วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการจัดเวทีขับเคลื่อน..หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม

เจ้าของความรู้ นางนิตยา ดีสุวรรณ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.053-511166
เรื่องเล่า.... จุดมุ่งหมายปลายทางของนักพัฒนาทุกคน คือ อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ในระหว่างทางที่เราจะไปถึง.... นักพัฒนาก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของตนเองว่า.. ในจุดหนึ่งที่เราอยู่นั้น เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ..ต่อพื้นที่ที่เราทำงานบ้าง?...
                  ในช่วงปี พ.ศ.2550 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกำลังมาแรง และพัฒนากรลำพูนทุกคนก็ต้องมีเป้าหมายว่าจะทำเรื่องอะไร ผู้เล่ารับงานด้านเศรษฐกิจของอำเภอบ้านโฮ่งทั้งหมด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงอยากทดลองขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านเป้าหมายที่เราอยากจะทำ คือบ้านศรีปทุม ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เนื่องจากมีปัจจัย/องค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้นำหมู่บ้านให้ความสนใจ สภาพหมู่บ้านมีความเหมาะสมที่จะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ หลากหลายที่ดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ก่อนบ้างแล้ว..
 การจัดเวทีเพื่อขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม 
             จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เพราะเวทีเป็นเครื่องมือที่จะทำให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยน..เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม จึงต้องมีการเตรียมการอย่างเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การเลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีขับเคลื่อนฯ ต้องเลือกมาจากกลุ่มคนที่หลากหลายและครอบคลุมทุกกลุ่มเพราะเราต้องขับเคลื่อนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีทีมงานของตนเอง และมีการบริหารจัดการทุนของกลุ่มเอง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสตรีแม่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านและทีมงาน สมาชิก อบต. รวมทั้งคนที่เราเห็นแววในการร่วมทำงานขับเคลื่อนฯ ถึงแม้จะไม่มีตำแหน่งอะไร อย่างเช่นอาสาพัฒนาชุมชน( อช.) เป็นต้น อีกทั้งต้องดึงเอา นายก อบต. หรือรองนายก อบต. มาร่วมเวทีให้ได้ เพราะอบต.จะเป็นแหล่งสนับสนุนงบประมาณที่สำคัญในพื้นที่ นอกจากนี้...ได้เชิญภาคีการพัฒนาในตำบลมาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เป็นคนในพื้นที่และมีความใกล้ชิดชุมชนมากกว่าเรา และ ศอช.ต.ศรีเตี้ย มาเข้าร่วม 3-4 คน เนื่องจากการทำงานที่ ต. ศรีเตี้ยนั้น ผู้เล่าจะใช้ ศอช.ต เป็นกลไกลในการขับเคลื่อนกิจกรรมทุกอย่าง โดยเฉพาะคุณ พัลลภ จารุคำจา จะเป็นผู้ที่ มีความสนใจ และเสนอตัวเข้าร่วมทีมในการทำงานทุกครั้ง
               การเตรียมสื่อในการจัดเวทีฯ จะจัดเตรียมทั้ง PowerPoint และ วีดิทัศน์ เพื่อฉายให้เวทีเห็นภาพการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านที่ประสบความสำเร็จ...หรือที่ทำได้ดีนั้น เขาทำกันอย่างไรบ้าง....
                เตรียมคน เตรียมสื่อ เตรียมกระบวนการและทีมงาน... แล้วก็เตรียมสถานที่จัดเวที โดยประสานใช้สถานที่ที่ห้องประชุมของ อบต. ศรีเตี้ย รวมทั้งประสานขอรับการสนับสนุน วัสดุอุปกรณ์..เครื่องโปรเจคเตอร์ ของว่างและอาหารกลางวัน จาก อบต.ศรีเตี้ย โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว ที่ผู้เล่าทำงานอยู่ตรงจุดนี้มาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี
                การเดินเวทีเริ่มต้นเปิดหัวเรื่อง...ด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านศรีปทุมให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากในตำบลศรีเตี้ย นอกจากบ้านศรีลาภรณ์ที่มีชื่อเสียงและมีคนเข้ามาศึกษาดูงานกันแล้ว เราก็สามารถขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงไปยังหมู่บ้านอื่นๆได้ด้วย หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลบ้านศรีปทุมร่วมกัน มองเห็นจุดเด่นหลายเรื่อง ทั้งผู้ใหญ่บ้านให้ความสนใจ และสมาชิก อบต. ไม่ขัดแย้งกัน เป็นทีมงานเดียวกัน น่าจะขับเคลื่อนงานได้สะดวก หลังจากนั้นได้แนะนำให้เกียรติทีมงาน ศอช.ต ว่าจะมาช่วยกันขับเคลื่อนงาน แล้วจึงให้เกียรติผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเวทีฯ                การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจะทำกันอย่างไร? เป็นประเด็นเดินเวทีที่ผู้เล่าเตรียมตัวอย่างให้ดู โดยนำเสนอทั้งวีดิทัศน์ ทั้ง PowerPoint ของบ้านใหม่วังผาปูน และอีกหลายๆบ้านที่นำมาตัดต่อ ซึ่งพบว่าการสื่อด้วยภาพ ด้วยตัวอย่างให้เห็น จะทำให้เวทีไม่น่าเบื่อ ทำให้เห็นภาพหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง... เห็นทิศทางการทำงาน และการเข้าถึงกิจกรรมที่จะต้องทำร่วมกันต่อไป ต่อจากนั้นผู้เล่าได้โยนคำถามในเวทีว่า จากที่เห็นภาพแล้วพวกท่านเห็นเป็นอย่างไรบ้าง? แล้วจะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มจากวิเคราะห์ว่ามีกลุ่มอะไรในหมู่บ้าน.. มีจุดใดเรื่องอะไรที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เราจะต้องต่อยอดหรือเพิ่มกิจกรรมอะไรบ้าง...ระหว่างนี้บรรยากาศในเวทีคือ บางคนแสดงความคิดเห็น บางคนนิ่งเงียบ... ในฐานะที่ผู้เล่าแสดงบทบาทเป็นผู้เอื้ออำนวยอยู่หน้าเวที ได้เห็นข้อจำกัดในเวที เช่น คนพูดเก่งก็พูดและพูด คนไม่พูดก็นั่งฟังอย่างเดียว ซึ่งบางทีคนพูดเก่งอาจปฏิบัติไม่เก่งก็ได้ ส่วนคนพูดไม่เก่งอาจปฏิบัติเก่งก็ได้.. เป็นหน้าที่ของเราที่จะกระตุ้นให้คนเหล่านั้น ได้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกันทุกคน เมื่อทุกคนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแล้ว ก็จะเป็นประเด็นการกำหนดกิจกรรมที่จะทำ.. และจะเอางบประมาณมาจากไหน?ในการขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดขึ้น แกนนำที่เข้าร่วมในเวที ล้วนเป็นเจ้าของทุนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ อบต. ก็มีรองนายกอบต.ซึ่งเป็นคนบ้านศรีประทุมร่วมอยู่ด้วย การสนับสนุนส่วนใหญ่จึงมาจากงบประมาณของ อบต.ศรีเตี้ยและกลุ่มแหล่งทุนในหมู่บ้าน ...ส่วนกิจกรรมขับเคลื่อนก็ถูกเสนอออกมาจากเวทีแลกเปลี่ยนฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ไผ่แตกกอหน่อออมทรัพย์ …ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง...หน้าบ้านน่ามอง...เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการมอบหมายภารกิจที่จะทำ ใครหรือกลุ่มใดเป็นเจ้าภาพเรื่องอะไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป...มีการบันทึกการจัดเวทีทุกครั้ง โดยแต่งตั้งเลขานุการ ซึ่งเป็นสมาชิก อบต. ทำหน้าที่บันทึกผลการจัดเวทีและนำเสนอ/ทบทวน...ก่อนเริ่มเวทีครั้งต่อไป ก่อนจบเวที เพื่อเป็นการติดตามกิจกรรมที่ขับเคลื่อนฯ ได้มีการนัดหมายกันว่า จะมาเจอกันอีกเมื่อไหร่ และ สุดท้ายของการจัดเวทีขับเคลื่อนฯ ตกลงกันว่าทุกกิจกรรมจะมีการรวบรวมองค์ความรู้และจะร่วมกันจัดการความรู้ออกมาเป็นเอกสารหนึ่งเล่ม เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนและเป็นผลงานร่วมกันของทุกคนต่อไป...
