วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทำอย่างไร ? ทำงานร่วมกัน..อย่างมีความสุข

ชื่อเรื่อง ทำอย่างไร ? ทำงานร่วมกัน..อย่างมีความสุข 
เจ้าของความรู้ นางสาววรรณา จันทรานนท์ 
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอลี้ สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลี้ จ.ลำพูน 
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-5324842
เรื่องเล่า…ได้ทำหน้าที่พัฒนาการอำเภอมานาน จนใกล้จะเกษียณแล้ว..โดยเฉพาะที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลี้ จ.ลำพูน ต้องบริหารจัดการทั้งงานทั้งคน การบริหารงานนั้นยังไม่ยากเท่าการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะกับน้องๆ พัฒนากรที่แต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย มีความคิดเป็นของตัวเอง..สำคัญที่สุดคือการจัดการตัวเราเองก่อน ทำอย่างไรจะไม่ให้เครียด..ทำอย่างไรจะปล่อยวางเป็น...ส่วนกับลูกน้องนั้น..ไม่คิดว่าจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรใคร..แต่ทำอย่างไรให้พวกเขาทำงานให้สำเร็จ..ตรงนี้สำคัญมากกว่า
วิธีปฏิบัติคือ..จะศึกษา ทำความเข้าใจ ทำความรู้จักลูกน้องแต่ละคน ถึงแนวคิด..วิธีคิดในการทำงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ใครเก่งอะไร ชอบหรือถนัดเรื่องไหน ก็จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานตามความถนัด/ความชอบ เช่น บางคนชอบพูดชอบคุย..ก็ให้ทำหน้าที่ประสานงาน คนช่างคิดช่างฝันก็ให้คิดโครงการ/สร้างกิจกรรม..บางคนก็ชอบจัดกระบวนการ..เป็นวิทยากร เป็นต้น 
              ในการทำงานจะพูดคุยกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนแสดงความคิดเห็น ยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก ให้แต่ละคนช่วยกันคิดว่า..ทำอย่างไรจะไปให้ถึงเป้าหมายของงาน/กิจกรรมนั้นๆ ..ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ถ้าทำไปแล้วไม่ได้ผลหรือไปไม่ถึงเป้าหมาย..แม้แต่เป็นหัวหน้า(ผู้เล่า)ก็จะยอมรับ ยอมที่จะปรับเปลี่ยน..ไม่ดันทุรังทำต่อไป.. คนที่มีความสามารถ มีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็จะปล่อยให้เขาคิดงานเอง..คอยดูเขา อะไรที่ส่งเสริมได้ก็จะส่งเสริมให้เขาทำงานไม่ไปขัดเขา ทำงานกับลูกน้องจะยึดหลัก Entertain กัน ไปทำงานเป็นทีม ออกท้องที่ด้วยกันเสร็จแล้ว ช่วงเย็นถ้าไม่มีนัดหมายประชุมในหมู่บ้าน ก็จะมีการพักผ่อนด้วยกัน..เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะ ใครเก่งอะไร ชอบอะไร ก็ทำในสิ่งนั้น...บางคนชอบเล่นดนตรี ชอบร้องเพลง ชอบคาราโอเกะ ในช่วงพักกลางวันต้องกินข้าวกลางวันด้วยกัน (เป็นทีม) ทำให้รู้สึกเป็น เจ้าหมู่กัน อะไรที่นอกเวลาจะคุยกันง่ายกว่า เวลาราชการ เวลาทำงานมีอะไรแรงๆ กระทบกัน ขัดแย้งกัน..... แต่พอนอกเวลาก็จะรู้สึกเป็นเจ้าหมู่กัน ไม่ตั้งแง่.. ไม่แยกพวก ระหว่างหัวหน้ากันลูกน้อง.. 
