วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นอนหลับฝันถึง...ศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง(นายเดือน เมืองมูล)

ชื่อเรื่อง นอนหลับฝันถึง....ศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง
เจ้าของความรู้ นายเดือน เมืองมูลตำแหน่ง
ตำแหน่ง/สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.087-8136737
เรื่องเล่า...
จากการที่จังหวัดแม่อ่องสอนได้รับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้รับสนองพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ในการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอำเภอแม่สะเรียงได้ดำเนินการสร้างอาคารแฝดจากงบประมาณโครงการพัฒนาตำบล(คพต.)ในปี พ.ศ.2541 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงผลิตได้เอง ในห้วงระหว่างปี พ.ศ. 2541-2549 การดำเนินงานของศูนย์มีแต่ทรุดลงไปเรื่อย เนื่องจากมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบศูนย์ฯหลายครั้ง คนขายก็ทำงานไปวันๆ ไม่มีจิตบริการ ไม่คิดที่จะพัฒนา จึงเกิดปัญหาหนี้สินเพราะสินค้าหายทำให้ไม่สามารถคืนเงินให้ผู้ที่นำสินค้ามาฝากขายได้ เป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ในปี พ.ศ.2549 ผู้เล่าเรื่องได้กลับมาประจำสำนักงานพัฒนาชุมชนอีกครั้ง จากแรงบันดาลใจในครั้งแรกที่จะหาตลาดจำหน่ายสินค้าแก่ราษฎรในพื้นที่ให้สำเร็จ จึงได้เข้ามารับผิดชอบดูแลศูนย์ฯอีกครั้ง และครั้งนี้ได้ขอให้ป้าแอ๊ว ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่ได้ลาออกแล้ว แต่ยังมีใจ มีไฟของนักพัฒนาเต็มตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของศูนย์ฯในช่วงแรกได้ปรับปรุงการบริหารศูนย์โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงผู้ขายสินค้าให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมที่จะขายของในศูนย์ฯ คือมีจิตบริการ ยิ้มแย้ม ซื่อสัตย์ เสียสละ ตรงต่อเวลา และต้องมีความรู้สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการซื้อ ขายสินค้าในศูนย์ การรับสินค้ามาจำหน่ายในศูนย์มีสองวิธีคือ ฝากขายโดยผู้ฝากตั้งราคาขายส่งให้ศูนย์และผู้ฝากมาเช็คสินค้าที่ขายได้กับผู้จัดการ เดือนละครั้ง การรับเงินก็มีใบสั่งให้ไปรับเงินกับกรรมการศูนย์ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่สะเรียง ซื้อขาด ศูนย์จะซื้อขาดในสินค้าที่ผู้จัดการได้พิจารณาแล้วว่าขายได้แน่นอน สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด และจะซื้อขาดกับกรณีที่สินค้านั้นฝากขายมานานแต่ขายไม่ได้ ศูนย์ฯก็จะรับซื้อไว้เช่นผ้าทอ ก็จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น กระเป๋า เมื่อการดำเนินงานเริ่มดีขึ้นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบก็ได้นำผลการดำเนินงานของศูนย์มาประชาสัมพันธ์ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุ และร่วมงานแสดงสินค้าในระดับอำเภอ จังหวัดในนามของศูนย์ฯ จึงทำให้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และอำเภอข้างเคียงอีกสองอำเภอเริ่มมาใช้บริการ ปี พ.ศ.2550 ได้รับงบประมาณจาก อบจ.แม่ฮ่องสอน สร้างอาคารจำหน่ายสินค้าอีกหลัง จึงได้ย้ายร้านแสดงและจำหน่ายสินค้ามาอยู่อาคารหลังใหม่และนำกิจกรรมเครือข่ายใหม่คือกิจกรรมนวดแผนโบราณเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมีคนนวด 11 คน มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 200 บาทต่อคน กิจกรรมแกะสลักไม้ ปี พ.ศ.2551 ได้รับงบอยู่ดีมีสุขปรับปรุงภายในอาคารศูนย์จำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์จึงได้จัดทำเป็นห้องประชุมขนาดเล็กและห้องจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชนเผ่าในอำเภอแม่สะเรียงเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้ ปี พ.ศ.2552 ท่านนายอำเภอแม่สะเรียงได้จัดสรรงบประมาณมาสร้างซุ้มกาแฟสด ห้องน้ำ ร้านขายอาหารและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าของศูนย์ให้สวยงามนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาสามารถเข้ามารับบริการแบบครบวงจร สิ่งจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ศูนย์ฯของอำเภอแม่สะเรียงมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นคือ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตสินค้าเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูภูมิปัญญาในการผลิตสินค้านั้นในแหล่งผลิตได้จริง และการเชื่อมโยงเครือข่ายกับศูนย์ศิลปาชีพทั้งภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดข้างเคียงเพื่อจะได้มีการแลก เปลี่ยนสินค้าทำให้มีสินค้ามาแสดง จำหน่ายในศูนย์ฯมากขึ้น ความสำเร็จความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นมาจากการ ..ทำอย่างต่อเนื่อง..คิดปรับปรุง..พัฒนาศูนย์ฯตลอดเวลา..จนถึงระดับที่ “ นอนหลับฝันถึง ”
ขุมความรู้
1.ปรับปรุงการบริหารงานศูนย์ศิลปาชีพแม่สะเรียง
2.คัดเลือกผู้จัดการศูนย์ฯ..ต้องมีประสบการณ์ เสียสละ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ 3.เลือกคนขายสินค้าที่มีคุณลักษณะที่มีจิตบริการยิ้มแย้ม มีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ ซื่อสัตย์ เสียสละ และตรงต่อเวลา
4. ประชาสัมพันธ์งานของศูนย์ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการในระดับอำเภอ จังหวัด และร่วมงานแสดงสินค้า 5. ขยายกิจกรรมเครือข่ายที่จะทำให้ศูนย์น่าแวะเข้าชมและใช้บริการ เช่น ร้านกาแฟ นวดแผนโบราณ ร้านอาหาร ฯลฯ และเครือข่ายร้านค้าชุมชนในอำเภอและต่างอำเภอ 6. ปรับปรุง พัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าในอำเภอแม่สะเรียง 7. ทำความเข้าใจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบกับผู้จัดการศูนย์ฯ
แก่นความรู้
..ทำอย่างต่อเนื่อง...คิดปรับปรุง...พัฒนาศูนย์ฯ ตลอดเวลา..จนถึงระดับที่...นอนหลับฝันถึง...
ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ทั้งพัฒนาการอำเภอ พัฒนากรผู้รับผิดชอบ..ต้องให้ความสนใจ ใส่ใจในการบริหารศูนย์อย่างต่อเนื่อง ตลอดไป.
ผู้บันทึกข้อมูล ทีมสนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านแกะสลักขึ้นรูป........สู่หมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP( นายสว่าง สะพานแก้ว )..

