วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรียนรู้..มองผ่านการจัดเวที KM-5



          ทีมสนับสนุนการจัดการความรู้     ได้จัดเวทีในวันพุธที่ 30 มิ.ย.53 เรียกว่าเป็นเวทีการจัดการความรู้ครั้งที่ 5 ของศูนย์ฯลำปาง..( เวทีสรุปบทเรียนการจัดเก็บความรู้ผ่านการเล่าเรื่อง )  มีกระบวนการ/ประเด็นเดินเวที คือ..
1.ทบทวน KM-4(สรุปบทเรียนจากการฝึกปฏิบัติ-จับคู่เล่าเรื่อง)
2.ให้ทีมสนับสนุนจังหวัดเล่า+ภาพประกอบทีมละ 10 นาที
3.สรุปบทเรียนร่วมกัน
          *คาดหวังว่าอย่างไร **อะไรที่เกิดขึ้นจริง (ที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี) ***ทำไมเป็นเช่นนั้น..****ได้เรียนรู้อะไร+ข้อเสนอแนะที่จะทำให้ทำได้ดีในครั้งต่อไป..
4.การบันทึกเรื่องเล่า...สกัด/วิเคราะห์เป็นขุมความรู้..และแก่นความรู้
5.จะช่วยกันจัดการความรู้คนในศูนย์ฯอย่างไร?
         *เล่าเรื่อง?
         *บันทึกองค์ความรู้?
6.วางแผนปฏิบัติการKMคนศูนย์ฯ เข้าคลังความรู้



               หลังจากแต่ละทีมงานฯ ได้เล่าเรื่องราวสู่กันฟัง ถึงวิธีการที่ไปจัดเก็บความรู้บุคคลเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัด พร้อมกับมีการฉายภาพประกอบไปด้วย โดยเฉพาะทีมงานสนับสนุนจังหวัดแพร่/น่าน นำทีมโดย ดร.สงัด หมื่นตาบุตร ได้ถ่ายภาพบรรยากาศการออกพื้นที่เป็นคลิปวีดีโอนำเสนอแบบ กบนอกกะลา...เชียวนะ..
               การเริ่มต้นเวทีสรุปบทเรียนฯ ด้วยบรรยากาศแบบเล่าสู่กันฟัง..และมีภาพประกอบให้บรรยากาศ..สภาพพื้นที่..และวิธีทำงานของแต่ละทีมงาน..ทำให้เวที KM-5 ครั้งนี้ เคลื่อนต่อไปด้วยความเป็นกันเอง..เป็นพี่เป็นน้อง..มีน้องนักศึกษาฝึกงานจาก ม.ราชภัฎลำปางทั้งสี่คนช่วยเก็บประเด็น..สรุปผลขึ้น mind-map ให้..

สรุปบทเรียน..การปรับใช้เทคนิคStorytelling ของทีมศูนย์ฯ
                เราเลือกเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อค้นพบของทีมฯ  ที่ทำให้การจัดเก็บความรู้ในพื้นที่ครั้งนี้ทำได้ดีเท่านั้น..
                คนเล่า(บุคคลเป้าหมาย 8 จังหวัด) จะเล่าได้ดีเพราะ มีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งเตรียมประเด็นและเนื้อหารายละเอียดของเรื่องราวประสบการณ์ที่จะเล่า คนเล่ามีประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติ มีภูมิความรู้ในเรื่องที่จะเล่า และอยากเล่าอยากเผยแพร่ประสบการณ์ความรู้ต่อเรื่องเล่านั้นๆ..
                คนฟัง..ก็คือทีมงานของศูนย์ฯ ตั้งใจฟัง..มีการชื่นชมเป็นระยะๆ มีการประสานงานพูดคุยกับคนเล่าเรื่องล่วงหน้า ทั้งเรื่องหัวข้อความรู้/ความสำเร็จที่บุคคลเป้าหมายจะเล่า และประเด็นคำถามหลักๆ..ให้ได้เตรียมตัวล่วงหน้า
                คนบันทึกข้อมูล มีเครื่องมือช่วย..เครื่องบันทึกเสียงจะช่วยเก็บรายละเอียดหรือประเด็นสำคัญๆได้ดีกว่าการจดบันทึก/จับประเด็นอย่างเดียว..และถ่ายภาพนิ่ง หรือวีดีทัศน์ไว้..เพราะรูปภาพสามารถอธิบาย..ให้เห็นบรรยากาศ..ภาพรวม..ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
                คนซักถาม..(บางทีมก็คือคนเดียวกันกับคนฟัง/คนบันทึก)..ตั้งใจฟังคนเล่า..ปล่อยให้คนเล่าๆตามสบาย จะถามด้วยความสนใจและถามเพื่อให้คนเล่าให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น และรู้จังหวะที่จะถาม..ถ้าคนถามเข้าใจหรือศึกษาประเด็นเรื่องเล่านั้นๆมาก่อน จะทำให้สามารถดึงเอาความรู้ ประสบการณ์จากคนเล่าได้ดี
                 และช่วยกันสร้างบรรยากาศทั้งคนเล่าและทีมงานฯ.ให้อยากเล่าอยากคุย เป็นกันเอง ไม่เร่งรีบ..สนุกสนาน..เฮฮา..ได้ความรู้..

