วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ทักษะของพี่เลี้ยง:อบต.ฝายแก้ว ภูเพียง น่าน


เจ้าของความรู้ : อัญชลี ป่งแก้ว
                          นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ

                เมื่อทีมงานศูนย์ฯลำปาง ได้รับการประสาน
จากนายกอบต.ฝายแก้ว ให้ไปฝึกอบรมเตรียมทีมพี่เลี้ยงให้ ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2554 ตามโครงการฝึกอบรมทีมสหวิชาชีพครู ข.
(พีเลี้ยง) เรื่องทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ กลุ่มเป้าหมาย 30 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของ อบต.ฝายแก้วทั้งหมด รวมทั้งตัวนายก อบต.เองด้วย และรวมถึงพัฒนากร ครู กศน.เกษตร สาธารณะสุขฯลฯ


            กระบวนการที่ใช้..ภายใน 1 วัน จึงเป็นการระดมสื่อ เกม และสร้างเงื่อนไข  หรือประเด็น ให้กลุ่มเป้าหมายได้คิด..วิเคราะห์ และ
ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะการฟัง พูด ตั้งคำถาม จับประเด็น จดบันทึก เขียนเป็นแผนที่ความคิด..ทักษะการจัดเวทีประชาคมและการสรุปบทเรียน...ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเป็นทีมพี่เลี้ยงของ อบต.ฝายแก้วทั้งสิ้น


 ขั้นตอน กระบวนการ เทคนิค เครื่องมือ...
1.ทักทาย แนะนำตัว บอกความรู้สึก บอกวัตถุประสงค์ของวิชา บอกกระบวนการ บอกข้อตกลง..แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกันเอง..เป็นแก้วน้ำหลากสีที่มีน้ำอยู่แล้วค่อนแก้ว คือมีศักยภาพ มีทุน มีประสบการณ์ มีความรู้ ฯลฯ..เอามาเติมเต็มให้กันและกัน)


2.เล่นเกม.นี่แหละตน..เพื่อให้เข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันในชุมชนที่ต้องทำงานกับคนที่หลากหลาย จึง...   ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของคน และเรื่องของคน..

3.แลกเปลี่ยนประสบการณ์..
การเป็นวิทยากรกระบวนการ
ประเด็น:
* ความรู้ความเข้าใจเรื่องวิทยากรกระบวนการ (แจกบัตรคำ)
* ให้ยกตัวอย่างประสบการณ์ของแต่ละคนสั้นๆ
* ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการทำหน้าที่/บทบาทวิทยากรกระบวนการ
* ทักษะที่จำเป็น(ต้องมีความสามารถเรื่องอะไรบ้าง?)
วิทยากรสรุปแนะนำเพิ่มเติมด้วยสื่อ..



4.ฝึกปฏิบัติทักษะการฟัง การตั้งคำถาม การจับประเด็น และการจดบันทึก
                 ชวนคุยสถานการณ์การพูดคุยกันระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน การประชุม และในเวทีชาวบ้าน..ให้ความสำคัญของทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับวิทยากรกระบวนการ


                 ฝึกปฏิบัติ: 1.จับคู่เล่าเรื่องประทับใจในวัยเยาว์
                                    สลับกันเล่า สลับกันฟัง และให้คะแนนกันและกัน
                                 2.แบ่งกลุ่มย่อย 4 คน/กลุ่ม แบ่งบทบาทตามความถนัด
                                    (1.คนเล่า 2.คนตั้งคำถาม 3.คนจับประเด็น
                                   ให้เขียนในรูปแผนที่ความคิดใน เอ4) 4.คนจดบันทึก(กระดาษ เอ4)
                                 3. รวมกลุ่มสะท้อนความรู้สึกและข้อคิดที่ได้จากการเรียนรู้ครั้งนี้ (ขึ้นฟลิปชาร์ท)
                         วิทยากรสรุปแนะนำเพิ่มเติมด้วยสื่อ ppt.




