วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อเรื่อง เทคนิคการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ 
เจ้าของความรู้ นางวนิดา ด้วงอิน ตำแหน่ง /สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาณการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-9518270
                  เรื่องเล่า... จากยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชนในปี งบประมาณ พ.ศ.2551 กรมฯได้อนุมัติงบประมาณและกำหนดกิจกรรม การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนนำร่อง ดำเนินการจำนวน 12 แห่ง เป้าหมายตามจุดที่ตั้งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ต่อมาในปีงบประมาณ 2552 , 2553 ดำเนินการปีละ 1 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ มีสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่จัดตั้งตามงบประมาณยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน รวมจำนวน 3 แห่ง และมีสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่ได้รับอนุมัติงบประมาณการอบรมตามยุทธสาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2551 อีกจำนวน 5 แห่ง รวมปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนตามแนวทางของกรมฯ จำนวน 8 แห่ง การดำเนินการจัดตั้งสถาบันฯ ในส่วนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกรมฯได้กำหนดแนวทางขั้นตอนและกิจกรรม เพื่อจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนให้จังหวัด / อำเภอดำเนินการจำนวน 4 กิจกรรม และทุกกิจกรรมมีงบประมาณดำเนินการ ส่วนงบประมาณตามยุทธศาสตร์จังหวัดดำเนินการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน โดยการคัดเลือกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีผลการพัฒนาระดับ 3 และ มีความพร้อมที่จะจัดตั้งสถาบันฯ จำนวน 25 กลุ่ม จาก 25 อำเภอ ผลของการดำเนินงานตามงบประมาณทั้ง 2 ยุทธศาสตร์.. จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งสถาบันฯ รวม 8 แห่ง ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณ กิจกรรม ขั้นตอนการจัดตั้งมีความแตกต่างกัน ถึงแม้ไม่สามารถจัดตั้งได้ทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมายที่อบรม แต่ผู้เล่ามีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้รับผิดชอบงาน เป็นผู้ที่มีบทบาทในส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนชุมชนของกรมฯ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด แล้วในส่วนตัวยังมีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบผลลัพธ์จากการทำงานที่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้าน หรือกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าทางบวกหรือลบ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย การทำหน้าที่จึงเริ่มต้นที่ใจ ตั้งใจรักงานที่ทำ และความพร้อมที่จะทำงานและตั้งเป้าหมายให้การจัดตั้งสถาบันฯสำเร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด
                  ปี พ.ศ.2551 กิจกรรมแรกเริ่ม...ที่กรมการพัฒนาชุมชนให้หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรับงาน เข้าร่วมรับนโยบาย และสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันฯ หลังจากนั้น...ผู้เล่าได้นำความรู้ที่ได้มาแปลงเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง (เป็นเจ้าของความรู้) ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรารู้เรื่องจริงๆ และชัดเจนมากขึ้น พร้อมหาวิธีการเทคนิคที่จะทำให้คนอื่น ๆ เข้าใจง่ายที่สุด เช่น เทคนิคการพูด การยกตัวอย่าง การกระตุ้น ให้เกิดแรงจูงใจ และท้าทายที่ฟังแล้วอยากทำตาม ซึ่งผู้เล่าได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาประกอบการเป็นวิทยากกระบวนการ สร้างความรู้ความเข้าใจการจัดตั้งสถาบันฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีการพัฒนา อาทิ ผู้แทนธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ (กศน.) ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลแม่สาว ร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชนขึ้นครั้งแรก ที่บ้านแม่ฮ่าง ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดตั้งสถาบันเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จได้ใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มาจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต้ การตามหลักการของกรมฯ และยังคงดำเนินการอยู่เเเเ และดำเนินการตามแนวทางตามที่กรมฯ กำหนดมาเป็นเกณฑ์ ( กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านแม่ฮ่าง ตำบลแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ) มีผลการพัฒนาอยู่ในระดับ 3 เป็นหมู่บ้านที่มีกองทุนชุมชนหลากหลาย มีความพร้อมและสมัครใจ ส่วนเกณฑ์ที่นำมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ต้องดำเนินงานและบริหารตามหลักการของกรมฯ ดำเนินงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี สมาชิกออมเงินสัจจะสะสมสม่ำเสมอ กลุ่มไม่มีปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก คณะกรรมการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ โปร่งใสมีวิสัยทัศน์ เทคนิคที่นำมาใช้กับการพิจารณา...โดยการสังเกตจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแสดงความคิดเห็นในเวทีต่างๆ การสอบถามพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ สุดท้ายพิจารณาจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ หรือ พัฒนากรประสานงานตำบลที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย พัฒนากรเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่จะทำให้สถาบันฯ สำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะการเริ่มต้นการจัดตั้งกลุ่มต้องการคำแนะนำและปรึกษา พัฒนากรจึงเป็นพี่เลี้ยงที่ร่วมดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง จนกว่าจะถูกโยกย้าย หรือ จนกว่าสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนจะสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ดูจากผลงานและความรับผิดชอบงาน การเอาใจใส่ มีความพร้อม ไม่ต่อต้านก่อนที่จะลงมือทำ เทคนิคนี้ใช้วิธีการสังเกต หาข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ หรือดูจากการส่งรายงานตรงตามกำหนด ส่วนวิธีการที่นำมาใช้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ จะให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายและเจ้าหน้าที่ มากที่สุด เพื่อจะให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดการยอมรับร่วมกัน เทคนิคที่นำมาใช้ คือ การเป็นวิทยากรกระบวนการ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสวนาจากผู้ที่มีประสบการณ์ การนำสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวอย่างและร่วมกันวิเคราะห์ และเทคนิคที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมหรือประชุมได้รู้จักตนเอง จบด้วยการให้ตั้งความหวังและเป้าหมายที่อยากเป็นอยากทำ จัดทำแผนเพื่อนำสู่การปฏิบัติจริง กิจกรรมที่นำมาใช้เป็นประจำและค่อนข้างจะได้ผลคือ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมาย เพราะทุกคนมีประสบการณ์อยากบอกอยากเล่าผลงานของตนเองที่ทำให้เขาภาคภูมิใจ การติดตามให้การสนับสนุนสถาบันฯ ทุกระยะอย่างต่อเนื่อง ใช้การสอบถามที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ร่วมกิจกรรมสถาบันฯ ให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความสนใจกับทุกประเด็นทุกปัญหาและดำเนินการแก้ไขทุกเรื่อง มีการติดตามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นการจัดตั้งสถาบันฯ
  ขุมความรู้ 1.ศึกษาแนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์แนวทางขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน และข้อมูลพื้นที่/กลุ่มเป้าหมาย 2.การแปลงความรู้เป็นความรู้ของตนเอง 3.การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายตามหลักการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 4.การจัดกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคีการพัฒนาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน 5.เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และพื้นที่(กลุ่มเป้าหมาย) 6.สร้างการมีส่วนร่วม และวิธีการติดตามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  แก่นความรู้... ศึกษา..ทำความเข้าใจ..เตรียมความพร้อม..สร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม..ในการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนโดยมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแกนหลัก.. ข้อพึงระวัง และข้อเสนอแนะ - นักวิชาการที่รับผิดชอบต้องมีความรู้ความเข้าใจแนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์และขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนอย่างชัดเจน - การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน ให้ประสบความสำเร็จคณะกรรมการกลุ่มสมาชิกต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน ก่อนดำเนินงาน - การสร้างความรู้ความเข้าใจในกรณีการยกตัวอย่าง ต้องระวังตัวอย่างที่เป็นลักษณะเชิงลบ ควรเป็นลักษณะเชิงบวกมากกว่า - การเป็นวิทยากรกระบวนการควรรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มเป้าหมาย
ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..