ความรู้ในตัวคน พช.เรามีมากมาย..หลากหลาย.. ทำอย่างไร? จะเอาออกมาแชร์กัน มาเผยแพร่..ให้พี่น้อง พช.เรา...หลังจากพวกเราได้ลงพื้นที่ บันทึกความรู้จากพี่น้อง พช.ผ่านการเล่าเรื่องมาแล้ว แต่ละทีมจังหวัดได้เอาข้อมูล..เรื่องเล่าที่ได้มาขีดเขียน..เรียบเรียง..และวิเคราะห์สังเคราะห์..จัดหมวดจัดกลุ่มความรู้เป็นขุมความรู้และแก่นความรู้...เผยแพร่ผ่านบล๊อกKMของศูนย์ฯ และส่งสถาบันการพัฒนาชุมชนเผยแพร่ตามโครงการ KM DELIVERYในช่วงเดือนกรกฎาคม2553..ที่ผ่านมา
เสียงสะท้อน..ที่เป็นข้อคิดเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
              นี่นับเป็นครั้งแรก..ของคนศูนย์ฯลำปาง ที่ได้เผยแพร่ผลงานที่คิดว่าเป็นความรู้ของคน พช.ออกไป..จึงได้รับเสียงสะท้อนกลับมาอย่างมากมาย..ทั้งคำชื่นชมและข้อแนะนำ..ให้ปรับปรุง เพิ่มเติม หรือแก้ไข..ซึ่งเราทีมงานศูนย์ฯลำปางทุกคนขอน้อมรับด้วยความ..ขอบคุณอย่างมากมายค่ะ..ครับ..
              ตัวอย่างข้อคิดเห็น...

  •  บางเรื่องเป็นแค่เพียงบทความทางวิชาการธรรมดา ยังไม่ได้สะท้อนองค์ความรู้เกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะองค์ความรู้ภายในขององค์กร หรือบุคคล ที่ดึงเอาความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว ออกมาตีแผ่ให้ชุมชนนักปฏิบัติได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน...เกรงว่าจะทำให้KMในความหมายที่แท้จริงถูกบิดเบือน...

  • มีระบบการติดตามประเมินผลหรือไม่..คนอ่านมีความพึงพอใจหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง

  • ทุกประเด็นในขุมความรู้..ล้วนเป็นวิธีปฏิบัติ..เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จใช่หรือไม่..

  • แก่นความรู้เป็นการสรุปประเด็น / จัดหมวดหมู่มาจากขุมความรู้ใช่ไหมค่ะ..

  • ฯลฯ              
                 คำชื่นชมก็เยอะมากค่ะ...ผ่านมาทางระบบ 0A..พวกเราทีมงานKM ได้บทเรียนในครั้งนี้ร่วมกันว่า  สุ จิ ปุ ลิ ...เป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้กันอีกเยอะมาก..ทั้งในเรื่องของ สูตะ - การฟัง  จิตตะ - หรือจินตนาการ..รู้จักการคิด การวิเคราะห์..เชื่อมโยง  เรื่องของปุจฉา รู้จักการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิขิต..เราจะยังฝึกฝนการจดบันทึก การขีดเขียน... เพื่อเป็นนักจัดการความรู้ที่ดีต่อไป...จะพยายาม... 

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หนึ่งความภูมิใจจากการเป็นวิทยากรกระบวนการ..

                              
ชื่อ –นามสกุล นายเทพ วงศ์สุภา
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก ๐๘๙-๔๖๐๕๘๗๕
ชื่อเรื่อง หนึ่งความภูมิใจจากการเป็นวิทยากรกระบวนการ
เป็นความสำเร็จเกี่ยวกับ การจัดเวทีติดตามความก้าวหน้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
สถานที่เกิดเหตุการณ์ วัดร่องเคาะหมู่ที่ ๙ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
เนื้อเรื่อง....ผู้เขียนได้จัดเวทีกลุ่มเป้าหมายตามโครงการการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านร่องเคาะ พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่มา จัดเวทีในลักษณะครึ่งวงกลม เริ่มด้วยการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมดพร้อมกัน ตั้งแต่การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการวางแผนปฏิบัติของแต่ละครัวเรือน โดยพยายามให้ได้คำตอบจากกลุ่มเป้าหมาย ทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง บางทีก็มีการพูดกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้างในบางโอกาส เพื่อไม่ให้เคร่งเครียดเกินไป
               หลังจากนั้น ได้ให้เป้าหมายแต่ละคนพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาว่าทำอย่างไร ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง อะไรทำให้สำเร็จ และจะทำอะไรต่อไปอย่างไร หลังจากที่แต่ละคนพูดจบ กระตุ้นให้มีการซักถาม แลกเปลี่ยน กระบวนการที่ให้กลุ่มเป้าหมายเล่าแบบธรรมชาติ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่เครียด ได้ข้อมูลตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่สิ่งที่ได้เกิดคาด คือ ทำให้รู้สึกความผูกพันระหว่างกลุ่มเป้าหมาย ที่ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ทุกคนมีความตั้งใจ ว่าจะทำเป็นตัวอย่างครัวเรือนอื่นๆ บางคนได้ขยายผลสู่ครัวเรือนข้างเคียงบ้างแล้ว นายประจัญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “ปลาดุกที่ผมเลี้ยง มีชาวบ้านใกล้เคียงได้มาดูและนำไปเลี้ยงแล้วหลายครอบครัว” กลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ เราควรมีการพบปะพูดคุย อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง” ในขณะที่อีกคนเสริมว่า “เราเวียนไปแต่ละบ้านก็ได้ ไปบ้านใครก็ให้เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังพร้อมๆ กับพาไปดูได้ทำอะไรบ้าง เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง” หลังจากนั้นการกำหนดเวทีสัญจรครั้งแรกก็เกิดขึ้น
               การจัดเวทีครั้งนี้ตามความคิดของผู้เขียน คิดว่านอกจากได้ผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ได้เห็นความผูกพันของกลุ่มเป้าหมาย ยังได้เห็นแนวทางขับเคลื่อนระยะต่อไปอีกด้วย โดยผู้เขียนเพียงแต่จัดเวทีกระตุ้นให้มีการพูดคุยกัน สร้างบรรยากาศ ให้เกียรติ ให้ความเคารพ ให้ความสำคัญกับผู้เข้าร่วมเวที
บันทึกขุมความรู้
๑. การสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้
๒. การกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยน
๓. การพัฒนาคนโดย เปิดโอกาสให้แต่ละได้นำเสนอผลงานของตนเอง
๔. กระบวนการเรื่องเล่า
แก่นความรู้
               ทักษะการจัดเวที “ สร้างบรรยากาศที่ดี มีความต่อเนื่องในการกระตุ้น มุ่งพัฒนาคน โดยให้เล่าผลของงาน”
กลยุทธ์ในการทำงาน
๑. สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง
๒. ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
๓. เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง
๔. กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน
๕. สร้างความภาคภูมิใจในเรื่องที่เล่า
แนวคิด
๑. การเรียนรู้ของผู้ใหญ่
๒. ปรัชญาการพัฒนาชุมชน ที่เน้นศักดิ์ศรีของคน การให้โอกาสคน
๓. การมีส่วนร่วม
๔. การสรุปบทเรียนการทำงาน
๕. การเป็นวิทยากรกระบวนการ

