วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปฝึกอบรมเรื่องการเตรียมและจัดทำข้อเสนอโครงการของสหภาพยุโรป (EU)

ชื่อเรื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปฝึกอบรมเรื่องการเตรียมและจัดทำข้อเสนอโครงการของสหภาพยุโรป (EU)
เจ้าของความรู้ นายบุญส่ง เวศยาสิรินทร์ ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
สังกัด กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร. 086-728-3761
เนื้อเรื่อง.... เมื่อเร็วๆนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเข้าฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการจัดทำข้อเสนอโครงการซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Project Cycles & Proposal Writing Training Workshop” ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้รับข่าวสารการรับสมัครเรื่องดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ต จึงได้สมัครทางระบบอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เพื่อให้องค์กรแหล่งทุนฝึกอบรมพิจารณา ผู้เข้าอบรมมีทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย ผู้ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ มีเพียงข้าพเจ้า และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวม 2 คนไปจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่รับผิดชอบการฝึกอบรมครั้งนี้ ตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ทำกิจกรรมฝึกอบรม ร่วมกับสถาบัน AIT.ของประเทศไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรม แก่ประเทศที่จะขอรับทุนจากกลุ่มอียู ในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น กัมพูชา จีน เวียตนาม ลาว ไทย เป็นต้น วัตถุประสงค์การฝึกอบรม จึงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนทุนการพัฒนาจากอียู ซึ่งเน้นกลุ่มองค์กร เครือข่ายการพัฒนา ที่มิใช่ภาคราชการ (Non state actors หรือ NSA) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่มีฐานปฏิบัติงานอยู่ในท้องถิ่น หรือภูมิภาค (Local Authority หรือ LA) ให้มีขีดความสามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการ เนื่องจากการช่วยเหลือจากแหล่งทุนจากอียู หรือ EuropeAID มีเงื่อนไข ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่ค่อนข้างละเอียดเคร่งครัดในการช่วยเหลือ และใช้กลไกการทำงานที่จัดตั้งขึ้นเรียกโดยย่อว่า PADOR เป็นตัวกลางระหว่างอียู กับกลุ่มองค์กรพัฒนา ที่จะขอรับทุน ฉะนั้น การรู้เทคนิควิธีการเตรียม หรือเขียนข้อเสนอโครงการ และทราบเงื่อนไขต่างๆของแหล่งทุน จึงมีความสำคัญต่อการได้รับทุนหรือไม่ ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยคุ้นเคยการเขียนข้อเสนอโครงการรับทุนสนับสนุน จากแหล่งทุนอียู ซึ่งจะสนับสนุนประเทศต่างๆในแต่ละด้านแต่ละปี มักมีนโยบาย แนวทางปฏิบัติ ที่มีข้อแตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไป การติดต่อประสานงานกับองค์กรที่ขอรับทุน การลงทะเบียน การช่วยเหลือแนะนำ รวมถึง ช่องทางในการยื่นข้อเสนอโครงการสู่อียู จะทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทั้งหมด กล่าวถึง กระบวนการฝึกอบรมตามหลักสูตร เริ่มต้นโดย ตัวแทนอียู และวิทยากรชาวเนเธอร์แลนด์ กล่าวต้อนรับ นำเสนอความเป็นมา เหตุผลความสำคัญของหน่วยงาน NSA หรือ LA ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับทุน แจ้งวัตถุประสงค์ แนะนำผู้เกี่ยวข้อง ค้นหาความคาดหวัง เล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการเตรียมโครงการและการขอรับทุนจาแหล่งทุนต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถเห็นภาพ แนวคิด องค์ประกอบวงจรการจัดทำโครงการ (Project Cycle) การกำหนดแนวคิดและขยายให้กลายเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ (Objective Oriented Project Planning) โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ ที่เรียกกว่า ต้นไม้แห่งปัญหา (Problem Tree) และหาต้นไม้แห่งวัตถุประสงค์ (Objective Tree) ด้านการจัดการเพื่อการเรียนรู้ มีการแบ่งกลุ่มใหญ่ ออกเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ตามหัวข้อปัญหา ที่ตัวเองสนใจ หรือพื้นฐานขององค์กรที่มา และทดลองทำตามตัวอย่างใบงานที่กำหนด โดยเรียนรู้วงจรของโครงการในตอนของการวิเคราะห์และวางแผน (Analysis Phase and Planning Phase) กับใช้ Logical Framework Approach เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จากการสร้างแนวคิดโครงการ แล้วขยับไปสู่การออกแบบโครงการ ที่ประกอบด้วย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ผลผลิต และกิจกรรม หัวข้อ Project design กล่าวถึงการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Log frame โดยพิจารณารายละเอียดส่วนที่เป็นองค์ประกอบย่อย ทำแบบฝึกหัดรายกลุ่ม และใช้กรณีศึกษาโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วของบางประเทศ ถัดมาเป็นการเรียนรู้การเขียนข้อเสนอ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญเรื่องต่างๆ เช่น กรอบความคิดโครงการที่จะทำ (Concept Note) ความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่วิเคราะห์ (Relevance) ความชัดเจนเชิงรายละเอียด (Descriptive) และการให้ความสำคัญประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) การเรียนและฝึกปฏิบัติการออกแบบงบประมาณ (Budget Design) ที่แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ ขนาดของโครงการที่จะขอรับทุนได้ หมวดรายจ่ายต่างๆ ที่จำเป็น ในการกำหนดเป็นค่าใช้จ่าย ความเชื่อมโยงกับตารางเหตุผลใน Log Frame รวมถึงความพยายาม ในการร่วมลงทุนกับองค์กรอื่นๆ (CO-funding)
                     ในตอนท้าย เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับ และแนวทางขอรับทุนการพัฒนาอียู ประจำปี ค.ศ. 2010 ในประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้องค์กรที่สนใจ สามารถเสนอ กรอบความคิดโครงการ (Concept Note) ไปให้แหล่งทุนพิจารณาก่อน ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องส่งข้อเสนอโครงการฉบับเต็ม (Full Proposal)ไปทันที วิทยากรพยายามสรุปกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ตอบคำถามประเด็นต่างๆ ที่ผู้เรียนถาม การประเมินผลการฝึกอบรม และกล่าวปิดแบบง่ายๆ โดยตัวแทนอียูประเทศไทย และมอบประกาศนียบัตร ที่มีบรรยากาศดูค่อนข้างสนุกสนาน การจัดระบบสื่อสารเรียนรู้ต่างๆ ที่มีการตระเตรียมไว้ก่อน ประกอบกับการจัดในห้อง ของโรงแรม ซึ่งเพียบพร้อมด้วยวัสดุ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ล้วนทำให้ผู้เรียนตื่นตัว เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ได้สะดวกขึ้น ในการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ จำนวน 3 คน และยัง มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำงานในกลุ่มเอ็นจีโอ หรือ NSA ในประเทศไทย กิจกรรมเรียนรู้ทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ มีการจัดทำบัญชีรายชื่อ หรือ Attendance List และเอกสารประกอบการอบรมทั้งหมด การถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้เข้าประชุม ได้เกิดความทรงจำ หรือติดต่อกันเองมากขึ้น มีการแนะนำให้ใช้ประโยชน์ จากเว็ปไซต์ของอียู ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปสอบถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
ขุมความรู้ :
1. ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีแหล่งทุน (Grant donors) สำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนอยู่มาก การรู้จัก หาข้อมูล และการประสานแหล่งทุน เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับการทำงานพัฒนาชุมชน 
2. การฝึกอบรมการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการ ช่วยให้บุคลากรได้เรียนรู้หลักการสำคัญเกี่ยวกับการทำงานพัฒนาชุมชนในยุคปัจจุบัน 
แก่นความรู้ :
1.หากมีการศึกษา ค้นหาแหล่งทุน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือ อย่างจริงจังจากแหล่งทุน จะช่วยให้ กรมการพัฒนาชุมชน มีทุนหรืองบประมาณ ในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนมากขึ้นหากมีการฝึกอบรม หรือให้ความรู้ใดๆในเรื่องการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการด้านการพัฒนาจะเป็นโอกาสและช่วยให้บุคลากรได้ทดลองและเรียนรู้ประสบการณ์ 
2.หากมีการฝึกอบรม หรือให้ความรู้ใดๆในเรื่องการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการด้านการพัฒนาจะเป็นโอกาสและช่วยให้บุคลากรได้ทดลองและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเข้าใจการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ดี 
ข้อเสนอแนะ : 
1) เชิงนโยบาย : กรมการพัฒนาชุมชน ควรเร่งศึกษาทบทวนการทำงานร่วมกับองค์การที่มิใช่ภาคราชการ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในการทำงานมากขึ้น 
2) เชิงปฏิบัติ : ควรส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการหาทุนการพัฒนา และมีแนวคิดการทำงานเชิงกลยุทธ์ โดย ควรจัดให้มีเวที และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้มากขึ้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณพี่บุณส่งที่ส่งความรู้และประสบการณ์มาเผยแพร่..เผื่อแผ่พี่น้อง..แต่อ้ายชัยและอัญเอง ก็ไม่ชัดเจนในเรื่องขุมความรู้ แก่นความรู้ คิดว่ามันต้องถูกสกัดออกมาจากเนื้อหาหรือเรื่องเล่า...หรือเปล่าค่ะ...
    และพี่บุญส่งได้ก็ช่วยอธิบายแลกเปลี่ยนผ่านระบบOAมาให้..ตามนี้ค่ะ...ขุมความรู้(หรือ knowledge Assets) จริงๆแล้วมันออกกว้างมาก มันครอบคลุม เรื่องที่อยู่ลึกๆของบุคคล ในกรณีนี้ ผมจัดการความรู้เรื่องนี้ ก็แสดงว่า ผมมีความรู้ลึกๆเกี่ยวกับการระดมทุน และการเขียนโครงการ และการฝึกอบรมที่ดี อยู่มาก จึงมองและเขียนออกมาแบบนี้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ว่าใครมองสะโตรี่เรื่องนี้ ให้พัฒนาการจังหวัด ซึ่งเป็นนักบริหาร อาจออกมาอีกอย่าง แตกต่างออกไป ส่วนแก่นความรู้ หรือภาษา อ.เรียกว่า Core Competency นั้นเคยถกกับกู้เกิยรติ ว่าจริงๆหมายความว่าอย่างไร ทำไมต้องเป็นแก่นความรู้ เนื่องจากผมเข้าใจถึงรากศัพท์คำนี้ในภาษาอ. ดังนั้นในความเข้าใจผม จึงน่าจะหมายถึง แก่นความรู้ หรือสาระสำคัญของขุมความรู้ ที่จะเอาไปทำงานต่อได้ ดังนั้น ผมหรือเขาจึงใช้คำว่า ถ้าหากว่า...........จะทำให้(หรือส่งผลให้........) ในภาษา อ. คือคำว่าIf............then.................สอดคล้องกับ Km.ที่ผมบังเอิญไปเล่าเรียนมาจากเอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านเอดส์ และเขาถ่ายทอดมาจาก กูรู ด้านเคเอ็มโดยเฉพาะ ส่วนข้อเสนอแนะ หรือข้อสรุป ในงานเคเอ็ม ก็คือการเสนอทางออก หรือกลยุทธ์ในเรื่องที่พบ (เพื่อให้คนที่สนใจเอาไปใช้ทำงานต่อ ซึ่งอาจเป็นการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็ได้ ที่คล้ายๆกัน เพราะเป็ฯการสกัดมาจากขุม หรือแก่นของความรู้ในประเด็นต่างๆ) ส่วนแนวคิด หรือทฤษฎี จริงๆแล้ว จะเขียน หรือไม่ก็ได้ แต่เพื่อให้เป็นฟอร์มแมท ก็เลยกำหนดไว้ เพราะสะตอรี่หรือเรื่องเล่า มันเป็นของที่จะต้องเอามากรอง ส่วนเครื่องกรองของผมที่เอามาใช้ จะเป็นอย่างไร คืออะไร และกรองออกมาแล้วได้อะไร ก็คือสาระสำคัญที่ เกิดจากมุมมองของเรา ซึ่งต้องอาศํย หลักการ ทฤษฏีมาอธิบาย ถ้าเครื่องกรองถี่มาก ก็ได้ประเด็นละเอียด หากเครื่องกรองห่างมาก ก็ได้สาระหยาบหรือกว้างไม่ละเอียด ดังนั้นสรุปคือคนเรามักคิด หรือมองจากกรองคิด หรือทฤษฎีอะไรบ้างอย่างอยู่เสมอ หากไม่มีเลย ก็เป็นอารมณ์ไป ตอนนี้กระตุ้นให้ทุกคนเขียน ถูกผิด ไม่เป็นไร เราเอามาจัดการใหม่ได้ นั่นคือการเรียนรู้ละ ได้ทั้งจาก Good Practice และ Bad Practices ครับ อันหลังเผลอๆอาจทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ฮ่า... เขียนมายาวเลย

    ตอบลบ

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..