขุมความรู้
1.ปรับปรุงการบริหารงานศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง
2.คัดเลือกผู้จัดการศูนย์ฯ..ต้องมีประสบการณ์ เสียสละ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ 3.เลือกคนขายสินค้าที่มีคุณลักษณะที่มีจิตบริการยิ้มแย้ม มีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ ซื่อสัตย์ เสียสละ และตรงต่อเวลา
4. ประชาสัมพันธ์งานของศูนย์ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการในระดับอำเภอ จังหวัด และร่วมงานแสดงสินค้า 5. ขยายกิจกรรมเครือข่ายที่จะทำให้ศูนย์น่าแวะเข้าชมและใช้บริการ เช่น ร้านกาแฟ นวดแผนโบราณ ร้านอาหาร ฯลฯ และเครือข่ายร้านค้าชุมชนในอำเภอและต่างอำเภอ 6. ปรับปรุง พัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าในอำเภอแม่สะเรียง 7. ทำความเข้าใจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบกับผู้จัดการศูนย์ฯ
แก่นความรู้
..ทำอย่างต่อเนื่อง...คิดปรับปรุง...พัฒนาศูนย์ฯ ตลอดเวลา..จนถึงระดับที่...นอนหลับฝันถึง...
ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ทั้งพัฒนาการอำเภอ พัฒนากรผู้รับผิดชอบ..ต้องให้ความสนใจ ใส่ใจในการบริหารศูนย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดไป.
ผู้บันทึกข้อมูล ทีมสนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..