วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทเรียนการเป็นวิทยากร...(ดร.สงัด หมื่นตาบุตร)

ชื่อเรื่อง บทเรียนการเป็นวิทยากร 
เจ้าของความรู้ นายสงัด หมื่นตาบุตร 
ตำแหน่ง/สังกัด หัวหน้างานพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการเฉพาะทาง
                           ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
เรื่องเล่า... ตลอดชีวิตการทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนของรัฐในสังกัด กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ 2524 จนถึงปัจจุบันจน รวม 29 ปี ...ได้ปฏิบัติงานในภาคสนามที่ต้องคลุกคลีสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งในตำแหน่งพัฒนากรผู้รับผิดชอบตำบล และพัฒนาการอำเภอรวมเป็นระยะเวลา 25 ปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของช่วงชีวิตราชการในกรมการพัฒนาชุมชน และแม้จะมีโอกาสทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งการลาไปศึกษาต่ออยู่บ้าง ก็เป็นไปในระยะสั้นๆ ดังนั้น ความถนัด ทักษะส่วนใหญ่จึงเป็นงานในสายผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ที่เป็นการลงมือลงแรง ทำนโยบายที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตามบทบาทหน้าที่ของนักพัฒนา ที่มีหน้าที่เข้าสัมผัสกับประชาชนโดยตรงเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้องย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่มีงานหลักเป็นวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม ในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนที่เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2552 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 กับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง จึงเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาเป็นนักฝึกอบรม ที่ต้องบรรยายให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการของศูนย์ฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความหนักใจในการปฏิบัติงานแก่ผู้เล่าเป็นอย่างยิ่ง
คุณลักษณะที่ดีของนักฝึกอบรม : ความขาดแคลนที่ปรากฏ
              ในทัศนะของผู้เล่า การเป็นนักฝึกอบรมที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่ หรือในการบรรยายในแต่ละครั้ง ต้องแน่นด้วยภูมิรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการถ่ายทอดความรู้ที่เพียงพอ มีความรักชอบที่จะทำงานตามบทบาทหน้าที่นักฝึกอบรม มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสม เช่น บุคลิกดี พูดจาแล้วคนฟังรู้เรื่อง มีความกล้าและมั่นใจตนเองอยู่มากพอสมควร ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้แทบไม่มีอยู่ในตัวของผู้เล่า เนื่องจากไม่มีประสบการณ์มาก่อน และแม้จะมีโอกาสจนจบการศึกษาปริญญาเอก แต่สิ่งที่ร่ำเรียนมาก็ไม่ใช่เนื้อหาที่บรรยาย ดังนั้นประเด็นที่ต้องขบคิดตลอดช่วงต้นๆ ของการรับหน้าที่เป็นนักฝึกอบรมก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ฟังเกิดการเรียนรู้ ได้เนื้อหา สาระครบถ้วนอย่างไม่รู้ตัว ภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง สนุกสนาน แล้วจบลงด้วยความประทับใจ ไม่ง่วงหงาวหาวนอน กระสับกระส่าย เบื่อหน่ายจนอยากให้การบรรยายจบไวๆ
พัฒนาการของความเป็นวิทยากร
               ครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรบรรยายแก่ผู้นำชุมชน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนระดับพื้นฐาน ในวิชาการเสริมสร้างการแข็งแรงของชุมชน (แผนชุมชนเชิงคุณภาพ) มีกลุ่มเป้าหมายชุมชนรุ่นละ 70 คน เวลาบรรยายรวม 7 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ บ่าย วันที่1 เป็นเวลา 3 ชั่งโมงครึ่ง ซึ่งแม้จะตอบรับการมอบหมายจากที่ประชุมคณะวิทยากรด้วยสีหน้าที่เป็นปกติ แต่เบื้องลึกเต็มไปด้วยความหนักใจ.. ครุ่นคิด และตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า จะทำยังไงให้ผู้นำเข้าใจเรื่องที่เราบรรยาย ตั้งแต่ขั้นตอนการทำแผนชุมชน การวิเคราะห์SWOT การกำหนดวิสัยทัศน์ การจับคู่เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และโครงการพัฒนาที่ต้องกำหนดออกมาให้ได้ภายในช่วงเวลาที่มอบหมาย และที่สำคัญคือต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด โดยออกแบบลำดับขั้นตอนการนำเสนอให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่น่าเบื่อ อันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับวิทยากรมือใหม่ ... ร่างคำบรรยาย : สร้างความเชื่อมั่นเบื้องต้น ภายหลังที่ได้พิจารณาจัดแบ่งช่วงเวลาที่ได้รับมอบหมายให้แยกออกเป็นช่วงต่างๆ เ ช่น การนำเข้าสู่บทเรียน ปูพื้นความความรู้ ให้เนื้อหาความรู้ที่จำเป็น การให้ตัวอย่าง มอบหมายงานฝึกปฏิบัติ การนำเสนอผลงานสุดท้ายเป็นการสรุปประเด็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองมีข้อมูลเพียงพอ ในการพูดให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนดได้ โ ดยไม่มีการหยุดชงักห รือขาดตอนโดยไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ผู้เล่าจำเป็นต้องร่างบทบรรยายเป็นคำพูด ที่จะนำเสนอทั้งหมดอย่างละเอียดว่า แต่ละช่วงเวลาจะพูดถึงประเด็นใดบ้าง และจึงย่อคำบรรยายให้สั้นลงใน Power point ประกอบการบรรยาย ท่องบท: สร้างความเชื่อมั่นก่อนจะลุยหน้าเวที ผู้เล่าใช้เวลาอย่างมากกับการอ่านบทบรรยายประกอบการใช้ power point ในแต่ละเฟรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า..