วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้อคิดจากหนานชาญ..แกนนำจากสามขา...


  น้ำน้อยร้อยสาย..กลายเป็นมหาสมุทร    
ความคิดเล็กๆของมนุษย์...อาจยิ่งใหญ่
เป็นคัมภีร์ส่องนำทาง..ที่กว้างไกล    
หากความคิดนั้นรับใช้...มวลประชา
จงร่วมกันแสวง..สร้างทางออก
เป็นผู้บอกสัจธรรม...อันล้ำค่า
ให้หลุดจากยากไร้...ใช้ปัญญา
ด้วยศรัทธาหลักซึ่ง...พึ่งตนเอง..
        พี่ชาญ อุทธิยะ แกนนำชุมชนคนหนึ่งจากบ้านสามขา ให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง..และการเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนเสมอ ..(ยังมีต่อ...)
          

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

..บทเรียนจากการเรียนยุทธศาสตร์ ที่บางละมุง(ตอนที่ 1)

             สวัสดีครับ.....ตั้งใจมาหลายครั้งว่า ไปอบรมที่ไหนมา จะนำความรู้ตามความเข้าใจที่เก็บเกี่ยวได้มาแบ่งปันกับทุกท่าน แต่ยังไม่ได้ทำตามความตั้งใจสักที ด้วยเหตุผลต่างๆนา ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่ดี เพราะจะผลัดวันไปเรื่อยๆ  คราวนี้ ได้ไปเรียนรู้เรื่องการวางแผนกลยุทธ์หรือการจัดทำยุทธศาสตร์ กับ นพส.รุ่น 30  ที่วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ที่บางละมุง มา 4 วัน (25 – 28 กันยายน 2553) และได้นำเสนอร่างยุทธศาสตร์ “ล้านนาวิชชาลัย” จึงขอนำบรรยากาศ พร้อมกับความรู้ที่พอหยิบฉวยได้
มาแบ่งปันกัน..
             วิชาการวางแผนกลยุทธ์ หรือการจัดทำยุทธศาสตร์ สถาบันฯได้เชิญ ดร.รัฐ ธนาดิเรก
ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มาเป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนยุทธ์ ให้พวกเราฟัง ในด้านตัว
อาจารย์นั้น เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ และมีกระบวนการถ่ายทอดทีเข้าใจง่าย
เป็นขั้น เป็นตอน ผมนั่งเรียนแล้วมีความรู้สึกว่า เพิ่งเรียนการจัดทำยุทธศาสตร์ที่เพลินไปกับ
เนื้อหาวิชา อาจารย์ไม่ใช้ ppt แต่ใช้การเขียนแบบใช้กระดานดำ แต่ไปใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แทน ภาษาทางคอมฯผมไม่แน่ใจนัก อาจเป็น e-blackboard ก็ได้
             รู้จักที่มาที่ไปของอาจารย์ พอนำเข้าเรื่องวิชาการได้ จึงขอเริ่มวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาและสิ่งที่จะนำมาเผยแพร่บอกกล่าวในครั้งนี้ ขอเรียนย้ำว่า เป็นความเข้าใจส่วนตัว ที่พยายามตั้งใจฟังและตามเนื้อหาของอาจารย์ ในแต่ละช่วง แน่นอนครับ บางครั้งอาจจะหลุดไปบ้าง แต่คิดว่าทุกท่านมีพื้นฐานเรื่องนี้กันอยู่พอสมควร คงจะต่อติดได้ไม่ยากนัก...

 
              การจัดทำยุทธศาสตร์ที่ได้เรียนในครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ในหลักการ แนวคิด มากกว่าจะ
เจาะลึกไปถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ในเชิงปฏิบัติ ส่วนดี คือ เราได้ทบทวน ทำความเข้าใจในหลักของการทำยุทธศาสตร์ใหม่ และมีบางมุมมองที่เราอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ได้เติมเต็มในส่วนที่ขาด เกริ่นมานาน ยังไม่เข้าเรื่องสักที ขอเริ่มเลยดีกว่าครับ
กรอบการบรรยายของอาจารย์
                ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา อาจารย์ ได้สร้างข้อตกลง ทำความเข้าใจ ในเนื้อหาที่จะถ่ายทอดให้พวกเราฟัง ออกเป็นส่วนเนื้อหา ตามลำดับดังนี้ครับ
1.กลไกของการคิดเชิงกลยุทธ์
2.หลักการคิดวิเคราะห์
3.ค่านิยมของคนต่างยุคสมัย
4.สังคมไทยในอนาคต
5.การวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นกลไกของแผนยุทธศาสตร์
                แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาวิชาเรียน อาจารย์บอกว่า ผู้ที่จะจัดทำยุทธศาสตร์หรือวางแผนเชิงกลยุทธ์ ควรดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และมองย้อนกลับไป โดยใช้หลักวิชาการครับ

