วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสำเร็จ..การขับเคลื่อนหมู่บ้านตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี” ที่บ้านร่องเคาะ

เจ้าของความรู้ : นายเทพ วงศ์สุภา
ตำแหน่ง :  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๙-๔๖๐๕๘๗๕

สถานที่เกิดเหตุการณ์ : บ้านร่องเคาะหมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

ผู้เขียนได้มีโอกาส รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่ดี กินดี”
ประจำปี ๒๕๕๓ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่บ้านร่องเคราะห์ หมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
            ผู้เขียนมีแนวคิดในการทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกัน ที่คนทางเหนือ เรียกว่า เป็นเรื่องของ “หน้าหมู่” มีการจัดประกายให้คนในชุมชนให้เกิดความตระหนัก นำไปสู่การมีส่วนร่วมในชุมชนในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาหมู่บ้าน
             การเข้าไปดำเนินการของบุคคลภายนอกจะต้องเข้าไปเรียนรู้ การดำเนินงานของชุมชนที่อยู่ก่อนแล้ว นั้นคือ ต้องเข้าไปศึกษาว่าทุนทางสังคมของชุมชน มีอยู่อย่างไร เพราะชุมชนทุกชุมชนมีภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย ในชุมชนมีทุนต่างๆอยู่แล้ว เช่น ทุนบุคคล ทุนด้านวัฒนธรรม ทุนการจัดการ ทุนเครือข่าย ซึ่งทุนทางสังคมเหล่านี้ จะส่งผลต่อกระบวนการทางสังคมในชุมชน ถ้าการพัฒนาเริ่มจากตรงจุดนี้ก็เชื่อแน่จะโอกาสที่จะทำให้งานสำเร็จก็มีมาก กิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ กิจกรรมต่างๆที่กำหนดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อสนองตอบความต้องการหรือไม่ก็เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน แต่สิ่งที่ได้จะต้องมองหรือให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือ การพัฒนาคน ทำอย่างไรให้คนได้เรียนรู้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนด
             กระบวนการทำงาน เริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด หลังจากนั้นได้เข้าประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแกนนำชุมชน และคนในชุมชน เนื่องจากบ้านร่องเคาะ เป็นหมู่บ้านที่รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างระดับจังหวัดในปี ๒๕๕๓
              การดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของการยกระดับสิ่งที่ทำมาแล้วและสอดคล้องแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน คือการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน ๓๐ ครัวเรือน หลังจากนั้นจัดทำเวทีครัวเรือนทั้ง ๓๐ ครัวเรือนวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร โดยให้แต่ละครัวเรือนนำเสนอเพื่อให้ได้ข้อมูลและฟังความรู้สึก ความมุ่งหวังของแต่ละครัวเรือน จากนั้นได้พาไปศึกษาดูงานที่บ้านทาป่าเปา จังหวัดลำพูน ก่อนไปศึกษาดูงานได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวบ้านทาป่าเปา และแบ่งบทบาทความรับผิดชอบให้แต่ละคนรับผิดชอบเก็บข้อมูลรายละเอียดเพื่อมานำเสนอ
                หลังจากกลับมา การไปศึกษาดูงานได้นอนพัก ๑ คืน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนบ้านทาป่าเปา สอบถามข้อมูลเชิงลึก กลับจากศึกษาดูงานได้มีการสรุปบทเรียนผลการไปศึกษาดูงานว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจะนำไปปรับใช้กับครัวเรือนอย่างไร หลังจากนั้นได้ให้แต่ละครัวเรือนกำหนดแผนชีวิตของครอบครัว ว่าจะปรับปรุงการดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมอย่างไร โดยได้กำหนดว่าผู้นำชุมชนและพัฒนากรจะไปติดตาม และแวะเยี่ยมนครัวเรือนเป้าหมาย และมีจัดเวทีติดตามความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนกิจกรรมที่แต่ละครัวเรือนได้ดำเนินการ ในช่วงของการดำเนินงาน

ผู้เขียนได้ประสานกับ อบต.และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาเขตที่ ๔๑ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุนกลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะต่อมาศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๕๑ ได้สนับสนุนพันธ์ ปลาดุก และกบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ครบทุกครัวเรือน การจัดทำเวทีครั้งล่าสุดได้วิเคราะห์ผลการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้กำหนดจุดเรียนรู้สำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่ได้ดำเนินการจนเป็นตัวอย่างเพื่อเผยแพร่และขยายผล

โดยให้ข้อคิดข้อเสนอแนะสำหรับครัวเรือนเป้าหมายที่จะเป็นจุดตัวอย่างในการเผยแพร่ ว่าจะปรับปรุงอะไร จะต้องมีวิธีการถ่ายทอดอย่างไร หลังจากนั้นได้ร่วมกับ อบต.ในการจัดมหกรรมการถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เป็นจุดเรียนรู้ได้นำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมของตนเองเผยแพร่ให้คนมาร่วมงาน ซึ่งได้เชิญแกนนำ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจมาร่วมงานมหกรรม
                
                          แนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปที่กลุ่มได้วางแผนไว้ คือ การประชุมสัญจรไปตามบ้านของครัวเรือนเป้าหมาย ไปบ้านใครให้ครัวเรือนนำเสนอกิจกรรมของตนเอง จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านการถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนั้นจะกลุ่มยังมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำเสนอข้อมูลในภาพรวมของกลุ่ม เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

                         ข้อคิดบทเรียนในการทำงานสำหรับบุคคลภายนอกที่เข้าไปทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมนี้คือ ต้องยึดหลัก การมีส่วนร่วมทุกกิจกรรมที่ดำเนินการต้องนำเข้าที่ประชุมกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจ เป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประสานภาคีเครือข่ายสนับสนุน ที่สำคัญ เน้นการพัฒนาคน เช่น การพัฒนาศักยภาพการถ่ายทอด การสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง มีการถอดบทเรียนการทำงานเป็นระยะ ทำให้เกิดการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย นำไปสูซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
   
                   บันทึกขุมความรู้
๑. แนวคิดในการทำงาน หลักการมีส่วนร่วม ทุนทางสังคม
๒. กระบวนการดำเนินงาน
๓. การประสานภาคีการทำงาน
๔. การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานระยะต่อไป
๕. ข้อคิด/บทเรียนการทำงาน
                             แก่นความรู้
๑.ยึดหลักการมีส่วนร่วม
๒.มีกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
๓.เดินเรื่องประสานเครือข่าย
๔.ขยายผลด้วยแผนงาน
๕.ติดตามทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ

                               กลยุทธในการทำงาน
๑. การขับเคลื่อนกิจกรรมโดยเวทีแลกเปลี่ยน โดยจัดเวทีนำเสนอผลความก้าวหน้า ปัญหา
อุปสรรค ให้แต่ละได้มีโอกาสนำเสนอ จะทำเกิดการพัฒนาศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจ เกิดการเสนอแนวทางการทำงานขับเคลื่อนกลุ่ม
๒. การประสานภาคี ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาคีที่ทำงานในชุมชน หลังจากนั้น
นำเสนอข้อมูลให้ภาคีได้ทราบถึงงานที่เรากำลังดำเนินการ บูรณาการงานของภาคีใช้กับกลุ่มเป้าหมายของเรา
๓. การสรุปบทเรียนการทำงาน โดยการทบทวนแผน/เป้าหมาย ผลการทำงาน ปัจจัยที่ทำให้งาน
สำเร็จ ปัญหาและการแก้ไขปัญหา แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
๔. เน้นให้ความสำคัญการพัฒนาคน โดยเวทีแต่ละครั้งให้ทุกคนในเวทีได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนนำเสนอ

               แนวคิด
๑. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
๒. การเรียนรู้ของผู้ใหญ่
๓. ปรัชญาการพัฒนาชุมชน ที่เน้นศักดิ์ศรีของคน การให้โอกาสคน
๔. การมีส่วนร่วม
๕. การสรุปบทเรียนการทำงาน
๖. การเป็นวิทยากรกระบวนการ
“ การทำงาน คือ การพัฒนาหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน ”                                                                                                  
                                                                                                         เทพ  วงศ์สุภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..