วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการจัดเวทีขับเคลื่อน..หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม

เจ้าของความรู้ นางนิตยา ดีสุวรรณ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.053-511166
เรื่องเล่า.... จุดมุ่งหมายปลายทางของนักพัฒนาทุกคน คือ อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ในระหว่างทางที่เราจะไปถึง.... นักพัฒนาก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของตนเองว่า.. ในจุดหนึ่งที่เราอยู่นั้น เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ..ต่อพื้นที่ที่เราทำงานบ้าง?...
                  ในช่วงปี พ.ศ.2550 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกำลังมาแรง และพัฒนากรลำพูนทุกคนก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะทำเรื่องอะไร ผู้เล่ารับงานด้านเศรษฐกิจของอำเภอบ้านโฮ่งทั้งหมด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงอยากทดลองขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านเป้าหมายที่เราอยากจะทำ คือบ้านศรีปทุม ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เนื่องจากมีปัจจัย/องค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้นำหมู่บ้านให้ความสนใจ สภาพหมู่บ้านมีความเหมาะสมที่จะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ หลากหลายที่ดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ก่อนบ้างแล้ว..
 การจัดเวทีเพื่อขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม 
             จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เพราะเวทีเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยน..เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม จึงต้องมีการเตรียมการอย่างเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การเลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีขับเคลื่อนฯ ต้องเลือกมาจากกลุ่มคนที่หลากหลายและครอบคลุมทุกกลุ่มเพราะเราต้องขับเคลื่อนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีทีมงานของตนเอง และมีการบริหารจัดการทุนของกลุ่มเอง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสตรีแม่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านและทีมงาน สมาชิก อบต. รวมทั้งคนที่เราเห็นแววในการร่วมทำงานขับเคลื่อนฯ ถึงแม้จะไม่มีตำแหน่งอะไร อย่างเช่นอาสาพัฒนาชุมชน( อช.) เป็นต้น อีกทั้งต้องดึงเอา นายก อบต. หรือรองนายก อบต. มาร่วมเวทีให้ได้ เพราะอบต.จะเป็นแหล่งสนับสนุนงบประมาณที่สำคัญในพื้นที่ นอกจากนี้...ได้เชิญภาคีการพัฒนาในตำบลมาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เป็นคนในพื้นที่และมีความใกล้ชิดชุมชนมากกว่าเรา และ ศอช.ต.ศรีเตี้ย มาเข้าร่วม 3-4 คน เนื่องจากการทำงานที่ ต. ศรีเตี้ยนั้น ผู้เล่าจะใช้ ศอช.ต เป็นกลไกลในการขับเคลื่อนกิจกรรมทุกอย่าง โดยเฉพาะคุณ พัลลภ จารุคำจา จะเป็นผู้ที่ มีความสนใจ และเสนอตัวเข้าร่วมทีมในการทำงานทุกครั้ง
               การเตรียมสื่อในการจัดเวทีฯ จะจัดเตรียมทั้ง PowerPoint และ วีดิทัศน์ เพื่อฉายให้เวทีเห็นภาพการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านที่ประสบความสำเร็จ...หรือที่ทำได้ดีนั้น เขาทำกันอย่างไรบ้าง....
                เตรียมคน เตรียมสื่อ เตรียมกระบวนการและทีมงาน... แล้วก็เตรียมสถานที่จัดเวที โดยประสานใช้สถานที่ที่ห้องประชุมของ อบต. ศรีเตี้ย รวมทั้งประสานขอรับการสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์..เครื่องโปรเจคเตอร์ ของว่างและอาหารกลางวัน จาก อบต.ศรีเตี้ย โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว ที่ผู้เล่าทำงานอยู่ตรงจุดนี้มาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี
                การเดินเวทีเริ่มต้นเปิดหัวเรื่อง...ด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านศรีปทุมให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากในตำบลศรีเตี้ย นอกจากบ้านศรีลาภรณ์ที่มีชื่อเสียงและมีคนเข้ามาศึกษาดูงานกันแล้ว เราก็สามารถขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงไปยังหมู่บ้านอื่นๆได้ด้วย หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลบ้านศรีปทุมร่วมกัน มองเห็นจุดเด่นหลายเรื่อง ทั้งผู้ใหญ่บ้านให้ความสนใจ และสมาชิก อบต. ไม่ขัดแย้งกัน เป็นทีมงานเดียวกัน น่าจะขับเคลื่อนงานได้สะดวก หลังจากนั้นได้แนะนำให้เกียรติทีมงาน ศอช.