วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำฟาร์มเห็ดหอม...

ชื่อเรื่อง                ประสบการณ์และความสำเร็จจากการทำฟาร์มเห็ดหอม
เจ้าของความรู้     นายทวิท สว่างวงค์ อายุ ๔๓ ปี
ตำแหน่ง               ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหลวง
ที่อยู่                     ๑๒๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์      ๐๘๑-๑๙๘๖๓๖๕
ผู้บันทึกความรู้     นางดวงธิดา อำนาจผูก ตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

เรื่องเล่า...              
                 จากอดีต..รับราชการเป็นทหารพรานที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มาถึง ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ลาออกจากราชการทหาร ย้ายมาอยู่กับครอบครัวที่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่..ด้วยการประกอบอาชีพขับรถรับจ้างส่งคนงาน อาชีพนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  จน พ่อ แม่ เลิกที่จะมีความหวังในตัวของลูกชาย  จากนั้นก็เริ่มหันมาให้ความสนใจการเพาะเห็ดหอม จากการที่ภรรยา ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพาะเห็ดหอมในหมู่บ้าน แต่การทำในรูปกลุ่มไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากการทำงานเป็นกลุ่มมักจะเกี่ยงงานกัน โดยเฉพาะการเพาะเห็ดหอมต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพราะมีขั้นตอนการทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่การนึ่งก้อนเห็ด การเขี่ยเชื้อ การตบก้อนเห็ด ทำในรูปกลุ่ม...เห็ดมักจะเสียมากกว่าดี เมื่อดูแลไม่ทั่วถึง ปริมาณที่เสียมีมากกว่า ๓๐ % จึงชวนภรรยาให้แยกตัวออกมาทำเอง และคิดหาวิธีไม่ให้เห็ดเสีย  โดยมุ่งที่จะยึดเป็นอาชีพลัก...


ศึกษา..เรียนรู้..ลองผิดลองถูก
                เริ่มแรกได้ไปขอความรู้จากผู้ที่เพาะเห็ดในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีใครที่จะให้ความรู้ จึงได้เข้าไปศึกษาหาความรู้จากฟาร็มเห็ดนงนุช ในจังหวัดลำพูน แล้วก็นำมาศึกษาเพิ่มเติมและทดลองทำด้วยตัวเองที่บ้าน ลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนรู้วิธีนึ่งก้อนเห็ด ว่าต้องใช้ความร้อนคงที่ เชื้อเพลิงที่ดีที่สุดคือซังข้าวโพดที่ให้ความร้อนคงที่ได้ดี ส่วนการกระตุ้นก้อนเชื้อเห็ด ด้วยการใช้รองเท้าตบ น้ำหนักแรงไป ราเขียวจะขึ้น ทำให้ก้อนเห็ดเสีย จึงเปลี่ยนวิธีใช้มือตบใช้น้ำหนักที่พอดี ไม่เบาเกินไป ไม่หนักเกินไป หลังจากนั้นก็เริ่มคิดค้นหาสูตรเพิ่มธาตุอาหารให้กับเชื้อเห็ด เพื่อให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม ปกติเห็ดรุ่นหนึ่ง จะเก็บได้ ๔ รอบ ๆ ละ ประมาณ ๑๐ วัน ได้สูตรเพิ่มส่วนผสมโดยการเพิ่มส่วนผสมตามสัดส่วน คือ แกลบ ยิบซั่ม แคลเซียม น้ำตาลทรายแดง กากน้ำตาล ปริมาณผลผลิตที่ได้ ๑ ลำรถสิบล้อ จะผลิตก้อนเห็ดได้ ๒๓,๐๐๐ ก้อน ราคาขายก้อนละ ๗.๕๐ บาท คิดเป็นเงินประมาณ ๑๗๒,๕๐๐ บาท มีต้นทุนครั้งละ ๕๐,๐๐๐ บาท


                ต่อมาก็ผลิตก้อนเห็ดขาย นอกจากการเก็บเห็ดสดขายอย่างเดียว ลูกค้าตอบรับดีมาก มีการดูแลลูกค้าหลังการขาย คือนำเอาประสบการณ์ การทำเห็ดครั้งแรกมาเป็นครู (ที่ไม่มีใครยอมสอนในการทำเห็ดของตนเองครั้งแรก) ถ้าคนที่สนใจทำเห็ดมาติดต่อซื้อก้อนเห็ดและขอความรู้เรื่องเห็ดก็จะสอนโดยไปสอนถึงสถานที่ของลูกค้า และตามไปดูแลอย่างใกล้ชิด จนต่อมาที่บ้านก็เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของผู้สนใจทั่วไป รวมถึงโครงการหลวง ก็มาศึกษาวิธีการทำอย่างไรเห็ดถึงไม่เสีย

เคล็ดลับหรือเทคนิคในการทำเห็ด คือเตานึ่งเห็ดจะใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง เพราะจะได้ความร้อนคงที่ มีเกลวัดความร้อนเวลานึ่งก้อนเห็ด การเติมเชื้อเห็ดหรือเขี่ยเชื้อจะทำเวลากลางคืน ช่วงราว ๆ ตี ๓ เพาะอุณหภูมิจะคงที่ ถ้าทำในเวลากลางวันอากาศร้อน เห็ดจะเสีย เคยคิดกับตัวเองว่าทำเห็ดแล้วมีเสียบ้างยังได้กำไร ถ้าจะทำไม่ให้เห็ดเสียเลย จะมีกำไรมากแค่ไหน

ปัญหาในการทำฟาร์มเห็ดหอม
๑. ไม่มีความรู้เรื่องเตานึ่ง ทำให้ตอนเริ่มทำใหม่ ๆ นึ่งไม่สุก เห็ดเสีย
๒. เขี่ยเชื้อไม่เป็น

วิธีแก้ปัญหา/การหาวิธีลดต้นทุนการผลิต
๑. ศึกษาหาความรู้จากฟาร์มเห็ดนงนุช จังหวัดลำพูน
๒. ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง /หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง
๓. ลดต้นทุนในการสร้างโรงเรือน คือใช้หญ้าคา และใบตองตึง ซึ่งเป็นวัสดุหาได้ในท้องถิ่น นำมาเป็นวัสดุในการทำหลังคาโรงเรือน ซึ่งทำให้ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนลดลง ที่สำคัญ อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่สูง อากาศถ่ายเทสะดวก

ผลที่ได้รับ ต้นทุนในการผลิตลดลง ก้อนเห็ดไม่เน่า อยู่ทน ออกผลผลิตได้หลายรอบ จากเดิมกระตุ้นเห็ด ๔ ครั้งเห็ดจะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง หลังจากหาวิธีกระตุ้นได้สำเร็จ สามารถกระตุ้นได้นานถึง ๗ ครั้ง เก็บเห็ดได้นานถึง ๔ เดือน ผลผลิตได้มาก รายได้ก็เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ได้เพาะเห็ดชนิดอื่น ๆ ด้วย อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู

บอกความรู้สึก...สิ่งที่ได้เรียนรู้
                จากเคยที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว ชีวิตล้มเหลวมาเกือบครึ่งชีวิต สามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งในเม็ดเลือดที่เป็นอยู่ ผ่านมา ๗ ปีแล้ว ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถควบคุมอาการของโรคมะเร็งได้ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต อนาคตจะขยายพื้นที่ทำกินที่มีอยู่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชนต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยแลกเปลี่ยนด้วย..