วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแบบแม่ฮ่องสอน...


ชื่อเรื่อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแบบแม่ฮ่องสอน...
เจ้าของความรู้ นายธวัช ใสสม
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เรื่องเล่า .. บ้านเมืองแพม หมู่ที่ 5 ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะฝ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชาวกระเหรี่ยง ส่วนใหญ่นับถึงศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทางการเกษตร อยู่กับธรรมชาติปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้กินเองทุกครอบครัว แต่มีประเด็นอยู่ว่า เมื่อปี 2548 ท่านประพีร์ เกิดเพิ่มพูล พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ไปตรวจเยี่ยมและได้บอกให้ราษฎรในหมู่บ้านว่า “ เราต้องมีรั้วกินได้ ” คนในชุมชนไม่เข้าใจก็บอกว่า (พูดไทยสำเนียงกระเหรี่ยง) รั้วเรากินไม่ได้ รั้วเราเป็นไม้ ทำให้คิดได้ว่าการทำงานกับชุมชนบางครั้งคำที่เราเข้าใจได้ง่ายๆ คนในพื้นที่อาจไม่เข้าใจ นักพัฒนาควรเป็นนักวิชาการเชิงปฏิบัติการ คือ วิชาการ..ใช้หลักการพัฒนาชุมชน ส่วนปฏิบัติการต้องใช้วิถีชีวิต ความเชื่อต่างๆของชุมชน ศาสนา และการสื่อสาร(ภาษา) ต้องสามารถสื่อเข้าใจตรงกันด้วย ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงถูกเรียกขานว่า “เขตปราบเซียนนักพัฒนา” ในปี 2549 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมาก แต่อำเภอปางมะผ้าไม่มีต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำหลักเกณฑ์ฯ มาดู.. เห็นว่าบ้านเมืองแพม มีความพร้อมที่จะเป็นบ้านต้นแบบ จึงได้ประชุมทีมงานเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนรวม 3 คน ให้มีความเข้าใจตรงกัน การดำเนินการครั้งนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ และได้วางแผนที่จะทำให้สำเร็จใน 1 เดือน โดยจะเข้าไปในหมู่บ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน รวม 5 วัน การเข้าไปได้มีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้เขาได้เห็น ได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ทุกวัน ไม่ว่าการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหมู ไก่ การเก็บของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ฯลฯ เหล่านี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง บอกพวกเขาว่า..เรามาถูกทางแล้ว สิ่งที่ประสบผลสำเร็จมากคือ การนำเอาสัจจะ(จิต)อธิฐานว่า..จะทำความดีอะไรถวายในหลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การขยายโอกาสที่จะมีรายได้ มีอะไรบ้าง จะทำอะไรได้บ้าง ในการประชุมชาวบ้านก็จะใช้ศาลาวัดเป็นที่ประชุม โดยเชิญท่านนายอำเภอมาร่วมเป็นสักขีพยาน และได้นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ พรมน้ำพระพุทธมนต์และบิณฑบาตสิ่งที่จะทำถวายในหลวง...ให้ชาวบ้านทุกคนเขียนสิ่งที่จะทำลงในกระดาษเล็กๆแล้วนำไปใส่ในบาตรของพระ ผลทีได้รับคือ มีคนเลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ เลิกเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก และมีความขยันขันแข็งในการทำงาน ทำให้รายจ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้น...ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนก็เข้มแข็ง ... ในปี 2551 บ้านเมืองแพมได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ได้รับงบประมาณโครงการอยู่ดีมีสุข โครงการขยายผลปวงชนชาวไทย โครงการบ้านท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการที่พัฒนาชุมชนเข้าใจเขา เข้าถึงเขา ช่วยกระตุ้นให้เขาคิด ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ มองคนให้มีคุณค่า แล้วเราจะเห็นคุณค่าของคน” 
ขุมความรู้
1. คัดเลือกหมู่บ้านที่มีความพร้อมที่จะเป็นบ้านต้นแบบ
2. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนต้องมีความพร้อมและเข้าใจตรงกัน
3. วางแผนการทำงานร่วมกัน...ทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
4. ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย
5. ใช้ความเชื่อทางศาสนา..การตั้งสัจจะ(จิต)อธิฐานในการทำความดีถวายในหลวง
6. เชิญนายอำเภอมาร่วมเป็นสักขีพยาน
7. นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ พรมน้ำมนต์ และบิณฑบาตรสิ่งที่ชาวบ้านตั้งสัจจะอธิฐาน
แก่นความรู้
1. เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน หมู่บ้านต้นแบบ และสื่ออุปกรณ์ที่จะใช้ใ
ห้เหมาะสม 
2. มีการวางแผนการทำงานและใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย 
3. ใช้ผู้นำทางราชการและผู้นำทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม 
ข้อเสนอแนะ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ต้องทำตัวเป็นธรรมชาติมีความจริงใจ เป็นกันเอง มีอัธยาศัย เข้าถึงผู้อาวุโสของชุมชน  และต้องไม่ทำตัวเป็นภาระเมื่อเข้าทำงานในชุมชน. 
ผู้บันทึกข้อมูล ทีมสนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..