ชื่อเรื่อง...แนวทางการพัฒนาหมู่บ้านแกะสลักขึ้นรูป...สู่หมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP
เจ้าของความรู้ นายสว่าง สะพานแก้ว
ตำแหน่ง/สังกัด พัฒนาการอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร.089-5544051
เรื่องเล่า
            ในช่วงปี พ.ศ.2548 ขณะดำรงตำแหน่งพัฒนาการอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ได้พิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านในพื้นที่ 89 หมู่บ้านของอำเภอแม่ทะ เพื่อส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปของอำเภอตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เมื่อสำรวจดูจากศักยภาพของชุมชนพบว่ามี 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหลุก บ้านปางมะโอ และบ้านสามขาที่มีจุดแข็ง/จุดเด่นที่จะส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOPได้ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น หมู่บ้านหลุกก็จะเด่นในเรื่องของไม้แกะสลัก หมู่บ้านสามขาก็จะเด่นในเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ฯ หมู่บ้านปางมะโอก็จะเด่นทางด้านเป็นหมู่บ้านเห็ดหอม และเป็นหมู่บ้านสวนยางพาราที่แรกของลำปาง ...
            ด้วยเหตุผลและปัจจัยประกอบหลายประการที่ทำให้บ้านหลุก ต.นาครัวถูกเลือกเป็นหมู่บ้านเป้าหมายในครั้งนั้นคือ..1.มีกลุ่มผู้ผลิตไม้แกะสลักจากต้นฉำฉา(ก้ามปู/จามจุรี) จำนวนมาก 2.มีวัตถุดิบ(ต้นฉำฉา)ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งไม้เก่ายืนต้นและต้นที่ปลูกใหม่เพื่อที่จะทำเป็นอาชีพระยะยาว 3.บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีถึง 3 หมู่บ้าน ( ม.6+ม.11+ม.12) 4.ในแต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ แกนนำ เป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ผลิตสินค้าโอทอป 5.เป็นชุมชนหนาแน่นและเข้มแข็ง..สามารถส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวได้ 6.การคมนาคมสะดวกสามารถติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆได้ทุกเส้นทาง นอกจากนั้นเรายังได้ ประสานงานกับสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ในการเชื่อมโยงบรรจุบ้านหลุกไว้ในโครงการ“วันเดียวเที่ยวลำปาง” อีกด้วย... เมื่อเลือกหมู่บ้านเป้าหมายได้แล้วก็มาประชุมทีมงานพัฒนาชุมชน (สพอ.แม่ทะ) วิเคราะห์ศักยภาพและจุดแข็งเทียบเคียงกับอีกสองหมู่บ้านร่วมกันจนเป็นที่ตกลงในเป้าหมายเดียวกันแล้ว ให้ทีมงานกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนฯ โดยเริ่มจากลงไปหาผู้นำชุมชนก่อน เมื่อพูดคุยขายความคิดและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนบ้านหลุกจนเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ(กพอ.แม่ทะ) เมื่อทุกภาคส่วนเห็นด้วยแล้ว จึงนำเรื่องเข้าสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.นาครัว) หลังจากนั้น ได้จัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ของบ้านหลุกกว่าร้อยคน เพื่อที่จะขายความคิดก่อนว่าทำไมถึงต้องทำบ้านหลุกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป เวทีครั้งนั้นได้รับความสนใจอย่างมากเพราะเป็นเรื่องใหม่ มีผู้เข้าร่วมหลากหลายทั้งกลุ่มองค์กรในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารโรงเรียน กรรมการหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เจ้าอาวาส เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ และนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง..การจัดเวทีที่บ้านหลุกแต่ละครั้งและอย่างต่อเนื่องพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประสานการดำเนินงาน ประเด็นในการแลกเปลี่ยนเป็นการจุดประกายความคิดให้อยากเห็นหมู่บ้านของเขาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป เห็นศักยภาพเห็นจุดแข็งของหมู่บ้านตนเอง มองเห็นประโยชน์หรือผลดีที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน..ประเด็นสำคัญคือวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วร่วมกันวางแผนหาทางออกว่า..แล้วจะต้องทำอย่างไร? เช่นว่าจะทำอย่างไรบ้านหลุกเราถึงจะผลิตสินค้าสำเร็จรูปแทนการแกะสลักขึ้นรูปส่งให้บ้านถวายจังหวัดเชียงใหม่ไปตกแต่งขายอย่างเดียว...ถ้าเราทำได้เองก็จะลดการส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบของหมู่บ้าน...โดยให้คนเข้ามาเที่ยว/มาสั่งสินค้าจากบ้านหลุกโดยตรง
              กิจกรรมขับเคลื่อนให้บ้านหลุกกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP ที่เกิดจากความต้องการในเวทีแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายๆภาคส่วน เริ่มตั้งแต่... จัดฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือช่างแกะสลัก ที่แต่เดิมแกะเป็นรูปแบบต่างๆ แบบง่ายๆขายหรือทำตามสั่ง พาไปศึกษาดูงานการเพ้นท์สีที่บ้านถวาย จ.เชียงใหม่ จัดอบรมการเพิ่มพูนทักษะการทำสี/เพ้นท์สี ฝึกอบรมพนักงานขาย.. เนื่องจากที่นี่มีลานค้าชุมชนที่สร้างจากงบฯพัฒนาตำบลเป็นแหล่งขายอย่างเดียว ไม่มีการรวมกลุ่มกันขาย บางครั้งสินค้าแบบเดียวกันราคาขายกลับแตกต่างกันไป..ขายตัดราคากันก็มี จึงได้รวมกันเป็นชมรมผู้ประกอบการลานค้าชุมชนขึ้น..กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.นาครัว นอกจากนี้ก็มีการฝึกอบรมภาษาอังกฤษระดับสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ จำนวน 10 วัน งบฯสนับสนุนจาก กศน.อำเภอแม่ทะและ วิทยากรจากอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนก การฝึกอบรมมัคคุเทศน์ในหมู่บ้านที่มีทั้งกกรมการหมู่บ้านจากทั้งสามหมู่บ้าน ผู้ผลิตผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ ผู้สนใจที่มีใจรักหรือมีพื้นฐานภาษาอังกฤษเป็นต้น มีการจัดทำบ้านพักโฮมเสตย์รับรองนักท่องเที่ยวพร้อมจุดสาธิตการแกะสลัก จัดทำจุดสาธิตการเพ้นท์สี /จัดทำป้ายหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป จัดตั้งศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลานค้าชุมชน.. การประชาสัมพันธ์หมู่บ้านฯให้เป็นที่รู้จัก ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ป้ายบอกทางของกรมทางหลวง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือการเปิดงานมหกรรมแกะสลักของบ้านหลุก
            การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่บ้านหลุก...หลังจากดำเนินกิจกรรมตามที่วางแผนกันไว้ ทำให้มีคนเข้ามาเที่ยว/เยี่ยมชมหมู่บ้านมากขึ้น รูปแบบของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไปจากสินค้าขึ้นรูปอย่างง่ายๆ ไม่ได้ตกแต่งเพ้นท์สีอะไรก็เปลี่ยนมาเป็นสินค้าที่มีฝีมือ มีการปรับแต่งสำเร็จรูป..มีการพัฒนารูปแบบการบรรจุภัณฑ์ การขนส่งผลิตภัณฑ์..การสื่อสารระหว่างพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีการสืบทอดทายาทOTOP เด็กนักเรียนหลังเลิกเรียนจะกลับมาช่วยพ่อแม่เพ้นท์สีผลิตภัณฑ์ การขายสินค้าในราคาเดียวกัน การมีกฎกติการ่วมกัน และมีคณะกรรมการการท่องเที่ยวฝ่ายต่างๆ ปลายปี พ.ศ.2549 ..บ้านหลุกได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านชนะเลิศในการประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และในระดับภาค(ซึ่งถือว่าเป็นการประกวดระดับประเทศ)..และยังคงรักษาชื่อเสียง.การมีส่วนร่วม....มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้..

