วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขุมความรู้ กับแก่นความรู้ และกลยุทธ์การทำงานพัฒนาชุมชน

                    +
                     หาก จะมีใครสักคน อยากมีความรู้เรื่องจักรยาน เราอาจบอกเล่าให้เขามีความรู้ ความเข้าใจเรื่องจักรยาน ด้วยความรู้เป็นประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ ได้ อาทิ
                    จักรยานคืออะไร ส่วนประกอบโครงสร้าง มีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร วิธีขับขี่จักรยานทำอย่างไร ประโยชน์ของจักรยาน เป็นต้น    ทั้งหมดที่กล่าว เรียกรวมๆ ว่าเป็น ข้อมูลหรือองค์ความรู้เรื่องจักรยาน เพราะยังไม่มีใครสนใจ หรือคิดเอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรเป็นการต่อยอด

                    แต่ถ้าเมื่อใด มีคนสนใจอยากได้ความรู้เรื่องจักรยาน เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ คนคนนั้นก็ต้องหาวิธีจัดการความรู้ หรือไปหาองค์ความรู้ อาจให้คนอื่นที่มีความรู้เรื่องจักรยานเล่าให้ฟัง อาจศึกษาจากหนังสือ หรือ สื่อต่างๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้ ศึกษาไปศึกษามา ในที่สุด ก็ได้องค์ความรู้ใหม่อีกชุด โดยพบว่า    “การขับขี่จักรยาน มีผลดีต่อสุขภาพ” ( เพราะทำให้ได้ออกกำลังกาย คนขับขี่จักรยานประจำทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น ในแง่เศรษฐกิจ ยังทำให้ประหยัดค่ารถในการเดินทางไปทำงานอีกด้วย) นี่ก็เป็นขุมความรู้ (Knowledge Asset) อีกองค์ความรู้หนึ่ง ที่ค้นพบในการจัดการความรู้การขับขี่จักรยาน
                         พูดกันง่ายๆว่า ในการค้นหาขุมความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ นั้น เขาไม่ได้ทำเล่นโก้ๆ หรือเอาแค่ให้รู้ว่าอะไร (Know-what) และ รู้ว่าอย่างไร (Know-how) แต่ยังต้องการศึกษาเพื่อให้รู้เหตุผลว่าทำไม (know-why) เกี่ยวข้องกับใคร เมื่อไร หรือที่ใด (Know-who Know-when Know-where) อีกด้วย เพื่อเอาไปขยายผล เพิ่มมูลค่า คุณค่าในการทำงาน หากเป็นธุรกิจก็เพื่อใช้ในการแข่งขันชนะเหนือคู่แข่ง

                          ในการต่อยอด ขุมความรู้ (Knowledge Asset) เราก็เอาขุมความรู้ที่พบ มาสังเคราะห์ เป็นแก่นความรู้ (Core Competence) เพื่อการใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ก็จะกลายเป็น....
“ถ้าหากประชาชนหันมาใช้จักรยาน จะส่งผลให้คนมีสุขภาพแข็งแรง แถมยังประหยัดค่ารถเมล์ได้” หรือ
“สุขภาพคนจะแข็งแรง ถ้าคนส่วนใหญ่หันมาใช้จักรยานในการเดินทาง”
กล่าวคือ แก่นความรู้ ที่เขียนจึงควรมีลักษณะที่เป็น แสดงเงื่อนไขเชิงเหตุและผล ว่า
“ ถ้าหาก.......จะทำให้ หรือส่งผลให้..........เกิดขึ้น” หรือ “If………………...then………”นั่นเอง
                         พอได้แก่นความรู้ ว่าด้วยการใช้จักรยานแล้ว เราสามารถเอามจัดทำเป็นวางแผน หรือทำเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อได้ เช่น จากขุมความรู้ และแก่นความรู้เรื่องจักรยานข้างต้น เราอาจจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ ได้ว่า
๑. เห็นควรรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่จักรยานในการไปทำงานนอกบ้านให้แพร่หลาย
๒. ควรสนับสนุนการสร้างถนน หรือเลนพิเศษสำหรับผู้ใช้จักรยาน เป็นต้น

