วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว..บ้านหลุกใต้ รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน


หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวบ้านหลุกใต้..
รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน
                  ..................................
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง..นายณรงค์ วงศ์กันทะ
ตำแหน่ง   กำนันตำบลนาครัว
ที่อยู่  บ้านหลุกใต้ หมู่ที่ 12 ตำบลนาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

        บ้านหลุกใต้ เป็นหนึ่งหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง คำว่า “หลุก” ที่เป็นชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน เรียกเพี้ยนมาจาก คำว่า “หลุบ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกังหันน้ำในปัจจุบัน เนื่องจากแต่เดิมลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำอยู่ต่ำกว่า หมู่บ้าน การจะนำน้ำมาใช้จึงเป็นการยากลำบาก จึงคิดนำหลุบมาใช้วิดน้ำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในอดีตชาวบ้านหลุกใต้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันบ้านหลุกใต้กลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้านการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง คนในหมู่บ้านสวนใหญ่จึงมีอาชีพแกะสลัก ในส่วนของการบริหารจัดการชุมชน ได้พยายามที่จะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และประสานงานกับหน่วยงานการศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ในการนำแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการขยายตลาดส่งออกไม้แกะสลักบ้านหลุกใต้อย่างต่อเนื่อง  ไปยังแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ฯลฯ และมีการต่อยอดเพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ  ขยายผลอาชีพแกะสลักของคนในชุมชนสู่ การยกระดับหมู่บ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านศึกษาดูงาน จัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อพบปะกันในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ก่อกำเนิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่เน้นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในการแกะสลักไม้  เมื่อมีคนมากลายศึกษาดูงานมากขึ้น  จึงพัฒนาบ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งจากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชน และเป็นการป้องกันการรั่วไหลของแรงงานในหมู่บ้าน  เน้นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้านโดยเข้าร่วมกิจกรรม Road Show ในงานแสดงสินค้าที่หน่วยงานราชการได้จัดขึ้น และส่งเสริมให้คนในชุมชนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต  

               วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
           -ใช้ภาคีเครือข่ายในการทำงาน..
          -ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา(ม.ธรรมศาสตร์) 
            ในการออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ
          -ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
          - ขยายตลาดส่งออก(ไม้แกะสลัก) อย่างต่อเนื่อง
          -ต่อยอดสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ส่งออกต่างประเทศ
          - ยกระดับหมู่บ้าน เป็นแหล่งศึกษาดูงานและเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว 
             ( ลานหลุก ล่องน้ำจาง เสาร้อยต้น นกเป็ดน้ำ ดอกบัว วัดบ้านหลุก สะพานไม้เก่า ฯลฯ )
          -รวมกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ในการแกะสลักไม้
          -ป้องกันการรั่วไหลของแรงงานออกจากหมู่บ้าน ภายใต้แนวคิด..สร้างรายได้ในชุมชน
          - เน้นการประชาสัมพันธ์..ร่วมกิจกกรรม Road show แสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง
          - ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินชีวิต
          -ภายใต้แนวคิด..มาเที่ยวบ้านหลุก ไม่ใช่แค่มาดูไม้แกะสลัก แต่คือความหลากหลายของวิถีชุมชน  

ดร.ปรีดี โชติช่วง...ให้ข้อคิดข้อเสนอแนะเพิ่มเติม...
          บ้านหลุกใต้ได้ถูกยกระดับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP จึงควรมีศูนย์ประสานงานแนะนำหมู่บ้าน (ฐานการเรียนรู้) โดยพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้านให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยภาคภาษาอังกฤษ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เป็นมัคคุเทศก์  โดยจัดทำหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์แนะนำหมู่บ้าน มีใบประกาศนียบัตรรับรอง ในส่วนของที่พักโฮมสเตย์ควรได้รับมาตรฐานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรเพิ่มการจัดกิจกรรมการแสดงภาคค่ำให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ขันโตก วงดนตรีพื้นเมือง (สะล้อ ซอ ซึง) การละเล่นพื้นเมืองอื่นๆ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ คิดอัตราค่าบริการกับนักท่องเที่ยวรายบุคคล การส่งเสริมวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงให้จัดทำนาข้าวสาธิต (โรงเรียนนาข้าว) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาดูงานและทดลองทำนาในพื้นที่จริง มีการแจกใบประกาศนียบัตรให้กับนักท่องเที่ยวและถ่ายรูปกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่มาเยือนติดไว้ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อสานสัมพันธ์เครือข่าย ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง เน้นการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น การทอดแห ตกปลา ปลูกผลไม้พื้นบ้าน ฯลฯ

                                                               ผู้บันทึก... นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                                 นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล
                            ( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/
          โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558

                               วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..