              กิจกรรมหลังการจัดเวที...ก่อนเปิดเวทีขับเคลื่อนครั้งต่อไป.. ผู้เล่าได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพกิจกรรม เช่น ในเวทีบอกว่าจะทำกิจกรรม ไผ่แตกกอหน่อออมทรัพย์ ..มีการนัดหมายว่าจะตัดไม้ไผ่มารวมกันในวันไหน ผู้เล่าก็จะลงพื้นที่ไปเก็บภาพกิจกรรม ใครเป็นครัวเรือนต้นแบบ ก็จะไปถ่ายภาพไว้ มีการจัดเวทีหลายครั้ง...ระหว่างการขับเคลื่อน ซึ่งผู้เล่าได้ฉายภาพกิจกรรมให้ดูว่าใครทำอะไรไปถึงไหนแล้ว นำเสนอผลงานในเวที และสรุปบทเรียนร่วมกัน...เป็นการพัฒนาปรับปรุงงานร่วมกัน...ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและแรงจูงใจในการทำงาน... ส่วนการบันทึกองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนแต่ละกิจกรรมนั้น จะให้แต่ละกลุ่มกิจกรรมลองเขียนลองบันทึกสิ่งที่ตัวเองลงมือทำ และมีทีมงาน ศอช.ต 2-3 คน อาสาเข้าไปช่วยรวบรวมจัดเก็บความรู้..ผู้เล่าเองนำมาเขียนเรียบเรียง...ทั้งการวิเคราะห์ชุมชน แนวทาง/วิธีปฏิบัติ และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนั้นในเวทีฯ ได้กำหนดให้มีการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านศรีปทุม ด้วย โดยคุณพัลลภ และทีมงาน ศอช.ต ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา( มทร.) ในการเก็บภาพกิจกรรม และถ่ายทำวีดิทัศน์ ตามสคริปที่ผู้เล่าและทีมงานได้เขียนเรียบเรียงให้..จึงเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจร่วมกันทุกฝ่าย..ทั้งท้องที่..ท้องถิ่น..ภาคประชาชนละสถาบันการศึกษา เวทีสุดท้าย(ของผู้เล่า).. ผู้เล่าได้รับคำสั่งให้ไปทำงานในตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน จึงถือโอกาสนัดหมายล่ำลาในเวทีครั้งที่ 5 ถึงแม้ผู้เล่าจะไม่ได้อยู่ทำงานที่นี่... แต่พัฒนากรที่มารับผิดชอบต่อก็คือทีมงานเดิม จึงสามารถต่องานกันได้ เพราะรู้ทุกกระบวนการ ว่าทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป.. ในปีต่อมาอำเภอบ้านโฮ่งได้ส่งหมู่บ้านศรีปทุมเข้าประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัด ส่วนตัวผู้เล่าเองได้เป็นพัฒนากรขวัญใจประชาชน นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้เล่า และคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดเวทีขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..ที่บ้านศรีปทุมนั่นเอง…. 
ขุมความรู้ 
1.ใช้เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเครื่องมือให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น..และทำงานร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม
2.เลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีฯ จากกลุ่มคนที่หลากหลาย/ครอบคลุม และมีภาคีการพัฒนา/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมเวที ( ทีมงานศอช.ต และ อบต. )
3.มีการเตรียมการจัดเวทีฯ ด้วยสื่อโสตทัศนูปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ กระบวนการในเวที ทีมงาน ข้อมูลข่าวสาร และประสานงบประมาณสนับสนุนการจัดเวทีฯ
4.การชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเกิดเวทีขับเคลื่อนฯ และการวิเคราะห์ข้อมูลหมู่บ้านเป้าหมายร่วมกัน จนเป็นที่ตกลงและ พร้อมจะขับเคลื่อนของทุกฝ่าย
5.การสื่อสารในเวทีด้วยภาพ/ตัวอย่าง(วีดีทัศน์/powerpoint) ทำให้เวทีเห็นทิศทางการทำงานและแนวปฏิบัติร่วมกัน
6.เวทีมีผู้เอื้ออำนวยที่วางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม รวมทั้งโยนประเด็นคำถามที่ทำให้เกิดกิจกรรมที่มาจากความต้องการจากเวทีฯ
7.มีการมอบหมายงานที่จะทำต่อ หรืออาสาสมัครในการดำเนินกิจกรรม และจัดเก็บความรู้
8.เลือกเลขานุการทำหน้าที่ในการบันทึกรายละเอียด/ข้อตกลงในเวทีทุกครั้ง และสรุปนำเสนอในเวทีครั้งต่อไป
9.จัดเวทีขับเคลื่อนเดือนละครั้งอย่างต่อเนื่อง..เพื่อเป็นการติดตามงาน นำเสนอผลงาน และสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน
10.การเตรียมทีมงานและการทำงานเป็นทีม ทำให้เวทีขับเคลื่อนไปได้จนบรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายในการจัดเวทีฯ
แก่นความรู้ 
1.การเตรียมการก่อนจัดเวทีให้มีความพร้อมทั้งทีมงาน สื่อ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ โดยเฉพาะการเลือกแกนนำเข้าร่วมเวทีต้องมาจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลายและครอบคลุม 
2.การขับเคลื่อนประเด็นในเวทีฯ โดยผู้เอื้ออำนวยการและทีมงานทำหน้าที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม และมีการจัดเวทีอย่างต่อเนื่อง 
3. หลังจัดเวทีขับเคลื่อนฯ มีการติดตามเก็บภาพถ่ายกิจกรรม จัดเก็บองค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในรูปสื่อวีดีทัศน์และเอกสารจัดการความรู้ ข้อเสนอแนะ... - การสนับสนุน/ส่งเสริมการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ กรมฯควรสนับสนุนงบประมาณให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในการจัดเวทีแลกเปลี่ยน/ประชาคมฯลฯ.. โดยเฉพาะในเวทีแรกที่เป็นเวที สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง..เนื่องการเชิญกลุ่มบุคคลที่หลากหลายมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ต้องใช้งบประมาณในการจัดเตรียมเวทีฯ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหารหรือของว่าง.ที่ผ่านมากรมฯจะสนับสนุนงบประมาณเฉพาะในการทำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบางกิจกรรมเท่านั้น ซึ่งในการทำกิจกรรมเหล่านั้นอาจสามารถหางบประมาณสนับสนุนได้จากเวทีแลกเปลี่ยนที่จัดขึ้น..
ผู้บันทึกความรู้ ทีมงานสนับสนุนจังหวัดลำพูน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปฝึกอบรมเรื่องการเตรียมและจัดทำข้อเสนอโครงการของสหภาพยุโรป (EU)

ชื่อเรื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปฝึกอบรมเรื่องการเตรียมและจัดทำข้อเสนอโครงการของสหภาพยุโรป (EU)
เจ้าของความรู้ นายบุญส่ง เวศยาสิรินทร์ ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
สังกัด กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร. 086-728-3761
เนื้อเรื่อง.... เมื่อเร็วๆนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเข้าฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการจัดทำข้อเสนอโครงการซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Project Cycles & Proposal Writing Training Workshop” ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้รับข่าวสารการรับสมัครเรื่องดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ต จึงได้สมัครทางระบบอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เพื่อให้องค์กรแหล่งทุนฝึกอบรมพิจารณา ผู้เข้าอบรมมีทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย ผู้ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ มีเพียงข้าพเจ้า และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวม 2 คนไปจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานที่รับผิดชอบการฝึกอบรมครั้งนี้ ตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ทำกิจกรรมฝึกอบรม ร่วมกับสถาบัน AIT.ของประเทศไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรม แก่ประเทศที่จะขอรับทุนจากกลุ่มอียู ในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น กัมพูชา จีน เวียตนาม ลาว ไทย เป็นต้น วัตถุประสงค์การฝึกอบรม จึงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนทุนการพัฒนาจากอียู ซึ่งเน้นกลุ่มองค์กร เครือข่ายการพัฒนา ที่มิใช่ภาคราชการ (Non state actors หรือ NSA) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่มีฐานปฏิบัติงานอยู่ในท้องถิ่น หรือภูมิภาค (Local Authority หรือ LA) ให้มีขีดความสามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการ เนื่องจากการช่วยเหลือจากแหล่งทุนจากอียู หรือ EuropeAID มีเงื่อนไข ระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่ค่อนข้างละเอียดเคร่งครัดในการช่วยเหลือ และใช้กลไกการทำงานที่จัดตั้งขึ้นเรียกโดยย่อว่า PADOR เป็นตัวกลางระหว่างอียู กับกลุ่มองค์กรพัฒนา ที่จะขอรับทุน ฉะนั้น การรู้เทคนิควิธีการเตรียม หรือเขียนข้อเสนอโครงการ และทราบเงื่อนไขต่างๆของแหล่งทุน จึงมีความสำคัญต่อการได้รับทุนหรือไม่ ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยคุ้นเคยการเขียนข้อเสนอโครงการรับทุนสนับสนุน จากแหล่งทุนอียู ซึ่งจะสนับสนุนประเทศต่างๆในแต่ละด้านแต่ละปี มักมีนโยบาย แนวทางปฏิบัติ ที่มีข้อแตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไป การติดต่อประสานงานกับองค์กรที่ขอรับทุน การลงทะเบียน การช่วยเหลือแนะนำ รวมถึง ช่องทางในการยื่นข้อเสนอโครงการสู่อียู จะทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทั้งหมด กล่าวถึง กระบวนการฝึกอบรมตามหลักสูตร