                          เราจะเห็นว่า กลยุทธ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีที่มาที่ไปที่เกิดเพราะมีความพยายามในการจัดการความรู้      ขุมความรู้ จึงหมายถึง ความรู้ หรือองค์ความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ได้จากคนทำงานในหน่วยงาน องค์กรหรือในสังคม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งในการเพิ่มมูลค่า หรือคุณค่าของงาน มักถูกจัดเป็นกลุ่ม หมวดหมู่ในรูปแบบต่างๆ
                          ส่วน แก่นความรู้ (Core Competence) หมายถึง ความรู้ชุดเด็ด พิเศษ ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวคน ที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปสู่การพัฒนางาน หน่วยงานและองค์กรได้ สามารถต่อยอดการทำงาน การให้บริการได้ ซึ่งเป็นผลหรือองค์ความรู้ ที่อาจค้นหาหรือสกัดได้จากขุมความรู้ในที่ต่างๆทั้งประเภทที่ชัดแจ้ง และฝังลึกอยู่ในตัวคน

                                                     ...............................................

เอกสารอ้างอิง : ๑. Knowledge Management : More Than Just Know-how และ
                          ๒. Knowledge Management : Capturing And Structuring Knowledge Into Reusable Assets ทั้งหมดปรากฏในเว็ป/เอกสารหนังสือชื่อ Learning to Fly

บุญส่ง เวศยาสิรินทร์ – นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย เขียน : 13 มิย.54

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เครื่องมือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

รายงานการเข้าร่วมสัมมนา..


หัวข้อ “ เครื่องมือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน”
วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
(บททดลองเสนอ โดยรูปแบบการจัดการความรู้)
-----------------------
ความนำ
              ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ เพื่อหาบทเรียนการทำงานในฐานะนักวิชาการพัฒนาชุมชนและสนใจเรื่องการบริหารจัดการการพัฒนาชุมชน ประเด็นการแสวงหาและสร้างภาคีความร่วมมือ และเรื่องเครื่องมือการทำงานพัฒนากับชุมชนซึ่งจะตอบสนองปัญหาความต้องการชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงขอนำเสนอการจัดการความรู้จากงานที่ได้มีโอกาสเข้าร่วม และยังขอใช้เป็นรูปแบบการรายงานผลการเข้าร่วมกิจกรรม ต่อผู้บังคับบัญชาด้วย ดังต่อไปนี้

ความเป็นมา/เรื่องเล่า
              คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๒ ท่าน (ตัวแทนจากพัฒนาชุมชนจังหวัด และเกษตรจังหวัดเชียงราย) เข้าร่วมสัมมนา ตามหัวข้อ วันเวลาและสถานที่ที่กล่าวข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวคิด วิธีการและเครื่องมือการเรียนรู้ตนเองของชุมชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาคเหนือ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ ในภาคเหนือ ประมาณ ๒๐๐ คน เกี่ยวกับรูปแบบวิธีดำเนินการ หน่วยดำเนินการมีหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมให้แจ้งผู้เกี่ยวข้องเข้ารับฟังการนำเสนอ และให้ตอบรับการเข้าประชุมล่วงหน้า กิจกรรมนอกจากการนำเสนอข้อค้นพบ มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและคลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งทำโดยคณะผู้วิจัย อันมีคณาอาจารย์ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่วิจัยนำร่องจากจังหวัดต่างๆ ร่วมถ่ายทอดข้อมูลตามตารางที่กำหนด