กลไกของการคิดเชิงกลยุทธ์
                ความคิดเชิงกลยุทธ์ คือ ความคิดที่ได้กำหนดแนวทางสู่เป้าหมาย โดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เวลาสั้นที่สุด   การคิดเชิงยุทธศาสตร์ ควรเริ่มจาก “เป้าหมาย” ว่าเราได้ตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมใด
จากนั้น...ค่อยมาคิดวิเคราะห์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ เพื่อที่จะได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ และเดินตามแผนที่เราวางไว้ ฟังดูแล้วง่ายได้ครับ แต่ผมไม่เชื่อ ว่ามันจะง่ายหรอกนะครับ
                อาจารย์ เน้นว่า การคิดวิเคราะห์นั้น ต้องใช้หลักวิชาการเยอะแยะมากมาย มาผสมผสานกัน เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างแม่นยำ ซึ่งเรียกว่า การใช้ “ศาสตร์” และที่ต้องใช้ควบคู่ไปกับความรู้ทางหลักวิชาการแล้ว ต้องมี “ศิลป์” ในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ การใช้ศิลปะ จึงไม่มีรูปแบบ เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลไป อาจารย์บอกคำคมไว้ว่า
“ศิลป์ทำให้ศาสตร์มีความโดดเด่น” ถ้าเรามีศาสตร์ที่มั่นคง มีศิลป์ที่โดดเด่น การขับเคลื่อน
ยุทธศาสตร์ของเรา ก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยความราบรื่นครับ อาจพูดได้ว่า การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ คือ การใช้ยุทธศิลป์อย่างเต็มที่ เต็มกำลังครับ

หลักการคิดวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์
               อาจารย์ ได้ให้หลักการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ แบบเข้าใจง่ายๆ ส่วนตัวผมแล้วชอบครับ เพราะต้นทุนทางวิชาการดูจะน้อยอยู่ครับ ก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ อาจารย์ให้เราเริ่มจากมุมมองแบบ  Outside in คือ มุมมองจากภายนอกเข้ามาในองค์กรเรา ดูที่ลูกค้าและคนนอกองค์กร
เป็นหลัก ว่า เขาคิดอย่างไรกับเรา มองงานของเราอย่างไร มองความโดดเด่นของเราอย่างไรในเรื่องความโดดเด่นที่ข้างนอกเขายอมรับเรา เรียกว่าเป็น “Market Positioning” หรือตำแหน่งทางการตลาด ที่สังคม หรือลูกค้า มองเราหรือรู้จักเราครับ
             จากนั้น ก็เป็น Inside out เป็นอัตลักษณ์ของเรา หรือ “Brand Positioning” อันนี้เรามองตัวของเราเองว่า เราเป็นอย่างไร เด่น ด้อย ทางไหน เราคิดว่า เราเก่งเรื่องใด  มีปัจจัยอะไรที่เกื้อหนุนให้เราเด่น หรือปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างทำให้เราน่าจะมีปัญหาในเรื่องต่างๆในองค์กรของเรา  ถ้าทั้ง Market positioning และ Brand Positioning ลงตัวกัน ก็จะสมบูรณ์แบบ  คือ ทั้งหน้าให้(คนนอกมองเรา) ใจก็รัก(เราภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น) ถ้าหน้าไม้ให้ใจรัก ก็พอตกแต่งได้ แต่หน้าก็ไม่ให้ ใจก็ไม่รัก อันนี้คงจะยุ่งอยู่ครับ
นี่คือการวิเคราะห์สองส่วนแรกที่ใช้ในการคิดวิเคราะห์ ที่อาจารย์เน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ  มุมมอง “Outside in” ที่ต้องให้ความสำคัญต่อลูกค้าภายนอกองค์กรก่อน
              นอกจากนี้แล้วอาจารย์ ยังชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการใช้เทคนิค SWOT ในการวิเคราะห์องค์กร ซึ่งผมยังไม่เคลียร์เท่าไรนัก แต่ค่อนข้างจะคล้อยตามอาจารย์มากอยู่ จึงขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