เริ่มต้นโดย ตัวแทนอียู และวิทยากรชาวเนเธอร์แลนด์ กล่าวต้อนรับ นำเสนอความเป็นมา เหตุผลความสำคัญของหน่วยงาน NSA หรือ LA ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับทุน แจ้งวัตถุประสงค์ แนะนำผู้เกี่ยวข้อง ค้นหาความคาดหวัง เล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการเตรียมโครงการและการขอรับทุนจาแหล่งทุนต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถเห็นภาพ แนวคิด องค์ประกอบวงจรการจัดทำโครงการ (Project Cycle) การกำหนดแนวคิดและขยายให้กลายเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ (Objective Oriented Project Planning) โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ ที่เรียกกว่า ต้นไม้แห่งปัญหา (Problem Tree) และหาต้นไม้แห่งวัตถุประสงค์ (Objective Tree) ด้านการจัดการเพื่อการเรียนรู้ มีการแบ่งกลุ่มใหญ่ ออกเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ตามหัวข้อปัญหา ที่ตัวเองสนใจ หรือพื้นฐานขององค์กรที่มา และทดลองทำตามตัวอย่างใบงานที่กำหนด โดยเรียนรู้วงจรของโครงการในตอนของการวิเคราะห์และวางแผน (Analysis Phase and Planning Phase) กับใช้ Logical Framework Approach เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จากการสร้างแนวคิดโครงการ แล้วขยับไปสู่การออกแบบโครงการ ที่ประกอบด้วย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ผลผลิต และกิจกรรม หัวข้อ Project design กล่าวถึงการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ Log frame โดยพิจารณารายละเอียดส่วนที่เป็นองค์ประกอบย่อย ทำแบบฝึกหัดรายกลุ่ม และใช้กรณีศึกษาโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วของบางประเทศ ถัดมาเป็นการเรียนรู้การเขียนข้อเสนอ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญเรื่องต่างๆ เช่น กรอบความคิดโครงการที่จะทำ (Concept Note) ความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่วิเคราะห์ (Relevance) ความชัดเจนเชิงรายละเอียด (Descriptive) และการให้ความสำคัญประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) การเรียนและฝึกปฏิบัติการออกแบบงบประมาณ (Budget Design) ที่แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ ขนาดของโครงการที่จะขอรับทุนได้ หมวดรายจ่ายต่างๆ ที่จำเป็น ในการกำหนดเป็นค่าใช้จ่าย ความเชื่อมโยงกับตารางเหตุผลใน Log Frame รวมถึงความพยายาม ในการร่วมลงทุนกับองค์กรอื่นๆ (CO-funding)
                     ในตอนท้าย เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับ และแนวทางขอรับทุนการพัฒนาอียู ประจำปี ค.ศ. 2010 ในประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้องค์กรที่สนใจ สามารถเสนอ กรอบความคิดโครงการ (Concept Note) ไปให้แหล่งทุนพิจารณาก่อน ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องส่งข้อเสนอโครงการฉบับเต็ม (Full Proposal)ไปทันที วิทยากรพยายามสรุปกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ตอบคำถามประเด็นต่างๆ ที่ผู้เรียนถาม การประเมินผลการฝึกอบรม และกล่าวปิดแบบง่ายๆ โดยตัวแทนอียูประเทศไทย และมอบประกาศนียบัตร ที่มีบรรยากาศดูค่อนข้างสนุกสนาน การจัดระบบสื่อสารเรียนรู้ต่างๆ ที่มีการตระเตรียมไว้ก่อน ประกอบกับการจัดในห้อง ของโรงแรม ซึ่งเพียบพร้อมด้วยวัสดุ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ล้วนทำให้ผู้เรียนตื่นตัว เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ได้สะดวกขึ้น ในการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ จำนวน 3 คน และยัง มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำงานในกลุ่มเอ็นจีโอ หรือ NSA ในประเทศไทย กิจกรรมเรียนรู้ทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ มีการจัดทำบัญชีรายชื่อ หรือ Attendance List และเอกสารประกอบการอบรมทั้งหมด การถ่ายรูปร่วมกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้เข้าประชุม ได้เกิดความทรงจำ หรือติดต่อกันเองมากขึ้น มีการแนะนำให้ใช้ประโยชน์ จากเว็ปไซต์ของอียู ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปสอบถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
ขุมความรู้ :
1. ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีแหล่งทุน (Grant donors) สำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนอยู่มาก การรู้จัก หาข้อมูล และการประสานแหล่งทุน เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับการทำงานพัฒนาชุมชน 
2. การฝึกอบรมการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการ ช่วยให้บุคลากรได้เรียนรู้หลักการสำคัญเกี่ยวกับการทำงานพัฒนาชุมชนในยุคปัจจุบัน 
แก่นความรู้ :
1.หากมีการศึกษา ค้นหาแหล่งทุน รวมถึงแสวงหาความร่วมมือ อย่างจริงจังจากแหล่งทุน จะช่วยให้ กรมการพัฒนาชุมชน มีทุนหรืองบประมาณ ในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนมากขึ้นหากมีการฝึกอบรม หรือให้ความรู้ใดๆในเรื่องการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการด้านการพัฒนาจะเป็นโอกาสและช่วยให้บุคลากรได้ทดลองและเรียนรู้ประสบการณ์ 
2.หากมีการฝึกอบรม หรือให้ความรู้ใดๆในเรื่องการเตรียมและเขียนข้อเสนอโครงการด้านการพัฒนาจะเป็นโอกาสและช่วยให้บุคลากรได้ทดลองและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเข้าใจการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ดี 
ข้อเสนอแนะ : 
1) เชิงนโยบาย : กรมการพัฒนาชุมชน ควรเร่งศึกษาทบทวนการทำงานร่วมกับองค์การที่มิใช่ภาคราชการ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในการทำงานมากขึ้น 
2) เชิงปฏิบัติ : ควรส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการหาทุนการพัฒนา และมีแนวคิดการทำงานเชิงกลยุทธ์ โดย ควรจัดให้มีเวที และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้มากขึ้น

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทำอย่างไร ? ทำงานร่วมกัน..อย่างมีความสุข

ชื่อเรื่อง ทำอย่างไร ? ทำงานร่วมกัน..อย่างมีความสุข 
เจ้าของความรู้ นางสาววรรณา จันทรานนท์ 
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอลี้ สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลี้ จ.ลำพูน 
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-5324842
เรื่องเล่า…ได้ทำหน้าที่พัฒนาการอำเภอมานาน จนใกล้จะเกษียณแล้ว..โดยเฉพาะที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลี้ จ.ลำพูน ต้องบริหารจัดการทั้งงานทั้งคน การบริหารงานนั้นยังไม่ยากเท่าการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะกับน้องๆ พัฒนากรที่แต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย มีความคิดเป็นของตัวเอง..สำคัญที่สุดคือการจัดการตัวเราเองก่อน ทำอย่างไรจะไม่ให้เครียด..ทำอย่างไรจะปล่อยวางเป็น...ส่วนกับลูกน้องนั้น..ไม่คิดว่าจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรใคร..แต่ทำอย่างไรให้พวกเขาทำงานให้สำเร็จ..ตรงนี้สำคัญมากกว่า
วิธีปฏิบัติคือ..จะศึกษา ทำความเข้าใจ ทำความรู้จักลูกน้องแต่ละคน ถึงแนวคิด..วิธีคิดในการทำงาน ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ใครเก่งอะไร ชอบหรือถนัดเรื่องไหน ก็จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานตามความถนัด/ความชอบ เช่น บางคนชอบพูดชอบคุย..ก็ให้ทำหน้าที่ประสานงาน คนช่างคิดช่างฝันก็ให้คิดโครงการ/สร้างกิจกรรม..บางคนก็ชอบจัดกระบวนการ..เป็นวิทยากร เป็นต้น 
              ในการทำงานจะพูดคุยกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนแสดงความคิดเห็น ยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก ให้แต่ละคนช่วยกันคิดว่า..ทำอย่างไรจะไปให้ถึงเป้าหมายของงาน/กิจกรรมนั้นๆ ..ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ถ้าทำไปแล้วไม่ได้ผลหรือไปไม่ถึงเป้าหมาย..แม้แต่เป็นหัวหน้า(ผู้เล่า)ก็จะยอมรับ ยอมที่จะปรับเปลี่ยน..ไม่ดันทุรังทำต่อไป.. คนที่มีความสามารถ มีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็จะปล่อยให้เขาคิดงานเอง..คอยดูเขา อะไรที่ส่งเสริมได้ก็จะส่งเสริมให้เขาทำงานไม่ไปขัดเขา ทำงานกับลูกน้องจะยึดหลัก Entertain กัน ไปทำงานเป็นทีม ออกท้องที่ด้วยกันเสร็จแล้ว ช่วงเย็นถ้าไม่มีนัดหมายประชุมในหมู่บ้าน ก็จะมีการพักผ่อนด้วยกัน..เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะ ใครเก่งอะไร ชอบอะไร ก็ทำในสิ่งนั้น...บางคนชอบเล่นดนตรี ชอบร้องเพลง ชอบคาราโอเกะ ในช่วงพักกลางวันต้องกินข้าวกลางวันด้วยกัน (เป็นทีม) ทำให้รู้สึกเป็น เจ้าหมู่กัน อะไรที่นอกเวลาจะคุยกันง่ายกว่า เวลาราชการ เวลาทำงานมีอะไรแรงๆ กระทบกัน ขัดแย้งกัน..... แต่พอนอกเวลาก็จะรู้สึกเป็นเจ้าหมู่กัน ไม่ตั้งแง่.. ไม่แยกพวก ระหว่างหัวหน้ากันลูกน้อง.. 