แนวทางการทำงานกับเครือข่ายพัฒนาชุมชน(เทพ วงศ์สุภา)

การทำงานอะไรก็ตามต้องมีแรงจูงใจ ..มีแรงกระตุ้นในการทำงาน ซึ่งแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นจะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับความคิด ความเชื่อของเราเอง... ผมมีความเชื่อว่าการทำงานพัฒนาชุมชนจะประสบผลสำเร็จได้ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องเครือข่าย... พอเราคิดแบบนี้ ไม่ว่าเราจะทำงานตรงไหน ระดับใด..อำเภอ จังหวัด หรือระดับเขต/ศูนย์ฯ เราก็ต้องหาตรงนี้ให้เจอ..( เครือข่าย ) อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร บอกว่าคนทำงานพัฒนาชุมชนต้องมีทั้งทฤษฎีและหลักการ ต้องมีอุดมการณ์.. และต้องมีเครือข่าย ผมปรับเพิ่มว่าต้องมีทักษะในการทำงาน ยึดมั่นอุดมการณ์ และประสานเซียน ก็คือเครือข่าย..



                 หลักการและทฤษฎี ของการพัฒนาชุมชนนั้นเรามี.และยึดหลักการเหล่านี้ในการทำงานอยู่แล้ว.. ไม่ว่าหลักการมีส่วนร่วม แนวคิดของการพึ่งพาตนเอง เรื่องของชุมชนเข้มแข็ง การทำงานโดยระบบกลุ่ม ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่เราทำกันมาโดยตลอด ส่วนเรื่องทักษะในการทำงาน เช่น ทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ ทักษะการพูด.. ทักษะเหล่านี้คนเป็นพัฒนากรต้องมี ถ้าไม่มีก็จบ ...ตรงนี้ถือว่าพวกเรามีทักษะกัน….
                 อุดมการณ์ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ งานพัฒนาชุมชนจะเดินไปไม่ได้ เพราะว่าคนทำงานเป็นพัฒนากร ต้องทำงานแบบเชิงรุกจึงจะสำเร็จ ปัจจุบัน...พัฒนากรจะทำงานแบบสบายๆ ก็ได้ หรือจะทำงานแบบเหนื่อยก็ได้ ทำงานแบบสบายก็คือ กรมฯ สั่งอะไรมาก็ทำ ทำให้เสร็จ แต่ถ้าทำแบบมีใจรัก.. ก็ต้องคิดว่า ถ้าเรารับผิดชอบพื้นที่นี้ ข้อมูลเป็นอย่างนี้ สถานการณ์แบบนี้ ผู้นำแบบนี้ ทีมงานเป็นอย่างนี้ เราจะทำงานอย่างไร ? ให้มันออกมาดี.. ต้องคิด แล้วก็ลงมือทำ นี่คืออุดมการณ์…
                  สุดท้ายคือเรื่องเครือข่าย... พัฒนากรเราจะเป็นเหมือนอรหันต์แห้ง คือรู้แต่ทฤษฎี รู้แต่สิ่งที่คนอื่นทำ หรือเขาเล่าให้เราฟัง...เราไม่ได้ลงมือทำเอง ถ้าเราอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ.. เราก็ต้องลงมือทำเอง แต่เราไม่สามารถทำเองได้ทุกอย่าง เครือข่ายจะช่วยเราได้ ถ้าเรามีเครือข่ายในการทำงาน จะทำให้เรามีกำลังใจ มีเพื่อน มีองค์ความรู้ ที่หลากหลาย นี่คือความคิดความเชื่อเบื้องต้น ว่าทำไมเราถึงต้องสร้างเครือข่าย... ด้วยความเชื่อแบบนี้ พอผมต้องไปอยู่ในพื้นที่อำเภอวังเหนือ จ.ลำปาง ก็จะเริ่มต้นจากวิเคราะห์สถานการณ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนว่า เป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เราทำงานทางด้านเอกสารเยอะ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ รายงานบางเรื่องใช้เวลาทำถึง 2 วันจึงจะเสร็จ เพราะจะต้องหาข้อมูลประกอบด้วย การลงพื้นที่ของพวกเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นกิจกรรม /งาน/โครงการที่ใช้งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกรมฯ ซึ่งมีน้อยมาก บางตำบลในรอบปี ไม่มีงบประมาณกรมฯ สนับสนุนเลย คนที่ลงพื้นที่จริงๆ เพื่อไปทำงานกับชาวบ้าน/ชุมชน ...