วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขุมความรู้ กับแก่นความรู้ และกลยุทธ์การทำงานพัฒนาชุมชน

                    +
                     หาก จะมีใครสักคน อยากมีความรู้เรื่องจักรยาน เราอาจบอกเล่าให้เขามีความรู้ ความเข้าใจเรื่องจักรยาน ด้วยความรู้เป็นประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ ได้ อาทิ
                    จักรยานคืออะไร ส่วนประกอบโครงสร้าง มีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร วิธีขับขี่จักรยานทำอย่างไร ประโยชน์ของจักรยาน เป็นต้น    ทั้งหมดที่กล่าว เรียกรวมๆ ว่าเป็น ข้อมูลหรือองค์ความรู้เรื่องจักรยาน เพราะยังไม่มีใครสนใจ หรือคิดเอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรเป็นการต่อยอด

                    แต่ถ้าเมื่อใด มีคนสนใจอยากได้ความรู้เรื่องจักรยาน เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ คนคนนั้นก็ต้องหาวิธีจัดการความรู้ หรือไปหาองค์ความรู้ อาจให้คนอื่นที่มีความรู้เรื่องจักรยานเล่าให้ฟัง อาจศึกษาจากหนังสือ หรือ สื่อต่างๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้ ศึกษาไปศึกษามา ในที่สุด ก็ได้องค์ความรู้ใหม่อีกชุด โดยพบว่า    “การขับขี่จักรยาน มีผลดีต่อสุขภาพ” ( เพราะทำให้ได้ออกกำลังกาย คนขับขี่จักรยานประจำทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น ในแง่เศรษฐกิจ ยังทำให้ประหยัดค่ารถในการเดินทางไปทำงานอีกด้วย) นี่ก็เป็นขุมความรู้ (Knowledge Asset) อีกองค์ความรู้หนึ่ง ที่ค้นพบในการจัดการความรู้การขับขี่จักรยาน
                         พูดกันง่ายๆว่า ในการค้นหาขุมความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ นั้น เขาไม่ได้ทำเล่นโก้ๆ หรือเอาแค่ให้รู้ว่าอะไร (Know-what) และ รู้ว่าอย่างไร (Know-how) แต่ยังต้องการศึกษาเพื่อให้รู้เหตุผลว่าทำไม (know-why) เกี่ยวข้องกับใคร เมื่อไร หรือที่ใด (Know-who Know-when Know-where) อีกด้วย เพื่อเอาไปขยายผล เพิ่มมูลค่า คุณค่าในการทำงาน หากเป็นธุรกิจก็เพื่อใช้ในการแข่งขันชนะเหนือคู่แข่ง

                          ในการต่อยอด ขุมความรู้ (Knowledge Asset) เราก็เอาขุมความรู้ที่พบ มาสังเคราะห์ เป็นแก่นความรู้ (Core Competence) เพื่อการใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ก็จะกลายเป็น....
“ถ้าหากประชาชนหันมาใช้จักรยาน จะส่งผลให้คนมีสุขภาพแข็งแรง แถมยังประหยัดค่ารถเมล์ได้” หรือ
“สุขภาพคนจะแข็งแรง ถ้าคนส่วนใหญ่หันมาใช้จักรยานในการเดินทาง”
กล่าวคือ แก่นความรู้ ที่เขียนจึงควรมีลักษณะที่เป็น แสดงเงื่อนไขเชิงเหตุและผล ว่า
“ ถ้าหาก.......จะทำให้ หรือส่งผลให้..........เกิดขึ้น” หรือ “If………………...then………”นั่นเอง
                         พอได้แก่นความรู้ ว่าด้วยการใช้จักรยานแล้ว เราสามารถเอามจัดทำเป็นวางแผน หรือทำเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อได้ เช่น จากขุมความรู้ และแก่นความรู้เรื่องจักรยานข้างต้น เราอาจจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ ได้ว่า
๑. เห็นควรรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่จักรยานในการไปทำงานนอกบ้านให้แพร่หลาย
๒. ควรสนับสนุนการสร้างถนน หรือเลนพิเศษสำหรับผู้ใช้จักรยาน เป็นต้น

                          เราจะเห็นว่า กลยุทธ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีที่มาที่ไปที่เกิดเพราะมีความพยายามในการจัดการความรู้      ขุมความรู้ จึงหมายถึง ความรู้ หรือองค์ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ได้จากคนทำงานในหน่วยงาน องค์กรหรือในสังคม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งในการเพิ่มมูลค่า หรือคุณค่าของงาน มักถูกจัดเป็นกลุ่ม หมวดหมู่ในรูปแบบต่างๆ
                          ส่วน แก่นความรู้ (Core Competence) หมายถึง ความรู้ชุดเด็ด พิเศษ ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวคน ที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปสู่การพัฒนางาน หน่วยงานและองค์กรได้ สามารถต่อยอดการทำงาน การให้บริการได้ ซึ่งเป็นผลหรือองค์ความรู้ ที่อาจค้นหาหรือสกัดได้จากขุมความรู้ในที่ต่างๆทั้งประเภทที่ชัดแจ้ง และฝังลึกอยู่ในตัวคน

                                                     ...............................................

เอกสารอ้างอิง : ๑. Knowledge Management : More Than Just Know-how และ
                          ๒. Knowledge Management : Capturing And Structuring Knowledge Into Reusable Assets ทั้งหมดปรากฏในเว็ป/เอกสารหนังสือชื่อ Learning to Fly

บุญส่ง เวศยาสิรินทร์ – นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย เขียน : 13 มิย.54