ขุมความรู้ 
1.สำรวจ/ศึกษา/วิเคราะห์ศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน กำหนดเป็นหมู่บ้านเป้าหมาย
หรือหมู่บ้านหลักในการทำงาน 
2.ทีมงานกำหนดเป้าหมายการทำงานและวางแผนปฏิบัติการฯร่วมกัน (ทำงานเป็นทีม) 
3.จุดประกาย/ขายความคิดให้กับทุกภาคส่วนทุกระดับ ผ่านการประชุม การจัดเวทีแลกเปลี่ยน 
4.สร้างการมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรมขับเคลื่อนฯที่มาจากความต้องการ และการวางแผนร่วมกัน 
5.ประสานภาคีเครือข่าย/แสวงหาแหล่งทุนสนับสนุน 
6.ใช้การประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOPเป็นเงื่อนไขในการทำงานร่วมกัน 

แก่นความรู้ -การกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน / การทำงานเป็นทีม -การวางแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมสู่เป้าหมาย -การมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการทำงาน 

ข้อเสนอแนะในการทำงานในพื้นที่ -ทีมงานพัฒนาชุมชนอำเภอ..ต้องมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และลงไปทำงานร่วมกัน(เป็นทีม)กับพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล -พัฒนากร(ตำบล)ต้องเฟ้นหาหมู่บ้านเป้าหมาย/หมู่บ้านหลักในการทำงาน -อย่าทำงานคนเดียว..ต้องทำงานกับผู้นำ ภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แนวคิดในการทำงาน .. งานทุกอย่างเราสามารถทำได้...โดยการแสวงหาภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน

ผู้บันทึก ทีมสนับสนุนจังหวัดลำปาง+นักศึกษาฝึกงานราชภัฎสาขาการพัฒนาชุมชน...
           