จึงต้องเป็นคนที่มีใจรัก และยิ่งถ้าพัฒนาการอำเภอ ไม่กระตุ้น ไม่ส่งเสริมให้ออกพื้นที่ แต่ขอให้ทำงานบนสำนักงานให้เสร็จ ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พัฒนากรไม่ลงพื้นที่กัน พอวิเคราะห์สถานการณ์ได้แบบนี้ ก็รู้ว่าเราต้องทำงานเชิงรุกในพื้นที่และต้องมีเพื่อนร่วมงานในพื้นที่...มีเครือข่ายการทำงานพัฒนาชุมชน…
                    เมื่อรู้สถานการณ์ของเราเป็นแบบนี้แล้ว ได้ไปศึกษางานในพื้นที่ว่าหน่วยงานอื่น.. องค์กรอื่น.. ที่ทำงานในพื้นที่มีใครบ้าง... อย่างไร... มีความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จอย่างไร เขามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร แล้วเรามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน จะช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง...
                     วิธีการของผู้เล่าคือ ไปช่วยเขาทำงานก่อนทุกเรื่อง หลังจากเข้าไปแนะนำตัวแล้ว ก็จะปวารณาตัวว่าเราอยากจะช่วยเหลือเขาหากมีงานอะไรให้ช่วยได้ ยังไม่ต้องคำนึงถึงว่างานนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานของเราหรือไม่อย่างไร ไปช่วยเขาก่อน... ให้ได้ใจก่อน งานของสาธารณะสุข... งานของปกครอง...งานของพระสงฆ์...ฯลฯ จะไปช่วยเขาทำงานตลอด...พอเขาเห็นศักยภาพของเรา มีงานอะไรก็จะเรียกหาเรา พอเรามีงานบ้างก็สามารถขอเขามาช่วยได้ นี่คือวิธีลงไปทำงานกับเครือข่าย นอกจากนี้ .. เราต้องเรียนรู้ข้อจำกัดของแต่ละเครือข่าย และต้องยอมรับข้อจำกัดนั้นๆ ด้วย
                     ที่ตำบล ร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง...เครือข่ายสำคัญในการทำงาน คือพระสงฆ์ ถ้าแต่งตั้งให้เป็น อาสาพัฒนาชุมชน ( อช.) ได้ อยากจะให้ท่านเป็น เพราะสามารถทำงานแทนเรา..พัฒนากรได้เลย ผมเข้าใจที่น้องๆ พัฒนากรบางคนบอกว่าอยากจะทำงานในพื้นที่ แต่ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ผมโชคดีคือ พอเขา(เครือข่าย)จะทำอะไรผมจะอาสาช่วย และเขาจะบอกเราตลอดว่าจะทำอะไรเมื่อไร... และเรียกร้องให้เราไปช่วย พระสงฆ์ที่นี่ ทำเรื่องการส่งเสริมอาชีพเยาวชน ทำเรื่องศูนย์เรียนรู้ ทำเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และการสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ ซึ่งก็คืองานของเราทั้งนั้น พระท่านจะของบประมาณมาเองทั้งหมด เราไปช่วยในเรื่องของ การจัดหลักสูตรให้.. การเป็นวิทยากรให้ แต่เราก็ต้องอุทิศตัว.. เพราะงานของท่านจะตรงกับวันเสาร์- อาทิตย์ เช่น งานเยาวชน เพราะวันธรรมดาเยาวชนต้องเรียนหรือทำงาน นี่คือการทำงานกับเครือข่ายพระสงฆ์ อีกเครือข่ายคือ ปลัด อบต. ซึ่งเป็นคนเก่ง เราก็จะบอกเขาว่า เราอยากทำงานด้วย อยากเรียนรู้การทำงานร่วมกับเขา เพราะเราไม่มีประสบการณ์ การทำงานในพื้นที่มากเท่าเขา เราเสนอตัวช่วยเขา เพื่อให้เขาเห็นว่าการทำงานร่วมกันจะทำให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน เราและเขาเองก็ไม่เหนื่อย ชาวบ้านก็ไม่เหนื่อย พอเขามีงานเราก็ไปช่วยเขาทำงานจริงๆ ตามที่ได้เสนอตัวไว้..

