วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หนึ่งความภูมิใจจากการเป็นวิทยากรกระบวนการ..

                              
ชื่อ –นามสกุล นายเทพ วงศ์สุภา
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก ๐๘๙-๔๖๐๕๘๗๕
ชื่อเรื่อง หนึ่งความภูมิใจจากการเป็นวิทยากรกระบวนการ
เป็นความสำเร็จเกี่ยวกับ การจัดเวทีติดตามความก้าวหน้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
สถานที่เกิดเหตุการณ์ วัดร่องเคาะหมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
เนื้อเรื่อง....ผู้เขียนได้จัดเวทีกลุ่มเป้าหมายตามโครงการการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านร่องเคาะ พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่มา จัดเวทีในลักษณะครึ่งวงกลม เริ่มด้วยการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมดพร้อมกัน ตั้งแต่การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการวางแผนปฏิบัติของแต่ละครัวเรือน โดยพยายามให้ได้คำตอบจากกลุ่มเป้าหมาย ทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง บางทีก็มีการพูดกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้างในบางโอกาส เพื่อไม่ให้เคร่งเครียดเกินไป
               หลังจากนั้น ได้ให้เป้าหมายแต่ละคนพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาว่าทำอย่างไร ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง อะไรทำให้สำเร็จ และจะทำอะไรต่อไปอย่างไร หลังจากที่แต่ละคนพูดจบ กระตุ้นให้มีการซักถาม แลกเปลี่ยน กระบวนการที่ให้กลุ่มเป้าหมายเล่าแบบธรรมชาติ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่เครียด ได้ข้อมูลตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่สิ่งที่ได้เกิดคาด คือ ทำให้รู้สึกความผูกพันระหว่างกลุ่มเป้าหมาย ที่ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ทุกคนมีความตั้งใจ ว่าจะทำเป็นตัวอย่างครัวเรือนอื่นๆ บางคนได้ขยายผลสู่ครัวเรือนข้างเคียงบ้างแล้ว นายประจัญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “ปลาดุกที่ผมเลี้ยง มีชาวบ้านใกล้เคียงได้มาดูและนำไปเลี้ยงแล้วหลายครอบครัว” กลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ เราควรมีการพบปะพูดคุย อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง” ในขณะที่อีกคนเสริมว่า “เราเวียนไปแต่ละบ้านก็ได้ ไปบ้านใครก็ให้เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังพร้อมๆ กับพาไปดูได้ทำอะไรบ้าง เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง” หลังจากนั้นการกำหนดเวทีสัญจรครั้งแรกก็เกิดขึ้น
               การจัดเวทีครั้งนี้ตามความคิดของผู้เขียน คิดว่านอกจากได้ผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ได้เห็นความผูกพันของกลุ่มเป้าหมาย ยังได้เห็นแนวทางขับเคลื่อนระยะต่อไปอีกด้วย โดยผู้เขียนเพียงแต่จัดเวทีกระตุ้นให้มีการพูดคุยกัน สร้างบรรยากาศ ให้เกียรติ ให้ความเคารพ ให้ความสำคัญกับผู้เข้าร่วมเวที
บันทึกขุมความรู้
๑. การสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้
๒. การกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยน
๓. การพัฒนาคนโดย เปิดโอกาสให้แต่ละได้นำเสนอผลงานของตนเอง
๔. กระบวนการเรื่องเล่า
แก่นความรู้
               ทักษะการจัดเวที “ สร้างบรรยากาศที่ดี มีความต่อเนื่องในการกระตุ้น มุ่งพัฒนาคน โดยให้เล่าผลของงาน”
กลยุทธ์ในการทำงาน
๑. สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง
๒. ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
๓. เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง
๔. กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน
๕. สร้างความภาคภูมิใจในเรื่องที่เล่า
แนวคิด
๑. การเรียนรู้ของผู้ใหญ่
๒. ปรัชญาการพัฒนาชุมชน ที่เน้นศักดิ์ศรีของคน การให้โอกาสคน
๓. การมีส่วนร่วม
๔. การสรุปบทเรียนการทำงาน
๕. การเป็นวิทยากรกระบวนการ