วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

เวทีเครือข่ายนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน(1)


              ภายหลังจากเริ่มดำเนินการ เครือข่ายนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน โดยเปิดรับสมัครสมาชิกจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจาก ๘ จังหวัด ทุกตำแหน่ง ทุกระดับ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากทุกท่านด้วยดี ปัจจุบันเรามีนักพัฒนา ผู้ร่วมบุกเบิกเครือข่าย ๒๒๖ ชีวิต นับเป็นสิ่งดีดี ที่หวังว่าการก้าวเดินของเครือข่าย จะก้าวไปตามแนวทางที่สมาชิก คอยย้ำเตือนว่า “เน้นคุณภาพ ช้าช้า แต่ให้ยั่งยืน”

                   ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ต้องการให้เครือข่ายแห่งนี้ “เป็นเครือข่ายของพวกเรา” หมายความถึงการเป็นครอบครัวพัฒนาชุมชนเดียวกัน จึงได้เชื้อเชิญเพื่อนพ้อง น้องพี่ ผู้แทนจาก ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนมาพบปะ เพื่อพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน การหารือเรื่องจะทำงานเครือข่าย ไปข้างหน้าอย่างไร   ซึ่งเวทีที่พูดคุย เน้นถึงความเป็นพี่เป็นน้อง รับฟังอย่างตั้งใจ จากทุกความเห็น เพื่อหลอมรวมเป็นความเห็นร่วมกันและเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

                   ก้าวแรกของการจัดเวที ศูนย์ฯ เห็นถึงความตั้งใจจากทุกท่าน ในการพูดคุย ให้ความเห็น เป็นบรรยากาศที่ขาดหายไปนานพอสมควร ในมวลหมู่นักพัฒนา หลายคน บ่นเสียดาย ทั้งในด้านเวลาที่คุยกันน้อยไปหน่อยและคิดถึงทุกท่าน ที่น่าจะมาพบหน้าพบตากัน หากมีโอกาสหรือปัจจัยสนับสนุนมากกว่านี้ ในฐานะครอบครัวเดียวกัน จึงขอนำเรื่องราวที่คุยกัน มาแบ่งปันต่อทุกท่าน และหวังว่า เราคงมีโอกาสในการทำงานร่วมกัน ในนามของ “เครือข่ายนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือตอนบน” ต่อไป

ภาคเช้า

เวลาราว ๐๙.๔๕ น. การพูดคุยของทุกคน ได้เริ่มต้นขึ้น เราชวนคุยกันในเรื่องที่ไม่เป็นทางการนัก
แต่ก็สร้างความรู้สึก ความนึกคิดร่วม ได้ดีทีเดียว ประเด็นแรกที่จั่วหัว เหมือนยั่วให้คิด คือ เรื่อง คนพัฒนาชุมชนและงานพัฒนาชุมชน หลังจากโยนประเด็นให้ไป มีเรื่องราวหลั่งไหลมาจากหลายจังหวัด ทั้งด้านที่น่าภูมิใจ    และด้านที่น่าอดห่วงไม่ได้ต่องานพัฒนาชุมชน แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นและรับรู้ คือ ทุกคนภูมิใจและยังต้องการพัฒนางานพัฒนาชุมชน ให้ดีกว่าเก่า เป็นสิ่งที่ประทับใจเสมอ ยามคนพัฒนาชุมชน ได้พูดคุยกัน หลังจากนั้นเราได้เปิดประเด็นใหม่ๆ เป็นต้นว่า สิ่งที่ดีดีในการทำงาน สิ่งที่คิดว่ายังไม่ดี น่าเป็นห่วง และปัญหาต่างๆ   ขอสรุปเป็นประเด็นตามที่ได้พูดคุยกัน ดังนี้