                        ทักษะในการทำงานที่พัฒนากรเราต้องมีคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการจับประเด็น... พอลงไปจัดเวทีในพื้นที่จริงๆ ถ้าพัฒนากรพูดอะไรไม่ได้เลยก็ไม่มีประโยชน์ ในพื้นที่เขาต้องการให้เราช่วยเหลือในเรื่องวิทยากรกระบวนการ การตั้งข้อสังเกต การจับประเด็น และการเชื่อมโยงสิ่งที่เขาพูดคุยกัน ในเวทีหากมีช่วงจังหวะที่เราจะได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น.. ก็ควรจะเปิดตัวแสดงศักยภาพ เราก็จะเป็นที่ปรึกษาเขาไปโดยอัตโนมัติ... ผู้เล่าใช้วิธีนี้กับปลัด เดี๋ยวนี้เวลามีการอบรม หรือมีการประชุมก็จะขอให้เราไปช่วย..เช่นในวันนี้ก็เป็นวิทยากรกระบวนการในโครงการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาด้านสังคมของศูนย์พัฒนาสังคม กระทรวงพัฒนาสังคม เขาจะทำการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดกิจกรรมของเด็กสตรีเยาวชนผู้สูงอายุ ทำเป็นตำบลต้นแบบ.. ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องทำเป็นระบบ จะทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับตำบล ก็เอาแกนนำๆ 4-5 คน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. เยาวชน ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ มานั่งคุยกัน มีกระบวนการคือ ให้เสนอข้อมูลของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำอยู่และปัญหาที่มี กำหนดแนวทางแก้ไข และวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งกระบวนการในลักษณะชวนคุยเหล่านี้ ถ้าพัฒนากรมีศักยภาพตรงนี้ก็จะช่วยเขาได้เยอะ ซึ่งผู้เล่าคิดว่าพัฒนากรเราทำกระบวนการตรงนี้ได้ดีกว่า เพราะโดยบุคลิกลักษณะของคนพัฒนาชุมชนจะพูดเก่งอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้พูดเก่งแล้ว.. ก็ต้องฟังเก่งด้วย ถึงจะเป็นวิทยากรกระบวนการได้ เรากระตุ้นให้เขาพูด ให้ตรงจุดตรงประเด็น พูดเป็นเรื่องเป็นราว ให้เป็นประเด็นๆไป ปัจจุบันในพื้นที่ เครือข่ายสาธารณสุขก็เป็นเครือข่ายที่สำคัญ เขาทำงานพัฒนาชุมชนเยอะ งานของพัฒนาสังคมก็จะลงไปที่สาธารณสุขเยอะ เรื่องสวัสดิการต่างๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อาหารปลอดสารพิษ ความสะอาด ทำทุกเรื่อง..เพราะเขามีคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่ด้วย ถ้าเราเป็นเครือข่ายกับเขาได้ ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น ข้อมูลต่างๆเราก็รับรู้จากเขาได้เยอะ เขาทำงานคล้ายกับเรา ซึ่งจะช่วยให้งานของเราดียิ่งขึ้น

                     นอกจากนี้ก็จะทำงานกับเครือข่ายเกษตร เครือข่ายของผู้นำ แกนนำต่างๆ เครือข่ายที่จังหวัดลงไปทำกับอำเภอ และเครือข่ายข้างนอก เช่น เครือข่ายปูนซีเมนต์ เครือข่าย สกว. เป็นต้น ผู้เล่าได้ทำงานร่วมกับ สกว. มาก่อนแล้ว พอลงมาอยู่ในพื้นที่ เขาอยากทำงานวิจัยกับ สกว. เราก็แนะนำเชื่อมต่อประสานให้..

การที่จะทำให้เครือข่ายอยู่ได้อย่างยั่งยืน...ต้องมีกิจกรรม... กิจกรรมนั้นอาจเป็นกิจกรรมที่คิดร่วมกันก็ได้ คือต้องมีส่วนร่วมในการคิด และมีเวทีพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง การทำงานกับเครือข่ายมีข้อดีคือ การทำงานเป็นเหมือนภาคประชาชน ไม่เป็นระบบสั่งการแบบข้าราชการ ไม่มีใครเป็นลูกน้องใคร ทุกคนเท่าเทียมกัน... ไม่ว่าจะเป็นปลัด.. พระสงฆ์ ฯลฯ ดังนั้น พอรู้สึกว่าเท่าเทียมกัน ก็ทำให้ไว้วางใจกัน รู้สึกว่าไม่เอาเปรียบกันก็จะช่วยเหลือกัน.. เครือข่ายมีเวทีพูดคุยกันต่อเนื่อง ต้องมีการประชุม ถ้าไปร่วมด้วยไม่ได้ก็จะต้องโทรศัพท์บอกกันว่าไปไม่ได้จริงๆ เขาก็จะเห็นความสำคัญของเรา ถ้าเรามีศักยภาพอะไรต้องแสดงออกอย่างเต็มที่ เรามีความสามารถในการเป็นวิทยากรกระบวนการ เราก็ใช้ความสามารถตรงนี้ไปช่วยเขาทำงาน คือเราต้องให้เขาก่อน... สิ่งที่ได้จากเครือข่ายก็คือ กำลังใจ ข้อคิด ได้วิธีทำงาน ถ้าเรามีเวทีพูดคุยกันบ่อยๆ จะทำให้มองเห็นว่าเครือข่ายกำลังทำงานอะไร แล้วงานของเรามีอะไรบ้าง ก็จะสามารถนำงานของเราทำร่วมกันกับงานของเครือข่ายได้เลย อีกทั้งจะได้งานทำด้วยกันต่อๆไปอีก... เกิดการยอมรับ และทำงานแบบพี่แบบน้อง อีกอย่างที่สำคัญคือต้องไม่เป็นทางการ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือตอบกันไปมา ..ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่ามันยาก หรือต้องทำเพราะถูกสั่งให้ทำ

การทำงานกับเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จ
                เครือข่ายจะอยู่ได้ เพราะคนที่มาอยู่ทำงาน...มีผลประโยชน์ร่วมกัน คือเกิดประโยชน์กับงานของเราเอง หรืออาจไม่ใช่เรื่องของงาน แต่เป็นประโยชน์ของความภาคภูมิใจ การได้มีส่วนร่วม ถือเป็นผลประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เครือข่ายเดินไปได้ ก็ต้อง 1. มีการพูดคุยกัน 2. มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง หลังทำกิจกรรมแล้ว 3. ต้องมาพูดคุยกัน 4. สิ่งที่จะผูกมัดได้ คือประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับ จากการมาร่วมกันเป็นเครือข่าย ความภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ส่งผลต่องานของตัวเอง5. เครือข่ายจะยั่งยืนต้องมีความไว้วางใจกัน 6. ไม่เอาเปรียบกัน 7. ให้เกียติซึ่งกันและกัน ไม่มีใครอยู่เหนือใคร นี่คือเครือข่ายที่ทำงานกันในพื้นที่