               แหล่งทุนสำคัญของโครงการนี้ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ(สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการภายใต้โครงการ “โครงการความร่วมมือเพื่อการแก้ไขความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ๒๑ จังหวัด” มีการจัดเก็บข้อมูลชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มการผลิตในชุมชนพื้นที่โครงการ จำนวนหนึ่งในพื้นที่ ๑๓ จังหวัด ในการตอบโจทย์วิจัย ๓ ข้อ คือ (๑) ภาคการเกษตรมีการรวมกลุ่มเป็นกลไกจัดการการผลิต ผลผลิต การตลาด มากน้อยเพียงไร และกลุ่มมีความสามารถในการจัดการในประเด็นเหล่านี้เพียงใด (๒) ศักยภาพการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของตำบลมีมากน้อยเพียงไร (๓) ผลิตภาพของสินค้าหลักห่างจากศักยภาพเพียงไร ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้เครื่องมือค้นหาแล้วจัดการกับครอบครัว และชุมชนของตนเองในเชิงเศรษฐกิจของชุมชน จึงมีการสนับสนุนต้นแบบเครื่องมือการเรียนรู้ ด้านการจัดการเชิงเศรษฐกิจของชุมชนขึ้นโดยร่วมมือกับ๔ จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ชัยนาท นครศรีธรรมราช และกาฬสินธุ์ คณะผู้วิจัย ให้เหตุผลว่าผลการศึกษาได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดีในจังหวัดนำร่องจึงจัดถ่ายทอดแนวคิดวิธีการและเครื่องมือสู่ผู้เกี่ยวข้องการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ให้แพร่หลาย การประชุมมีหัวข้อสำคัญ ดังนี้

              - การบรรยายพิเศษ“การขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังความรู้ ความร่วมมือและการพึ่งพาตนเอง”
              - การนำเสนอประเด็น “ ใช้ข้อมูลหมู่บ้านอย่างไรให้เป็นเครื่องมือเรียนรู้ศักยภาพการพึ่งตนเองระดับชุมชน และ จะใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรื่องอย่างไร เพื่อการพึ่งตนเองระดับครัวเรือน” ตามด้วยกิจกรรมตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
              - เรียนรู้อะไรจากข้อมูลการผลิต(ข้าว/ข้าวโพด)
             - การจัดทำฐานข้อมูลและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างง่ายตอบข้อซักถาม
และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
             - ประสบการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ (จัดหวัดชัยนาท พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช)
             - ข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ คลินิกให้คำปรึกษา สรุปปิดการประชุม

                   บรรยากาศการประชุม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านและระดับตำบลในจังหวัดเป้าหมายต่างเล่าความเป็นมา เหตุผลที่ได้เข้าร่วมโครงการ และคุณค่าจากการที่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในการพัฒนาชุมชน ความรู้สึกชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่หรือนักวิจัยที่ได้ลงไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับพวกเขาและผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนของพวกเขาซึ่งดูจะแตกต่างจากการพัฒนาแบบเดิม

                                                ความรู้ที่ได้รับ (Knowledge Assets)

๑. กระบวนการบริหารจัดการการพัฒนา เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชนผ่านโครงการศึกษาและวิจัยผ่านการสร้างภาคีความร่วมมือหลากหลายภาคส่วน
๒. เนื้อหาวิธีการการสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน โดยให้ความสำคัญเรื่องข้อมูล

                                                        ขุมความรู้ (Core Competency)

๑. กระบวนการการบริหารจัดการการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชนผ่านโครงการศึกษาวิจัย และการสร้างภาคีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้สามารถขยายผลการศึกษาและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้


๒. ข้อมูลและกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่ดีสามารถทำให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมเรียนรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน

                                                                    ข้อเสนอเชิงกลยุทธ์

๑. หน่วยงานกรมฯ ควรแสวงหาความร่วมมือ ในการดำเนินการพัฒนาชุมชนด้วยรูปแบบและวิธีต่างๆ ที่หลากหลายร่วมกับภาคีพัฒนาต่างๆให้มากขึ้น


๒. หน่วยงานกรมฯ ควรพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่เน้นมุ่งตอบสนองปัญหาและความต้องการชุมชนมากขึ้น

                                                                                 
                                                                                 บุญส่ง เวศยาสิรินทร์
                                                                     นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ      
                                                                  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย



วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สตรีลำปาง..กับบทบาทการเป็นผู้นำในสังคมปัจจุบัน

             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ได้รับการประสานงานจากกลุ่มเครือข่ายสตรีลำปาง ในการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง สตรีกับบทบาทการเป็นผู้นำในสังคมปัจจุบัน (โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำกลุ่มเครือข่ายสตรีลำปาง)  จำนวน 2 รุ่น
              ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2554  เป็นแกนนำเครือข่ายสตรีอำเภอแจ้ห่ม-วังเหนือ  สถานที่ประชุมที่ห้องประชุมร้านแอ่วอิ่ม อำเภอแจ้ห่ม  และวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 เป็นกลุ่มแกนนำสตรีในอำเภอเมืองลำปาง ที่ห้องประชุมโรงแรมรีเจนท์ลอร์ด