                                                                                                            16 มิถุนายน 2553

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

“ผลไม้ถ้าไม่ปอก กินด้วยกันไม่เป็น”(นายประสงค์ นิวบุตร)

ชื่อเรื่อง “ผลไม้ถ้าไม่ปอก กินด้วยกันไม่เป็น (การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการปฏิบัติงาน) 
เจ้าของความรู้ นายประสงค์ นิวบุตร
ตำแหน่ง /สังกัด พัฒนาการจังหวัดเชียงราย 
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย 
การติดต่อแลกเปลี่ยน โทร. 0819803284 
เรื่องเล่า 
                จากวิกฤตปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หน่วยงานภาครัฐเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลตามนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนให้มีความอยู่ดี กินดี สังคมมีความสงบสุข และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการทำงานที่มีประสิทธิภาพของคนในองค์กร ดังนั้น ผู้บริหารงานขององค์กรจึงจำเป็นต้องเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรของตนเองให้ผู้ปฏิบัติ สามารถปฏิบัติงานให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมายในการทำงานและสามารถทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดือ ผู้บริหารต้องมีคุณลักษณะของนักบริหารที่ดี ( คิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง มุ่งสำเร็จ ) และ ต้องมีความสามารถในการบริหารตนเอง บริหารคน บริหารงาน มีความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ พัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคคล ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ( ระดับประเทศ/ สัมคม/ชุมชน ) สามารถแก้ปัญหาในการทำงาน / คน ให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข ยึดหลักการทำงานเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้ การเปลี่ยนแปลงบทบาทในการทำงาน การเป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี มีเทคนิคการทำงานที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น การใช้เทคนิค PDS ( Plan การวางแผน, Do การปฏิบัติ , See การตรวจสอบควบคุมงาน ) ต้องยึดหลักการดำเนินงาน ( SPARK ) เพื่อสะท้อนความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย S : Sustainability ความยั่งยืนขององค์กร สังคมและสิ่งแวดล้อม , P: Participation ของผู้มีส่วนร่วม / ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders ) , A : Accountability ความสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบของคนในองค์กร R : Respect ความเคารพและให้เกียรติต่อผู้อื่น และ K : Knowledge การส่งเสริมและยกระดับความรู้ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้                       ...การ เข้าใจพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ ที่มีทุน 8 ประการ คือ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนทางจริยธรรม ทุนแห่งความสุข ทุนทางสังคม ทุนแห่งความยั่งยืน ทุนทาง IT และทุนทางความรู้ ทักษะและทัศนคติ และจำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนด้วยการเสริมสร้างความรู้ความสามารถและศักยภาพ ให้กับบุคคลที่จะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เข้มแข็ง ผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี ทั้ง ทางกาย อารมณ์ และ สังคม รวมทั้ง รู้และเข้าใจคนอื่น สามารถเลือกใช้วิธีการบริหารจัดการในการแก้ไขข้อบกพร่อง ข้อขัดแย้งในการทำงาน ที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลได้ ทั้งนี้ได้น้อมนำหลักการทรงงาน “ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ รู้ รัก สามัคคี” มาเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน 

ขุมความรู้...การบริหารงานได้อย่างประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขดังนี้...
1. คุณลักษณะของนักบริหารที่ดีคือ...คิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง มุ่งสำเร็จ มีความสามารถในการบริหารตนเอง บริหารคน บริหารงาน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคคล ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และแก้ปัญหาในการทำงาน / คน ให้คนในองค์กรทำงานกันได้อย่างมีความสุข 
2. การทำงานเป็นทีม : มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้ การเปลี่ยนแปลงบทบาทในการทำงาน และการเป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี 
3. การใช้เทคนิคการทำงานที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 
4. ยึดหลักการดำเนินงานเพื่อสะท้อนความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม 
5. ความเข้าใจพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ 
6. การเพิ่มทุนด้วยการเสริมสร้างความรู้ความสามารถและศักยภาพ ให้กับบุคลากร 
7.การพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี ทั้ง ทางกาย อารมณ์ และ สังคม 
8.การรู้และเข้าใจคนอื่น ...สามารถเลือกใช้วิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล 
9.การน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงฯ เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน 

ข้อเสนอแนะ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ต้องเริ่มตั้งแต่ภายในสำนักงานก่อนแล้วค่อยขยายผล มีการมอบหมายงานที่ชัดเจน นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน พร้อมทั้ง ส่งเสริมเพื่อปรับค่านิยม ABCDEF ขององค์กรเพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพและความสำเร็จขององค์กรด้วย 

ผู้บันทึก ทีมสนับสนุนจังหวัดเชียงราย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

กระบวนการแผนชุมชน(นายก่อพงษ์ โกมลรัตน์)

ชื่อเรื่อง กระบวนการแผนชุมชน
เจ้าของความรู้ นายก่อพงษ์ โกมลรัตน์
ตำแหน่ง พัฒนาการจังหวัดพะเยา
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา

 เรื่องเล่า     การจะทำให้แผนชุมชนมีคุณภาพต้องมีขั้นตอน/กระบวนการแผนชุมชน คำนึงถึงวิธีการได้มาของแผนชุมชน ไม่คำนึงถึงรูปเล่ม วิธีการได้มาของแผนชุมชนต้องทราบข้อมูลของหมู่บ้าน/ชุมชน มีจุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรคอะไรบ้าง ศักยภาพเป็นอย่างไร เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนสู่แผนชุมชนได้ วิธีการดังกล่าวเกิดผลสำเร็จคือ การประเมินคุณภาพ แผนชุมชนของจังหวัดพะเยา แผนที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ 3 A เนื่องจากมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำสตรี, กลุ่มผู้นำชุมชน, กลุ่ม NGO, มูลนิธิต่าง ๆ มีส่วนในการขับเคลื่อนกระบวนการแผนชุมชนซึ่งสะท้อนความต้องการ/ปัญหาของชุมชนอย่างละเอียด มีโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุน/ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและนโยบายขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยแผนชุมชนแบบพึ่งตนเอง (ทำเอง) มีโอกาสแก้ไขปัญหาในชุมชนได้สูง ปัญหาภาคส่วนราชการไม่นำแผนชุมชนไปใช้ประโยชน์ วิธีการแก้ไขคือ หลังจากได้แผนชุมชนให้ชาวบ้านสำนึกเสมอว่า ต้องทำตามแผนชุมชนที่ร่วมกันคิดขึ้นมาและต้องติดต่อประสานหน่วยงานช่วยเหลือสนับสนุนได้ แล้วพยายามผลักดันให้แผนชุมชนได้รับการสนองตอบ กระบวนการแผนชุมชน ต้องนำองค์ความรู้ให้ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้าน โดยเน้นกระบวนการแผนชุมชน ตามขั้นตอน ซึ่งจะทำให้มีแผนชุมชนตามความต้องการของชุมชน ในทางปฏิบัติปัญหาการจัดทำแผนชุมชนเกิดจากไม่รู้วิธีการ/ขั้นตอน/กระบวนการแผนชุมชนและวิธีการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม วิธีการได้มาของข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีแก้ไขคือต้องให้องค์ความรู้ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้าน ให้สามารถเป็นวิทยากรกระบวนการของชุมชนเอง สามารถตั้งคำถามแก่ชุมชน และกระตุ้นให้ชุมชนได้ตอบปัญหาของตนเอง หาแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเอง การบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบลและระดับอำเภอ ต้องคุยกันและทำความเข้าใจเพื่อกำหนดทิศทางของตำบล/อำเภอหรือแนวทางของตำบล/อำเภอ นำแผนชุมชนมาบูรณาการ โดยบูรณาการโครงการที่สอดรับและสามารถตำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งหัวใจการบูรณาการแผนชุมชน คือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่ ต้องเป็น ไปแนวทางเดียวกัน

ขุมความรู้
1. แผนชุมชนมีคุณภาพต้องมีขั้นตอน/กระบวนการแผนชุมชน คำนึงถึงวิธีการได้มาของแผนชุมชน ไม่คำนึงถึงรูปเล่ม
2. หัวใจการบูรณาแผนชุมชน คือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่ ต้องเป็นไปแนวทางเดียวกัน
3. แผนชุมชนควรเริ่มที่ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้าน เน้นจากล่างสู่บน โดยนโยบายให้ความสำคัญแผนชุมชนยังไม่ต้องกำหนดกรอบ/รูปแบบ แต่ควรเน้นการจัดทำแผนให้ครบทุกด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ ความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

แก่นความรู้
               แผนชุมชนมีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานแผนชุมชน ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้านต้องมีองค์ความรู้และปฏิบัติตามขั้นตอน/กระบวนการแผนชุมชนอย่างเคร่งครัด

ข้อเสนอแนะ
             แผนชุมชนควรเริ่มที่ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้าน เน้นจากล่างสู่บน โดยนโยบายให้ความสำคัญแผนชุมชนยังไม่ต้องกำหนดกรอบ/รูปแบบ เพื่อให้ได้แผนชุมชนจากชาวบ้านโดยตรง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งต้องสร้างองค์ความรู้ให้ผู้นำชุมชน/กรรมการหมู่บ้านในกระบวนการแผนชุมชน

ผู้บันทึกข้อมูล ทีมสนับสนุนจังหวัดพะเยา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

การนำ IT มาสนับสนุนงานพัฒนาชุมชน(นายยุทธภูมิ นามวงศ์)

