วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว

ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว หมู่ที่4 ตำบลพญาแก้วอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 
เจ้าของความรู้ นายสุวิทย์ พุ่มทอง ตำแหน่ง/สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.080-1252933
เรื่องเล่า... ด้วยความชอบในกิจกรรมด้านการเกษตรโดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ดำเนินการภายในบริเวณบ้านและที่ดินในสวนของตนเอง เช่นพืชผักสวนครัว ไม้ผล ต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์เช่น ไก่พื้นเมือง อีกทั้งเดิมเคยรับผิดชอบหมู่บ้านตามโครงการพระราชดำริ ของตำบลภูคา อำเภอปัว จึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลพญาแก้วที่ตนเองรับผิดชอบ...ผู้เล่ามีความเห็นว่าการทำงานส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชนเป็นเรื่องไม่ยาก เนื่องจากชุมชนมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยปกติชาวบ้านก็ทำอยู่แล้ว และพัฒนากรจะได้เปรียบกว่าหน่วยงานอื่น เพราะเข้าถึงและสัมผัสกับเขาอยู่แล้ว สิ่งสำคัญการทำงานนี้ ต้องมีใจรัก มุ่งมั่นส่งเสริมให้ประชาชนสนใจนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประพฤติปฏิบัติ .. 
               แนวคิดการทำงานกับประชาชน..จะใช้วิธีการการชี้แนะเพื่อให้เกิดความคิด แต่ไม่ใช้การชี้นำ ให้เกิดความอยากจะเป็น อยากจะทำ สำหรับการทำงานในพื้นที่อำเภอเชียงกลางจะบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่เข้าด้วยกัน การประสานงานยังใช้แนวทางการทำงานของ คปต.(คณะทำงานประสานงานการพัฒนาชนบทระดับตำบล ) ซึ่งมี 4 กระทรวงหลักร่วมมือการทำงานร่วมกัน ระดมทั้งการวางแผน งบประมาณและเจ้าหน้าที่รวมเป็นหนึ่งในการทำงานร่วมกัน
              ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว เริ่มก่อตั้งเมื่อการเกิดความพร้อมของกลุ่มผู้นำบ้านพญาแก้ว ที่ร่วมมือร่วมแรงและให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนโดยหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็นตัวหลักเริ่มแรก โดยใช้พื้นที่ของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอเชียงกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านพญาแก้ว หมู่ที่4 ตำบลพญาแก้ว เดิมเป็นโรงเรียนประถมของหมู่บ้าน ปัจจุบันยุบโรงเรียนไปแล้ว จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มด้วยการจัดกิจกรรมการเพาะเห็ดต่างๆ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงปลาดุก และการเลี้ยงหมูหลุม โดยรับสมัครประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจากหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่ตำบลพญาแก้ว เข้าเรียนรู้และทดลองปฏิบัติจริงตามกิจกรรมของศูนย์ฯ ร่วมกันจัดหางบประมาณวัสดุ และอุปกรณ์การเรียนรู้ สำหรับวิทยากรก็จะได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆที่รับผิดชอบ การดำเนินงานของศูนย์ฯ เน้นส่งเสริมความรู้เพื่อการเลี้ยงชีพพออยู่ พอกิน และใช้หลักคนทำได้ประโยชน์ เมื่อเกิดรายได้ก็จะปันผลส่วนหนึ่งบำรุงศูนย์ฯ หลังจากผู้นำที่ได้อบรมเรียนรู้ในศูนย์แล้วก็จะขยายผลไปปฏิบัติในหมู่บ้านของตนเอง การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นที่เลื่องลือไปทั้งอำเภอจึงมีผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงานเป็นอันมาก โดยเฉพาะกิจกรรมการเลี้ยงปลาดุกในสระบ่อดิน ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านที่ใช้บวกควายนอน (สระน้ำที่ควายนอนเล่นกลางทุ่งนา) มาทำเป็นสระบ่อดินโดยใช้ดินจากจอมปลวกมาปั้น เป็นตัวสระน้ำ กิจกรรมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่(ไก่โรดไอแลนเรด) โดยใช้หลักให้เลี้ยงครัวเรือนละ 10 ตัว ซึ่งไก่ไข่วันละ 10 ใบเพียงพอต่อครัวเรือนไว้เพื่อบริโภค เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ และอำเภอเชียงกลางได้นำหมู่บ้านพญาแก้วเข้าร่วมประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดน่าน ปัจจุบันได้เข้ารอบเหลือ 3 หมู่บ้านสุดท้ายในระดับจังหวัด
              ความภาคภูมิใจ จากที่ได้ทุ่มเททำงานร่วมกับทีมงานส่วนราชการต่างๆในตำบล...จนสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงบ้านพญาแก้วให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง มองในภาพรวมคือหนี้สินต่อครัวเรือนลดลง มีเงินออมเพิ่มขึ้น การประเมินสถานะหมู่บ้านจากเดิมหมู่บ้านยากจน ซ้ำซากมาเป็นหมู่บ้านอยู่ดี.. กินดี...
ขุมความรู้ 
1.ความรักความชอบในการทำเกษตรกรรม และลงมือปฏิบัติในที่ดินด้วยตนเอง 
2.การทำงานในหมู่บ้านตามโครงการพระราชดำริ..สร้างแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงาน เศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 
3.แนวคิดในการทำงานกับประชาชน ใช้วิธีการชี้แนะไม่ใช้การชี้นำ ทำให้ชาวบ้านเกิดความคิด.. ความอยากจะทำ..(อยากทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง) วางตัวเป็นกันเอง แบบพี่แบบน้อง สร้างทัศนะคติที่ดีเป็นบวกกับประชาชน และทำงานเริ่มต้นกับแกนนำชุมชน 
4.ทำงานกับภาคีการพัฒนา ด้วยการบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่ ระดมทั้งการวางแผน งบประมาณ และกำลังเจ้าหน้าที่
5.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเกิดจากความพร้อมของกลุ่มผู้นำ/แกนนำชุมชน และความร่วมไม้ร่วมมือ กับหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน 
6.ใช้กิจกรรมในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจนเป็นแบบอย่าง และขยายผลได้ 
7.การเปิดรับสมัครประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์ฯ ได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติ 8.การดำเนินงานของศูนย์ฯ เน้นส่งเสริมความรู้เพื่อการเลี้ยงชีพพออยู่ พอกิน และใช้หลักคนทำได้ประโยชน์ เกิดรายได้...แบ่งปันบำรุงศูนย์ฯ และนำไปปฏิบัติขยายผลในหมู่บ้านของตนเอง 
9.กิจกรรมของศูนย์ฯ เกิดจากการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน 
10.การบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายการพัฒนา 
11.ปัญหาทุกเรื่องของชาวบ้าน เราเจ้าหน้าที่ฯ จะต้องเป็นปรึกษาของชาวบ้านได้
แก่นความรู้ 
1. มีแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 2.การทำงานกับประชาชน ใช้วิธีการชี้แนะเพื่อให้เกิดความคิด ไม่ใช่การชี้นำ...ให้เกิดความคิดความอยากจะทำ 
3.สร้างทีมงานในพื้นที่ด้วยการบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่ 
4.จัดกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ โดยเน้นคนในชุมชน/ท้องถิ่นเข้าไปเรียนรู้...เน้นการนำไปปฏิบัติจริงได้ด้วยตนเอง และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงขั้นแรก คือ พออยู่พอกิน 
ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดน่าน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..