                                                             แนวคิดของเครือข่ายสตรีลำปาง
            ในยุคที่สตรีมีบทบาทและหน้าที่สำคัญมากขึ้น..เพื่อให้สตรีมีการแสดงบทบาทและสถานการณ์ตามความเหมาะสม รวมทั้งเพื่อแสวงหาความรู้และแนวคิดใหม่ๆให้กับตนเอง เพื่อนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เครือข่ายในฐานะองค์กรสำคัญที่ดำเนินงานทางด้านสตรี เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเสริมสร้างศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของสตรีให้ดียิ่งขึ้น


                กลุ่มเครือข่ายสตรีสำปางเล็งเห็นความสำคัญในโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำสตรี ให้มีวิสัยทัศน์ มีบุคลิกภาพโดดเด่นเป็นที่น่าเชื่อถือ สร้างการยอมรับ สร้างทัศนคติที่เอื้อต่อการบริการ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นฐานพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาสังคม..นำไปสู่การพัฒนาต่อไป.
                       วิธีการ/กระบวนการ...ชวนคิดชวนคุย..ฝึกปฏิบัติ..
*รู้จักเขารู้จักเรารู้จักกัน กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ นันทนาการ..หาความคาดหวัง...


**แลกเปลี่ยนทัศนะ..ความสุขของแม่ญิงลำปาง..

ผลการเรียนรู้..ในภาพรวมทั้งสองรุ่น แม่ญิ๋งลำปางต่างให้นิยามความสุขได้อย่างเข้าใจถึงความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขทางใจที่ได้อยู่กับครอบครัว ดูแลคนที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบและได้ดูแลช่วยเหลือคนอื่น..ชุมชน..สังคม..

***ประเด็นแลกเปลี่ยนเชื่อมต่อความสุขที่เครือข่ายสตรีได้ทำเพื่อชุมชน/สังคม 3 ประเด็น...ใช้วิธีแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น+ส่งตัวแทนนำเสนอ ให้กลุ่มใหญ่เติมเต็มเพิ่มเติม



ประเด็นนำเสนอ..คุณลักษณะของแกนนำสตรีพึงประสงค์

 ใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1.คุณสมบัติแกนนำสตรีพึงประสงค์
2.บทบาทหน้าที่ของแกนนำสตรี
3.ผู้นำสตรีหรือแกนนำสตรีควรมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในเรื่องอะไรบ้าง


   
ประเด็นแลกเปลี่ยน..บทบาทหน้าที่ของผู้นำสตรี/แกนนำสตรี
ควรจะทำบทบาท..หน้าที่อะไรอย่างไรบ้าง..

ประเด็น..ผู้นำสตรีควรจะมีความรู้ความสามารถในด้านใดบ้าง
หรือในเรื่องอะไรบ้าง..
         กระบวนการในช่วงเช้าจะทำให้แกนนำ+สมาชิกเครือข่ายสตรี ได้ทบทวนตัวเองและเข้าใจบทบาทหน้าที่ในฐานะตัวแทนสตรีหรือแกนนำสตรีจากหม่บ้านชุมชนมากยิ่งขึ้น เป็นการปรับทัศนคติในการทำงานร่วมกัน  ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการพัฒนาทักษะการพูดในที่ชุมชน ผ่านการฝึกปฏิบัติร่วมกัน
  
               สุดท้ายของกระบวนการเป็นการสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายสตรี รวมทั้งสะท้อนความคิดเห็น เสนอแนวทางข้อเสนอแนะในการพัฒนาศักยภาพสมาชิกเครือข่ายสตรีลำปาง ผ่านกิจกรรมงานโครงการที่องค์กรเครือข่ายสตรีได้วางแผนทำงานร่วมกัน..

                                                                                                    ทีมวิทยากรศูนย์ฯลำปาง
                                                                                                    1.นายสงัด หมื่นตาบุตร 
                                                                                                    2.นางอัญชลี ป่งแก้ว
                                                                                                    3.นายธาดา ธีระวาทิน
                                                                                                    4.นายธนาศักดิ์ เตชะวงศ์