              ที่สำคัญตัวผู้เล่าเอง จะมีความตั้งใจในการทำงาน ตั้งใจเรียนรู้เรื่องงาน ไม่เคยลด ละ เลิก การศึกษาเรียนรู้งาน สมัยก่อนงานพัฒนาชุมชนกว้างมาก เราก็ต้องค้นคว้าศึกษาเรียนรู้ให้มาก สมัยนี้งานเราเป็นวิชาการมากขึ้น ก็จะศึกษากรอบยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม ทิศทางกรมฯ จะเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอะไรเป็นตัวกำหนด แล้วมาถ่ายทอดให้ลูกน้อง..บางทีก็ต้องทำตัวแบบมาก่อน วางตัวแบบให้ เช่น กรณีเรื่องตัวชี้วัด จะทำความเข้าใจร่วมกันในตัวชี้วัดแต่ละตัวก่อน แล้วแบ่งงานกันรับผิดชอบตัวชี้วัด ให้แต่ละคนหาเป้าหมายของตัวชี้วัดนั้นๆ ว่าคืออะไรมีจำนวนเท่าไร เช่น ร้อยละของครัวเรือนยากจนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไร แล้วมีวิธีแก้ไขหรือทำให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดนั้นอย่างไร คอยสังเกตดูว่าเมื่อทำงานไประยะหนึ่งแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง บางคนอาจทำได้ดี บางคนก็ต้องให้คำแนะนำหรือเป็นโค้ชให้ เพราะลูกน้องแต่ละคนแตกต่างกันไป..จึงต้องมีการติดตามงานเพื่อให้งานสมบูรณ์ที่สุด 
               การบริหารคนนั้น บางคนก็ปล่อยได้เลย (ทำได้ดี) บางคนก็ต้องโค้ชชิ่ง ให้คำแนะนำหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บางคนอาจต้องช่วยทำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการล้วงลูก.. แต่บางทีก็จำเป็นเพื่อให้งานสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ทำให้ในปีที่แล้ว สพอ.ลี้ได้ IPA เป็นที่สองของจังหวัด ที่ไม่ได้ที่หนึ่งคงเป็นเพราะการเก็บรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหลายได้ไม่ครบ ที่ทำงานกันไปแล้วบางเรื่องบางงานบางคนก็ไม่ได้เก็บรวบรวมหลักฐานไว้ได้ทั้งหมด การทำงานของทีมงาน สพอ.ลี้ ต้องเตรียมการกันอย่างดี ไม่ให้มีข้อบกพร่อง หรือมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด จะมีการพูดคุยประชุมกันกับทีมงานทุกครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ช่วยกันมองว่างานมันบกพร่องตรงไหนบ้าง จะไม่มีการกล่าวโทษกันว่าใครผิด แต่จะแก้ไขข้อบกพร่องอย่างไรมากกว่า...เป็นการวางแผนพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือ งานสำเร็จและงานมีคุณภาพด้วย ทำให้ดีที่สุด ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและได้การมีส่วนร่วมด้วย 
                 พลังในการทำงาน....ผู้เล่าเคยรู้สึกท้อแท้.. ทำงานไปวันๆ เพราะมองหาความยุติธรรมไม่เจอ... แต่มาได้เห็นตัวอย่าง ที่ดีๆ จากเพื่อนร่วมงานพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการอำเภอปู พัฒนาการอำเภอเจี๊ยบ ที่มีความตั้งอกตั้งใจในการทำงาน และทุ่มเทในทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เลยได้คิดว่า ค่าของคนเรา มาจากการที่เราทำงานนั่นเอง .. จึงยึดถือเป็นต้นแบบ เป็นกัลยาณมิตร ในการทำงานตลอดมา จะปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ ดูวิธีการทำงานจากอำเภออื่นๆ ด้วยการสอบถามแลกเปลี่ยน ดูแบบอย่าง.. ค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตเอามาปรับใช้ เรียนรู้เรื่อง IT ไม่ละทิ้งการใช้เทคโนโลยี ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำงานในบทบาทพัฒนาการอำเภอคือ ท่านนายอำเภอ แต่ก็เป็นคนโชคดี อยู่ที่ไหนก็ได้นายอำเภอดีๆ ..โดยเราจะเข้าหา เข้าถึง...ไปปรึกษางานกับนายตลอด...รับฟังแนะนำ คำสั่ง คำติคำชม และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านให้ดีที่สุด..
ขุมความรู้ 
1.ศึกษาทำความเข้าใจ...วิธีคิด/แนวทางการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา 
2. ยึดหลัก ENTERTAIN..ในการทำงาน โดยมอบหมายงานตามความถนัด/ชอบ และมีสันทนาการร่วมกัน 
3.ศึกษาค้นคว้ากรอบ/แนวทางการทำงาน นำมาถ่ายทอด/ชี้แนะให้กับทีมงาน 
4.มีการเตรียมงานร่วมกัน ประชุมทีมงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน 
5.พูดคุยแลกเปลี่ยน/ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา/ข้อบกพร่องร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วม (สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน) 
6.เรียนรู้การทำงานจากเพื่อนร่วมงาน ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยน ค้นคว้าเพิ่มเติมจาก IT และนำมาปรับใช้ 
7.รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง ...ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้านาย..โดยยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก.. คือ...งานสำเร็จและมีคุณภาพ 
แก่นความรู้….ในการทำงาน (พัฒนาชุมชน) ร่วมกันให้มีความสุข.. 
1.วิธีปฏิบัติกับตัวเอง ( ยึดต้นแบบ มีกัลยาณมิตรเป็นที่ปรึกษา/แลกเปลี่ยน/ปรับใช้ ตั้งใจทำงาน ศึกษาเรียนรู้ ) 
2.วิธีปฏิบัติกับลูกน้อง ( ศึกษาทำความเข้าใจระหว่างกัน..ถ่ายทอด/สอนแนะงาน ติดตามส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานตามศักยภาพ ทำงานเป็นทีมอย่างมีส่วนร่วม มีการพักผ่อน/ผ่อนคลายและยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก ) 
3.วิธีปฏิบัติกับเจ้านาย (ปรึกษาหารือเรื่องงาน รับฟังคำแนะนำ และปฏิบัติงานให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ ) 
ผู้บันทึกความรู้....ทีมสนับสนุนจังหวัดลำพูน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อเรื่อง เทคนิคการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ 
เจ้าของความรู้ นางวนิดา ด้วงอิน ตำแหน่ง /สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาณการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-9518270
                  เรื่องเล่า... จากยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชนในปี งบประมาณ พ.ศ.2551 กรมฯได้อนุมัติงบประมาณและกำหนดกิจกรรม การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนนำร่อง ดำเนินการจำนวน 12 แห่ง เป้าหมายตามจุดที่ตั้งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ต่อมาในปีงบประมาณ 2552 , 2553 ดำเนินการปีละ 1 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ มีสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่จัดตั้งตามงบประมาณยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน รวมจำนวน 3 แห่ง และมีสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่ได้รับอนุมัติงบประมาณการอบรมตามยุทธสาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2551 อีกจำนวน 5 แห่ง รวมปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนตามแนวทางของกรมฯ จำนวน 8 แห่ง การดำเนินการจัดตั้งสถาบันฯ ในส่วนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกรมฯได้กำหนดแนวทางขั้นตอนและกิจกรรม เพื่อจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนให้จังหวัด / อำเภอดำเนินการจำนวน 4 กิจกรรม และทุกกิจกรรมมีงบประมาณดำเนินการ ส่วนงบประมาณตามยุทธศาสตร์จังหวัดดำเนินการอบรมให้ความรู้ที่จำเป็นใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน โดยการคัดเลือกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีผลการพัฒนาระดับ 3 และ มีความพร้อมที่จะจัดตั้งสถาบันฯ จำนวน 25 กลุ่ม จาก 25 อำเภอ ผลของการดำเนินงานตามงบประมาณทั้ง 2 ยุทธศาสตร์.. จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งสถาบันฯ รวม 8 แห่ง ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณ กิจกรรม ขั้นตอนการจัดตั้งมีความแตกต่างกัน ถึงแม้ไม่สามารถจัดตั้งได้ทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมายที่อบรม แต่ผู้เล่ามีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้รับผิดชอบงาน เป็นผู้ที่มีบทบาทในส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนชุมชนของกรมฯ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด แล้วในส่วนตัวยังมีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบผลลัพธ์จากการทำงานที่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้าน หรือกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าทางบวกหรือลบ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย การทำหน้าที่จึงเริ่มต้นที่ใจ ตั้งใจรักงานที่ทำ และความพร้อมที่จะทำงานและตั้งเป้าหมายให้การจัดตั้งสถาบันฯสำเร็จมีประสิทธิภาพมากที่สุด