ชื่อเรื่อง การนำ IT มาสนับสนุนงานพัฒนาชุมชน
เจ้าของความรู้ นายยุทธภูมิ นามวงศ์
ตำแหน่ง/สังกัด หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา
เรื่องเล่า
                     การนำ IT มาสนับสนุนงานพัฒนาชุมชน ทำให้ลดเวลา ค่าใช้จ่ายและกำลังคน โดยจัดทำในรูปของสื่อเว็บไซต์ทีhttp://www.viewphayao.com/population/ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2549 โครงการพัฒนาสารสนเทศชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารและเกิดประโยชน์ และ ตามโครงการปฏิบัติการแก้จนแบบเข้าถึงครัวเรือนทุกครัวเรือน โดยทีมงานชุดปฏิบัติการแก้จนแบบเข้าถึงครัวเรือนทุกครัวเรือน ของทุกอำเภอได้ออกปฏิบัติการเคาะประตูครัวเรือนยากจน และได้พบกับปัญหาของครัวเรือนยากจนที่สำคัญเร่งด่วนที่จะต้องให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ มากมาย ปัญหาหนึ่งที่พบซึ่งมีความสำคัญมากก็คือ “ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาต่อและการว่างงานของบุตรหลานในครัวเรือน” สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองพะเยาได้นำข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นข้อมูล จปฐ.ปี 2548 จัดทำเป็นสารสนเทศชุมชนออกเผยแพร่เพื่อขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ได้รับการติดต่อประสานจากภาคเอกชน โดย แพทย์หญิงภัทรา เรขตานันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโกลเด้นเยียส์ กรุงเทพฯ มีนโยบายคืนกำไรสู่สังคม ติดต่อประสานขอมอบทุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนยากจนของจังหวัดพะเยา ที่ด้อยโอกาสด้านการศึกษาต่อ เข้ารับทุนการศึกษาต่อวิชาชีพผู้ช่วยการพยาบาล หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นตามโครงการ “ช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่เยาวชนด้อยโอกาสของครัวเรือนยากจนจังหวัดพะเยา” เป็นผลงานที่มีความภาคภูมิใจ เช่น โครงการส่งน้องเรียนพยาบาล ดำเนินการรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน รุ่นที่ 7 ระหว่าง วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 – กุมภาพันธ์ 2554 อีกจำนวน 11 คน รวมทั้งสิ้น 67 คน ทำให้เยาวชนของจังหวัดพะเยา ได้จบการศึกษาวิชาการพยาบาล หลักสูตร เจ้าพนักงานผู้ช่วยพยาบาล ด้านการดูแลผู้สูงอายุ และสามารถบรรจุเข้าทำงานในเครือของโรงพยาบาลโกลเด้นเยียส์ทุกคน โดยมีรายได้ที่แน่นอน ระหว่าง 9,000 – 12,000 บาท/เดือน/คน ซึ่งกล่าวได้ว่าเยาวชนของจังหวัดพะเยาสามารถมีงานทำที่มีเกียรติในสังคม มีรายได้ที่แน่นอน ประการสำคัญก็คือรายได้ดังกล่าวจะสามารถนำไปยกระดับความยากจนของครัวเรือนของเยาวชนเอง ให้พ้นขีดความยากจนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้นได้จัดทำข้อมูลต่าง ๆ ของจังหวัด เช่น ข้อมูลภูมิปัญญา การท่องเที่ยว ข่าวสารต่างๆ ของจังหวัด โดยจัดทำในรูปของสื่อเว็บไซต์ รวมทั้งจัดทำวีดีทัศน์ของหมู่บ้าน ดำเนินการโดยค้นหาข้อมูลของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ความเป็นมาของหมู่บ้าน จากการศึกษาดูงานรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน แล้วนำจัดแบ่งหมวดหมู่รายละเอียดกิจกรรม นำมาเขียนสคริปและให้นักจัดรายการวิทยุมืออาชีพภาคเสียงประกอบ ทำให้เกิดผลงานที่ภาคภูมิใจ คือ ชุมชนบ้านบัว เป็นหมู่บ้านอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา ชนะเลิศเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ แลชนะเลิศระดับภาค ประเภทบุคคล ของ กปร. ประเภทประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร คือ นายผล มีศรี ซึ่งได้ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทำเกษตรผสมผสาน รักษาหน้าดินโดยการปลูกหญ้าแฝก
                   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลงานที่ภาคภูมิใจคือ 1.ยึดประชาชนเป็นหลัก มุ่งมั่นเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 2.การทุ่มเทและตั้งใจสู้งาน 3.ค้นคว้าศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก IT สามารถช่วยในการทำงานให้ประสิทธิภาพและยังสามารถเป็นแผนที่นำทางให้เดินทางได้สะดวกและรวดเร็ว 
                   โดยมีเป้าหมาย 1.สร้างทีมงาน IT เพื่อให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเห็นความสำคัญ และนำ IT มาช่วยในการทำงาน เพื่อลดเวลา ลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถปรับใช้งานได้ทุกเรื่อง 2.นำ IT ไปช่วยกลุ่ม OTOP ให้มีช่องทางการตลาด E-Commerce 3.จัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ทุกอำเภอและหมู่บ้านOTOP จัดทำเว็บไซต์ได้จากผลงานที่เกิดความภาคภูมิใจส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่น ประจำปี 2552
ข้อแนะนำ
1.เครื่องคอมพิวเตอร์ ควร Backup ข้อมูล ทุกระยะ 
2.ข้อมูลที่สำคัญไม่ควรเก็บไว้ Local Disk (C) เพื่อความปลอดภัยควรจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญไว้ แผ่น CD/DVD จัดหมวดหมู่และระบบการเก็บข้อมูล 
3.เนื่องจาก IT มีการเปลี่ยนแปลงไวมาก ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองทางเว็บไซต์/หนังสือ
ผู้บันทึกข้อมูล....ทีมสนับสนุนจังหวัดพะเยา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คนศูนย์ฯ...เล่าเรื่อง....

ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนในศูนย์ฯลำปาง..เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ผ่านเวทีKMทุกๆเดือนนั้น..เราทำความเข้าใจร่วมกันว่า ความรู้หลักที่เป็นเป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ ...ความรู้ฝังลึก(tacit knowledge)ซึ่งเป็นเรื่องที่จับต้องยาก..หรือจับต้องไม่ได้เลย..แลกเปลี่ยนก็ยาก..บางครั้งเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าตนมีความรู้นั้น.. วิธีการแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึกที่ได้ผล คือการเดินทางไปดูศึกษางาน...ขอให้ผู้รู้ทำให้ดู...หรือฝึกหัดทำด้วยกัน.ซึ่งเหมาะกับความรู้ที่เป็นทักษะด้านการลงมือทำ เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ...การบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯลฯ แต่สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านขั้นตอนซับซ้อนหลายขั้นตอน..อาจนำเทคนิคการเล่าเรื่อง(Storytelling) มาใช้..เพื่อให้เกิดความรู้สึกและบรรยากาศสบายๆ..ฉัทน์พี่น้อง..เราเริ่มต้นด้วยการจับคู่กันเป็นคู่ๆ...แล้วก็ผลัดกันเล่าประสบการณ์การทำงานที่เราทำแล้วได้เห็นผล...ประทับใจ..ภาคภูมิใจมากๆมาเล่าให้กันฟัง..( ถ้าบอกว่าให้เล่าเทคนิคการทำงานในเรื่องที่เราทำสำเร็จ..แต่ละคนจะบอกว่า..ไม่ค่อยสำเร็จหรือไม่ถึงกับสำเร็จนะ..) อีกคนก็ตั้งใจฟัง..พร้อมๆไปกับเก็บประเด็นสำคัญๆจากการฟังเพื่อนเล่าไปด้วย..แล้วค่อยนำมาเรียบเรียง รวบรวมเป็นกลุ่มๆของความรู้ที่ได้ ซึ่งอาจเป็นวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นๆ..เป็นเทคนิค เป็นวิธีการ เป็นทักษะที่ใช้...หรือเป็นสิ่งที่ควรพึงระวัง..เป็นข้อเสนอแนะก็ได้ฯลฯ..นำเรื่องเล่า/ความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ผ่านบล๊อกนี้..ให้พี่ให้น้องได้เข้ามาเรียนรู้ด้วย..ผิดถูกอย่างไร..ก็เชิญชวนกันแลกเปลี่ยนแนะนำกันได้นะคะ..

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เทคนิคการประสานงานการฝึกอบรม ( ฐพัชษ์ พุทธา )


เจ้าของความรู้ นางสาวฐพัชษ์ พุทธา 
ตำแหน่ง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
สังกัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง
วันที่บันทึกความรู้ 19 พฤษภาคม 2553
การฝึกอบรมเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน
             เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติ ทักษะ ความชำนาญ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ กระบวนการฝึกอบรมดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งในส่วนของ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการฝึกอบรม วิทยากร ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สถานที่ อาหาร ดังนั้น ผู้ประสานงานการฝึกอบรมจึงเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่เตรียมการในเรื่องของรายละเอียดในการจัดฝึกอบรม ประสานผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประสานวิทยากรที่จะมาบรรยาย รวมทั้งดูแลและอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมจนการฝึกอบรมสิ้นสุดลงและบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ จะเห็นได้ว่าผู้ประสานงานการฝึกอบรมจึงเป็นคนที่ความสำคัญในการฝึกอบรม เพราะหากประสานงานได้ดีก็จะได้งานและเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะร่วมมือปฏิบัติงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยสอดคล้องทั้งเวลา และกิจกรรมที่จะต้องทำเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างสมานฉันท์ในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือเหลื่อมล้ำกัน และหากการประสานงานไม่ดีก็จะเกิดการขัดแย้งกัน ขาดความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์แสดงปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อไม่เห็นด้วย ขาดน้ำใจที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งและการปฏิบัติงานที่ล่าช้าส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลถึงกระบวนการฝึกอบรมในที่สุด
                 จากประสบการณ์การเป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ หลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ที่ดำเนินการฝึกอบรม ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ค้นพบว่าการประสานงานที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากตัวผู้ประสานงานเอง ศึกษาข้อมูลกำหนดประเด็นหรือวัตถุประสงค์การประสานให้ชัดเจน จัดเตรียมข้อมูล/เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประสานให้ครบถ้วน ต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส อดทน ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่น มีศิลปะในการพูด การติดต่อสื่อสารและการโน้มน้าวจูงใจต่างๆ และผู้ประสานงานเองต้องสร้างสัมพัธภาพอันดีในการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีความร่วมมือ มีการตกลงร่วมกัน ในการระดมความคิด เทคนิค วิธีการและระดมทรัพยากรมาสนับสนุนการดำเนินงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกัน จะเห็นได้ว่าการประสานงานมีความสำคัญเปรียบเสมือนตัวฟันเฟื่องของเครื่องจักรที่เป็นแรงผลักให้เครื่องจักรทุกชิ้นส่วนทำงานอย่างราบรื่น การดำเนินการใดๆหากขาดการประสานงานแล้วก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ฟันเฟื่องชำรุด ส่งผลให้เครื่องจักรหยุดและพังทลายในที่สุด ดังนั้นการประสานงานจึงมีความสำคัญยิ่ง ดังคำคมที่เคยได้ยินเสมอว่า..จะประสานงาน ต้องประสานคน จะประสานคน ต้องประสานใจ..... 

ขุมความรู้ 
1. ศึกษาข้อมูล และกำหนดประเด็นหรือวัตถุประสงค์การประสานงานให้ชัดเจน 
2. แจ้งกำหนดการวันที่ เวลาและสถานที่ให้กับผู้ที่จะต้องประสานงานให้ทราบ 
3. จัดเตรียมข้อมูล/เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประสานให้ถูกต้องและครบถ้วน 
4. ผู้ประสานต้องตรงตามเวลานัดหมาย และจะต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกันและราบรื่น 
5. ติดตามผลการประสานงานตลอดทุกระยะ จนกว่าจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 

ข้อพึงระวังอันเป็นเหตุที่จะให้การประสานงานเกิดความล้มเหลว 
1.การประสานงานที่ใช้อำนาจสั่งการอย่างเดียว 
2.การใช้ภาษาในการสื่อสาร 
3. ท่าทีของผู้ประสานงาน 
4. การควบคุมอารมณ์

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โครงการ KM Home School …เยี่ยมบ้านจัดการความรู้...

สถาบันการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมการจัดการความรู้ในองค์กร... ได้กำหนดกลยุทธ์ในการจัดระบบการจัดการความรู้ เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้..ด้วยการสนับสนุนศูนย์ศึกษาฯ /จังหวัด / อำเภอ ..นำกระบวนการจัดการความรู้ไปปรับใช้และติดตั้ง..เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติงานขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมตามแผนปฏิบัติราชการให้ประสบผลสำเร็จ ตามเป้าหมายตัวชี้วัดผลผลิตตามกิจกรรม และตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ...
                   วัตถุประสงค์ 
1. เพื่อพัฒนาทักษะทีมงานจัดการความรู้ ( ของศูนย์ฯ )
 2. เพื่อส่งเสริมให้ทุกหน่วย ( ศูนย์ฯ / จังหวัด / อำเภอ ) ขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้ในการพัฒนางานตามภารกิจ ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม
  รูปแบบการเยี่ยมบ้านจัดการความรู้ 
*ชี้แจงโครงการฯ *ให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ *แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการความรู้ *การเสวนาแบบไม่เป็นทางการ การพบปะพูดคุยร่วมกัน 

                 สำหรับศูนย์ฯลำปาง...ทีมสนับสนุนการจัดการความรู้ได้ดำเนินโครงการ KM Home School...เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้ให้ 8 จังหวัด/อำเภอ และสร้างการเรียนรู้ด้วยระบบพี่เลี้ยงผ่านกระบวนการดังนี้  
1.จัดเวที KM-4 เพื่อสร้างการเรียนรู้ผ่านระบบพี่เลี้ยง..( ทีมสนับสนุน 8 จังหวัด ) 
2.ทีมสนับสนุนจังหวัด..เยี่ยมเยือนพื้นที่..ตามโครงการพัฒนาร่วมสร้าง..เส้นทางสู่ความเป็นเลิศ..ของศูนย์ฯลำปาง 
3.จัดทีมงานจัดการความรู้ของศูนย์ฯ ไปส่งเสริม สนับสนุนตามรูปแบบฯ แก่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองลำปาง
4.สร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ในงานพัฒนาชุมชนกับ 8 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ผ่านระบบ OA / web blog KM ศูนย์ฯ ลำปาง/www.cdd5.com

จับคู่...เล่าเรื่อง

งานสนับสนุนการจัดการความรู้ได้เชิญชวนพี่น้องที่ศูนย์ฯมาร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันในเวทีKMครั้งที่4 ในวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2553..โดยตั้งเป้าหมายหลักอยู่ที่การฝึกปฏิบัติทีมสนับสนุนจังหวัด ( 8 จังหวัด ) ในการดึงความรู้ในตัวคนออกมาผ่านการเล่าเรื่อง(เทคนิค Story Telling)..เดินกระบวนการในเวทีโดยเริ่มจาก... 1.ทบทวนการขับเคลื่อน KM ของศูนย์ฯลำปาง *วิสัยทัศน์ KM ของศูนย์ฯ *เน้นความรู้ในตัวคน tacit knowledge *บุคลากรศูนย์ฯ เป็นนักจัดการความรู้ 2.โครงการ KM DELIVERY 3.โครงการ KM Home School 4.เทคนิค Story Telling + /ฝึกปฏิบัติ ( ศึกษาเพิ่มเติมจาก..www.kmi.or.th) * แนะนำเทคนิคการเล่าเรื่องผ่าน ppt. *การเล่าเรื่องจะประสบผลมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ ผู้เล่า-ผู้รับฟัง-บรรยากาศ *ให้ทีมสนับสนุนจังหวัดจับคู่กันแล้วผลัดกันเป็นคนเล่า(ประสบการณ์การทำงานที่ประสบความสำเร็จหรือรู้สึกประทับใจภาคภูมิใจ..) และผลัดกันเป็นคนฟัง(คนฟังทำหน้าที่จับประเด็น+จดบันทึกลงบนกระดาษเอ4)… * เมื่อได้ลองฝึกปฏิบัติกันแล้ว..( บรรยากาศของแต่ละคู่..ช่วยกันสร้างบรรยากาศอย่างเป็นกันเองดีมากๆ..แล้วก็ดูเหมือนจะได้เรื่องได้ราวกันออกมาจริงๆ...) รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อสรุป/สะท้อนความรู้สึกและผลงานจากการผลัดกันจับคู่เล่าเรื่อง..ว่า...คนเล่าจะเล่าได้ดีจะต้อง...เป็นอย่างไรบ้าง? แล้วคนฟัง+คนจดบันทึก..จะทำได้ดีจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง? *ได้วิธีปฏิบัติ...ได้เทคนิค..ได้ทักษะ...ที่ทีมสนับสนุนจังหวัดจะนำไปปรับใช้ในการออกไปสกัดความรู้จากพี่น้อง พช.ของเราในพื้นที่ 8 จังหวัดต่อไป *ช่วยกันกำหนดประเด็นที่จะนำความรู้ในตัวพี่น้องพัฒนาชุมชน...มาเขียนเผยแพร่..มาแชร์กันต่อไป..