5.ทักษะการจัดเวทีประชาคม/เวทีแลกเปลี่ยน
                -ชวนคุย/แลกเปลี่ยนเรื่องเวทีประชาคม..ตามความเข้าใจหรือประสบการณ์ ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน
          ฝึกปฏิบัติ : การเป็นผู้เอื้ออำนวยการ(facilitator) ให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย/ประเด็นที่ต้องการ
1. แบ่ง 2 กลุ่ม ฝึกปฏิบัติการจัดเวทีประชาคม(การเป็นวิทยากรกระบวนการ)
*กลุ่มที่ 1 จัดเวทีประชาคมเรื่อง “แนวทางการพัฒนาสตรีแม่บ้านของ อบต.ฝายแก้ว”
*กลุ่มที่ 2 จัดเวทีประชาคมเรื่อง ”การส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนในพื้นที่ อบต.วอแก้ว”
2. พบพี่เลี้ยงกลุ่ม+เตรียมจัดเวทีประชาคม
3. จับฉลาก..จัดเวทีประชาคม กลุ่มละ 30 นาที ให้สมาชิกกลุ่มที่เหลือทั้งหมด เป็นผู้ร่วมแลกเปลี่ยน
          ประเด็น :   * สถานการณ์ของกลุ่มเป้าหมายในตำบล(แม่บ้าน/เยาวชน)
                           *วิเคราะห์ข้อดี/ข้อเด่นของกลุ่มเป้าหมาย
                           *วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค/ข้อจำกัดของกลุ่มเป้าหมายหรือในการทำงาน
                           *วิธีการ/แนวทางการพัฒนากลุ่ม(สตรีแม่บ้าน/เยาวชน)
                           *งาน/กิจกรรม/โครงการ ที่จะสนับสนุนแนวทาง/วิธีการข้างต้น
4. ตั้งข้อสังเกตร่วมกัน
5. สรุปให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการจัดเวทีประชาคม ด้วยสื่อ ppt.

6.เทคนิคการสรุปบทเรียน จากเกมทำเครื่องบินตะเกียบ..
1.เกริ่นนำให้เห็นความสำคัญของการทบทวนสรุปบทเรียนหลังการทำงาน
2.แบ่ง 2 กลุ่ม(เดิม) เล่นเกมสร้างเครื่องบินจากไม้ตะเกียบ
เงื่อนไข -ห้ามพูดคุย
              -วางได้ทีละคน
              -ห้ามขยับของคนอื่น
3.ปฏิบัติการสร้างเครื่องบิน ครั้งที่ 1 หมดเวลาให้คัดลอกเป็นรูปภาพลงบน เอ4 ทั้งสองกลุ่ม
4.ให้เวลาแต่ละกลุ่มพูดคุยวางแผน กัน 5 นาที
5. ปฏิบัติการสร้างเครื่องบิน ครั้งที่ 2 หมดเวลาให้คัดลอกเป็นรูปภาพลงบน เอ4 ทั้งสองกลุ่ม
6.แลกเปลี่ยนตามประเด็น ชุดคำถามการสรุปบทเรียน
1.เราวางแผนกันไว้อย่างไร อะไรคือเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของการทำงาน
2. เมื่อเราดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งใดเป็นไปตามที่วางแผน(ผล)/ทำไมเป็นเช่นนั้น(เงื่อนไข)
3. สิ่งใดไม่เป็นไปตามที่วางแผนนั้น/ทำไมเป็นเช่นนั้น
4. เรามีปัญหาอะไรบ้าง
5. เราน่าจะสามารถทำสิ่งใดให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง
6. ในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งใด ที่เราปฏิบัติแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านมาบ้าง
7.วิทยากรสรุปให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมด้วยสื่อ ppt.