จะสามารถขยายความจากข้อความใน power point ได้ เนื่องจากไม่สามารถลงคำบรรยายได้ทั้งหมด รวมทั้งการฝึกพูดเชื่อมต่อแต่ละเฟรม ให้ลื่นไหลไปด้วยกันอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด การทำงานในขั้นตอนนี้ ต้องทำซ้ำๆหลายๆหน เนื่องจากไม่คุ้นกับเนื้อหาวิชา การซ้อมรอบแรกๆไม่สามารถขยายความต่อจากที่ปรากฏตามเฟรมมากนัก แต่จะค่อยๆดีขึ้นในการซ้อมในช่วงหลังๆ ช่วงนี้จิตใจจะจดจ่ออยู่กับท่องเนื้อหา และตื่นเต้นกับการเตรียมตัวขึ้นเวที ความตื่นเต้นจะปรากฏสูงสุดในเช้าก่อนการบรรยาย
             วิทยากรใหม่เริ่มต้นติดขัด นานไปค่อยชัดเจนขึ้น การบรรยายครั้งแรกๆ ผู้เล่าให้ความสำคัญกับข้อความที่ปรากฏบนจออย่างมาก อาจมีอธิบายขยายความเพิ่มบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก นั่นเป็นเพราะไม่คล่องเนื้อหา ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะขยายความ หรืออาจมีแต่ตื่นเต้นเกินไปที่จะขยายความ การบรรยายจึงเป็นไปอย่างทื่อๆไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีการใช้มุขตลกให้ผู้ฟังผ่อนคลาย การนำเสนอจึงค่อนข้างกระชับ เสร็จแล้วก็มอบงานให้ฝึกปฏิบัติ การทำงานของผู้เล่าช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีความสุขในการทำงานเลย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเวลานั้น กรมฯมอบหมายให้มีการฝึกอบรมหลายรุ่นติดต่อกัน จึงมีผู้นำชุมชนกลุ่มเป้าหมายหมุนเวียนเข้าอบรมที่ศูนย์ศึกษาลำปางอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้กลายเป็นโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ การบรรยายในครั้งต่อๆมาจึงเป็นไปอย่างคล่องตัว ไหลลื่น มีมุขตลกเล่นกับผู้ฟังบ้าง ทำให้บรรยากาศการฝึกอบรมเป็นไปอย่างราบรื่น..ผู้ฟังได้ทั้งความรู้และบรรยากาศที่ดี สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้เล่ามีความสุขกับงานมากขึ้น ...
               เปลี่ยนวิชาบรรยาย ..เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นวิชาการ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองให้มีประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรบรรยายให้มากขึ้น ภายหลังจากบรรยายซ้ำๆหลายครั้ง จนมีความช่ำชองในเนื้อหาวิชานั้นแล้ว ผู้เล่าได้ขอปรับเปลี่ยนวิชาบรรยายเป็นวิชาอื่นๆที่สนใจ เพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม สิ่งนี้แสดงถึงความมั่นใจที่จะทำหน้าที่วิทยากรมากขึ้น มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ทำให้รอดตัว หรือผ่านพ้นไปเป็นครั้งๆเท่านั้น ผู้เล่าต้องพัฒนาตนเองอีกมาก ปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาตนเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่นอ่านให้มากๆ สมัครเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมต่างๆ โดยให้ความสนใจกับการฝึกอบรมด้านการพูดการสื่อสารและหรือแม้ไม่มีโอกาสเข้าฝึกอบรม ก็หาโอกาสชมบันทึกภาพการพูดของนักพูดที่มีชื่อเสียงต่างๆ ด้วยความมุ่งหวังว่าตนเองจะประสบผลสำเร็จในการเป็นวิทยากรบรรยาย นักฝึกอบรมที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ได้ขอรับคำแนะนำในการพัฒนาตนเองให้เป็นวิทยากรหรือนักฝึกอบรมที่ดี จากผู้รู้ทั้งหลาย ผ่านทาง Email address sa_ngad@yahoo.com
ขุมความรู้ การเป็นนักฝึกอบรมที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่ประกอบด้วย - มีความตั้งใจ จริงใจที่จะถ่ายทอด - การมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ - มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการถ่ายทอดความรู้ - มีความรักชอบที่จะทำงานตามบทบาทหน้าที่นักฝึกอบรม - มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสม เช่นบุคลิกดี พูดจาแล้วคนฟังรู้เรื่องเป็นต้น มีความกล้าและมั่นใจตนเอง - การเตรียมตัวบรรยายให้พร้อม ประกอบด้วยการรวบรวมเนื้อหาที่จะบรรยายทั้งหมดอย่างละเอียด แล้วจึงสรุปให้เป็นหัวข้อหรือประเด็นหลัก สำหรับทำ Power point ประกอบการบรรยาย มีการซักซ้อมการบรรยายให้แม่นเนื้อหา จะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด ขณะบรรยายควรแทรกเกล็ดความรู้ มุขตลกให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัว ไม่เบื่อหน่าย 
แก่นความรู้ การเป็นวิทยากรที่ดี ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่จะบรรยาย สื่อ อุปกรณ์ประกอบการบรรยาย การซักซ้อมเตรียมตัว ที่สำคัญคือมีความรักและชอบงานที่ทำ จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข 
บันทึกความรู้...ผ่านการจับคู่เล่าเรื่องกับคุณวิชัย ศรีสวัสดิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..