                  ปี พ.ศ.2551 กิจกรรมแรกเริ่ม...ที่กรมการพัฒนาชุมชนให้หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรับงาน เข้าร่วมรับนโยบาย และสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันฯ หลังจากนั้น...ผู้เล่าได้นำความรู้ที่ได้มาแปลงเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง (เป็นเจ้าของความรู้) ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรารู้เรื่องจริงๆ และชัดเจนมากขึ้น พร้อมหาวิธีการเทคนิคที่จะทำให้คนอื่น ๆ เข้าใจง่ายที่สุด เช่น เทคนิคการพูด การยกตัวอย่าง การกระตุ้น ให้เกิดแรงจูงใจ และท้าทายที่ฟังแล้วอยากทำตาม ซึ่งผู้เล่าได้นำประสบการณ์ที่ได้จากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาประกอบการเป็นวิทยากกระบวนการ สร้างความรู้ความเข้าใจการจัดตั้งสถาบันฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีการพัฒนา อาทิ ผู้แทนธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ (กศน.) ที่ทำการปกครองจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลแม่สาว ร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชนขึ้นครั้งแรก ที่บ้านแม่ฮ่าง ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดตั้งสถาบันเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จได้ใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มาจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต้ การตามหลักการของกรมฯ และยังคงดำเนินการอยู่เเเเ และดำเนินการตามแนวทางตามที่กรมฯ กำหนดมาเป็นเกณฑ์ ( กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านแม่ฮ่าง ตำบลแม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ) มีผลการพัฒนาอยู่ในระดับ 3 เป็นหมู่บ้านที่มีกองทุนชุมชนหลากหลาย มีความพร้อมและสมัครใจ ส่วนเกณฑ์ที่นำมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ต้องดำเนินงานและบริหารตามหลักการของกรมฯ ดำเนินงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี สมาชิกออมเงินสัจจะสะสมสม่ำเสมอ กลุ่มไม่มีปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก คณะกรรมการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ โปร่งใสมีวิสัยทัศน์ เทคนิคที่นำมาใช้กับการพิจารณา...โดยการสังเกตจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแสดงความคิดเห็นในเวทีต่างๆ การสอบถามพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ สุดท้ายพิจารณาจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ หรือ พัฒนากรประสานงานตำบลที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย พัฒนากรเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่จะทำให้สถาบันฯ สำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะการเริ่มต้นการจัดตั้งกลุ่มต้องการคำแนะนำและปรึกษา พัฒนากรจึงเป็นพี่เลี้ยงที่ร่วมดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง จนกว่าจะถูกโยกย้าย หรือ จนกว่าสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนจะสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ดูจากผลงานและความรับผิดชอบงาน การเอาใจใส่ มีความพร้อม ไม่ต่อต้านก่อนที่จะลงมือทำ เทคนิคนี้ใช้วิธีการสังเกต หาข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ หรือดูจากการส่งรายงานตรงตามกำหนด ส่วนวิธีการที่นำมาใช้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และการดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ จะให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายและเจ้าหน้าที่ มากที่สุด เพื่อจะให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดการยอมรับร่วมกัน เทคนิคที่นำมาใช้ คือ การเป็นวิทยากรกระบวนการ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสวนาจากผู้ที่มีประสบการณ์ การนำสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวอย่างและร่วมกันวิเคราะห์ และเทคนิคที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมหรือประชุมได้รู้จักตนเอง จบด้วยการให้ตั้งความหวังและเป้าหมายที่อยากเป็นอยากทำ จัดทำแผนเพื่อนำสู่การปฏิบัติจริง กิจกรรมที่นำมาใช้เป็นประจำและค่อนข้างจะได้ผลคือ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมาย เพราะทุกคนมีประสบการณ์อยากบอกอยากเล่าผลงานของตนเองที่ทำให้เขาภาคภูมิใจ การติดตามให้การสนับสนุนสถาบันฯ ทุกระยะอย่างต่อเนื่อง ใช้การสอบถามที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ร่วมกิจกรรมสถาบันฯ ให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความสนใจกับทุกประเด็นทุกปัญหาและดำเนินการแก้ไขทุกเรื่อง มีการติดตามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นการจัดตั้งสถาบันฯ
  ขุมความรู้ 1.ศึกษาแนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์แนวทางขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน และข้อมูลพื้นที่/กลุ่มเป้าหมาย 2.การแปลงความรู้เป็นความรู้ของตนเอง 3.การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายตามหลักการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 4.การจัดกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคีการพัฒนาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน 5.เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และพื้นที่(กลุ่มเป้าหมาย) 6.สร้างการมีส่วนร่วม และวิธีการติดตามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  แก่นความรู้... ศึกษา..ทำความเข้าใจ..เตรียมความพร้อม..สร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม..ในการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนโดยมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแกนหลัก.. ข้อพึงระวัง และข้อเสนอแนะ - นักวิชาการที่รับผิดชอบต้องมีความรู้ความเข้าใจแนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์และขั้นตอนการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนอย่างชัดเจน - การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน ให้ประสบความสำเร็จคณะกรรมการกลุ่มสมาชิกต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน ก่อนดำเนินงาน - การสร้างความรู้ความเข้าใจในกรณีการยกตัวอย่าง ต้องระวังตัวอย่างที่เป็นลักษณะเชิงลบ ควรเป็นลักษณะเชิงบวกมากกว่า - การเป็นวิทยากรกระบวนการควรรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มเป้าหมาย
ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทเรียนการเป็นวิทยากร...(ดร.สงัด หมื่นตาบุตร)

ชื่อเรื่อง บทเรียนการเป็นวิทยากร 
เจ้าของความรู้ นายสงัด หมื่นตาบุตร 
ตำแหน่ง/สังกัด หัวหน้างานพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการเฉพาะทาง
                           ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
เรื่องเล่า... ตลอดชีวิตการทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนของรัฐในสังกัด กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ 2524 จนถึงปัจจุบันจน รวม 29 ปี ...ได้ปฏิบัติงานในภาคสนามที่ต้องคลุกคลีสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งในตำแหน่งพัฒนากรผู้รับผิดชอบตำบล และพัฒนาการอำเภอรวมเป็นระยะเวลา 25 ปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของช่วงชีวิตราชการในกรมการพัฒนาชุมชน และแม้จะมีโอกาสทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งการลาไปศึกษาต่ออยู่บ้าง ก็เป็นไปในระยะสั้นๆ ดังนั้น ความถนัด ทักษะส่วนใหญ่จึงเป็นงานในสายผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ที่เป็นการลงมือลงแรง ทำนโยบายที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดไว้ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตามบทบาทหน้าที่ของนักพัฒนา ที่มีหน้าที่เข้าสัมผัสกับประชาชนโดยตรงเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้องย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่มีงานหลักเป็นวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม ในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนที่เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2552 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 กับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง จึงเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาเป็นนักฝึกอบรม ที่ต้องบรรยายให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการของศูนย์ฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความหนักใจในการปฏิบัติงานแก่ผู้เล่าเป็นอย่างยิ่ง
