วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอกบัว..รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน




รูปแบบการขับเคลื่อนเครือข่ายขององค์กรชุมชน
...หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอกบัว..
ผู้นำเสนอ/เล่าเรื่อง...นายบาล บุญก้ำ
ตำแหน่ง  ผู้ใหญ่บ้าน
ที่อยู่   บ้านดอกบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

          
บ้านดอกบัว... เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า เริ่มแรกมีบ้านอยู่ 2 หลังเท่านั้น จากครอบครัวของปู่ติ๊บ กับย่าสมนา ซึ่งเดิมเป็นคนบ้านตุ่นกลาง เป็นคนทำไร่ใส่สวน เลี้ยงสัตว์ เห็นพื้นที่ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพ จึงย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก หลังจากนั้นปู่บัวก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย จนเช้าวันหนึ่ง  ปู่บัวแกเป็นคนเคี้ยวหมาก จึงลงไปเก็บใบพลู อยู่ๆก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดมาก่อน คือ เสือได้ตระครุบและกัดปู่บัวจนตาย ณ ที่นั้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านบัว (บ้านดอกบัว)  และบ้านบัว (ดอกบัว) ยังเป็นหมู่บ้านหลักนักพัฒนา หมู่บ้านพึ่งตนเอง อยู่ในการปกครองของกำนันดีเด่นปี 2551 และเป็นหมู่บ้านที่ผ่าน ระบบ มชช. ปี 2551
          ในปีพ.ศ.2539 เกิดปัญหาการตกค้างของสารพิษจากการทำเกษตรกรรม  ผู้นำชุมชนมีแนวคิดที่จะลด ละ เลิก สารเคมี และนำพาหมู่บ้านเข้าสู่โครงการครัวเรือนรณรงค์ปลูกผักปลอดสารพิษ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้  เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์   โดยจัดตั้งกลุ่มข้าวอินทรีย์และขยายผลในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์ ผลักดันให้เกิดโรงเรียนชาวนา รณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพ (กินเค็ม/ดื่มสุรา ฯลฯ) มีการบริหารจัดการน้ำ (อ่างห้วยตุ่น) กั้นน้ำเป็นขั้นบันได ก่อให้เกิดการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รณรงค์ครัวเรือนคัดแยกขยะ โดยทุกวันที่ ๗ ของเดือนจะมีรถมารับซื้อขยะที่ผ่านการคัดแยก  กิจกรรมเหล่านี้ผู้นำชุมชนได้ร่วมกับชาวบ้าน วิเคราะห์ปัญหาผ่านการทำประชาคมในทุกเดือน
          ในส่วนของการบริหารจัดการชุมชน มีการเปิดเวทีประชาคมถามความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๐ คุ้ม  มีการส่งประกวดหมู่บ้านมั่งมีศรีสุข รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ยึดหลักความปรองดองไม่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน  ยึดหลักการปกครองใน  รูปแบบโมเดลรถยนต์ที่ว่า...ชาวบ้านถือพวงมาลัย พ่อหลวงเป็นล้อหน้า ส.อบต เป็นล้อหลัง และขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน  

                                                             วิธีคิด..วิธีปฏิบัติที่ได้ผล...
          -ร่วมกันแก้ไขปัญหาจาก “ปัญหาร่วม” จะประสบความสำเร็จ และได้การมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน เพราะมีการวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน  *ยกตัวอย่างกรณีมีคนป่วยต้องการเลือด ส่งคนไปบริจาคเลือดสิบคน ปรากฏว่าตรวจเจอแต่สารพิษในเลือด เป็นที่มาของการทำโครงการ “ลด ละ เลิก สารพิษในครัวเรือน”
          -น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จริง
          -ให้โอกาสชาวบ้านทุกคน ผ่านเวทีประชาคม   เช่น ตกลงกันว่าจะห่อข้าวมากินกันเอง (ไม่ใช้งบประมาณ)  ถ้ามีงานศพ จะไม่มีเหล้าในวันล้างผาม  ในงานหรือกิจกรรมของหมู่บ้าน จะใช้น้ำเปล่าเท่านั้น อาหารก็จะเป็นอาหารพื้นบ้าน
          -บทสรุปของทุกเรื่องต้องมาจากการพูดคุยกัน( อู้จ๋าร่วมกัน)
                    -ตัวอย่างเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ประเด็นเรื่องโรคความดันสูง จะมีการพูดคุยวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง อสม.กับชาวบ้าน
          -ใช้วัสดุท้องถิ่นในการส่งเสริมอาชีพเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปและต่อยอด
          -วางระบบการบริหารจัดการน้ำ (จากอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น)
          การปิดเปิดน้ำอย่างเป็นระบบ เปิดให้พื้นที่ต้นน้ำ 10 วัน พื้นที่กลางน้ำ 10 วัน และพื้นที่ปลายน้ำ 10 วัน หมุนเวียนกันไป
          -จัดการขยะให้เป็นเงิน   แยกถุงพลาสติก  แยกขวดแก้ว กองรวมกันไว้  ส่วนที่เป็นน้ำแกง เศษอาหารจะเอาไปรวมกันไว้ที่กองทำปุ๋ยหมัก ทุกวันที่ 7 ของเดือน จะมีรถขยะมารับซื้อ
          -เรียนรู้และปรับใช้ จากการศึกษาดูงาน โดยเก็บข้อมูลทั้งหมดมาสู่หมู่บ้านและ นำข้อมูลมาปรับใช้ในหมู่บ้าน
          -ให้สิทธิความเท่าเทียมกันในชุมชน
          -ใช้เวทีประชาคมหาความต้องการของชุมชน โดยจัดแบ่งหมู่บ้านเป็น 10 คุ้ม แต่ละคุ้มมีการเลือกคณะกรรมการคุ้มกันเอง ทำประชาคมหาความต้องการในคุ้มของตนเอง (215 ครัวเรือน)
          - ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ..ในการทำทุกกิจกรรม/โครงการในชุมชน จะมาจากใจชาวบ้าน มาจากทุนของชุมชนเอง


ดร.ปรีดี โชติช่วง..สรุปภาพรวม รูปแบบเครือข่าย..ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..ที่บ้านบัว การทำงานมีทั้งเครือข่ายผู้นำ เครือข่ายองค์กร เครือข่ายพื้นที่ เครือข่ายการสื่อสาร เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายเงินทุน เครือข่ายอาชีพ และเครือข่ายนวัตกรรม...
       

                                                          ผู้บันทึก...
                                                                    นางอัญชลี ป่งแก้ว นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
                                                                    นางสาววชิรญาณ์ แย้มเยื้อน นักทรัพยากรบุคคล
( เวทีแลกปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน..สู่การสร้างเครือข่ายผู้นำการพัฒนา/โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ   ”เครือข่ายผู้นำการพัฒนา:พลังขับเคลื่อนชุมชน” ประจำปี 2558 วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2558 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง )

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..