ตัวเราเองคนพัฒนาชุมชนต้องมีความเชื่อว่า งานจะสำเร็จได้เครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงจะต้องให้ความสำคัญกับเครือข่ายเพราะเราไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบัน พช ไม่มีเรื่องเงินงบประมาณไปสนับสนุน เราต้องเข้าไปตัวเปล่า เงินอยู่ที่เครือข่ายทั้งนั้น ประสบการณ์ในพื้นที่ก็อยู่ที่เครือข่าย เวลาจะลงไปทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากความเชื่อเรื่องเครือข่ายแล้ว ต้องมีใจที่จะทำ ช่วงแรกๆพวกเขาอาจจะยังไม่เชื่อมั่นเรา เราจะต้องเจออะไรหลายๆอย่าง เช่นคำพูดที่ว่า งานพัฒนาชุมชนไม่เห็นมีอะไรซักอย่าง.. เห็นทำแต่เรื่อง จปฐ. พัฒนากรบางคนพอโดนกระทบ ก็จะมีอคติทันที เราต้องอดทน เพราะคนนอกเขามองเห็นแบบนั้นจริงๆ แต่พอเราตั้งใจทำงานไปอีกสักระยะหนึ่ง พวกเขาจะเห็นเองว่าทุกเรื่องทุกงานที่เป็นการสร้างชุมชนเข็มแข็งนั้น ล้วนเป็นงานของเราพัฒนาชุมชน และเขาก็จะยอมรับเราในที่สุด... ต้องเป็นผู้ให้ก่อน เวลาเรามีงานถึงจะเข้าพื้นที่ แบบนี่จบ... ถ้าเครือข่ายมีงานอะไร เราเข้าไปช่วยเขาก่อน ใช้ปรัชญางานพัฒนาชุมชน การให้เกียติ ศักดิ์ศรี ให้โอกาส มีแล้วต้องยึดถือและปฏิบัติด้วย เพราะเครือข่ายเรามีทั้ง ระดับผู้นำ และเจ้าหน้าที่ บางคนมีตำแหน่งหน้าที่ บางคนไม่มีตำแหน่งอะไรเลย บางคนจบปริญญาโท บางคนระดับประถม การพูดคุยจึงไม่ได้พูดเฉพาะระหว่างคนมีความรู้ความสามารถ จึงต้องให้เกียติคนเหล่านี้ด้วย ถึงแม้ไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่พวกเขามีฐานศรัทราในหมู่บ้าน/ ชุมชนที่เขาอยู่ การทำงานจึงต้องยึดปรัชญาพัฒนาชุมชน และต้องยึดหลักการพัฒนาชุมชนด้วย การมีส่วนร่วม ประชาธิปไตย การพึ่งตนเอง เวลาจะทำกิจกรรมอะไร ก็ต้องคิด ทบทวนว่า อะไรบ้างที่เราสามารถทำด้วยตัวเองได้ และลงมือทำร่วมกันจึงจะรู้จิตรู้ใจกัน ...

                  การทำงานกับเครือข่าย... บางทีก็ต้องย้อนมาที่หลักการทำงาน... ซึ่งผมยึดหลักการที่ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ( ม.แม่โจ้ / สกว. ) เคยบอกกับพวกเราว่ากระบวนการทำงานของนักพัฒนานั้นต้อง.. ลงล่าง สร้างฐาน สานข่าย ใช้กระบวนการเรียนรู้...สู่ชุมชนเข็มแข็ง ซึ่งถือเป็นหลักการในการทำงานกับชุมชน จะทำอะไรก็ตามต้องลงไปถึงชุมชน คือ การเข้าถึง สร้างฐานคือสร้างทีมให้เข็มแข็ง.. สร้างแกนนำ สานข่าย คือหาเครือข่าย ใช้กระบวนการเรียนรู้ ก็คือทำอะไรก็ตามต้องมีเรื่องข้อมูลเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการวิเคราะห์ข้อมูล มีการกำหนดกิจกรรม วางแผนปฏิบัติ ลงมือทำ แล้วมาถอดบทเรียน ถ้าทำแบบนี้อย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่ชุมชนที่เข็มแข็ง ตรงนี้เราต้องบอกกับเครือข่ายว่า เราต้องยึดหลักการตรงนี้ในการทำงานร่วมกัน.. อีกอย่างคือ ปลุกเร้า เข้าขา หาเป้า เข้าใจตรง ลงมือแก้..แค่ให้ได้บทเรียน... ปลุกเร้า คือ ต้องสร้างความอยากให้เกิดขึ้น เข้าขาคือ หาทีมให้ได้ ..หากลุ่ม หาแกนนำ หาเป้าคือ วางเป้าหมายกำหนดเป้าหมาย เข้าใจตรงคือ ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำงานด้วย ซึ่งรวมไปถึงการวางแผนให้ไปถึงเป้าหมายด้วย ลงมือแก้ก็คือ ลงมือทำลงมือปฏิบัติ ทำเสร็จก็สรุปบทเรียนทุกครั้ง..แล้วก็ต้องกลับมาทบทวนดูแต่ละกระบวนการ/ขั้นตอนว่า ตรงไหนยังทำได้ไม่ดี..ยังอ่อนก็ต้องปรับปรุงแก้ไข.. ทำงานพัฒนาชุมชน..ทำงานกับเครือข่าย.ให้หลักการทำงานตรงนี้มันอยู่ในจิต..ในใจของเรา…..
ผู้ให้ข้อมูล /เจ้าของความรู้.. เทพ วงศ์สุภา 22 มิถุนายน 2553
ผู้เรียบเรียง/บันทึกข้อมูล...ทีมสนับสนุนจังหวัดลำปาง ศพช.ลำปาง
และนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดการความรู้ ; การจับประเด็น หรือดึงสาระสำคัญ จากเรื่องเล่าเพื่อการใช้งาน