การพูดคุยในประเด็น “มุมมองของคนพัฒนาชุมชน ต่อการทำงานชุมชน”
-ขาดการอบรมเสริมสร้างอุดมการณ์นักพัฒนาของคนรุ่นใหม่
-คนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับการทำงานของพัฒนากรรุ่นพี่
-ขาดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงาน
-ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ในเรื่อง ความก้าวหน้า และการดูแลทุกข์สุข
-ขาดการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์การทำงานจากรุ่นสู่รุ่น
-การทำงานไม่ชัดเจน ไม่ลงพื้นที่ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น
-พัฒนากรเลือกทำงานเฉพาะถนัด ทำงานเฉพาะตัว
-ผู้บริหาร(บางคน)ขาดความเป็นธรรม ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น
-ขาดความเชื่อมั่นในการทำงาน ความมั่นใจในการทำงานเริ่มลดลง
-ขาดความรู้ ทักษะ เฉพาะทาง และความรู้ใหม่ๆ

การพูดคุยในประเด็น “มุมมองต่องานพัฒนาชุมชนในวันนี้”
 ภาพการทำงานไม่ชัดเจน ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง
 งานของกรมฯ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
 อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปลี่ยนบ่อย
 เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน มีการปรับตัวในการทำงานมากขึ้น
 งานพัฒนาชุมชนในอำเภอ ต้องทำตามหน่วยงานอื่น เช่น ปกครอง
 งานพัฒนาชุมชน ควรยึดงานเศรษฐกิจพอเพียง แผนชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ OTOP
 พัฒนากรเป็นที่ยอมรับในเรื่อง วิทยากรกระบวนการ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน แผนชุมชน
 งานพัฒนาชุมชน เป็นการสร้างคน สร้างจิตสำนึกแก่ชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ฯ
 งานพัฒนาชุมชน มีกลุ่ม องค์กร ผู้นำ ให้การสนับสนุนการทำงาน
 งานพัฒนาชุมชน คือ งานสร้างศรัทธาแก่ชุมชน
 ควรมีการจัดการความรู้ในงานพัฒนาชุมชน
    
                การพูดคุยในประเด็น “สิ่งที่ดีดีที่ภูมิใจในการทำงานพัฒนาชุมชน”
  • การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน
  • การได้รับการยอมรับด้านการจัดทำแผนชุมชน
  • การบูรณาการการทำงานจากหน่วยงานต่างๆและเป็นที่ยอมรับ
  • ชาวบ้านศรัทธา ให้การยอมรับ เป็นที่ปรึกษาแก่ชุมชน
              การพูดคุยในประเด็น “สิ่งที่ยังคิดว่าไม่ดีในการทำงานพัฒนาชุมชน”

* การประสานงานกับพื้นที่โดยการใช้โทรศัพท์มากขึ้น
* งบประมาณสนับสนุนการทำงานมีจำกัด
* ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้บริหาร
* รายงานมีจำนวนมาก(ปัญหาอมตะ)
* มีองค์กรทำงานคล้ายกับกรมฯ หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน
* ขาดอัตลักษณ์ของงานพัฒนาชุมชน
* ขาดการสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

              การพูดคุยในประเด็น “ปัญหาการทำงานในพื้นที่”

 ขาดการติดตามสนับสนุนการทำงานกับกลุ่ม องค์กร อย่างต่อเนื่อง
 การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น
 ขาดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
กลุ่ม องค์กรในพื้นที่ มีหน่วยงานสนับสนุนที่มีความพร้อมด้านงบประมาณมากกว่า กรมฯ


                 ประเด็นทั้งหมดที่สรุปได้ อาจขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่ตลอดเวลาที่ได้ร่วมในบรรยากาศ
ของคน พช. เกิดความรู้สึกที่อยากทำงาน พช. ต่อไป บางครั้งก็ยังท้อ ต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป เวลาในการพูดคุย เดินไปเร็วมาก จนเลยมื้อกลางวันไปพอสมควร จึงต้องยุติหน้าที่การพูดคุย เปลี่ยนไปเป็นการสร้างพลัง..เพื่อเดินทางต่อไปภาคบ่าย..

พิเชฎฐ์ อาจสามารถ/เขียน...บันทึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..