              ที่สำคัญตัวผู้เล่าเอง จะมีความตั้งใจในการทำงาน ตั้งใจเรียนรู้เรื่องงาน ไม่เคยลด ละ เลิก การศึกษาเรียนรู้งาน สมัยก่อนงานพัฒนาชุมชนกว้างมาก เราก็ต้องค้นคว้าศึกษาเรียนรู้ให้มาก สมัยนี้งานเราเป็นวิชาการมากขึ้น ก็จะศึกษากรอบยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม ทิศทางกรมฯ จะเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอะไรเป็นตัวกำหนด แล้วมาถ่ายทอดให้ลูกน้อง..บางทีก็ต้องทำตัวแบบมาก่อน วางตัวแบบให้ เช่น กรณีเรื่องตัวชี้วัด จะทำความเข้าใจร่วมกันในตัวชี้วัดแต่ละตัวก่อน แล้วแบ่งงานกันรับผิดชอบตัวชี้วัด ให้แต่ละคนหาเป้าหมายของตัวชี้วัดนั้นๆ ว่าคืออะไรมีจำนวนเท่าไร เช่น ร้อยละของครัวเรือนยากจนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร แล้วมีวิธีแก้ไขหรือทำให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดนั้นอย่างไร คอยสังเกตดูว่าเมื่อทำงานไประยะหนึ่งแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง บางคนอาจทำได้ดี บางคนก็ต้องให้คำแนะนำหรือเป็นโค้ชให้ เพราะลูกน้องแต่ละคนแตกต่างกันไป..จึงต้องมีการติดตามงานเพื่อให้งานสมบูรณ์ที่สุด 
               การบริหารคนนั้น บางคนก็ปล่อยได้เลย (ทำได้ดี) บางคนก็ต้องโค้ชชิ่ง ให้คำแนะนำหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บางคนอาจต้องช่วยทำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการล้วงลูก.. แต่บางทีก็จำเป็นเพื่อให้งานสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ทำให้ในปีที่แล้ว สพอ.ลี้ได้ IPA เป็นที่สองของจังหวัด ที่ไม่ได้ที่หนึ่งคงเป็นเพราะการเก็บรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหลายได้ไม่ครบ ที่ทำงานกันไปแล้วบางเรื่องบางงานบางคนก็ไม่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานไว้ได้ทั้งหมด การทำงานของทีมงาน สพอ.ลี้ ต้องเตรียมการกันอย่างดี ไม่ให้มีข้อบกพร่อง หรือมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด จะมีการพูดคุยประชุมกันกับทีมงานทุกครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ช่วยกันมองว่างานมันบกพร่องตรงไหนบ้าง จะไม่มีการกล่าวโทษกันว่าใครผิด แต่จะแก้ไขข้อบกพร่องอย่างไรมากกว่า...เป็นการวางแผนพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือ งานสำเร็จและงานมีคุณภาพด้วย ทำให้ดีที่สุด ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและได้การมีส่วนร่วมด้วย 
                 พลังในการทำงาน....ผู้เล่าเคยรู้สึกท้อแท้.. ทำงานไปวันๆ เพราะมองหาความยุติธรรมไม่เจอ... แต่มาได้เห็นตัวอย่าง ที่ดีๆ จากเพื่อนร่วมงานพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการอำเภอปู พัฒนาการอำเภอเจี๊ยบ ที่มีความตั้งอกตั้งใจในการทำงาน และทุ่มเทในทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เลยได้คิดว่า ค่าของคนเรา มาจากการที่เราทำงานนั่นเอง .. จึงยึดถือเป็นต้นแบบ เป็นกัลยาณมิตร ในการทำงานตลอดมา จะปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ ดูวิธีการทำงานจากอำเภออื่นๆ ด้วยการสอบถามแลกเปลี่ยน ดูแบบอย่าง.. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตเอามาปรับใช้ เรียนรู้เรื่อง IT ไม่ละทิ้งการใช้เทคโนโลยี ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำงานในบทบาทพัฒนาการอำเภอคือ ท่านนายอำเภอ แต่ก็เป็นคนโชคดี อยู่ที่ไหนก็ได้นายอำเภอดีๆ ..โดยเราจะเข้าหา เข้าถึง...ไปปรึกษางานกับนายตลอด...รับฟังแนะนำ คำสั่ง คำติคำชม และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านให้ดีที่สุด..
ขุมความรู้ 
1.ศึกษาทำความเข้าใจ...วิธีคิด/แนวทางการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา 
2. ยึดหลัก ENTERTAIN..ในการทำงาน โดยมอบหมายงานตามความถนัด/ชอบ และมีสันทนาการร่วมกัน 
3.ศึกษาค้นคว้ากรอบ/แนวทางการทำงาน นำมาถ่ายทอด/ชี้แนะให้กับทีมงาน 
4.มีการเตรียมงานร่วมกัน ประชุมทีมงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน 
5.พูดคุยแลกเปลี่ยน/ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา/ข้อบกพร่องร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วม (สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน) 
6.เรียนรู้การทำงานจากเพื่อนร่วมงาน ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยน ค้นคว้าเพิ่มเติมจาก IT และนำมาปรับใช้ 
7.รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง ...ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้านาย..โดยยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก.. คือ...งานสำเร็จและมีคุณภาพ 
แก่นความรู้….ในการทำงาน (พัฒนาชุมชน) ร่วมกันให้มีความสุข.. 
1.วิธีปฏิบัติกับตัวเอง ( ยึดต้นแบบ มีกัลยาณมิตรเป็นที่ปรึกษา/แลกเปลี่ยน/ปรับใช้ ตั้งใจทำงาน ศึกษาเรียนรู้ ) 
2.วิธีปฏิบัติกับลูกน้อง ( ศึกษาทำความเข้าใจระหว่างกัน..ถ่ายทอด/สอนแนะงาน ติดตามส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานตามศักยภาพ ทำงานเป็นทีมอย่างมีส่วนร่วม มีการพักผ่อน/ผ่อนคลายและยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก ) 
3.วิธีปฏิบัติกับเจ้านาย (ปรึกษาหารือเรื่องงาน รับฟังคำแนะนำ และปฏิบัติงานให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ ) 
ผู้บันทึกความรู้....ทีมสนับสนุนจังหวัดลำพูน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..