วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านแกะสลักขึ้นรูป........สู่หมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP( นายสว่าง สะพานแก้ว )..

ชื่อเรื่อง...แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านแกะสลักขึ้นรูป...สู่หมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP
เจ้าของความรู้ นายสว่าง สะพานแก้ว
ตำแหน่ง/สังกัด พัฒนาการอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.089-5544051
เรื่องเล่า
            ในช่วงปี พ.ศ.2548 ขณะดำรงตำแหน่งพัฒนาการอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ได้พิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านในพื้นที่ 89 หมู่บ้านของอำเภอแม่ทะ เพื่อส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปของอำเภอตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เมื่อสำรวจดูจากศักยภาพของชุมชนพบว่ามี 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหลุก บ้านปางมะโอ และบ้านสามขาที่มีจุดแข็ง/จุดเด่นที่จะส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOPได้ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น หมู่บ้านหลุกก็จะเด่นในเรื่องของไม้แกะสลัก หมู่บ้านสามขาก็จะเด่นในเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ฯ หมู่บ้านปางมะโอก็จะเด่นทางด้านเป็นหมู่บ้านเห็ดหอม และเป็นหมู่บ้านสวนยางพาราที่แรกของลำปาง ...
            ด้วยเหตุผลและปัจจัยประกอบหลายประการที่ทำให้บ้านหลุก ต.นาครัวถูกเลือกเป็นหมู่บ้านเป้าหมายในครั้งนั้นคือ..1.มีกลุ่มผู้ผลิตไม้แกะสลักจากต้นฉำฉา(ก้ามปู/จามจุรี) จำนวนมาก 2.มีวัตถุดิบ(ต้นฉำฉา)ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งไม้เก่ายืนต้นและต้นที่ปลูกใหม่เพื่อที่จะทำเป็นอาชีพระยะยาว 3.บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีถึง 3 หมู่บ้าน ( ม.6+ม.11+ม.12) 4.ในแต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ แกนนำ เป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ผลิตสินค้าโอทอป 5.เป็นชุมชนหนาแน่นและเข้มแข็ง..สามารถส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวได้ 6.การคมนาคมสะดวกสามารถติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆได้ทุกเส้นทาง นอกจากนั้นเรายังได้ ประสานงานกับสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ในการเชื่อมโยงบรรจุบ้านหลุกไว้ในโครงการ“วันเดียวเที่ยวลำปาง” อีกด้วย... เมื่อเลือกหมู่บ้านเป้าหมายได้แล้วก็มาประชุมทีมงานพัฒนาชุมชน (สพอ.แม่ทะ) วิเคราะห์ศักยภาพและจุดแข็งเทียบเคียงกับอีกสองหมู่บ้านร่วมกันจนเป็นที่ตกลงในเป้าหมายเดียวกันแล้ว ให้ทีมงานกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนฯ โดยเริ่มจากลงไปหาผู้นำชุมชนก่อน เมื่อพูดคุยขายความคิดและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนบ้านหลุกจนเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ(กพอ.แม่ทะ) เมื่อทุกภาคส่วนเห็นด้วยแล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.นาครัว) หลังจากนั้น ได้จัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ของบ้านหลุกกว่าร้อยคน เพื่อที่จะขายความคิดก่อนว่าทำไมถึงต้องทำบ้านหลุกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป เวทีครั้งนั้นได้รับความสนใจอย่างมากเพราะเป็นเรื่องใหม่ มีผู้เข้าร่วมหลากหลายทั้งกลุ่มองค์กรในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารโรงเรียน กรรมการหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เจ้าอาวาส เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ และนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง..การจัดเวทีที่บ้านหลุกแต่ละครั้งและอย่างต่อเนื่องพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประสานการดำเนินงาน ประเด็นในการแลกเปลี่ยนเป็นการจุดประกายความคิดให้อยากเห็นหมู่บ้านของเขาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป เห็นศักยภาพเห็นจุดแข็งของหมู่บ้านตนเอง มองเห็นประโยชน์หรือผลดีที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน..ประเด็นสำคัญคือวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วร่วมกันวางแผนหาทางออกว่า..แล้วจะต้องทำอย่างไร? เช่นว่าจะทำอย่างไรบ้านหลุกเราถึงจะผลิตสินค้าสำเร็จรูปแทนการแกะสลักขึ้นรูปส่งให้บ้านถวายจังหวัดเชียงใหม่ไปตกแต่งขายอย่างเดียว...ถ้าเราทำได้เองก็จะลดการส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบของหมู่บ้าน...โดยให้คนเข้ามาเที่ยว/มาสั่งสินค้าจากบ้านหลุกโดยตรง
              กิจกรรมขับเคลื่อนให้บ้านหลุกกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP ที่เกิดจากความต้องการในเวทีแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายๆภาคส่วน เริ่มตั้งแต่... จัดฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือช่างแกะสลัก ที่แต่เดิมแกะเป็นรูปแบบต่างๆ แบบง่ายๆขายหรือทำตามสั่ง พาไปศึกษาดูงานการเพ้นท์สีที่บ้านถวาย จ.เชียงใหม่ จัดอบรมการเพิ่มพูนทักษะการทำสี/เพ้นท์สี ฝึกอบรมพนักงานขาย.. เนื่องจากที่นี่มีลานค้าชุมชนที่สร้างจากงบฯพัฒนาตำบลเป็นแหล่งขายอย่างเดียว ไม่มีการรวมกลุ่มกันขาย บางครั้งสินค้าแบบเดียวกันราคาขายกลับแตกต่างกันไป..ขายตัดราคากันก็มี จึงได้รวมกันเป็นชมรมผู้ประกอบการลานค้าชุมชนขึ้น..กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.นาครัว นอกจากนี้ก็มีการฝึกอบรมภาษาอังกฤษระดับสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ จำนวน 10 วัน งบฯสนับสนุนจาก กศน.อำเภอแม่ทะและ วิทยากรจากอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนก การฝึกอบรมมัคคุเทศน์ในหมู่บ้านที่มีทั้งกกรมการหมู่บ้านจากทั้งสามหมู่บ้าน ผู้ผลิตผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ ผู้สนใจที่มีใจรักหรือมีพื้นฐานภาษาอังกฤษเป็นต้น มีการจัดทำบ้านพักโฮมเสตย์รับรองนักท่องเที่ยวพร้อมจุดสาธิตการแกะสลัก จัดทำจุดสาธิตการเพ้นท์สี /จัดทำป้ายหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป จัดตั้งศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลานค้าชุมชน.. การประชาสัมพันธ์หมู่บ้านฯให้เป็นที่รู้จัก ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ป้ายบอกทางของกรมทางหลวง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือการเปิดงานมหกรรมแกะสลักของบ้านหลุก
            การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่บ้านหลุก...หลังจากดำเนินกิจกรรมตามที่วางแผนกันไว้ ทำให้มีคนเข้ามาเที่ยว/เยี่ยมชมหมู่บ้านมากขึ้น รูปแบบของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไปจากสินค้าขึ้นรูปอย่างง่ายๆ ไม่ได้ตกแต่งเพ้นท์สีอะไรก็เปลี่ยนมาเป็นสินค้าที่มีฝีมือ มีการปรับแต่งสำเร็จรูป..มีการพัฒนารูปแบบการบรรจุภัณฑ์ การขนส่งผลิตภัณฑ์..การสื่อสารระหว่างพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีการสืบทอดทายาทOTOP เด็กนักเรียนหลังเลิกเรียนจะกลับมาช่วยพ่อแม่เพ้นท์สีผลิตภัณฑ์ การขายสินค้าในราคาเดียวกัน การมีกฎกติการ่วมกัน และมีคณะกรรมการการท่องเที่ยวฝ่ายต่างๆ ปลายปี พ.ศ.2549 ..บ้านหลุกได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านชนะเลิศในการประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และในระดับภาค(ซึ่งถือว่าเป็นการประกวดระดับประเทศ)..และยังคงรักษาชื่อเสียง.การมีส่วนร่วม....มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้..

