วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรชุมชน



           รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่าย
                   ขององค์กรชุมชน....
   โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา

ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นางสาวรวินท์นิภา ฤาชัย
ตำแหน่ง  ประธานกรรมการฝ่ายตรวจสอบ 
               กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
               บ้านปัญจะพัฒนา / สมาชิกองค์การ
               บริหารส่วนตำบลแม่สาว
ที่อยู่   บ้านปัญจะพัฒนา หมู่ที่ 11 ตำบลแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


 
บ้านปัญจะพัฒนา ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 180 กิโลเมตร ในอดีตการเก็บรักษาเงิน การออมเงิน จะเก็บไว้ตามขื่อแปบ้าน เนื่องจากไม่มีธนาคารรับฝากเงิน ในปี พ.ศ.2540 พัฒนาการอำเภอแม่อายในสมัยนั้น นายชัชวาล จันทร์แก้ว ได้มาให้แนวคิดเรื่องการออมทรัพย์ และเริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปัญจะพัฒนาขึ้น เดิมใช้บ้านประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นที่ทำการ ต่อมาจึงซื้อที่ดินในชุมชน สร้างที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนาขึ้น  ปัจจุบัน...มี กิจกรรมเครือข่ายที่กลุ่มออมทรัพย์ฯสนับสนุนการดำเนินงาน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผล ในรูปของกิจกรรมร้านค้าชุมชน กลุ่มจักสานผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพสตรีทำแหนม และกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นต้น
          ในปี พ.ศ.2553 กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา ได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มออมทรัพย์ฯดีเด่น ของจังหวัดเชียงใหม่  ปี พ.ศ.2554 ได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้กลุ่มออมทรัพย์ฯบ้านปัญจะพัฒนา ยกระดับเป็น “ศูนย์ศึกษาและพัฒนากลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา” ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมวิทยากรศูนย์ศึกษาและพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ฯ จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง เข้ารับการอบรมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนจากกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่อาย ประสานวิทยากรจากธนาคารออมสินอบรมด้านการจัดทำบัญชี ในปี พ.ศ.2553 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา และได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน เป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์ดีเด่นในระดับภาคเหนือ ที่มีการบริหารจัดการดี และทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ประสบการณ์ ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ด้านการจัดทำบัญชี การตรวจสอบบัญชี และการขยายเครือข่ายกิจกรรม ให้กับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯที่สนใจและเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน
            วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล..
-          คณะกรรมการจะพูดคุยกันก่อนทำงานทุกครั้ง
-          คณะกรรมการเป็นผู้หญิงล้วน ทั้ง 14 คน เป็นปัจจัยสำคัญในการพูดคุยทำความเข้าใจ
           ร่วมกันได้ง่าย
-          มีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน
-          กรรมการทุกคน ไม่รับค่าตอบแทน ...ทำงานด้วยใจ
-          ฟังเสียงสะท้อนกลับจากชาวบ้าน
-          เรียนรู้จากการศึกษาดูงานทุกปี ( จากงบฯ 15% ที่หักเข้ากองกลางไว้ )
-          มองคนมาเรียนรู้..เป็นครู
-          สร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
-          พัฒนาระบบบัญชี ( บัญชีปิดงบ ในหน้าเดียว/ใช้ระบบอิเลคทรอนิก )
-          มีฝ่ายที่ปรึกษาสนับสนุนการดำเนินงานฯและวิชาการอยู่ในพื้นที่/ชุมชน
           (อดีตพัฒนาการอำเภอ นายชัชวาล จันทร์แก้ว/ผู้ใหญ่บ้าน นายพิชัย ทรงรักษา )




ดร.ปรีดี โชติช่วง ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการพัฒนาโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านปัญจะพัฒนา ทั้งในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนฯ การจัดทำเป็นชุดความรู้ในแต่ละวิชา การพัฒนาทีมวิทยากรของโรงเรียนฯ สามารถใช้ปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นวิทยากรร่วมในหลักสูตร  ทำการประเมินผลการดำเนินงานทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินงาน การออกใบรับรองการผ่านหลักสูตรจากทางโรงเรียนฯลฯ 


                                                                                                 ผู้บันทึก.... 
                                                                        - นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                        - นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล

( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” 
ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..