Style ของการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์
 การคิดวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์จำเป็นต้องใช้ข้อมูลมาประกอบการคิด ตัดสินใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนกลยุทธ์ ที่ดี อาจารย์แบ่งรูปแบบการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์เป็น 2 แบบ ดังนี้
                1.Evident Based เป็นข้อมูลที่เรามีอยู่ ที่เราเก็บได้ มีหลักมีฐานอ้างอิงชัดเจน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
                2.Scenario Based เป็นการวิเคราะห์ภายใต้สภาวะไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วข้อมูลใช้ไม่ได้ไม่มีประโยชน์ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย จึงต้องใช้การคาดการณ์เข้ามาช่วย โดยมักมีคำถามที่ตั้ง เพื่อหาคำตอบ ในลักษณะเช่นนี้..
                   -ถ้า.........เกิดขึ้น เรา จะทำอย่างไร
                  -และเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร
                  -ในอนาคตถ้าสังคมเปลี่ยนไปในลักษณะ...............
เราจะคิด จะทำอะไรต่อไปประมาณนี้แหละครับ..

การสนทนาแบบกลยุทธ์(Strategic Conversation)
            นั่งเรียนกับอาจารย์ พอเข้าใจว่า(ส่วนตัวนะครับ) อาจารย์ไม่นิยมใช้ SWOT ในการวิเคราะห์เพื่อจัดทำกลยุทธ์ เพราะมีข้อจำกัดและดูไม่เป็นธรรมชาติ มีกรอบทางความคิด  อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนกับพวกเรา ถึงวิธีที่เรียกว่า “การสนทนาเชิงกลยุทธ์” เท่าที่ได้รับฟังอาจารย์ พูดถึงเรื่องนี้ สรุปง่ายๆ คือ การชวนผู้ที่จะเข้ามาทำยุทธศาสตร์กับเรา ไปเรื่อยๆครับ ถ้าในวงงาน พช. ผมก็คิดถึง การจัดกระบวนการให้ผู้คนมาพูดคุย แสดงความคิดเห็น โดยมีวิทยากรกระบวนการ เป็นคนเดินเรื่อง หรือ ผู้เอื้ออำนวย ครับ โดยไม่ต้องทำเป็นตาราง เป็นช่อง แบบ SWOT
             สรุปการสนทนาเชิงกลยุทธ์ (ตามความเข้าใจส่วนตัว) คือ การชวนพูด ชวนคุย เรื่องที่ว่า ถ้าเราจะกำหนดทิศทางเป้าหมายข้างหน้าในการพัฒนาองค์กรเรา ชุมชนเรา จังหวัดเรา ไปสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้ เราจะทำอย่างไร มีอะไรบ้างที่เรามีดี มีอะไรบ้างที่เรายังทำไม่ได้ดี มีเหตุการณ์ สถานการณ์ ปัจจัยอะไรที่เอื้อให้เราบรรลุวิสัยทัศน์ได้ และในทางตรงข้าม มีอะไรที่ขวางกั้น จำกัดเราให้มีความยากลำบากในการก้าวสู่วิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ พอพูดคุยเสร็จแล้ว ค่อยนำมาสรุปภาพให้ชัดเจน และเข้าใจร่วมกัน ให้มากขึ้น ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
.....ยังมีความรู้ดีๆจากอาจารย์ อยู่ครับ แต่คงต้องรอไว้ตอนหน้า พอถ้าเขียนแบบรวดเดียวจบ ท่านคงใช้เวลานานและจะเบื่อได้โดยง่าย เบื่อหรือไม่เบื่ออย่างไร ช่วยติดตามตอนหน้าด้วยนะครับ.....

                                                                                                                  พิเชฎฐ์ อาจสามารถ
                                                                                                    ..ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง...
                                                                                                                       1 ตุลาคม 2553