การจับประเด็นเพื่อการถอดองค์ความรู้ (knowledge asset) คืออะไร มีเทคนิควิธีการอย่างไร มีวรรณกรรมที่เขียน บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้เยอะมาก เรื่องที่แปลมา.. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขียนโดย กูรู เจ้าของหนังสือขายดีระดับโลก เพื่อนพช.ที่อ่านภาษาอังกฤษได้คงได้อ่านมาบ้างแล้ว เห็นว่าจะมีการแปลหนังสือเรื่อง Learning to Fly ออกมาเป็นภาษาไทย เร็วๆนี้ กูรูซึ่งเป็นคนเขียน หนังสือเล่มนี้คนหนึ่ง เคยมาช่วยบรรยายงานของเอ็นจีโอ หลายรอบแล้ว ที่เชียงใหม่  ได้รับแจ้งข่าวและเชิญ แต่เราก็พลาดโอกาสงามๆไปทุกครั้ง เพราะงานประจำ.. ผมส่งบทความซึ่งแปล เรียบเรียง และดัดแปลงใหม่ ให้เข้ากับบรรยากาศคน พช. มาให้อ่านเล่นๆ พร้อมนี้.... เผื่อว่าอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจบ้างครับ...

องค์กรต่างๆ มีวิธีการเก็บรวบรวมผลการทำงาน หรือบทเรียนจากการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของติดตามประเมินผลโครงการ บ่อยครั้งผลหรือบทเรียนการทำงานเหล่านั้น ไม่ได้ถูกเอามาใช้ประโยชน์ แต่เป็นแค่กองกระดาษ เก็บไว้บนชั้นจนฝุ่นเกาะ หรือแค่เก็บไว้เป็นแฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์ ..

จะเป็นการดีมากหากจะมีใครสักคน...นำเอกสารบทเรียนเหล่านั้น มาพิจารณาศึกษาอย่างถี่ถ้วนอีก เพื่อสรุป หรือค้นหาประเด็น สาระสำคัญ (key point)เป็นองค์ความรู้ใหม่อีกรอบ หากองค์กรมีการส่งเสริมให้บุคลากร ทำในลักษณะที่ว่านี้ ก็เท่ากับว่า องค์กรของเราได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการความรู้ และกำลังทำกิจกรรมสำคัญที่เรียกว่า “กิจกรรมเรียนรู้ก่อนการทำงาน (learning before doing)
การจับประเด็นหรือดึงเอาสาระสำคัญออกจากเรื่องเล่า..
จึงเปรียบเสมือนการเตรียมบรรจุสิ่งของลงกระเป๋าใบใหญ่เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนสักแห่ง หากเป็นการไปท่องเที่ยวเราจึงควรรู้ว่าภายในกระเป๋านั้น เราควรบรรจุอะไรบ้าง เช่น ตั๋วโดยสาร หนังสือเดินทาง แผนที่ เอกสารโปรแกรมท่องเที่ยว ใบอนุญาตขับขี่ กล้องถ่ายรูป เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้... เราทุกคน ก็คงนึกถึงกระเป๋าสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวที่เตรียมไว้ โดยยังมิต้องสนใจกระเป๋าใบอื่น ที่ได้บรรจุสิ่งของอื่นๆ ไว้แล้วเช่นกัน แต่มีสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการของเราในขณะนี้ แต่แม้กระนั้น เราก็จัดเรียงลำดับกระเป๋าใบต่างๆ ไว้ในความทรงจำของเรา สำหรับมิติของการจัดการความรู้ พอถึงคราว ที่คนในองค์กรจะต้องใช้ หรือต้องการค้นหาบทเรียนการทำงาน สิ่งที่เก็บเอาไว้ อย่างมีระบบ ก็จะผุดออกมาเป็นข้อมูล ข่าวสาร หรือองค์ความรู้ได้  แน่นอนว่า...เราจำเป็นต้องหาวิธีที่ดี ในการสร้างขุมความรู้ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ความสำคัญกับคน หรือชุมชนที่จะนำความรู้ หรือบทเรียนไปปฏิบัติจริงๆ
ขั้นตอนต่อไปนี้ มาจากหนังสือสอนการปฏิบัติ ที่ขายดีชื่อ"Learning to Fly - Practical knowledge management from leading and learning organisations" เขียนโดยChris Collison and Geoff Parcell ผู้เขียนทั้งสองต้องการสื่อและทำอะไรให้ดูง่ายๆ เพียงแค่ช่วยให้ทุกคน ได้ช่วยกันคิด และกำหนดออกมาเป็นประเด็น หรือให้เห็นเป็นโครงสร้างความคิดจากสิ่งที่ได้พบ หรือเห็นหรือเรียนรู้มา เท่านั้นเอง