คุณลักษณะที่ดีของนักฝึกอบรม : ความขาดแคลนที่ปรากฏ
              ในทัศนะของผู้เล่า การเป็นนักฝึกอบรมที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่ หรือในการบรรยายในแต่ละครั้ง ต้องแน่นด้วยภูมิรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการถ่ายทอดความรู้ที่เพียงพอ มีความรักชอบที่จะทำงานตามบทบาทหน้าที่นักฝึกอบรม มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสม เช่น บุคลิกดี พูดจาแล้วคนฟังรู้เรื่อง มีความกล้าและมั่นใจตนเองอยู่มากพอสมควร ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้แทบไม่มีอยู่ในตัวของผู้เล่า เนื่องจากไม่มีประสบการณ์มาก่อน และแม้จะมีโอกาสจนจบการศึกษาปริญญาเอก แต่สิ่งที่ร่ำเรียนมาก็ไม่ใช่เนื้อหาที่บรรยาย ดังนั้นประเด็นที่ต้องขบคิดตลอดช่วงต้นๆ ของการรับหน้าที่เป็นนักฝึกอบรมก็คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ฟังเกิดการเรียนรู้ ได้เนื้อหา สาระครบถ้วนอย่างไม่รู้ตัว ภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง สนุกสนาน แล้วจบลงด้วยความประทับใจ ไม่ง่วงหงาวหาวนอน กระสับกระส่าย เบื่อหน่ายจนอยากให้การบรรยายจบไวๆ
พัฒนาการของความเป็นวิทยากร
               ครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรบรรยายแก่ผู้นำชุมชน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนระดับพื้นฐาน ในวิชาการเสริมสร้างการแข็งแรงของชุมชน (แผนชุมชนเชิงคุณภาพ) มีกลุ่มเป้าหมายชุมชนรุ่นละ 70 คน เวลาบรรยายรวม 7 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ บ่าย วันที่1 เป็นเวลา 3 ชั่งโมงครึ่ง ซึ่งแม้จะตอบรับการมอบหมายจากที่ประชุมคณะวิทยากรด้วยสีหน้าที่เป็นปกติ แต่เบื้องลึกเต็มไปด้วยความหนักใจ.. ครุ่นคิด และตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า จะทำยังไงให้ผู้นำเข้าใจเรื่องที่เราบรรยาย ตั้งแต่ขั้นตอนการทำแผนชุมชน การวิเคราะห์SWOT การกำหนดวิสัยทัศน์ การจับคู่เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และโครงการพัฒนาที่ต้องกำหนดออกมาให้ได้ภายในช่วงเวลาที่มอบหมาย และที่สำคัญคือต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด โดยออกแบบลำดับขั้นตอนการนำเสนอให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่น่าเบื่อ อันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับวิทยากรมือใหม่ ... ร่างคำบรรยาย : สร้างความเชื่อมั่นเบื้องต้น ภายหลังที่ได้พิจารณาจัดแบ่งช่วงเวลาที่ได้รับมอบหมายให้แยกออกเป็นช่วงต่างๆ เ ช่น การนำเข้าสู่บทเรียน ปูพื้นความความรู้ ให้เนื้อหาความรู้ที่จำเป็น การให้ตัวอย่าง มอบหมายงานฝึกปฏิบัติ การนำเสนอผลงานสุดท้ายเป็นการสรุปประเด็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองมีข้อมูลเพียงพอ ในการพูดให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนดได้ โ ดยไม่มีการหยุดชงักห รือขาดตอนโดยไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ผู้เล่าจำเป็นต้องร่างบทบรรยายเป็นคำพูด ที่จะนำเสนอทั้งหมดอย่างละเอียดว่า แต่ละช่วงเวลาจะพูดถึงประเด็นใดบ้าง และจึงย่อคำบรรยายให้สั้นลงใน Power point ประกอบการบรรยาย ท่องบท: สร้างความเชื่อมั่นก่อนจะลุยหน้าเวที ผู้เล่าใช้เวลาอย่างมากกับการอ่านบทบรรยายประกอบการใช้ power point ในแต่ละเฟรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า..จะสามารถขยายความจากข้อความใน power point ได้ เนื่องจากไม่สามารถลงคำบรรยายได้ทั้งหมด รวมทั้งการฝึกพูดเชื่อมต่อแต่ละเฟรม ให้ลื่นไหลไปด้วยกันอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด การทำงานในขั้นตอนนี้ ต้องทำซ้ำๆหลายๆหน เนื่องจากไม่คุ้นกับเนื้อหาวิชา การซ้อมรอบแรกๆไม่สามารถขยายความต่อจากที่ปรากฏตามเฟรมมากนัก แต่จะค่อยๆดีขึ้นในการซ้อมในช่วงหลังๆ ช่วงนี้จิตใจจะจดจ่ออยู่กับท่องเนื้อหา และตื่นเต้นกับการเตรียมตัวขึ้นเวที ความตื่นเต้นจะปรากฏสูงสุดในเช้าก่อนการบรรยาย
             วิทยากรใหม่เริ่มต้นติดขัด นานไปค่อยชัดเจนขึ้น การบรรยายครั้งแรกๆ ผู้เล่าให้ความสำคัญกับข้อความที่ปรากฏบนจออย่างมาก อาจมีอธิบายขยายความเพิ่มบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก นั่นเป็นเพราะไม่คล่องเนื้อหา ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะขยายความ หรืออาจมีแต่ตื่นเต้นเกินไปที่จะขยายความ การบรรยายจึงเป็นไปอย่างทื่อๆไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีการใช้มุขตลกให้ผู้ฟังผ่อนคลาย การนำเสนอจึงค่อนข้างกระชับ เสร็จแล้วก็มอบงานให้ฝึกปฏิบัติ การทำงานของผู้เล่าช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีความสุขในการทำงานเลย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเวลานั้น กรมฯมอบหมายให้มีการฝึกอบรมหลายรุ่นติดต่อกัน จึงมีผู้นำชุมชนกลุ่มเป้าหมายหมุนเวียนเข้าอบรมที่ศูนย์ศึกษาลำปางอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้กลายเป็นโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ การบรรยายในครั้งต่อๆมาจึงเป็นไปอย่างคล่องตัว ไหลลื่น มีมุขตลกเล่นกับผู้ฟังบ้าง ทำให้บรรยากาศการฝึกอบรมเป็นไปอย่างราบรื่น..ผู้ฟังได้ทั้งความรู้และบรรยากาศที่ดี สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้เล่ามีความสุขกับงานมากขึ้น ...
               เปลี่ยนวิชาบรรยาย ..เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นวิชาการ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองให้มีประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรบรรยายให้มากขึ้น ภายหลังจากบรรยายซ้ำๆหลายครั้ง จนมีความช่ำชองในเนื้อหาวิชานั้นแล้ว ผู้เล่าได้ขอปรับเปลี่ยนวิชาบรรยายเป็นวิชาอื่นๆที่สนใจ เพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม สิ่งนี้แสดงถึงความมั่นใจที่จะทำหน้าที่วิทยากรมากขึ้น มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ทำให้รอดตัว หรือผ่านพ้นไปเป็นครั้งๆเท่านั้น ผู้เล่าต้องพัฒนาตนเองอีกมาก ปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาตนเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่นอ่านให้มากๆ สมัครเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมต่างๆ โดยให้ความสนใจกับการฝึกอบรมด้านการพูดการสื่อสารและหรือแม้ไม่มีโอกาสเข้าฝึกอบรม ก็หาโอกาสชมบันทึกภาพการพูดของนักพูดที่มีชื่อเสียงต่างๆ ด้วยความมุ่งหวังว่าตนเองจะประสบผลสำเร็จในการเป็นวิทยากรบรรยาย นักฝึกอบรมที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ได้ขอรับคำแนะนำในการพัฒนาตนเองให้เป็นวิทยากรหรือนักฝึกอบรมที่ดี จากผู้รู้ทั้งหลาย ผ่านทาง Email address sa_ngad@yahoo.com
ขุมความรู้ การเป็นนักฝึกอบรมที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่ประกอบด้วย - มีความตั้งใจ จริงใจที่จะถ่ายทอด - การมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ - มีทักษะ มีประสบการณ์ด้านการถ่ายทอดความรู้ - มีความรักชอบที่จะทำงานตามบทบาทหน้าที่นักฝึกอบรม - มีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสม เช่นบุคลิกดี พูดจาแล้วคนฟังรู้เรื่องเป็นต้น มีความกล้าและมั่นใจตนเอง - การเตรียมตัวบรรยายให้พร้อม ประกอบด้วยการรวบรวมเนื้อหาที่จะบรรยายทั้งหมดอย่างละเอียด แล้วจึงสรุปให้เป็นหัวข้อหรือประเด็นหลัก สำหรับทำ Power point ประกอบการบรรยาย มีการซักซ้อมการบรรยายให้แม่นเนื้อหา จะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด ขณะบรรยายควรแทรกเกล็ดความรู้ มุขตลกให้ผู้ฟังมีความผ่อนคลาย เรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัว ไม่เบื่อหน่าย 
แก่นความรู้ การเป็นวิทยากรที่ดี ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่จะบรรยาย สื่อ อุปกรณ์ประกอบการบรรยาย การซักซ้อมเตรียมตัว ที่สำคัญคือมีความรักและชอบงานที่ทำ จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข 
บันทึกความรู้...ผ่านการจับคู่เล่าเรื่องกับคุณวิชัย ศรีสวัสดิ์

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแบบแม่ฮ่องสอน...


ชื่อเรื่อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาแบบแม่ฮ่องสอน...