ขุมความรู้ 
1.สำรวจ/ศึกษา/วิเคราะห์ศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน กำหนดเป็นหมู่บ้านเป้าหมาย
หรือหมู่บ้านหลักในการทำงาน 
2.ทีมงานกำหนดเป้าหมายการทำงานและวางแผนปฏิบัติการฯร่วมกัน (ทำงานเป็นทีม) 
3.จุดประกาย/ขายความคิดให้กับทุกภาคส่วนทุกระดับ ผ่านการประชุม การจัดเวทีแลกเปลี่ยน 
4.สร้างการมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรมขับเคลื่อนฯที่มาจากความต้องการ และการวางแผนร่วมกัน 
5.ประสานภาคีเครือข่าย/แสวงหาแหล่งทุนสนับสนุน 
6.ใช้การประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOPเป็นเงื่อนไขในการทำงานร่วมกัน 

แก่นความรู้ -การกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน / การทำงานเป็นทีม -การวางแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมสู่เป้าหมาย -การมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการทำงาน 

ข้อเสนอแนะในการทำงานในพื้นที่ -ทีมงานพัฒนาชุมชนอำเภอ..ต้องมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และลงไปทำงานร่วมกัน(เป็นทีม)กับพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล -พัฒนากร(ตำบล)ต้องเฟ้นหาหมู่บ้านเป้าหมาย/หมู่บ้านหลักในการทำงาน -อย่าทำงานคนเดียว..ต้องทำงานกับผู้นำ ภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แนวคิดในการทำงาน .. งานทุกอย่างเราสามารถทำได้...โดยการแสวงหาภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน

ผู้บันทึก ทีมสนับสนุนจังหวัดลำปาง+นักศึกษาฝึกงานราชภัฎสาขาการพัฒนาชุมชน...
           
                                                                                                            16 มิถุนายน 2553

1 ความคิดเห็น:

  1. จากที่ได้ศึกษาของคุณสว่างทำให้ผมได้รู้จักบ้านหลุกมากขึ้น


    และชอบคำกล่าวน้มาก" งานทุกอย่างเราสามารถทำได้...โดยการแสวงหา"เพราะเราจะได้ทุกอย่างมาก็ต้องแสวงหา

    ตอบลบ

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..