วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รำลึกถึง..ศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่


           วันนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง มีโอกาสต้อนรับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลขัวมุง พ่อมนัส เศรษฐเสถียร ( อดีตกำนันตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแห่งแรกของประเทศไทย..) ท่านมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้นำ/แกนนำชุมชนตำบลขัวมุง ที่มาอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา ที่ศูนย์ฯลำปาง ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2555 ..

              มีเรื่องเล่ามากมาย..จากประสบการณ์ของพ่อมนัส ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า..ที่พ่อมนัสได้ร่วมทำงาน ร่วมอุดมการณ์..กับกรมการพัฒนาชุมชนตลอดมา..
และหนึ่งในที่สุดของความภาคภูมิใจ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้บันทึกเรียบเรียงไว้คือ พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ศูนย์สารภี ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระหว่างปีพุทธศักราช 2518 - 2521

ความเป็นมา..ของศูนย์สารภี..
                        กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย  ได้จัดรูปแบบโครงการสารภี มาทดลองดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในชนบท ในท้องที่ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เทคนิค และเงินทุนประกอบอาชีพ ปัญหาสุขภาพและอนามัย มุ่งพัฒนาโดยเน้นหนักด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ เพิ่มผลผลิต และปรับปรุงวิธีการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยเริ่มทดลองดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 และประสบผลสำเร็จพอสมควร

                   ต่อมาในปี พ.ศ.2515 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิการศึกษาและประชาสงเคราะห์ ได้นำรูปแบบโครงการสารภีมาขยายผล โดยคัดเลือกท้องที่จัดตั้งศูนย์สารภีขึ้น ที่บ้านหัวดง หมู่ที่ 6 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา สร้างอาคารถาวรในศูนย์ฯ จำนวน 4 หลัง บ้านพัก 1 หลัง ระยะแรกดำเนินการในลักษณะศูนย์ช่วยเหลือ แนะนำ และสาธิตด้านวิชาการและการปฏิบัติ เน้นการเกษตรและสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาเพิ่มบทบาทในลักษณะศูนย์กลางบริการทางวิชาการ และศูนย์กลางในการปกครองและพัฒนาของตำบล

                จากบทบาทภารกิจของศูนย์สารภีในสมัยนั้น สร้างผลงานและชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด  ทั้งในด้านการฝึกอบรมให้ความรู้ แหล่งสาธิต แหล่งศึกษาดูงาน เช่น การทำเต้าเจี้ยว ทำน้ำปลา การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงหมู การตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ  ทำให้เป็นที่สนใจของราชสำนัก โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เลขาราชสำนัก ได้มาประสานข้อมูลกิจกรรมของศูนย์สารภี      จากนายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น  และนำข้อมูลของศูนย์สารภี  ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ซึ่งได้รับความสนพระทัยจากพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์  ณ  ศูนย์สารภี


กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมราษฏรในตำบลเข้าเฝ้ารับเสด็จและกล่าวถวายรายงานต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี


ในปี พ.ศ.2518 สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ทรงประทับในอาคารศูนย์สารภี และมีกำนันมนัส เศรษฐเสถียร เป็นผู้ถวายรายงานกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์ฯ


                                                       

                                                                  สมุดเซ็นเยี่ยมที่ทรงลงพระปรมาภิไธย
ในการมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำบลขัวมุง  อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่





นายมนัส เศรษฐเสถียร  กำนันตำบลขัวมุง และข้าราชการในพื้นที่กล่าวถวายรายงานต่อ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ณ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 



พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2519

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์สารภี ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2519  กำนันมนัส เศรษฐเสถียร ถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์สารภีและนำเสด็จพระราชดำเนินรอบๆบริเวณศูนย์ฯ

                                

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้ากล่าวถวายรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

                    

กำนันมนัส เศรษฐเสถียร กำนันตำบลขัวมุง  พร้อมข้าราชการในพื้นที่ เข้าเฝ้าถวายรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ


นายสวงค์ วงศ์สิทธิ์    พัฒนากรประจำตำบลขัวมุงและกำนันมนัส  เศรษฐเสถียร 
ถวายรายงาน การดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์สารภีต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 


                     ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชดำรัสให้ราษฎรซึ่งเป็นเกษตรกรที่มารับเสด็จ ได้ทดลองปลูกสตอเบอรี่ในพื้นที่ตำบลขัวมุงเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและฟางข้าวที่ใช้ปกคลุมแปลงสตอเบอรี่มีพวกปลวกมาอาศัยกัดกินเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูกสเตอเบอรี่ที่ตำบลขัวมุง ในปี พ.ศ.2520  ได้มีการเปลี่ยนพื้นที่ทดลองปลูกสตอเบอรี่ไปที่ตำบลช่างเคี่ยน อำเภอเมืองเชียงใหม่แทน ...

พระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จศูนย์สารภี และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ตำบลขัวมุง 
- ทรงเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่บริเวณวัดขัวมุง และทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อกำนันตอบในหลวงว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองได้มีโอกาสทำมาหากิน..พระองค์ตรัสว่า เท่านี้ไม่พอหรอก..ต้องลึกกว่านั้น เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ถ้าเอาสีดำมาจุด ก็จะเป็นสีดำ..ฝากไว้ด้วย
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสแนะนำเรื่องการดูแลรักษาดินให้ราษฎรตำบลขัวมุง ซึ่งปลูกกระเทียมกันเต็มพื้นที่ว่า..การปลูกกระเทียมทุกปีและใส่ปุ๋ยเคมีด้วยนั้น ทำให้ดินแข็ง...จะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชถั่วสลับบ้าง เพื่อปรับสภาพดินให้ดีขึ้น..



นายนวล  ชื่นดวง  พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่และคณะข้าราชการ
นำเสด็จพระราชดำเนินบริเวณรอบศูนย์สารภี  เพื่อทรงทอดพระเนตรงานและกิจกรรม
ของศูนย์ที่ได้ทรงพระราชดำรัสไว้เมื่อปีที่ผ่านมา


ศูนย์สารภี..ตำบลขัวมุง ปีพุทธศักราช 2520


              

           เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2521
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ศูนย์สารภีอีกครั้งหนึ่ง ..ทรงพระดำเนินไปวัดขัวมุง และเมื่อทอด      พระเนตรเห็นต้นยางต้นใหญ่ที่วัดมีฝูงผึ้ง  มาทำรังกว่าเจ็ดสิบรัง ทรงตรัสถามกำนันมนัสว่า  เอาผึ้งไปไหน เมื่อทรงทราบว่าทางกรรมการวัดให้คนมาเอาผึ้งขายทุกปี  ในหลวงตรัสว่า  
เขาหนีจากข้างนอกมาอยู่วัด ยังฆ่า
เขาอีกหรือ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีการทำร้ายผึ้งในวัดขัวมุงอีกต่อไป จนถึงทุกวันนี้..ต้นยางต้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นต้นยางที่สูงเป็นอันดับที่สามของประเทศและมีฝูงผึ้งมาทำรัง      อาศัยอยู่เป็นประจำทุกปี....

                        


        หม่อมหลวงภีศเดช  รัชนี, กำนันมนัส เศรษฐเสถียร และคณะข้าราชการในพื้นที่นำเสด็จพระราชดำเนินชมกิจกรรมและรับฟังผลการดำเนินของศูนย์สารภี




                                                   
      
นายสม วุฒิ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10                            นายนา ยานวงศา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9
และเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม                                 และเกษตรกรในพื้นที่ ถวายกระเทียม
ในพื้นที่ตำบลขัวมุงถวายกระเทียม                       ให้ในหลวงฯ
ให้ในหลวงฯ

มองศูนย์สารภี..ในวันนี้..
( 28 มกราคม 2552 )

 ปัจจุบัน..ศูนย์สารภีถูกแบ่งเนื้อที่ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลขัวมุงเพื่อสร้างเป็นอาคารที่ทำงานของอบต.ขัวมุง แต่การบริหารจัดการของศูนย์สารภียังคงอยู่ในการกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน โดยมีนายพิเชษฐ์ ภักดีเป็นนักการภารโรงอยู่ 1 ตำแหน่ง.. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคงอยู่ของกิจกรรมในศูนย์สารภี เนื่องจากเป็นอดีตผู้นำเยาวชนของตำบลขัวมุง ที่ได้เข้ารับการพัฒนาและทำกิจกรรมในศูนย์สารภี จนมีความรักความผูกพันในงานพัฒนาชุมชน อีกทั้งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสามารถเป็นวิทยากรให้คำแนะนำส่งเสริมอาชีพการเกษตรให้กับผู้สนใจทั่วไป ทั้งเรื่องการเพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่สามสายพันธุ์ การทำก๊าซชีวภาพ ฯลฯ..



                ศูนย์สารภี..ที่ขัวมุง..เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ได้เสด็จมาถึง 4 ครั้งในระยะเวลา  4 ปี จึงควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม  เพื่อบูรณะ  ปรับปรุง  และรวบรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ไว้   เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ และสืบทอดองค์ความรู้ต่อไป...

                                                         
                                    
                                  ผู้ให้ข้อมูลและเอื้อเฟื้อภาพประกอบ...1.นายมนัส เศรษฐเสถียร
                                                                                          2.นายพิเชษฐ ภักดี
                                                                                          3.สำนักงานพัฒนาชุมชน
                                                                                             อำเภอสารภี 

                                              ผู้รวบรวมเรียบเรียง..บันทึกคำบอกเล่า..
                                                                                        1.นางอัญชลี ป่งแก้ว
                                                                                        2.นายสมศักดิ์ สันชมภู 
                                                                                        3.นายธาดา ธีระวาทิน                                            
                                                                                                                          
                                                                            วันที่บันทึก....28 มกราคม 2552..



























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..