เจ้าของความรู้ นายธวัช ใสสม
ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เรื่องเล่า .. บ้านเมืองแพม หมู่ที่ 5 ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะฝ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชาวกระเหรี่ยง ส่วนใหญ่นับถึงศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทางการเกษตร อยู่กับธรรมชาติปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้กินเองทุกครอบครัว แต่มีประเด็นอยู่ว่า เมื่อปี 2548 ท่านประพีร์ เกิดเพิ่มพูล พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ไปตรวจเยี่ยมและได้บอกให้ราษฎรในหมู่บ้านว่า “ เราต้องมีรั้วกินได้ ” คนในชุมชนไม่เข้าใจก็บอกว่า (พูดไทยสำเนียงกระเหรี่ยง) รั้วเรากินไม่ได้ รั้วเราเป็นไม้ ทำให้คิดได้ว่าการทำงานกับชุมชนบางครั้งคำที่เราเข้าใจได้ง่ายๆ คนในพื้นที่อาจไม่เข้าใจ นักพัฒนาควรเป็นนักวิชาการเชิงปฏิบัติการ คือ วิชาการ..ใช้หลักการพัฒนาชุมชน ส่วนปฏิบัติการต้องใช้วิถีชีวิต ความเชื่อต่างๆของชุมชน ศาสนา และการสื่อสาร(ภาษา) ต้องสามารถสื่อเข้าใจตรงกันด้วย ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงถูกเรียกขานว่า “เขตปราบเซียนนักพัฒนา” ในปี 2549 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันมาก แต่อำเภอปางมะผ้าไม่มีต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำหลักเกณฑ์ฯ มาดู.. เห็นว่าบ้านเมืองแพม มีความพร้อมที่จะเป็นบ้านต้นแบบ จึงได้ประชุมทีมงานเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนรวม 3 คน ให้มีความเข้าใจตรงกัน การดำเนินการครั้งนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ และได้วางแผนที่จะทำให้สำเร็จใน 1 เดือน โดยจะเข้าไปในหมู่บ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 วัน รวม 5 วัน การเข้าไปได้มีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้เขาได้เห็น ได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ทุกวัน ไม่ว่าการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหมู ไก่ การเก็บของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ฯลฯ เหล่านี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง บอกพวกเขาว่า..เรามาถูกทางแล้ว สิ่งที่ประสบผลสำเร็จมากคือ การนำเอาสัจจะ(จิต)อธิฐานว่า..จะทำความดีอะไรถวายในหลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การขยายโอกาสที่จะมีรายได้ มีอะไรบ้าง จะทำอะไรได้บ้าง ในการประชุมชาวบ้านก็จะใช้ศาลาวัดเป็นที่ประชุม โดยเชิญท่านนายอำเภอมาร่วมเป็นสักขีพยาน และได้นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ พรมน้ำพระพุทธมนต์และบิณฑบาตสิ่งที่จะทำถวายในหลวง...ให้ชาวบ้านทุกคนเขียนสิ่งที่จะทำลงในกระดาษเล็กๆแล้วนำไปใส่ในบาตรของพระ ผลทีได้รับคือ มีคนเลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ เลิกเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก และมีความขยันขันแข็งในการทำงาน ทำให้รายจ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้น...ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนก็เข้มแข็ง ... ในปี 2551 บ้านเมืองแพมได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ได้รับงบประมาณโครงการอยู่ดีมีสุข โครงการขยายผลปวงชนชาวไทย โครงการบ้านท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการที่พัฒนาชุมชนเข้าใจเขา เข้าถึงเขา ช่วยกระตุ้นให้เขาคิด ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ มองคนให้มีคุณค่า แล้วเราจะเห็นคุณค่าของคน” 
ขุมความรู้
1. คัดเลือกหมู่บ้านที่มีความพร้อมที่จะเป็นบ้านต้นแบบ
2. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนต้องมีความพร้อมและเข้าใจตรงกัน
3. วางแผนการทำงานร่วมกัน...ทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
4. ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย
5. ใช้ความเชื่อทางศาสนา..การตั้งสัจจะ(จิต)อธิฐานในการทำความดีถวายในหลวง
6. เชิญนายอำเภอมาร่วมเป็นสักขีพยาน
7. นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ พรมน้ำมนต์ และบิณฑบาตรสิ่งที่ชาวบ้านตั้งสัจจะอธิฐาน
แก่นความรู้
1. เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน หมู่บ้านต้นแบบ และสื่ออุปกรณ์ที่จะใช้ใ
ห้เหมาะสม 
2. มีการวางแผนการทำงานและใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย 
3. ใช้ผู้นำทางราชการและผู้นำทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม 
ข้อเสนอแนะ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ต้องทำตัวเป็นธรรมชาติมีความจริงใจ เป็นกันเอง มีอัธยาศัย เข้าถึงผู้อาวุโสของชุมชน  และต้องไม่ทำตัวเป็นภาระเมื่อเข้าทำงานในชุมชน. 
ผู้บันทึกข้อมูล ทีมสนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว

ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว หมู่ที่4 ตำบลพญาแก้วอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 
เจ้าของความรู้ นายสุวิทย์ พุ่มทอง ตำแหน่ง/สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.080-1252933
เรื่องเล่า... ด้วยความชอบในกิจกรรมด้านการเกษตรโดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ดำเนินการภายในบริเวณบ้านและที่ดินในสวนของตนเอง เช่นพืชผักสวนครัว ไม้ผล ต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์เช่น ไก่พื้นเมือง อีกทั้งเดิมเคยรับผิดชอบหมู่บ้านตามโครงการพระราชดำริ ของตำบลภูคา อำเภอปัว จึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลพญาแก้วที่ตนเองรับผิดชอบ...ผู้เล่ามีความเห็นว่าการทำงานส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชนเป็นเรื่องไม่ยาก เนื่องจากชุมชนมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยปกติชาวบ้านก็ทำอยู่แล้ว และพัฒนากรจะได้เปรียบกว่าหน่วยงานอื่น เพราะเข้าถึงและสัมผัสกับเขาอยู่แล้ว สิ่งสำคัญการทำงานนี้ ต้องมีใจรัก มุ่งมั่นส่งเสริมให้ประชาชนสนใจนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประพฤติปฏิบัติ .. 
               แนวคิดการทำงานกับประชาชน..จะใช้วิธีการการชี้แนะเพื่อให้เกิดความคิด แต่ไม่ใช้การชี้นำ ให้เกิดความอยากจะเป็น อยากจะทำ สำหรับการทำงานในพื้นที่อำเภอเชียงกลางจะบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่เข้าด้วยกัน การประสานงานยังใช้แนวทางการทำงานของ คปต.(คณะทำงานประสานงานการพัฒนาชนบทระดับตำบล ) ซึ่งมี 4 กระทรวงหลักร่วมมือการทำงานร่วมกัน ระดมทั้งการวางแผน งบประมาณและเจ้าหน้าที่รวมเป็นหนึ่งในการทำงานร่วมกัน
              ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพญาแก้ว เริ่มก่อตั้งเมื่อการเกิดความพร้อมของกลุ่มผู้นำบ้านพญาแก้ว ที่ร่วมมือร่วมแรงและให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนโดยหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็นตัวหลักเริ่มแรก โดยใช้พื้นที่ของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอเชียงกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านพญาแก้ว หมู่ที่4 ตำบลพญาแก้ว เดิมเป็นโรงเรียนประถมของหมู่บ้าน ปัจจุบันยุบโรงเรียนไปแล้ว จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มด้วยการจัดกิจกรรมการเพาะเห็ดต่างๆ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงปลาดุก และการเลี้ยงหมูหลุม โดยรับสมัครประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจากหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่ตำบลพญาแก้ว เข้าเรียนรู้และทดลองปฏิบัติจริงตามกิจกรรมของศูนย์ฯ ร่วมกันจัดหางบประมาณวัสดุ และอุปกรณ์การเรียนรู้ สำหรับวิทยากรก็จะได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆที่รับผิดชอบ การดำเนินงานของศูนย์ฯ เน้นส่งเสริมความรู้เพื่อการเลี้ยงชีพพออยู่ พอกิน และใช้หลักคนทำได้ประโยชน์ เมื่อเกิดรายได้ก็จะปันผลส่วนหนึ่งบำรุงศูนย์ฯ หลังจากผู้นำที่ได้อบรมเรียนรู้ในศูนย์แล้วก็จะขยายผลไปปฏิบัติในหมู่บ้านของตนเอง การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นที่เลื่องลือไปทั้งอำเภอจึงมีผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงานเป็นอันมาก โดยเฉพาะกิจกรรมการเลี้ยงปลาดุกในสระบ่อดิน ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านที่ใช้บวกควายนอน (สระน้ำที่ควายนอนเล่นกลางทุ่งนา) มาทำเป็นสระบ่อดินโดยใช้ดินจากจอมปลวกมาปั้น เป็นตัวสระน้ำ กิจกรรมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่(ไก่โรดไอแลนเรด) โดยใช้หลักให้เลี้ยงครัวเรือนละ 10 ตัว ซึ่งไก่ไข่วันละ 10 ใบเพียงพอต่อครัวเรือนไว้เพื่อบริโภค เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ และอำเภอเชียงกลางได้นำหมู่บ้านพญาแก้วเข้าร่วมประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดน่าน ปัจจุบันได้เข้ารอบเหลือ 3 หมู่บ้านสุดท้ายในระดับจังหวัด
              ความภาคภูมิใจ จากที่ได้ทุ่มเททำงานร่วมกับทีมงานส่วนราชการต่างๆในตำบล...จนสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงบ้านพญาแก้วให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง มองในภาพรวมคือหนี้สินต่อครัวเรือนลดลง มีเงินออมเพิ่มขึ้น การประเมินสถานะหมู่บ้านจากเดิมหมู่บ้านยากจน ซ้ำซากมาเป็นหมู่บ้านอยู่ดี.. กินดี...