1. ค้นหาผู้ใช้ความรู้ กล่าวคือต้องทราบแน่ชัดว่าคนหรือหน่วยงานที่จะใช้ความรู้ที่ได้คือใครในปัจจุบัน และอนาคต ทุกครั้งที่เราคิดถึงเรื่องการจัดการความรู้ หรือหาขุมทรัพย์ความรู้ (knowledge asset)
2. ตรวจสอบให้มั่นใจว่า ความรู้ที่ต้องการ คือเรื่องอะไร มีขอบเขตเพียงใด เพราะการค้นหาขุมความรู้ (knowledge asset)นั้น ต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองการหาคำตอบบางเรื่องของงานที่ทำ (a specific area of business activity)
3. ค้นหากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำ การค้นหาหาขุมความรู้ หรือที่มักเรียกว่าชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice)คนกลุ่มนี้ คือคนกลุ่มแรกที่จะเป็นผู้ ให้เปิดเผยองค์ความรู้ที่มี ยังเป็นผู้ที่จะใช้ความรู้โดยตรง และเป็นผู้ที่จะรับผิดชอบต่อเนื่องในการจัดการความรู้
4. ดึง หรืออ้างอิง สิ่งที่จะใช้เป็นฐานคิดเบื้องต้น ในการจัดการให้เกิดเป็นองค์ความรู้ โดยนำมากำหนดเป็นแนวทางกว้างๆ พยายามบอกบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของการค้นหาขุม หรือองค์ความรู้ เช่น มีแนวทางอะไรบ้าง ที่ท่านสามารถดึงความรู้ จากฐานคิดต่างๆที่มีอยู่เหล่านี้ เป็นต้น
5. ตั้งหัวข้อให้ง่ายแก่การพิจารณา โดยในแต่ละหัวข้อ มีตัวอย่างหรือเรื่องราว ที่จะบอกให้ผู้ใช้ความรู้ ได้ทราบถึงประเด็นสำคัญต่างของขุมทรัพย์ความรู้ ที่พบว่า คืออะไร : อาจเริ่มต้นโดย ตั้งคำถาม ดังนี้
" ในการทำเรื่องนี้ คำถามที่ฉันจะต้องถามตัวฉันเอง คืออะไร?"
" ขั้นตอนแต่ละขั้น ที่ฉันจะทำต่อไป คืออะไร?"
ทำหัวข้อข้างต้นให้กระจ่าง ด้วยตัวอย่าง เรื่องเล่าหรือเรื่องราว รูปภาพ ภาพดิจิตอบ ภาพจำลอง คำอ้างอิง คลิปจากสื่อจากโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น เพื่อให้คนอื่นๆเข้าใจ
6. เชื่อมต่อ เผยแพร่ไปยังบุคคลอื่นๆ ผ่านระบบสารสนเทศ เช่น โฮมเพจ อีเมลส่วนบุคคลในที่ต่างๆ และบรรจุ ชื่อคน ภาพคน ชุมชนนักปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรเป็นภาพถ่ายขนาดเล็ก
7. ทบทวนความสมบูรณ์หัวข้อที่ทำ (Validate the Guidelines๗) โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนนักปฏิบัติช่วยกันออกความคิดเห็นเพิ่มเติม  เช่น อาจตั้งคำถามว่า ประเด็นที่ได้ค้นพบหรือแนวทาง(guidelines)ที่ได้ สะท้อนปัญหา และประสบการณ์ของท่านจริงหรือไม่ และ ท่านมีสิ่งใดที่เพิ่มเติม หรือไม่?"
8. การสะท้อนความคิด (Feedback) เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนนักปฏิบัติได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ให้ผู้ใช้องค์ความรู้แสดงความคิดเห็น เพิ่มเติมในข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เห็นว่า ยังไม่สมบูรณ์สำหรับพวกเขา โดยคิดถึงหลักเหตุผล ที่ว่าคนใช้องค์ความรู้ ควรเป็นคนสำคัญในการให้ข้อเสนอ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุดก่อน

จากวิธีการเช่นว่านี้.. หากได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นกระบวนการ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ย่อมสามารถพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานในองค์กรให้เกิดขึ้นได้ ถือเป็นกุญแจสำคัญของการทำงานที่เหนือคู่แข่งขัน และเป็นประโยชน์ในการพัฒนางาน การพยายามค้นหาขุมความรู้ หรือองค์ความรู้ โดยการดึงเรื่องราวจากชุมชนนักปฏิบัติ ทำให้เกิดเอกภาพและเกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน และสิ่งที่ได้รับ นอกจาก เราได้เห็นความพยายามของคนในองค์กร ยังส่งผลให้องค์กรได้รับความน่าเชื่อถือ

บุญส่ง เวศยาสิรินทร์ แปล/เรียบเรียงและดัดแปลงจากบทความของ Chris Collison ชื่อ Knowledge Management, Capture KM ; More Than Just to Know-how.

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แต่งเพลงให้ศูนย์ฯศึกษาและพัฒนาชุมชน....ลำปาง


"ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง....
 ร่วมนำทางให้ชุมชน    ได้เรียนรู้พัฒนาทุกคน เพื่อชุมชนแห่งความใฝ่ฝัน...ได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง    เป็นแสงเทียนแห่งพระบารมี  ได้ความรู้สร้างความพอมี เป็นวิถีแห่งความพอเพียง.....
** เหนื่อยแค่ไหนไม่เคยหวาดหวั่น เรามุ่งมั่นเพื่อพัฒนาชุมชน...
ภาพแห่งฝันนั้นจะกลายเป็นจริง... เราเป็นทีมแห่งความสามัคคี  จะพรากเพียรสร้างศูนย์แห่งนี้.... มอบชีวีเพื่องานพัฒนา...จะพรากเพียรสร้างศูนย์แห่งนี้... มอบชีวีเพื่อพัฒนาชุมชน..."


                      
                    ผู้แต่งเพลง              ธนาศักดิ์ เตชะวงศ์
                                           เจ้าหน้าที่ระบบงานคอมพิวเตอร์