ต ว่าจะมาช่วยกันขับเคลื่อนงาน แล้วจึงให้เกียรติผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเวทีฯ                การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจะทำกันอย่างไร? เป็นประเด็นเดินเวทีที่ผู้เล่าเตรียมตัวอย่างให้ดู โดยนำเสนอทั้งวีดิทัศน์ ทั้ง PowerPoint ของบ้านใหม่วังผาปูน และอีกหลายๆบ้านที่นำมาตัดต่อ ซึ่งพบว่าการสื่อด้วยภาพ ด้วยตัวอย่างให้เห็น จะทำให้เวทีไม่น่าเบื่อ ทำให้เห็นภาพหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง... เห็นทิศทางการทำงาน และการเข้าถึงกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกันต่อไป ต่อจากนั้นผู้เล่าได้โยนคำถามในเวทีว่า จากที่เห็นภาพแล้วพวกท่านเห็นเป็นอย่างไรบ้าง? แล้วจะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มจากวิเคราะห์ว่ามีกลุ่มอะไรในหมู่บ้าน.. มีจุดใดเรื่องอะไรที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เราจะต้องต่อยอดหรือเพิ่มกิจกรรมอะไรบ้าง...ระหว่างนี้บรรยากาศในเวทีคือ บางคนแสดงความคิดเห็น บางคนนิ่งเงียบ... ในฐานะที่ผู้เล่าแสดงบทบาทเป็นผู้เอื้ออำนวยอยู่หน้าเวที ได้เห็นข้อจำกัดในเวที เช่น คนพูดเก่งก็พูดและพูด คนไม่พูดก็นั่งฟังอย่างเดียว ซึ่งบางทีคนพูดเก่งอาจปฏิบัติไม่เก่งก็ได้ ส่วนคนพูดไม่เก่งอาจปฏิบัติเก่งก็ได้.. เป็นหน้าที่ของเราที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านั้น ได้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกันทุกคน เมื่อทุกคนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแล้ว ก็จะเป็นประเด็นการกำหนดกิจกรรมที่จะทำ.. และจะเอางบประมาณมาจากไหน?ในการขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดขึ้น แกนนำที่เข้าร่วมในเวที ล้วนเป็นเจ้าของทุนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ อบต. ก็มีรองนายกอบต.ซึ่งเป็นคนบ้านศรีประทุมร่วมอยู่ด้วย การสนับสนุนส่วนใหญ่จึงมาจากงบประมาณของ อบต.ศรีเตี้ยและกลุ่มแหล่งทุนในหมู่บ้าน ...ส่วนกิจกรรมขับเคลื่อนก็ถูกเสนอออกมาจากเวทีแลกเปลี่ยนฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ไผ่แตกกอหน่อออมทรัพย์ …ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง...หน้าบ้านน่ามอง...เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการมอบหมายภารกิจที่จะทำ ใครหรือกลุ่มใดเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป...มีการบันทึกการจัดเวทีทุกครั้ง โดยแต่งตั้งเลขานุการ ซึ่งเป็นสมาชิก อบต. ทำหน้าที่บันทึกผลการจัดเวทีและนำเสนอ/ทบทวน...ก่อนเริ่มเวทีครั้งต่อไป ก่อนจบเวที เพื่อเป็นการติดตามกิจกรรมที่ขับเคลื่อนฯ ได้มีการนัดหมายกันว่า จะมาเจอกันอีกเมื่อไหร่ และ สุดท้ายของการจัดเวทีขับเคลื่อนฯ ตกลงกันว่าทุกกิจกรรมจะมีการรวบรวมองค์ความรู้และจะร่วมกันจัดการความรู้ออกมาเป็นเอกสารหนึ่งเล่ม เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนและเป็นผลงานร่วมกันของทุกคนต่อไป...
              กิจกรรมหลังการจัดเวที...ก่อนเปิดเวทีขับเคลื่อนครั้งต่อไป.. ผู้เล่าได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพกิจกรรม เช่น ในเวทีบอกว่าจะทำกิจกรรม ไผ่แตกกอหน่อออมทรัพย์ ..มีการนัดหมายว่าจะตัดไม้ไผ่มารวมกันในวันไหน ผู้เล่าก็จะลงพื้นที่ไปเก็บภาพกิจกรรม ใครเป็นครัวเรือนต้นแบบ ก็จะไปถ่ายภาพไว้ มีการจัดเวทีหลายครั้ง...ระหว่างการขับเคลื่อน ซึ่งผู้เล่าได้ฉายภาพกิจกรรมให้ดูว่าใครทำอะไรไปถึงไหนแล้ว นำเสนอผลงานในเวที และสรุปบทเรียนร่วมกัน...เป็นการพัฒนาปรับปรุงงานร่วมกัน...ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและแรงจูงใจในการทำงาน... ส่วนการบันทึกองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนแต่ละกิจกรรมนั้น จะให้แต่ละกลุ่มกิจกรรมลองเขียนลองบันทึกสิ่งที่ตัวเองลงมือทำ และมีทีมงาน ศอช.ต 2-3 คน อาสาเข้าไปช่วยรวบรวมจัดเก็บความรู้..ผู้เล่าเองนำมาเขียนเรียบเรียง...ทั้งการวิเคราะห์ชุมชน แนวทาง/วิธีปฏิบัติ และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนั้นในเวทีฯ ได้กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม ด้วย โดยคุณพัลลภ และทีมงาน ศอช.ต ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา( มทร.) ในการเก็บภาพกิจกรรม และถ่ายทำวีดิทัศน์ ตามสคริปที่ผู้เล่าและทีมงานได้เขียนเรียบเรียงให้..จึงเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจร่วมกันทุกฝ่าย..ทั้งท้องที่..ท้องถิ่น..ภาคประชาชนละสถาบันการศึกษา เวทีสุดท้าย(ของผู้เล่า).. ผู้เล่าได้รับคำสั่งให้ไปทำงานในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน จึงถือโอกาสนัดหมายล่ำลาในเวทีครั้งที่ 5 ถึงแม้ผู้เล่าจะไม่ได้อยู่ทำงานที่นี่... แต่พัฒนากรที่มารับผิดชอบต่อก็คือทีมงานเดิม จึงสามารถต่องานกันได้ เพราะรู้ทุกกระบวนการ ว่าทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป.. ในปีต่อมาอำเภอบ้านโฮ่งได้ส่งหมู่บ้านศรีปทุมเข้าประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัด ส่วนตัวผู้เล่าเองได้เป็นพัฒนากรขวัญใจประชาชน นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้เล่า และคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดเวทีขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..ที่บ้านศรีปทุมนั่นเอง…. 
ขุมความรู้ 
1.ใช้เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเครื่องมือให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น..และทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม
2.เลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีฯ จากกลุ่มคนที่หลากหลาย/ครอบคลุม และมีภาคีการพัฒนา/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมเวที ( ทีมงานศอช.ต และ อบต. )
3.มีการเตรียมการจัดเวทีฯ ด้วยสื่อโสตทัศนูปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ กระบวนการในเวที ทีมงาน ข้อมูลข่าวสาร และประสานงบประมาณสนับสนุนการจัดเวทีฯ
4.การชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเกิดเวทีขับเคลื่อนฯ และการวิเคราะห์ข้อมูลหมู่บ้านเป้าหมายร่วมกัน จนเป็นที่ตกลงและ พร้อมจะขับเคลื่อนของทุกฝ่าย
5.การสื่อสารในเวทีด้วยภาพ/ตัวอย่าง(วีดีทัศน์/powerpoint) ทำให้เวทีเห็นทิศทางการทำงานและแนวปฏิบัติร่วมกัน
6.เวทีมีผู้เอื้ออำนวยที่วางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม รวมทั้งโยนประเด็นคำถามที่ทำให้เกิดกิจกรรมที่มาจากความต้องการจากเวทีฯ
7.มีการมอบหมายงานที่จะทำต่อ หรืออาสาสมัครในการดำเนินกิจกรรม และจัดเก็บความรู้
8.เลือกเลขานุการทำหน้าที่ในการบันทึกรายละเอียด/ข้อตกลงในเวทีทุกครั้ง และสรุปนำเสนอในเวทีครั้งต่อไป
9.จัดเวทีขับเคลื่อนเดือนละครั้งอย่างต่อเนื่อง..เพื่อเป็นการติดตามงาน นำเสนอผลงาน และสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน
10.การเตรียมทีมงานและการทำงานเป็นทีม ทำให้เวทีขับเคลื่อนไปได้จนบรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายในการจัดเวทีฯ
แก่นความรู้ 
1.การเตรียมการก่อนจัดเวทีให้มีความพร้อมทั้งทีมงาน สื่อ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ โดยเฉพาะการเลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีต้องมาจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลายและครอบคลุม 
2.การขับเคลื่อนประเด็นในเวทีฯ โดยผู้เอื้ออำนวยการและทีมงานทำหน้าที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม และมีการจัดเวทีอย่างต่อเนื่อง 
3. หลังจัดเวทีขับเคลื่อนฯ มีการติดตามเก็บภาพถ่ายกิจกรรม จัดเก็บองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในรูปสื่อวีดีทัศน์และเอกสารจัดการความรู้ ข้อเสนอแนะ... - การสนับสนุน/ส่งเสริมการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ กรมฯควรสนับสนุนงบประมาณให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในการจัดเวทีแลกเปลี่ยน/ประชาคมฯลฯ.. โดยเฉพาะในเวทีแรกที่เป็นเวที สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..เนื่องการเชิญกลุ่มบุคคลที่หลากหลายมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ต้องใช้งบประมาณในการจัดเตรียมเวทีฯ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหารหรือของว่าง.ที่ผ่านมากรมฯจะสนับสนุนงบประมาณเฉพาะในการทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบางกิจกรรมเท่านั้น ซึ่งในการทำกิจกรรมเหล่านั้นอาจสามารถหางบประมาณสนับสนุนได้จากเวทีแลกเปลี่ยนที่จัดขึ้น..
ผู้บันทึกความรู้ ทีมงานสนับสนุนจังหวัดลำพูน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..