ขุมความรู้ 
1.ความรักความชอบในการทำเกษตรกรรม และลงมือปฏิบัติในที่ดินด้วยตนเอง 
2.การทำงานในหมู่บ้านตามโครงการพระราชดำริ..สร้างแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงาน เศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 
3.แนวคิดในการทำงานกับประชาชน ใช้วิธีการชี้แนะไม่ใช้การชี้นำ ทำให้ชาวบ้านเกิดความคิด.. ความอยากจะทำ..(อยากทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง) วางตัวเป็นกันเอง แบบพี่แบบน้อง สร้างทัศนะคติที่ดีเป็นบวกกับประชาชน และทำงานเริ่มต้นกับแกนนำชุมชน 
4.ทำงานกับภาคีการพัฒนา ด้วยการบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่ ระดมทั้งการวางแผน งบประมาณ และกำลังเจ้าหน้าที่
5.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเกิดจากความพร้อมของกลุ่มผู้นำ/แกนนำชุมชน และความร่วมไม้ร่วมมือ กับหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน 
6.ใช้กิจกรรมในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจนเป็นแบบอย่าง และขยายผลได้ 
7.การเปิดรับสมัครประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์ฯ ได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติ 8.การดำเนินงานของศูนย์ฯ เน้นส่งเสริมความรู้เพื่อการเลี้ยงชีพพออยู่ พอกิน และใช้หลักคนทำได้ประโยชน์ เกิดรายได้...แบ่งปันบำรุงศูนย์ฯ และนำไปปฏิบัติขยายผลในหมู่บ้านของตนเอง 
9.กิจกรรมของศูนย์ฯ เกิดจากการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน 
10.การบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายการพัฒนา 
11.ปัญหาทุกเรื่องของชาวบ้าน เราเจ้าหน้าที่ฯ จะต้องเป็นปรึกษาของชาวบ้านได้
แก่นความรู้ 
1. มีแรงบันดาลใจที่อยากจะขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 2.การทำงานกับประชาชน ใช้วิธีการชี้แนะเพื่อให้เกิดความคิด ไม่ใช่การชี้นำ...ให้เกิดความคิดความอยากจะทำ 
3.สร้างทีมงานในพื้นที่ด้วยการบูรณาการงานของทุกส่วนราชการในพื้นที่ 
4.จัดกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ โดยเน้นคนในชุมชน/ท้องถิ่นเข้าไปเรียนรู้...เน้นการนำไปปฏิบัติจริงได้ด้วยตนเอง และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงขั้นแรก คือ พออยู่พอกิน 
ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดน่าน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวิจัย PARกับการทำงานพัฒนาชุมชน(ดร.ปาริชาต บุญญาวิวัฒน์)

ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) กับการทำงานพัฒนาชุมชน
เจ้าขององค์ความรู้ ดร.ปาริชาติ บุญญาวิวัฒน์ พัฒนาการอำเภอวังชิ้น 
ตำแหน่ง/สังกัด พัฒนาการอำเภอวังชิ้น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.081-6020178
เรื่องเล่า...
                   การทำงานพัฒนาชุมชนที่อำเภอวังชิ้น จะใช้หลักการของวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR - Participatory Action Research) ในการปฏิบัติงาน เพราะคิดว่าเป็นวิธีการทำงานที่มีชีวิตชีวาและเป็นกลไกการทำงานที่มีความสำคัญ ทำให้งานพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน... ในการทำงานจะเริ่มตั้งแต่การเข้าชุมชนของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน การศึกษาบริบทชุมชน การตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันระหว่างนักพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับประชาชนในพื้นที่ การกำหนดแนวทางการทำงานให้เกิดผลตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ และถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดขึ้น ซึ่งในช่วงของการถือปฏิบัตินี้ประชาชนที่ร่วมกันวิจัย จะได้เรียนรู้จากการทำงานไปด้วย มีการทดลองการทำงานตามแนวทางที่วางไว้ หากมีข้อบกพร่อง ต้องแก้ไขกระบวนการหรือขั้นตอนใด ก็จะมีการปรับรูปแบบการทำงาน ทดลองใช้ใหม่ และหากพบปัญหาอีก ก็แก้ไขกำหนดแนวทางการทำงานใหม่ เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งงานสำเร็จและได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนที่ร่วมใช้การวิจัยหรือทำงานตามแนวทาง PAR ก็จะเกิดความภูมิใจ ..หวงแหน...และหาทางทำนุบำรุงให้งานคงอยู่ มีการปรับปรุงและใช้งานอย่างต่อเนื่อง...                           การทำงานที่ประสบผลสำเร็จด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กรณีการทำแผนชุมชนตำบลนาตุ้ม เริ่มต้นจากการกระตุ้นให้ชุมชนใช้ข้อมูลที่เป็นชีวิตจริงของชุมชน มาเป็นข้อมูลการแก้ไขปัญหาของชุมชน ด้วยการจัดทำรายรับรายจ่ายในครัวเรือน ใช้วิธีการกระตุ้นโดยยกตัวอย่างตุ่มน้ำที่มีรอยรั่ว เมื่อนำน้ำใส่ตุ่ม น้ำก็จะไหลรั่วออกมาหมด เป็นการชี้แนะให้ชุมชนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์รายรับรายจ่ายของครัวเรือน ทำครั้งแรกมีคำถามต่อมามากมาย เช่น ทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายรับ... จึงได้กระตุ้นให้คิด..หาทางออก...ให้กำลังใจผ่านเวทีแลกเปลี่ยน... ตอบโจทย์ที่ว่าที่มีรายจ่ายมากนั้นมาจากเรื่องอะไรบ้าง ทำอย่างไรที่จะลดรายจ่ายได้ แล้วมาสรุปร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน ตั้งตัวแทนของชุมชนในการจดบันทึกการแลกเปลี่ยนในชุมชน ก็จะรู้รายจ่าย รายรับของตนเอง นำไปสู่การกำหนดแผนชุมชนในการพัฒนาตนเองให้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน ภายใต้หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การแยกขยะ และกิจกรรมเหล่านี้ ยังทำกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน..
ขุมความรู้
1.ใช้กระบวนการวิจัยPARในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน (การศึกษาบริบทชุมชน การตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันการกำหนดแนวทางการทำงานให้เกิดผลตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ถือปฏิบัติตามแนวทาง.. เรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการทดลองทำ มีการปรับรูปแบบการทำงาน ทดลองใช้ใหม่ และกำหนดแนวทางการทำงานใหม่จนกว่าจะได้คำตอบ) 
2.กระตุ้นให้ชุมชนมองเห็นปัญหา ตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม อยากหาคำตอบ..ผ่านการพูดคุย/เวทีแลกเปลี่ยน.. 
3.ใช้ข้อมูลที่เป็นวิถีชีวิตในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครัวเรือน 
4.การคิด วิเคราะห์ รายรับรายจ่ายของรายครัวเรือน และสรุปผล/สรุปบทเรียนร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน 
5.แต่งตั้งตัวแทนชุมชนในการจดบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกครั้ง 
6.กำหนดแผนพัฒนาตนเองให้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 7.ดำเนินกิจกรรมร่วมกันตามแผนพัฒนาตนเอง/แผนชุมชน 
8.คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง 

แก่นความรู้ 
1.ชุมชนมองเห็นปัญหา(โจทย์วิจัย) ค้นหาคำตอบ(แนวทาง/วิธีปฏิบัติ/ทางออก) ด้วยการคิด วิเคราะห์จากข้อมูลการจัดทำบัญชีรับจ่ายของครัวเรือน 
2.การกำหนดเป็นแผนงานและกิจกรรมร่วมกันของชุมชน 
3.การสรุปผล/สรุปบทเรียน หลังจากทดลองทำกิจกรรมตามแผนฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและทำให้ดียิ่งขึ้น 

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
-การใช้แนวทางการวิจัย PAR ในการทำงานกับชุมชน จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง จึงควรสนับสนุนและปรับใช้แนวทาง PAR กับการทำงานทุกเรื่องและผลักดันให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนมีความคุ้นเคยกับ PAR และนำไปใช้ในการทำงานด้วยเช่นกัน -การนำ PAR ไปใช้ในการทำงานพัฒนาชุมชน..ต้องเกิดจากการมีจิตศรัทธา เชื่อมั่นในแนวทาง PARก่อน นั่นคือ ต้องระเบิดจากในใจเราก่อน แล้วเริ่มทำงานในส่วนเล็กๆ ก่อน..จะก่อให้เกิดทักษะ ความชำนาญ และเกิดความรู้จากกระบวนการทำงานดังกล่าวในที่สุด
  - สำหรับปัญหาหรืออุปสรรค ในการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในการทำงานพัฒนาชุมชน จะประกอบด้วยปัจจัยสองส่วน คือ1. การมุ่งทำงานให้สำเร็จภายใต้คำรับรองปฏิบัติราชการ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องให้ความสำคัญกับผลสำเร็จในเชิงปริมาณ ที่ต้องวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ในขณะที่ PAR มีผลสำเร็จที่ความตระหนัก หรือการมีจิตสำนึกในการทำงาน เพื่อพัฒนาตนเองด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาผู้อื่น ซึ่งเป็นผลงานเชิงคุณภาพ ยากแก่การตรวจสอบชี้วัด จึงไม่ตอบสนองแนวทางการทำงานภายใต้คำรับรอง ปฏิบัติราชการที่ กพร. กำหนดให้ทุกส่วนราชการใช้อยู่ในปัจจุบัน 2. ทัศนคติของประชาชน ที่คุ้นเคยกับการเป็นผู้รับจากรัฐมาตลอด การพัฒนาหมู่บ้านจึงเป็นการ " รอ " รัฐมาหยิบยื่นหรือทำให้โดยไม่คิดพึ่งตนเอง รวมทั้งมองไม่เห็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง เห็นว่า " ทำแล้วไม่ได้อะไร" สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติและค่านิยมที่สวนทางกับแนวทางการพัฒนา ด้วยวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก
 ผู้บันทึกความรู้ ทีมสนับสนุนจังหวัดแพร่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง