วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เครื่องมือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

รายงานการเข้าร่วมสัมมนา..


หัวข้อ “ เครื่องมือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน”
วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
(บททดลองเสนอ โดยรูปแบบการจัดการความรู้)
-----------------------
ความนำ
              ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ เพื่อหาบทเรียนการทำงานในฐานะนักวิชาการพัฒนาชุมชนและสนใจเรื่องการบริหารจัดการการพัฒนาชุมชน ประเด็นการแสวงหาและสร้างภาคีความร่วมมือ และเรื่องเครื่องมือการทำงานพัฒนากับชุมชนซึ่งจะตอบสนองปัญหาความต้องการชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงขอนำเสนอการจัดการความรู้จากงานที่ได้มีโอกาสเข้าร่วม และยังขอใช้เป็นรูปแบบการรายงานผลการเข้าร่วมกิจกรรม ต่อผู้บังคับบัญชาด้วย ดังต่อไปนี้

ความเป็นมา/เรื่องเล่า
              คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๒ ท่าน (ตัวแทนจากพัฒนาชุมชนจังหวัด และเกษตรจังหวัดเชียงราย) เข้าร่วมสัมมนา ตามหัวข้อ วันเวลาและสถานที่ที่กล่าวข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวคิด วิธีการและเครื่องมือการเรียนรู้ตนเองของชุมชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาคเหนือ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ ในภาคเหนือ ประมาณ ๒๐๐ คน เกี่ยวกับรูปแบบวิธีดำเนินการ หน่วยดำเนินการมีหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมให้แจ้งผู้เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการนำเสนอ และให้ตอบรับการเข้าประชุมล่วงหน้า กิจกรรมนอกจากการนำเสนอข้อค้นพบ มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและคลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งทำโดยคณะผู้วิจัย อันมีคณาอาจารย์ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่วิจัยนำร่องจากจังหวัดต่างๆ ร่วมถ่ายทอดข้อมูลตามตารางที่กำหนด

               แหล่งทุนสำคัญของโครงการนี้ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ(สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการภายใต้โครงการ “โครงการความร่วมมือเพื่อการแก้ไขความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ๒๑ จังหวัด” มีการจัดเก็บข้อมูลชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มการผลิตในชุมชนพื้นที่โครงการ จำนวนหนึ่งในพื้นที่ ๑๓ จังหวัด ในการตอบโจทย์วิจัย ๓ ข้อ คือ (๑) ภาคการเกษตรมีการรวมกลุ่มเป็นกลไกจัดการการผลิต ผลผลิต การตลาด มากน้อยเพียงไร และกลุ่มมีความสามารถในการจัดการในประเด็นเหล่านี้เพียงใด (๒) ศักยภาพการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของตำบลมีมากน้อยเพียงไร (๓) ผลิตภาพของสินค้าหลักห่างจากศักยภาพเพียงไร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้เครื่องมือค้นหาแล้วจัดการกับครอบครัว และชุมชนของตนเองในเชิงเศรษฐกิจของชุมชน จึงมีการสนับสนุนต้นแบบเครื่องมือการเรียนรู้ ด้านการจัดการเชิงเศรษฐกิจของชุมชนขึ้นโดยร่วมมือกับ๔ จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ชัยนาท นครศรีธรรมราช และกาฬสินธุ์ คณะผู้วิจัย ให้เหตุผลว่าผลการศึกษาได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดีในจังหวัดนำร่องจึงจัดถ่ายทอดแนวคิดวิธีการและเครื่องมือสู่ผู้เกี่ยวข้องการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ให้แพร่หลาย การประชุมมีหัวข้อสำคัญ ดังนี้

              - การบรรยายพิเศษ“การขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังความรู้ ความร่วมมือและการพึ่งพาตนเอง”
              - การนำเสนอประเด็น “ ใช้ข้อมูลหมู่บ้านอย่างไรให้เป็นเครื่องมือเรียนรู้ศักยภาพการพึ่งตนเองระดับชุมชน และ จะใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรื่องอย่างไร เพื่อการพึ่งตนเองระดับครัวเรือน” ตามด้วยกิจกรรมตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
              - เรียนรู้อะไรจากข้อมูลการผลิต(ข้าว/ข้าวโพด)
             - การจัดทำฐานข้อมูลและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างง่ายตอบข้อซักถาม
และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
             - ประสบการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ (จัดหวัดชัยนาท พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช)
             - ข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ คลินิกให้คำปรึกษา สรุปปิดการประชุม

                   บรรยากาศการประชุม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านและระดับตำบลในจังหวัดเป้าหมายต่างเล่าความเป็นมา เหตุผลที่ได้เข้าร่วมโครงการ และคุณค่าจากการที่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในการพัฒนาชุมชน ความรู้สึกชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่หรือนักวิจัยที่ได้ลงไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับพวกเขาและผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนของพวกเขาซึ่งดูจะแตกต่างจากการพัฒนาแบบเดิม

                                                ความรู้ที่ได้รับ (Knowledge Assets)

๑. กระบวนการบริหารจัดการการพัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชนผ่านโครงการศึกษาและวิจัยผ่านการสร้างภาคีความร่วมมือหลากหลายภาคส่วน
๒. เนื้อหาวิธีการการสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน โดยให้ความสำคัญเรื่องข้อมูล

                                                        ขุมความรู้ (Core Competency)

๑. กระบวนการการบริหารจัดการการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชนผ่านโครงการศึกษาวิจัย และการสร้างภาคีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้สามารถขยายผลการศึกษาและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้


๒. ข้อมูลและกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่ดีสามารถทำให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมเรียนรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน

                                                                    ข้อเสนอเชิงกลยุทธ์

๑. หน่วยงานกรมฯ ควรแสวงหาความร่วมมือ ในการดำเนินการพัฒนาชุมชนด้วยรูปแบบและวิธีต่างๆ ที่หลากหลายร่วมกับภาคีพัฒนาต่างๆให้มากขึ้น


๒. หน่วยงานกรมฯ ควรพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เน้นมุ่งตอบสนองปัญหาและความต้องการชุมชนมากขึ้น

                                                                                 
                                                                                 บุญส่ง เวศยาสิรินทร์
                                                                     นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ      
                                                                  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..