สรุป..กระบวนการทำงานกับชุมชน ต้องอาศัยทักษะ/เครื่องมือช่วยในการทำงาน ซึ่งสามารถพัฒนาเรียนรู้กันได้ ผ่านการลงมือทำและใจที่รักที่จะทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเอง


                                                                                              ผู้บันทึกความรู้ : ดวงธิดา อำนาจผูก
                                                                                                 นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
                                                                                                                 10 ม.ค. 2555

ดูแลสุขภาพ..แบบพอเพียง

เจ้าของความรู้ : ดวงธิดา อำนาจผูก
                           นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ


             18 ปีด้วยอริยาบถเดิมๆ ซ้ำๆกับการนั่งทำงานบนโต๊ะ ในบทบาทของเจ้าหน้าที่การเงิน  ทำให้ผู้เล่าป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม และในปี 2549 เกิดอุบัติเหตุจากการยกของหนัก ผู้เล่าได้ยินเสียงกระดูกต้นคอลั่นดัง..และอย่างเจ็บปวด ต้องเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลด้วยการกินยาและกายภาพบำบัดเป็นเวลา 2 ปี ก่อนเข้ารับการผ่าตัดกระดูกคอ
ในปี 2551 และยังคงต้องรับยาจากโรงพยาบาลมากินอย่างต่อเนื่อง..


             จากปัญหาสุขภาพของตัวเองและการป่วยไข้ของคนในครอบครัวบ่อยๆ จึงสนใจศึกษาค้นคว้าการดูแลรักษาสุขภาพจากเอกสารตำราและอินเตอร์เนต พบว่าเราสามารถกินอาหารเป็นยา..แทนที่จะกินยาเป็นอาหาร เหมือนที่กำลังเป็นอยู่..อีกทั้งพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านต่างมีสรรพคุณเป็นยาทั้งสิ้น


             คลินิกแพทย์แผนไทย.. จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง...เลือกที่จะใช้อาหารในการบำบัดโรค โดยคุณหมอบอกว่าผู้เล่าเป็นคนธาตุไฟ ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักบุ้ง ตำลึง มะระ เป็นต้น ประกอบกับการค้นอ่านเพิ่มเติม..ใบโหระพากินสดๆทุกวัน เป็นยาครอบจักรวาล..ขิงข่าตะไคร้ในบ้าน..ต่างมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฯลฯ จึงได้เริ่มลงมือประกอบอาหารจากพืชผักสมุนไพร ที่สามารถบำบัดโรค/บำรุงสุขภาพ ทั้งจากสวนครัวในบ้านและตลาดใกล้บ้าน


             ทำง่ายๆ.. น้ำตะไคร้สมุนไพร..แก้ปวดหลังปวดเอว..ขับลม..
              กลายเป็นน้ำยาสมุนไพรประจำบ้านและแบ่งปันประสบการณ์มาเผยแพร่ ทำน้ำสมุนไพรในการจัดเลี้ยง..ให้ผู้เข้าอบรมของสำนักงานฯ
            1.น้ำเปล่า 1 หม้อ+ตะไคร้ที่ทุบแล้ว 2- 3 หัว ตั้งไฟต้มพอน้ำเดือดซักพักก็หยุดไฟ เพื่อรักษาคุณค่าสารอาหารในตะไคร้
            2.ถ้าอยากให้มีรสหวาน ใช้น้ำตาลกรวด(ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทราย)
            3.ใส่ดอกอัญชัญ สด 1 กำมือ(ถ้าเป็นดอกแห้งเอาแค่หยิบมือ)..ได้น้ำตะไคร้สีน้ำเงิน
            4.ถ้าอยากได้น้ำตะไคร้สีม่วง..ให้บีบมะนาวลงไปผสม

ผลการเรียนรู้ :
                 “ทุกวันนี้ ไม่ได้ดื่มแต่น้ำสมุนไพรอย่างเดียว แต่ทานอาหารที่เป็นสมุนไพรอื่นๆ ด้วย..2 ปีที่ผ่านมา คนในครอบครัวมีสุขภาพดีไม่ป่วยไข้บ่อยๆเหมือนแต่ก่อน..และตัวเองก็ไม่ต้องกินยารักษาหมอนรองกระดูกจากโรงพยาบาลแล้ว..”

                 “เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ จากพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัว..ไม่ต้องไปสรรหาหรือเสียค่าใช้จ่ายซื้ออาหารเสริมราคาแพงลิบมาทาน..เป็นการดูแลรักษาสุขภาพ..แบบพอเพียง..”


                                                                                              อัญชลี ป่งแก้ว ..ผู้บันทึกเรียบเรียง

                                                                                                            10 มกราคม 2555