วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน




     




รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน.....กองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย.....
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นายแดง พูลน้อย  
ตำแหน่ง   ผู้ใหญ่บ้าน/ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย/ ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ที่อยู่    บ้านป่ากล้วย หมู่ 8 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

                ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ บ้านป่ากล้วยเป็นหย่อมบ้านบริวารของหมู่ที่ ๑ บ้านสะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีนายหลวง จงศรี เป็นคนแรกที่นำครอบครัวเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ และได้ตั้งชื่อว่า
“บ้านป่ากล้วย” ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้แยกออกมาเป็นหมู่ที่ ๘ ตำบลแม่สะเรียง มีหย่อมบ้านต่าง ๆ
รวมอยู่ด้วยกัน 9 หย่อมบ้าน 2 กลุ่มชาติพันธุ์ (คนพื้นเมืองและชนเผ่ากะเหรี่ยง) 2 ศาสนา ( พุทธและคริสต์ )
                ในปี พ.ศ.2548 บ้านป่ากล้วยได้รับพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ฯ แห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานทุนแม่ แต่ได้รับหนังสือกองทุนแม่ของแผ่นดินมาเล่มหนึ่ง จึงเริ่มจากการอ่านและศึกษาจนแตกฉาน แล้วเอาหลักการของกองทุนแม่ฯ มาปรับใช้ คือ เงินขวัญถุงพระราชทานนั้น เป็นของศักดิ์สิทธิ์..ต้องมีศรัทธา จึงจะเกิดปัญญา..วิธีการจึงเริ่มต้นจาก นำเงินขวัญถุงมาแลกเป็นแบงค์ยี่สิบ ผ่านพิธีปลุกเสกจากครูบาเจ้าที่ชาวบ้านนับถือ แล้วบูชาเป็นแบงค์ร้อยไป การบริหารจัดการเงินกองทุนแม่ฯ ให้คณะกรรมการฯ ดูแล ตัวผู้นำชุมชนหรือประธานกองทุนฯ ต้องไม่ถือเงินไว้  และจัดให้มีการประชาคมทุกครั้งในการทำงานเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ/การมีส่วนร่วม ร่วมกัน  กองทุนแม่ฯ ที่บ้านป่ากล้วยจึงเป็นตัวนำทุกเรื่องทุกกิจกรรมของชาวบ้าน/ชุมชน ทั้งเรื่องของการสร้างฝายกักเก็บน้ำ การบวชป่า การอนุรักษ์พันธ์ปลา การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน การพัฒนาเยาวชน ฯลฯ ถึงแม้โดยหลักของการขับเคลื่อนกองทุนแม่ฯ จะเป็นเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด..เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่ปัจจุบันบ้านป่ากล้วยไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดแล้ว จึงขยายผลการดำเนินงานไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยใช้เครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกัน และได้ขยายเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภาค  

                      วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
-          -ศึกษาจากเอกสารจนแตกฉาน
-          -เอาหลักการมาปรับใช้ ( ต้องมีศรัทธา.. จึงจะเกิดปัญญา )
-          -ใช้เครือข่ายทำงาน ( 2 วัด 2 โรงเรียน 2 โบสถ์คริสต์ )
-         - มีการประชาคมทุกครั้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม
-         - เป็นผู้นำ ไม่ถึอเงิน....ให้คณะกรรมการจัดการ
-          -ได้คนมีบารมีมาช่วย..( ครูบาศรีวิชัย.ครูบาผาผ่า ครูบาดวงดี ฯลฯ )
-          -สร้างเยาวชนสานต่อการทำงาน ( ฝึกเด็กกระเหรี่ยง รำโต รำนก )
-          -ขยายเครือข่ายกองทุนแม่ฯ ทุกระดับ
-          -ความสำเร็จของกองทุนแม่ฯ อยู่ที่ ใจ ครอบครัว ทีมงาน ปัจจัย และผู้สนับสนุน
      -ใช้กองทุนแม่ฯ นำทุกกิจกรรมในชุมชน 


ดร.ปรีดี โชติช่วง..ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมดในการขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านป่ากล้วย เป็นรูปธรรมของ “เครือข่าย”ทั้งนั้น ถึงแม้จะไม่ได้พูดคำว่าเครือข่ายก็ตาม และถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน” เพื่อให้การดำเนินงานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินขยายผลครอบคลุมและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น


                                               ผู้บันทึก... นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                 นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล

( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..